มนต์เสน่ห์…แห่งหัวลำโพง

100 กว่าปีเศษที่ผ่านมา “กิจการรถไฟ” ของสยาม งามสง่า โก้หรู โด่งดัง กระเดื่องเฟื่องฟู ไม่เป็นสองรองใครในทวีปเอเชียนะครับ

นับตั้งแต่ในหลวง ร.5 ทรงตรึงหมุดปฐมฤกษ์ของทางรถไฟจุดแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2439 ณ บริเวณพื้นที่ของกรมรถไฟหลวง หน้าวัดเทพศิรินทร์ นับแต่นั้นมา… สยามโดดเด่นในเรื่องการคมนาคมใน “ระบบราง” ไปยังภาคอีสาน ภาคเหนือ ลงไปภาคใต้ สร้างความเป็นเอกภาพ ความเป็นปึกแผ่นของราชอาณาจักร

กรมรถไฟหลวง เป็นแหล่งรวม “คนเก่ง” ด้านวิศวกรรมที่จบการศึกษาจากต่างประเทศและชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการ

การสร้างบ้าน สร้างเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในแนวชาติตะวันตกของสยาม เริ่มต้นในช่วงสมัยในหลวง ร.4 และมาเข้มข้นสุดขีดในสมัยในหลวง ร.5

Advertisement

กิจการสาธารณูปโภคทั้งหลายทั้งปวง เพื่อความกินดี อยู่ดีของประชาชนสยาม มีจุดเริ่มต้น มีการจัดการที่ชัดเจนแบบ single manager

งานที่ใช้เทคโนโลยีเริ่มตั้งต้นนับ 1 จาก กรมรถไฟหลวง

ท่านผู้อ่านอาจจะไม่เชื่อว่า แม้กระทั่ง “การถ่ายทำภาพยนตร์” ของทางราชการครั้งแรกในสยาม หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมรถไฟหลวง เพราะยุคสมัยโน้น เรื่องของไฟฟ้า เครื่องมือ เครื่องจักรกลใหญ่-เล็ก อะไรก็ตามที่ต้องใช้กลไก เทคนิคของต่างประเทศ ต้องคนของกรมรถไฟ

Advertisement

เมื่อเริ่มตั้งไข่กิจการรถไฟ ต้องมีการสำรวจเส้นทาง ทางบก ทางน้ำ ช่องเขา ที่ราบ ที่สูง มีการจัดการรังวัดที่ดิน การสร้างโรงแรมที่พัก แม้กระทั่งร้านอาหาร ทางราชการ พระราชสำนัก สั่งการอะไร คนรถไฟทำได้สารพัด

ที่สำคัญยิ่ง คือ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ลำคลอง มหาศาล หลายแห่ง ที่สยามแสนจะอุดมสมบูรณ์

ที่ดินของสยามเหนือจรดใต้ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ดินมหาศาลตามแนวรางรถไฟทั้ง 2 ข้าง ที่ดินสำหรับก่อสร้างสถานีรถไฟ น้ำเติมหัวรถจักร การขนส่งฟืน การทำตารางเวลา วิศวกรมืออาชีพ เค้ามาอยู่รวมกันตรงนี้….

ชุมทางบางซื่อ ชุมทางมักกะสัน และบริเวณ ทุ่งวัวลำพอง (หัวลำโพง) คือ พระราชปณิธานของในหลวง ร.5 ที่กลายเป็นมรดกแห่งความสุขความเจริญ ตกทอดมาถึงลูกหลานทุกวันนี้…

กิจการรถไฟของสยาม เป็นหน้าเป็นตา สง่างาม เสียงหวูด เสียงพ่นไอน้ำ ควันสีดำที่พุ่งไปบนอากาศ พลังลากตู้รถไฟนับสิบตู้ ยาวเหยียด มันคือ ฤทธิ์เดชเหนือมนุษย์ ที่เรามีก่อนใคร

ผู้เขียนเป็นครอบครัวของข้าราชการทหารในค่ายทหาร ลพบุรี และปราณบุรี เป็นลูกค้าคนสำคัญของการรถไฟ ชื่นชม เสน่หา หลงใหลได้ปลื้มกับเครื่องจักรกลของหัวรถจักรอันทรงพลัง นึกถึงบรรพบุรุษที่บุกป่าฝ่าดงมาสร้างทางรถไฟที่ตรงเป๊ะ เรียบราบขนานไปกับพื้นโลกนับร้อย นับพันกิโลเมตร เค้าทำกันได้ยังไง…

เคยฝันว่าเมื่อโตขึ้นจะขอมีอาชีพเป็น “พนักงานขับรถไฟ” เพราะมันเท่สุดๆ

ชาวสยามที่อยู่ต่างถิ่น ต่างภาษา ไปมาหาสู่กันได้ ทางรถไฟ คือ การเปิดโลกกว้าง ทำที่มืดให้สว่าง…

