ศึก 2 ด้านในยะไข่ : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ศึก 2 ด้านในยะไข่ : โดย ลลิตา หาญวงษ์
เขตเมืองเก่าในเมืองมเราก์-อู

พม่ากำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ไม่ต่างกับทุกประเทศทั่วโลก แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในพม่าจะไม่ได้มีมาก แต่ด้วยระบบสาธารณสุขที่ค่อนข้างจำกัด หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพม่าอย่างไม่ต้องสงสัย ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ความกลัวเชื้อโควิด-19 เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า

ในวันที่ 17 สิงหาคม ยะไข่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 1 ราย อีก 2 วันต่อมา มีผู้ติดเชื้ออีก 3 ราย และเมื่อถึงปลายสัปดาห์ มีผู้ติดเชื้อภายในวันเดียวมากถึง 20 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในเมืองซิตต่วยเพียงเมืองเดียวอยู่ที่ 72 รายในปัจจุบัน และยังมีรายงานผู้ติดเชื้ออีก 3 รายในเมืองมเราก์-อู (Mrauk-U) เมืองเก่าของยะไข่ และอีก 1 เมืองใกล้เคียง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมเราก์-อูได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถรับมือกับการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่างจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในซิตต่วย (Sittwe) เมืองเอกของยะไข่

ทางการยะไข่ประกาศให้มีการล็อกดาวน์เมืองซิตต่วยและเมืองอื่นๆ ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อทันที ทางการสั่งปิดตลอดเทศบาล และใครก็ตามที่เดินทางออกจากซิตต่วยต้องกักตัว 14 วัน รัฐบาลท้องถิ่นประกาศเคอร์ฟิวระหว่าง 3 ทุ่มถึงตี 4 และยังสั่งปรับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยเป็นเงิน 1,000 จ๊าต หรือราว 35 บาทด้วย แม้มาตรการดังกล่าวจะมีขึ้นอย่างทันท่วงที

ปัญหาสำคัญที่สุดในรัฐยะไข่ในปัจจุบันคือการเป็นพื้นที่ความขัดแย้ง และได้กลายเป็นสมรภูมิรบระหว่างกองทัพอาระกัน (Arakan Army หรือ AA) และกองทัพพม่า ทำให้รัฐบาลจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ปี 2019 รัฐบาลพม่าสั่งให้บริษัทที่ให้บริการด้านการสื่อสารตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตใน 8 เมืองในยะไข่ รวมทั้งบางเมืองในรัฐฉิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของกองทัพอาระกัน แม้รัฐบาลจะอนุญาตให้เปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตบ้างแล้ว แต่ก็เป็นเพียงสัญญาณ 2G ทำให้เอ็นจีโอที่รณรงค์ด้านสาธารณสุขไม่สามารถให้ข้อมูลชาวบ้านได้อย่างสะดวก

Advertisement

รัฐบาลยังอนุญาตให้เอ็นจีโอเข้าไปแจกจ่ายอาหาร ยารักษาโรค และอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ตามชุมชนทั่วรัฐยะไข่ แต่ไม่อนุญาตให้หน่วยงานเหล่านี้เข้าไปให้ความช่วยเหลือในค่ายผู้พลัดถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานภายในค่ายจะเป็นผู้แจกจ่ายของที่ได้รับบริจาคมาเอง ผู้พลัดถิ่นในค่ายผู้พลัดถิ่นทั่วรัฐยะไข่เหนือจำต้องหลบหนีจากหมู่บ้านเดิมที่อยู่ในเขตสู้รบระหว่างกองกำลังสองกลุ่ม

ในปัจจุบัน ซิตต่วยมีจำนวนผู้พลัดถิ่นที่เป็นชาวโรฮีนจาอีกกว่า 1 แสนคน และยังมีผู้พลัดถิ่นอีกหลายหมื่นคนที่เป็นชาวพุทธยะไข่กระจายอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่น 56 แห่งในเมืองซิตต่วยและมเราก์-อู

