ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และการยกเลิกบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับ ส.ว. โดย โคทม อารียา

มีการประมาณว่า ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 อาจมากถึง 3 หมื่นคน ผู้จัดการชุมนุมใช้ชื่อว่าคณะประชาชนปลดแอก ซึ่งออกแถลงการณ์โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ รัฐบาลต้อง

1) หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย

2) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง

3) ยุบสภาเพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง

Advertisement

แถลงการณ์ระบุว่า “ที่ผ่านมาเราเสียมามากพอแล้ว … ประเทศเราดีกว่านี้ได้ … แม้เราจะอยู่กับความอยุติธรรมมานาน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทนอีกต่อไป แม้มันจะดูเหลือเชื่อ ก็ขอให้จงฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ”

ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คณะประชาชนปลดแอกเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรา 269 – 272 เพื่อตัด ส.ว. 250 คนออกจากรัฐสภา และขีดเส้นให้ทำภายในเดือนกันยายน หากไม่ตอบสนองใด ๆ จะยกระดับการชุมนุมต่อไป

ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลจะกระทำได้

Advertisement

สำหรับข้อเรียกร้องข้อที่ 1) รัฐบาลอาจอ้างว่า การที่มีข่าวว่ามีการออกหมายเรียกนักศึกษา-ประชาชน 31 คนเหตุด้วยการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคมนั้น เป็นเพียงการกระทำตามหน้าที่ของผู้รักษากฎหมาย ขณะที่ผู้ชุมนุมก็อ้างว่าใช้สิทธิเสรีภาพโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขอใช้วิธีอารยขัดขืนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะเหลือทนกับการขออยู่ยาวของผู้ใช้อำนาจรัฐประหาร ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ เราจะเคารพความเห็นที่ต่างกันเช่นนี้ได้มากเพียงใด โดยรัฐบาลไม่ใช้การปราบปราม และผู้ชุมนุมก็ยึดมั่นในการชุมนุมอย่างสันติ

สำหรับข้อเรียกร้องข้อที่ 2) พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่เมื่อแก้ไขแล้วจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นทำได้ไม่ยากจนเกินไป โดยให้เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่ต้องการเพียงเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภาก็แก้ไขได้ อีกทั้งขอให้เพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิก หรือ สสร. มาจากการเลือกตั้ง อนึ่ง ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของสภาผู้แทนราษฎรได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า กมธ. เตรียมเสนอแก้มาตรา 256 พร้อมทั้งเปิดทางตั้ง สสร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อีกทั้งวิษณุ เครืองามให้สัมภาษณ์ว่า ไม่จำเป็นต้องมีข้อเสนอเป็นยกร่างกฎหมาย เพียงแต่บอกมาว่าต้องการอะไรก็สามารถดำเนินการได้ จึงมีเหตุผลที่รัฐบาลจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าสามารถทำได้และมีความตั้งใจจริงที่จะให้มีการแก้มาตรา 256 และสนับสนุนการตั้ง สสร. โดยไม่ต้องมองว่าถูกบีบบังคับ หากดำเนินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ อย่างไรก็ดี หากตอบว่าการพิจารณาเรื่องนี้ในสมัยประชุมสภาครั้งที่หนึ่งคงไม่ทัน เพราะจะหมดสมัยประชุมในวันที่ 18 กันยายน 2563 จึงควรไปพิจารณาในสมัยประชุมสภาครั้งที่สองที่เริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 จะดีกว่า คำตอบเช่นนี้คงจะทำให้ความตึงเครียดทางสังคมการเมืองเพิ่มขึ้น เพราะถูกมองได้ว่า เป็นลูกไม้ที่จะหาทางอยู่ยาวต่อไปอีก โดยไม่สัมผัสความรู้สึกของประชาชนรวมทั้งนักเรียน นักศึกษา จำนวนมาก ที่รู้สึกว่า “จะไม่ทนแล้ว”

สำหรับข้อเรียกร้องข้อที่ 3) นั้น เห็นทีจะต้องใช้เวลาพอสมควร เข้าทำนองว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” นั่นแหละ แต่คราวนี้ ประเด็นที่จะต้องปฏิรูปมีความเป็นรูปธรรมมาก คือ ต้องตัดอำนาจหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ของ ส.ว. เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดกันหรือการต่างตอบแทนอย่างชัดเจน คือ คสช. เลือก ส.ว. ชุดนี้ แล้ว ส.ว. ชุดนี้ก็เลือกอดีตหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างพร้อมเพรียง โดยไม่ขาดตกบกพร่องแม้แต่คนเดียว อีกทั้งควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความคลุมเครือ ซึ่งเปิดช่องทางให้เกิดปาฏิหารย์ที่ช่วยให้พรรคร่วมรัฐบาลได้เสียงข้างมากจนได้

ข้อเรียกร้องในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะประชาชนปลดแอก ในส่วนของการแก้ไขมาตรา 256 และการตั้ง สสร. อาจต้องใช้เวลา แต่ก็ควรเริ่มต้นพิจารณาในสมัยประชุมสภาครั้งที่หนึ่งนี้ เพราะมีเรื่องที่จะต้องพิจารณาในวาระที่สองที่คงต้องใช้เวลา ซึ่งพิจารณาได้ในช่วงพักสมัยประชุม อีกทั้งยังต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพราะไปแตะมาตรา 256 ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญถือว่าสำคัญยิ่งยวด เทียบกับหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ที่การแก้ไขต่างก็ต้องการการลงประชามติ จึงเข้าใจได้ว่าทำไม คณะประชาชนปลดแอกจึงอยากได้ผลคืบหน้าที่ไม่ใช่การซื้อเวลา คืออยากให้แก้บทเฉพาะกาลในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว. ในลำดับแรก