หากแต่ในช่วงต่อมา เป็นที่ทราบกันดีว่า กิจการรถไฟประสบปัญหาขาดทุน ถึงปี พ.ศ.2561 การรถไฟแห่งประเทศไทย มีหนี้สินทั้งหมดมากถึง 604,450 ล้านบาท (ข้อมูลจาก : สรุปสถานะการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย / โดยลงทุนแมน 22 ก.ค.2019)

ลองมาเจาะประเด็น “หัวลำโพง” ครับ

ในทวีปยุโรปมีกิจการรถไฟที่เลิศล้ำนำสมัยที่สุดในโลก

ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง คือ พ.ศ.2440 และ พ.ศ.2450

กรุงเทพฯ ในเวลานั้น ศูนย์กลาง หรือเมืองชั้นใน คือ พระบรมมหาราชวัง และพื้นที่โดยรอบ คึกคักที่สุด คือ เยาวราช ย่านชาวจีนที่ทำมาค้าขายตัวเป็นเกลียว กรุงเทพฯ เมื่อมองไปทางไหนมีแต่ทุ่งหญ้า และแม่น้ำลำคลอง

ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้เริ่มโครงการในพื้นที่ใกล้ๆ กับวัดเทพศิรินทร์

ทุ่งหญ้ากว้างบริเวณนั้น ใช้เป็นที่เลี้ยงวัวของแขก ชาวบ้านเห็นฝูงวัววิ่งอย่างคึกคะนองอยู่กลางทุ่งจึงเรียก “ทุ่งวัวลำพอง”

พ.ศ.2453 เริ่มก่อสร้าง “สถานีรถไฟกรุงเทพ” ขุดคลองสร้างถนนในบริเวณใกล้เคียง เกิดการออกเสียงเป็น “หัวลำโพง”

บ้างก็สันนิษฐานว่า หัวลำโพง อาจจะเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ “ต้นลำโพง” ซึ่งเคยมีมากในบริเวณนี้

หนังสือที่เขียนขึ้นในสมัยในหลวง ร.4 จะพบคำว่า “หัวลำโพง” และ “วัวลำพอง” ใช้ปะปนกันโดยไม่รู้ใครผิดใครถูก

สถานีรถไฟกรุงเทพ เริ่มก่อสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 คือในปี พ.ศ.2453 การก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการโดยในหลวง
รัชกาลที่ 6

25 มิถุนายน พ.ศ.2459 ในหลวง ร.6 ทรงกระทำพิธีกดปุ่ม สัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเข้าสู่หัวลำโพง ซึ่งสร้างอยู่บนพื้นที่ราว 120 ไร่

ตัวอาคารที่สวยสง่าของสถานีรถไฟหัวลำโพง ออกแบบโดย นายมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียนและทีมงานชาวอิตาเลียน ซึ่งเข้ามารับราชการอยู่ที่กระทรวงโยธาธิการ ในราชสำนักสยาม และมีผลงาน “ศิลปะสถาปัตย์” ที่สำคัญหลายแห่ง

ในหลวง ร.5 ทรงว่าจ้างทีมงานชาวอิตาเลียนที่เป็นอัจฉริยะทางการออกแบบมาออกแบบ วางผังเมือง และอาคารหลายแห่ง มารับราชการออกแบบอาคาร สถานที่ที่ยังยืนเด่น มาจนถึงทุกวันนี้

รูปแบบ รูปทรงที่งดงามอ่อนช้อย แต่ทรงพลังของหัวลำโพง ได้รับอิทธิพลมาจากสถานีรถไฟเมืองแฟรงภ์เฟิร์ต เยอรมนี

วัสดุสำเร็จรูปที่ใช้ในการก่อสร้าง ก็สั่งนำเข้ามาจากประเทศเยอรมนี

หัวลำโพง มีรูปแบบเสาที่เหมือนกับสถาปัตยกรรมกรีก คือ รูปแบบ Ionic และมีรูปปั้นประดับซึ่งเป็นรูปปั้นที่มีลักษณะที่เหมือนมุนษย์

โดยรวม… เป็นอาคารที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรป มีรูปแบบเสาที่อยู่ด้านนอก

การคำนวณ ออกแบบให้เป็นทรงโค้งเช่นเดียวกับหลังคาโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม คือความท้าทายอันยิ่งใหญ่

ทรงโค้งครึ่งวงกลมขนาดมหึมา แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิศวกรรมในสมัยนั้น คือ สิ่งที่สยามต้องการให้ปรากฏ

งานศิลปะชั้นยอด คือ เวลาแสงแดดตกกระทบแผ่นกระจกสีฟ้าและเขียวที่เรียงรายสลับกัน เกิดแสงระยิบระยับ

บริเวณด้านหน้า มีสวนหย่อม และวงเวียนน้ำพุ ซึ่งสร้างเป็นอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง ในหลวง ร.5 ภายในประดับด้วย
หินอ่อน เพดานมีการสลักลายนูนต่างๆ

