การเมืองของประชามติ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

เหตุใด คสช.จึงกำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอต้องผ่านประชามติ ผมคิดว่าจะเข้าใจได้ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ระยะแรกที่ คสช.ยึดอำนาจ

ทหารที่ทำรัฐประหารรู้อยู่แล้วว่าจะมีการต่อต้าน โดยเฉพาะจากกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ แต่ความวิตกห่วงใยของทหารพุ่งไปที่การต่อต้านด้วยกำลังอาวุธ มากกว่าการชุมนุม เพราะการสลายการชุมนุมเป็นภารกิจที่ต้องทำก่อนหน้าประกาศยึดอำนาจด้วยซ้ำ ดังนั้นในระยะแรกจึงทุ่มเทกำลังลงไปที่การยึดอาวุธ และ “เก็บ” บุคคลที่เชื่อว่าจะเป็นแกนนำต่อต้านด้วยกำลังอาวุธ แต่ทหารไทยไม่เคยทำการข่าวได้ดีตลอดมา จุดที่ทหารไปสกัดมิให้เกิดการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธ จึงกลายเป็นเรื่องน่าขัน เช่นขอนแก่นโมเดล หรือกรณีคุณกฤชสุดา

สิ่งที่ทหารไม่ได้คิดมาก่อน คือการต่อต้านของกลุ่มคนชั้นกลางจำนวนไม่น้อย ซึ่งไม่ได้เป็นเครือข่ายของแกนนำเสื้อแดง คนชั้นกลางเหล่านี้อยู่ในเขตเมือง จึงเข้าถึงสื่อ นับตั้งแต่เข้าถึงโดยตรง และเข้าถึงโดยผ่านกิจกรรมซึ่งสื่อมักจะรายงาน ทั้งจำนวนที่ออกมาในระยะแรกก็มีมากกว่าที่การข่าวของทหารเคยประเมินไว้ เช่นการชูสามนิ้วที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือการชุมนุมที่ร้านแมคฯ ราชประสงค์ คสช.หยั่งไม่ถูกว่า กลุ่มต่อต้านซึ่งเป็นคนชั้นกลางเหล่านี้ มีพลังที่จะเคลื่อนไหวได้มากเพียงไร และนานเท่าไร

ยิ่งกว่านี้ เพราะคนเหล่านี้มีสายสัมพันธ์ทางสังคมสูงกว่าชาวบ้านเสื้อแดง ซ้ำยังเคลื่อนไหวอยู่ท่ามกลางการจับตาของสื่อทั้งในและต่างประเทศ คสช.จึงมีข้อจำกัดในการใช้กำลังปราบปราม เช่นจะใช้การล้อมปราบและสังหารหมู่อย่างที่ทำใน พ.ศ.2553 ไม่ได้ คสช.จึงต้องเลือกการยืดกฎหมายไปจนเกินเส้นของกฎหมาย เพื่อจับกุมคุมขังคนที่ คสช.เข้าใจเอาเองว่าเป็นแกนนำของคนกลุ่มนี้

Advertisement

ปฏิกิริยาของโลกตะวันตกก็แรงกว่าที่คณะทหารและบริวารจะคาดได้ คสช.คาดได้แน่ว่า มหาอำนาจตะวันตกย่อมต้องแสดงจุดยืนที่ไม่สนับสนุนการทำรัฐประหารของกองทัพแน่ อย่างน้อยก็เพราะกฎหมายของเขาบังคับไว้บ้าง ถึงไม่มีกฎหมายในบางประเทศ จุดยืนนี้เป็นประโยชน์ต่อการเมืองระหว่างประเทศของเขามากกว่า แต่เพียงเท่านี้คณะทหารรับได้ อย่างที่คณะทหารในปี 2549 รับได้มาแล้ว

