ประชากรย้ายถิ่น เศรษฐกิจจังหวัดและการจัดบริการสาธารณะ : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ – ภูนท สลัดทุกข์

ประชากรย้ายถิ่น เศรษฐกิจจังหวัดและการจัดบริการสาธารณะ : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ - ภูนท สลัดทุกข์

1
ในแต่ละปีมีประชากรย้ายถิ่นข้ามเขตจังหวัดหลายสิบล้านคน ตามสถิติทะเบียนราษฎรในปี 2562 ระบุว่า จำนวนย้ายเข้า 28 ล้านคนและย้ายออก 28 ล้านคนเช่นเดียวกัน ซึ่งการเคลื่อนย้ายประชากรข้ามเขตจังหวัดมีนัยสำคัญต่อการคลังท้องถิ่นและการจัดบริการสาธารณะ ในโอกาสนี้ผู้เขียนขอนำผลงานวิจัยเล็กๆ มาเล่าสู่กันฟังพร้อมข้อเสนอ และข้อสังเกตซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มี “อัตราการย้ายเข้าสุทธิ” สูง เพราะว่าท้องถิ่นมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะ แต่ในขณะเดียวกันท้องถิ่นมีรายได้การคลังเพิ่มขึ้นจาก “งบประมาณรายหัวประชากร”

2
ทะเบียนราษฎรเป็นข้อมูลขนาดใหญ่เป็นรายบุคคล การย้ายเข้า-ย้ายออกของประชากรนับว่ามีความสำคัญและเป็นหัวข้อวิจัยของนักวิชาการสังคมศาสตร์ ทำไมจึงย้ายออกจากจังหวัดภูมิลำเนา? ทำไมจึงเลือกจังหวัดเป็นที่พำนักใหม่? เหตุใดบางจังหวัดมีจึงอัตราประชากรย้ายเข้าสุทธิสูง? นัยต่อการจัดบริการสาธารณะ การคลังท้องถิ่น การเมือง และ เศรษฐกิจจังหวัดเป็นอย่างไร? ล้วนเป็นคำถามที่ควรค่าต่อการศึกษาวิจัย

เราสันนิษฐานว่าการย้ายถิ่นของประชากรเกี่ยวข้องกับอาชีพการทำงานและภาวะเศรษฐกิจ ในเขตพื้นที่ยากจน-กันดาร-แห้งแล้ง-ไม่มีงานทำ ฯลฯ ผู้คนมีแนวโน้มย้ายออกไปแสวงหาอาชีพในพื้นที่ใหม่ เพื่อการทำงาน ประกอบอาชีพ หรือการค้าขาย เป็นเรื่องธรรมดา เราประมวลข้อมูลประชากร-บ้านเรือน-การย้ายถิ่นจากทะเบียนราษฎรของกรมการปกครองเป็นรายจังหวัด 77 x 9 ปี (2554-2562) นำมาคำนวณค่าสถิติที่น่าสนใจ เช่น อัตราการย้ายเข้า ย้ายออก และย้ายเข้าสุทธิ (หน่วย ร้อยละต่อประชากร) พร้อมกับเสนอข้อสังเกตบางประการ นำมาทดสอบข้อสันนิษฐานว่า สาเหตุหนึ่งมาจากปัจจัยเศรษฐกิจ (วัดด้วย GPP per capita หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด) ซึ่งสะท้อนโอกาสในการทำงาน-ค้าขาย-หรือการลงทุน ในรูปภาพที่ 1 แกนตั้ง สะท้อน ก) อัตราการย้ายเข้า ข) อัตราการย้ายออก ค) อัตราการย้ายเข้าสุทธิ แกนนอน หมายถึง GPP per capita (แปลงให้เป็นค่าลอการิธึม) พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนย้ายของประชาชร มีความสัมพันธ์กับ GPP per capita ที่สังเกตได้ชัดเจนจากรูปกราฟ (และยืนยันด้วยเทคนิคสถิติขั้นสูง)

ประชากรย้ายถิ่น เศรษฐกิจจังหวัด และการจัดบริการสาธารณะ : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ - ภูนท สลัดทุกข์

Advertisement

3
เราสืบค้นต่อว่า จังหวัดที่มีอัตราการย้ายเข้าสุทธิสูงว่า หมายถึง กลุ่มจังหวัดอะไร? โดยคำนวณ ลำดับที่ (ranking วัดจากอัตราการย้ายเข้าสุทธิจากมากไปน้อย) ในรูปภาพที่ 2 และ 3 ระบุ 20 จังหวัดที่การย้ายเข้าสุทธิสูงที่สุดในประเทศ ณ ปี 2562

ประชากรย้ายถิ่น เศรษฐกิจจังหวัด และการจัดบริการสาธารณะ : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ - ภูนท สลัดทุกข์

4
การเคลื่อนย้ายของประชากร มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเมืองและต่อผู้บริหารท้องถิ่น จากรูปภาพข้างต้นเราประจักษ์ได้ว่า จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และระยอง มีประชากรหลั่งไหลเข้าสุทธิสูงสุด จังหวัดนนทบุรีเดิมมีประชากร 1.3 ล้านคน อัตราการไหลเข้าสุทธิ 1.5% หมายถึง มีประชากรเพิ่มขึ้น 2 หมื่นคนต่อปี ภายในห้าปีกลายเป็นหลักแสนคน (หมายเหตุ ในความเป็นจริงต้องตระหนักว่า มีประชากรแฝงด้วยเพียงแต่ไม่สามารถระบุจำนวนอย่างแน่นอน) — สำหรับผู้บริหาร อบจ. เทศบาล และ อบต. นี้เป็นการบ้านที่จะต้องตระหนัก การจัดทำบริการสาธารณะให้พอเพียง เสมอภาค เท่าเทียม ครอบคลุม ทั่วถึงในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งดูเหมือนเป็นภาระ แต่ว่าในอีกด้านหนึ่งมี “ผลดีทางเศรษฐกิจ” หลายประการ อย่างชัดๆ คือ ก) เงินอุดหนุนให้ท้องถิ่นเป็นรายหัว ข) ภาษีแบ่งหลายประเภท เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต จัดสรรเป็นรายหัว ค) ประชากรที่ไหลเข้ามามีรายได้/กำลังซื้อติดตัวมาด้วย มาซื้อบ้านอยู่อาศัยทำงาน ซึ่งสินค้า อุปโภค-บริโภค … ในวิชาเศรษฐศาสตร์มีงานวิจัยเกี่ยวกับ “ตัวทวีคูณท้องถิ่น” (local multiplier) ซึ่งน่าสนใจมาก แต่ว่าผลงานวิจัยประเภทนี้ยังมีน้อยในบ้านเรา

ในทางตรงกันข้ามจังหวัดที่มีการย้ายออกสุทธิ มีความเป็นไปได้ที่จำนวนประชากรจะลดลง (จำนวน 42 จังหวัด ณ ปี 2562 หากปราศจากอัตราประชากรเกิดใหม่) จะเป็นหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ – ภูนท สลัดทุกข์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image