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ คือ แหล่งพำนักพักพิงของกองทัพญี่ปุ่น (จำนวนหนึ่ง) ทหารซามูไรมาสร้างทางรถไฟในสยามเป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง ฝ่ายอังกฤษ อเมริกา นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ หลายจุด

มีการสร้างหลุมหลบภัยด้านหน้าหัวลำโพง ขุดหลุม ก่อปูนเพื่อให้ประชาชนเข้ามาหลบภัย

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์สร้างอนุสาวรีย์รูป “ช้างสามเศียร” พร้อมสลักภาพนูนต่ำเป็นพระบรมรูปของในหลวง
ร.5 นอกจากนี้ ที่นี่ยังถือเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของทางรถไฟในประเทศไทยด้วย

มีนาฬิกาขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ซึ่งสั่งทำเป็นพิเศษเพื่อบอกเวลาชาวพระนคร

การรถไฟไทย ถือว่าหัวลำโพงเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุด เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย

พ.ศ.2459 (รัชสมัยในหลวง ร.6) ในช่วงแรกเริ่ม หัวลำโพงไม่เพียงแต่เป็นชุมทางของระบบขนส่งมวลชนเท่านั้น

หัวลำโพง ยังเป็นศูนย์กลางของการส่งสินค้าที่สำคัญ มีสินค้าจากทุกภูมิภาคของประเทศไทยส่งมายังสถานีหัวลำโพง ก่อนจะกระจายไปขายยังพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ

ผู้เขียนพอจำได้ว่า เมื่อรถไฟเคลื่อนขบวนออกมาจากหัวลำโพง จะปรากฏ ลัง กล่อง เข่งสินค้าการเกษตร กระจัดกระจายไปทั่ว และบรรดาตู้รถไฟเปล่า ตู้สินค้า ที่จอดนิ่งอยู่

มองในแง่บวก ก็ต้องถือว่า หัวลำโพง คึกคัก ใหญ่โต โอ่อ่า

การที่ใครคนหนึ่ง ได้ไปขึ้น-ลง รถไฟที่หัวลำโพง ถือว่า โก้เก๋ ทันสมัยสุดๆ ระหว่างเดินอยู่ในอาคาร จะมีเสียงพนักงานรถไฟประกาศข้อความทางเครื่องกระจายเสียง ขบวนนั้นเข้า ขบวนนี้ออกตลอดเวลา รถไฟสายนั้นอยู่ชานชาลานั้น

ตั้งแต่เด็กจำได้แม่นยำว่า …ไม่มีครั้งไหนที่ฟังรู้เรื่อง เพราะเสียงมันก้องกังวานอยู่ในอุโมงค์ยักษ์

ที่ได้ยินชัด คือ เสียงนกหวีดแสบแก้วหู เห็นชัด คือ ธงเขียว ธงแดง คำตอบที่ดีที่สุด คือ ถามจากพนักงานของหัวลำโพง

ลุล่วงมาถึง พ.ศ.2503 ผู้คนหลั่งไหลมากมาย ยั้วเยี้ย เพราะใครๆ ก็ไปหัวลำโพง คนต่างจังหวัด หรือแม้แต่คนกรุงเทพฯ นึกอะไรไม่ออก บอกไม่ถูก เค้าบอกต่อๆ กันมาว่า ให้ไปตั้งหลักที่หัวลำโพง

สินค้าล้น ไม่มีที่เก็บกอง ภาครัฐจึงตัดสินใจย้ายส่วนของ “การขนส่งสินค้า” ไปยังพื้นที่อื่น และปรับปรุงให้สถานีหัวลำโพงให้บริการเฉพาะขนส่งมวลชนเพียงอย่างเดียว…แปลว่า มีแต่ผู้โดยสาร ไม่มีสินค้า

เกือบลืมที่จะบอกว่า ในสมัยแรกมีโรงแรมขนาดเล็ก ชื่อ ราชธานี อยู่ในหัวลำโพง สำหรับผู้เดินทางที่ต้องค้างคืน ดำเนินกิจการโดยการรถไฟหลวง มีอาหาร การบริการแบบในยุโรป

มีข่าว มีข้อมูล เรื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้งานหัวลำโพง ซึ่งก็คงเป็นไปเพื่อการพัฒนาตามสภาพสังคม และระบบการจราจร

คนไทยมีความผูกพัน คุ้นเคยและเสน่หาในความงดงามที่เป็นอมตะของหัวลำโพง …เป็น 1 เดียวในแผ่นดิน

ที่แน่นอนที่สุด คือ พระปรีชาสามารถ พระวิสัยทัศน์ที่เฉียบแหลม ยังคงมั่งคั่ง ยั่งยืน มาจนถึงลูกหลานทุกวันนี้

เรียบเรียงโดย

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image