คณะประชาชนปลดแอกขอให้ยกเลิกมาตรา 269 แต่การดำเนินการแต่งตั้ง ส.ว. ตามมาตรานี้ได้ลุล่วงไปแล้ว การยกเลิกมาตรานี้คงมีความยุ่งยากทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย จึงขอเสนอให้แก้ไขเฉพาะมาตรา 269 (1) (ค) โดยตัดข้าราชการประจำหกคนมิให้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ซึ่งขัดกับหลักการแยกข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองออกจากกัน และมาตรา 269 (4) โดยแก้ไขข้อความ “อายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้มีกำหนดห้าปี” เป็น “อายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้มีกำหนดสี่ปี” เพื่อให้สอดคล้องในลักษณะเฉพาะกาลกับอายุของสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา 270 ให้อำนาจและหน้าที่พิเศษแก่วุฒิสภาชุดนี้ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ร่าง พ.ร.บ. ที่จะตราขึ้นเพื่อการปฏิรูปประเทศให้เสนอพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว. มาตรา 271 ให้อำนาจพิเศษแก่วุฒิสภา ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภายับยั้งร่างพ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับโทษในตำแหน่งหน้าที่ หรือกระทบต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรม ส่วนมาตรา 272 บัญญัติว่า การเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว. ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะประชาชนปลดแอกที่ให้ยกเลิกมาตรา 270 มาตรา 271 และมาตรา 272 เพราะไม่ควรให้อำนาจพิเศษแก่ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เมื่อมีรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารควรลงจากอำนาจ โดยไม่ควรอ้อยอิ่งในอำนาจอีกต่อไป

คราวนี้อาจมีคนอ้างว่า ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ผู้มาออกเสียงส่วนใหญ่ได้เห็นชอบแก่คำถามพ่วงที่ถามว่าให้รัฐสภาชุดแรก “เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” การยกเลิกมาตรา 272 จะขัดกับการออกเสียงประชามตื จึงกระทำไม่ได้ ผมมีความเห็นว่ากระทำได้ เพราะทำตามมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านประชามติเช่นกัน อันที่จริงรัฐธรรมนูญย่อมแก้ได้อยู่แล้ว ยิ่งทำให้อึดอัดเท่าไร ก็ควรจะรีบแก้ไข อนึ่ง ในการลงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 รัฐบาลและข้าราชการที่โอนอ่อนตามรัฐบาล ได้ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อสนับสนุนให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบ และได้ปิดกั้นการรณรงค์ไม่เห็นชอบร่างดังกล่าว ถ้าจะอ้างการลงประชามติ โปรดอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ก็ผ่านการลงประชามติ แต่คณะรัฐประหารก็ไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะฉีกทิ้งทั้งฉบับแต่ประการใด ยังผลให้เกิดวิบากกรรมต่อเนื่องมา การยึดหลักการประชาธิปไตยน่าจะทำให้เกิดผลที่ยั่งยืนกว่า

มีบางคนบอกว่าจะแก้ไขมาตรา 269 และยกเลิกมาตรา 270 มาตรา 271 และมาตรา 272 จะไม่ทันในเดือนกันยายน 2563 แต่ผมเชื่อว่าวิษณุ เครืองามสามารถร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ให้แก้ไขมาตราดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นก็เสนอให้เป็นญัตติที่มาจากคณะรัฐมนตรีเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพียงแต่ต้องปรึกษากับบรรดา ส.ว. ให้ดี ก็จะสามารถผ่านวาระที่หนึ่งได้ ถ้าจะยกเลิก 3 มาตราดังกล่าว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมก็มีมาตราที่เป็นสาระเพียงมาตราเดียว ถ้าจะแก้ไจมาตรา 269 ด้วยก็รวมว่ามีสาระเพียงสองมาตรา จึงน่าจะผ่านวาระที่สองได้โดยไม่ใช้เวลานัก เมื่อผ่านวาระที่สองแล้วต้องรอไว้สิบห้าวัน ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาของรัฐสภาเสร็จไม่ทันการปิดสมัยประชุม แต่ถ้าเหลือเพียงวาระที่สาม และถ้าต้องรอไว้อีกหน่อย ไว้ไปพิจารณาวาระที่สามหลังเปิดสมัยประชุมในวันที่ 1 พฤศจิกายนก็พองาม

ผมเห็นว่าเราควรเคารพความเห็นต่าง ยิ่งกว่านั้นต้องเคารพความรู้สึกที่ต่างกันด้วย ถนอมน้ำใจกันไว้ อย่าทำอะไรที่กระทบจิตใจกันจนเกินเลยไป เมื่อผมอายุยังน้อย ผมมักเห็นต่างหรือมีเหตุผลแย้งกับผู้ใหญ่อยู่เนือง ๆ แต่ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ผมได้พยายามอ่อนน้อมและให้เกียรติแก่ผู้ใหญ่โดยตลอด วันนี้ผมเห็นนักเรียนดื้อที่จะแสดงออกที่ขัดกับผู้ใหญ่ แต่ก็สบายใจขึ้นมาบ้างเมื่อเห็นว่านักเรียบยังนบนอบต่อคุณครูผู้ประสาทวิชาความรู้ให้อยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image