สถานการณ์โควิด-19 ในยะไข่ที่แย่ลงนี้สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนอย่างถ้วนทั่ว แต่การล็อกดาวน์ทำให้ประชาชนกลับเข้าถึงแพทย์ได้ยากขึ้น และทำให้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัย หรือเจลแอลกอฮอล์ ตกอยู่ในจุดเสี่ยงทันที และประกอบกับการสู้รบที่ยังดำเนินต่อไป ก็จะมีประชาชนยะไข่ที่ถูกเคลื่อนย้ายสู่ค่ายผู้พลัดถิ่นมากขึ้นในอนาคต และความเป็นอยู่อย่างแออัดนี้เองที่ทำให้โควิด-19 แพร่กระจายอย่างดี

Advertisement

ในอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำนาฟ ชาวโรฮีนจาเกือบ 1 ล้านคนใช้ชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ พวกเขาอยู่ในค่ายผู้อพยพ และไม่สามารถเดินทางออกจากค่ายผู้อพยพได้ และยังไม่สามารถเดินทางกลับไปรัฐยะไข่ได้ เนื่องจากเป็นบุคคลไร้รัฐ ที่ถูกปฏิเสธโดยทั้งทางการพม่าและบังกลาเทศ

เดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่ชาวโรฮีนจารำลึกโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในปี 2017 เมื่อกองทัพพม่านำกำลังจู่โจมทำลายหมู่บ้านชาวโรฮีนจาในยะไข่เหนือ ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตนับหมื่นคน และมีผู้ลี้ภัยที่หนีเข้าไปในบังคลาเทศอีกนับล้านคน เหตุการณ์ที่สหประชาชาติเรียกว่า “การสังหารล้างเผ่าพันธุ์ตามตำรา” (textbook example of ethnic cleansing) เพื่อรำลึกเหตุการณ์การสังหารหมู่ในครั้งนั้น ผู้นำชาวโรฮีนจาในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศได้จัดพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและความรุนแรงด้านเชื้อชาติ โดยมีชาวโรฮีนจาในค่ายผู้ลี้ภัยที่เมืองกุตูปาลอง (Kutupalong) เข้าร่วมถึง 2 แสนคน

แต่การประท้วงของชาวโรฮีนจาในครั้งนั้นก็สร้างความไม่พอใจให้กับทางการบังกลาเทศ จนนำไปสู่การสั่งตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตในค่ายผู้อพยพ และยังมีคำสั่งไม่ให้มีการรวมตัวกันภายในค่ายหลังมีการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

ระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่นี้ กองทัพพม่าขยายประกาศพักรบกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศไปจนถึงปลายเดือนกันยายน ยกเว้นในรัฐยะไข่ กองทัพพม่าไม่ได้มองว่ากองทัพอาระกัน ที่นำโดยชาวยะไข่พุทธ และกองกำลังปลดปล่อยโรฮีนจาอาระกัน (Arakan Rohingya Salvation Army หรือ ARSA) ภายใต้การนำของชาวโรฮีนจา เป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกับกองกำลังอื่นๆ แต่มองเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

การต่อสู้ที่ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบันสร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน และทำให้รัฐยะไข่เป็นพื้นที่เดียวที่ยังมีการสู้รบอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าสงครามกลางเมืองในยะไข่จะจบลงง่ายๆ เพราะทั้งกองทัพอาระกัน และ ARSA ต่างต้องการสิทธิการปกครองตนเอง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่กองทัพพม่าไม่สามารถตอบรับได้

ที่ผ่านมา พม่าตกอยู่ในสงครามกลางเมือง และแม้จะมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในส่วนของชาวกะเหรี่ยง ฉาน และกะฉิ่น และการสู้รบกินเวลาต่อเนื่องหลายสิบปี แต่ไม่มีชนกลุ่มน้อยใดที่แยกตัวเป็นเอกราชได้สำเร็จ และในที่สุดต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจากับทางการพม่า

ที่เป็นเช่นนี้เพราะปรัชญาของกองทัพพม่าประกอบไปด้วยหลักใหญ่ 3 ประการ กล่าวคือกองทัพจะทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้สหภาพพม่าแตกแยก การส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีภายในชาติ และธำรงอำนาจอธิปไตยของชาติไว้ตราบชั่วฟ้าดินสลาย

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image