แต่จะเป็นเพราะ คสช.ใช้มาตรการรุนแรงในการสยบคนชั้นกลางที่ต่อต้าน (ซึ่งคณะทหารใน 2549 เลือกที่จะไม่ใช้) หรือเพราะท่าทีสนับสนุนประชาธิปไตยมีประโยชน์ต่อการเมืองของมหาอำนาจในภูมิภาคนี้มากกว่าก็ตาม ปฏิกิริยาของตะวันตกต่อการรัฐประหารของกองทัพครั้งนี้จึงชัดเจนกว่า ตรงไปตรงมามากกว่า และส่งแรงกดดันหนักกว่า คสช.เดินหมากผิดพลาดอย่างหนักที่หันไปสนับสนุนการขยายอิทธิพลของจีนในประเทศไทย บังคับให้มหาอำนาจตะวันตกต้องเขยิบการกดดันให้สูงขึ้นเช่นกัน

ในภาวะอย่างนี้แหละครับที่ คสช.กำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่านความเห็นชอบในการลงประชามติก่อนประกาศใช้ เพราะหากรัฐธรรมนูญได้รับการรับรองจากประชาชน การกดดันจากภายนอกย่อมต้องยุติลงทันที ถ้าประชาชนไทยยอมรับ ก็ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของมหาอำนาจจะมาแสดงความกังวล ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารภายในประเทศก็แทบจะหมดที่ยืน เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับ ก็แสดงอยู่แล้วว่าผู้ต่อต้านเป็นคนส่วนน้อย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ไม่แต่จะสูญเสียที่ยืนในประชาธิปไตยลงเท่านั้น ยังอาจสูญเสียที่ยืนทางการเมืองลงด้วย

โดยสรุปก็คือ การตัดสินใจให้มีการทำประชามติเป็นการตัดสินใจทางการเมืองมาแต่ต้น ด้วยความคาดหวังว่าจะให้ผลดีทางการเมืองแก่ คสช.เอง

ไม่มีหลักฐานอะไรรองรับเลย แต่ผมให้สงสัยอย่างยิ่งว่า เมื่อตอนที่ คสช.ตัดสินใจให้รัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามติ ความประสงค์ทางการเมืองของคณะทหารมีเพียง จะกีดกัน “ศัตรู” ของตนออกไปจากการถืออำนาจการเมืองได้อย่างไร พูดง่ายๆ คือจะกันทักษิณและพรรคพวกบริวารออกไปจากการมีอำนาจการเมืองได้อย่างไร “ศัตรู” ที่ทหารกลุ่มนี้หวั่นเกรงด้วยความวิตกกังวลมีไม่มากนักในระยะแรก ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่จะร่างออกมา จึงคงไม่น่าเกลียดถึงกับจะ “สอบตก” อย่างน้อยพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งบางส่วนของพรรคเพื่อไทยด้วย ก็อาจให้การยอมรับ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งเสียที

แต่ยิ่งอยู่ในอำนาจ แทนที่ คสช.จะสามารถขยายเครือข่ายของมิตรให้กว้างขวางขึ้น หรือทำให้ศัตรูที่ไม่ได้เป็นพรรคพวกบริวารของทักษิณกลายเป็นมิตรของ คสช. คณะทหารชุดนี้กลับทำในทางตรงกันข้าม คือเพิ่มศัตรูแก่ตนเองได้ทุกวัน แม้แต่ที่เป็นมิตรและเคยสนับสนุนให้กองทัพทำรัฐประหารมาก่อน ก็พากันถอยออกไป ถึงไม่ประกาศเป็นศัตรูกับ คสช. ก็เลือกในทางที่จะอยู่เฉย

