บทเรียน เมียนมา จาก ประชา สุวีรานนท์ กลไก ประชามติ

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้รัฐบาลทหารของสหภาพเมียนมาจำเป็นต้องเปิดประเทศและกำหนดให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนพฤษภาคม 2551

คำตอบนี้ได้มาจากเอกสาร 2 เอกสารประกอบเข้าด้วยกัน

1 เป็นหนังสือ “ความมั่นคงโลก:การเมืองและการทหารในโลกที่เปลี่ยนแปลง” ของ สุรชาติ บำรุงสุข แห่งโครงการความมั่นคงศึกษา เมื่อปี 2557

1 เป็นบทความของ ประชา สุวีรานนท์ ใน “มติสุดสัปดาห์” ฉบับหนุมานอาสา

Advertisement

ปรากฏว่า เป็นคำตอบตรงกันว่า ได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากประชาคมโลกในยุคแห่งโลกาภิวัตน์

ไม่ว่าจะจาก “สหประชาชาติ” ไม่ว่าจะจาก “สหภาพยุโรป”

บทบาทของทหารต้องถูกผลักให้ออกจากเวทีการเมือง เกิดกระบวนการการถอนตัวของทหารจากการเมือง

นั่นก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “โรดแมปสู่ประชาธิปไตย”

ขณะเดียวกัน หากอ่านจากบทความชื่อ “พม่า(ก็)ชอบประชาธิปไตย” ของ ประชา สุวีรานนท์ ผ่านคอลัมน์วิช่วลคัลเจอร์ ก็จะได้รับรู้บรรยากาศของประชามติในพม่า

ต้องอ่าน

 

ก่อนหน้าการลงประชามติคณะทหารได้จัดให้มีการพิมพ์เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอ้างว่ามีสาระสำคัญเป็นการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย

แถมสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า

มีการตรากฎหมายและแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมการออกเสียงประชามติ อย่างไรก็ตาม ใครๆ ก็มองออกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ที่นั่ง 1 ใน 4 ของสภานิติบัญญัติมีไว้สำหรับข้าราชการทหาร

และคณะทหารที่ยึดอำนาจก็ยังคงมีอิทธิพลเหนือกระทรวงกลาโหมซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการและควบคุมการประชามตินี้อยู่

ในด้านการรณรงค์ คณะทหารได้สั่งให้บรรดาสื่อมวลชนในประเทศดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้มีการ “รับ” เท่านั้น โดยในโทรทัศน์ของรัฐทุกช่องจะปรากฏแถบข้อความว่า “เชิญชาวเรารับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มพูนประโยชน์ให้บ้านเมือง

Let’s vote Yes for national interest.

อีกทั้งมีการเปิดเพลง เชิญชวนให้ออกเสียง “รับ” ผ่านสถานีแพร่ภาพและกระจายเสียงของรัฐทุกประเภทตลอดทั้งวัน

คล้ายกับว่าผลการลงประชามติซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 92.48 เป็นเสียง “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องประกาศชัยชนะของรัฐบาลทหารของเมียนมา แต่ในความเป็นจริง กลับเป็นการ “ประจาน”

เพราะในเมื่อประชามติดำเนินไปโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ “รับ” อย่างเป็นด้านหลักเสียแล้ว จึงยากที่กระแส “ไม่รับ” จะมีที่ยืน

เนื่องจากรัฐบาลคุมกลไกแห่งการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ไว้ครบถ้วน

ไม่ว่าสถานีโทรทัศน์ ไม่ว่าสถานีวิทยุกระจายเสียง ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ ล้วนกระหึ่มด้วยเสียงให้ “รับ” อย่างคึกคัก ฝ่าย “ไม่รับ” จึงกลายเป็น “ความผิด”

จึงไม่แปลกที่ สุรชาติ บำรุงสุข จะระบุว่า เป็นความพยายามในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐบาลทหารมากกว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตย

ปรากฏการณ์นี้ถูกตอกย้ำอย่างชัดเจนจากการลงประชามติที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้ายถูกขจัดออกไปจากเวทีการเมือง และอำนาจก็ถูกรวบอยู่ในมือของผู้นำทหารอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เป็นข้อสรุปที่ชัดเจนในตัวเองว่าโอกาสของการปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

เพราะเมื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พยายามเคลื่อนไหวในด้าน “ไม่รับ” ก็ถูกสั่งระงับ

มีการใช้อำนาจจับกุม คุมขัง กันถ้วนหน้า

 

ถามว่าพฤติการณ์ของรัฐบาลทหารแห่งสหภาพเมียนมาเป็นที่รับรู้ต่อ “ประชาคม” อย่างกว้างขวางมากน้อยเพียงใด

ตอบได้เลยว่า รู้กันสนั่น

นับจากประชามติในเมียนมาเป็นต้นมา กระแสกดดัน คัดค้านระบอบเผด็จการ โดยคณะทหารก็ดังกระหึ่ม รุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ไม่ว่าจะ “สหประชาชาติ” ไม่ว่าจะ “สหภาพยุโรป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image