ฐานความนิยมที่แคบลงอย่างรวดเร็ว และ “ศัตรู” ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าทักษิณและพรรคพวกบริวาร ทำให้ คสช.ไม่รู้ว่าจะลงจากอำนาจอย่างไร แค่กันทักษิณออกไปนั้นไม่พอเสียแล้ว หากการกระทำผิดอาจลบให้หายไปได้ด้วยกฎหมายนิรโทษกรรม ตัวกฎหมายนิรโทษกรรมก็อาจหายไปได้ด้วยกฎหมายยกเลิก เมืองไทยได้เปลี่ยนไปถึงขั้นที่ไม่มีหมุดอะไรที่จะตรึงกฎหมายใดๆ (โดยเฉพาะที่ออกมาจากคณะรัฐประหาร) ให้คงอยู่ตลอดไปได้เสียแล้ว (เช่นข้อเสนอของนักกฎหมายนิติราษฎร์ให้การรัฐประหาร 2549 “สูญเปล่า” ในทางกฎหมาย) มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย ที่มองความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายมากกว่าราชกิจจานุเบกษา กระบวนการบัญญัติกฎหมายมีความสำคัญในความคิดของคนไทยมากขึ้น (พูดภาษาชาวบ้านหน่อยก็คือ มีอำนาจอย่างเดียวไม่พอเสียแล้ว ต้องมีความชอบธรรมด้วย นี่อาจเป็นมรดกของเสื้อเหลืองด้วย)

นี่อาจเป็นเหตุผลที่ร่างรัฐธรรมนูญซึ่ง คสช.อุดหนุนอยู่เบื้องหลัง มีลักษณะ “โหด” มากขึ้นตามลำดับ จากบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถึงมีชัย ฤชุพันธุ์ รวมทั้งข้อเสนอของ คสช.เอง และคำถามพ่วงจากบริษัทบริวารของ คสช.ในสภานิติบัญญัติ

ผู้มีความรู้ด้านกฎหมายได้เสนอเหตุผลหลายข้อที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งในแง่ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และโครงสร้างอำนาจอันเป็นผลจากบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ผมคงไม่มีอะไรจะพูดได้มากหรือดีไปกว่านั้น ผมต้องการชี้ให้เห็นง่ายๆ แต่เพียงว่า ประชามติครั้งนี้เป็น “การเมือง” ตัวร่างรัฐธรรมนูญเองก็เป็น “การเมือง” ของ คสช.

เราในฐานะประชาชน ซึ่งได้สิทธิลงประชามติด้วยเหตุผลทางการเมืองของ คสช. จึงควรเข้าคูหาด้วยความคิดความเข้าใจการเมืองของประชาชนและบ้านเมืองด้วย

จะไม่มีรัฐธรรมนูญใด แม้แต่ที่ร่างขึ้นอย่างดี โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายใดเลย จะมีอายุยืนนานในสังคมไทยได้ ตราบเท่าที่เรายังปล่อยให้คณะรัฐประหาร “ลอยนวล”

สังคมประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม หลายปูมหลัง หลายจินตนาการ ความขัดแย้งจึงเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ หากเราปล่อยให้มีการรวมกลุ่มกันใช้กำลังฉีกกติกาซึ่งพวกเรามีมติเห็นพ้องต้องกันได้อย่าง “ลอยนวล” เราจะเป็นสังคมที่ไม่มีอนาคต ใครเคยได้เปรียบก็จะได้เปรียบตลอดไป ใครเคยเสียเปรียบก็จะเสียเปรียบตลอดไป

สังคมที่ไม่มีความยุติธรรม และไม่มีพลังจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ด้วยสติปัญญาและความรู้ของพลเมือง คือสังคมดักดานที่ก้าวไปไหนไม่ได้ นอกจากถอยหลัง

วันที่ 7 สิงหาคม เราจะเดินเข้าคูหา ด้วยสำนึกทางการเมืองที่เต็มเปี่ยม เพื่อจะเปลี่ยนอนาคตของบ้านเมืองให้เป็นสังคมที่มีความยุติธรรม สังคมที่ผู้คนมีความคิดเห็นขัดแย้งกันได้ เพราะต่างก็มุ่งหวังความงอกงามของสังคมนั้น เพื่อลูกหลานของเราเอง

ด้วยสำนึกรู้และเข้าใจการเมือง เราจะเดินเข้าคูหาในวันที่ 7 สิงหาคมเพื่อลูกหลานของเราทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image