ใครใหญ่? : มหาอำนาจทางทะเลในภูมิภาค

ใครใหญ่?: มหาอำนาจทางทะเลในภูมิภาค – สุรชาติ บำรุงสุข

แทบจะกลายเป็นแบบแผนของคำอธิบายในการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยทุกครั้งว่า “เพื่อนบ้านมี ไทยต้องมี” การนำเสนอแนวคิดในการซื้ออาวุธ เพียงเพราะกองทัพประเทศเพื่อนบ้านมียุทโธปกรณ์นั้น เท่ากับตอบคำถามที่สำคัญในทางยุทธศาสตร์ว่า รัฐบาลไทยถือ “ประเทศเพื่อนบ้านเป็นภัยคุกคาม”

คำกล่าวของผู้นำไทยที่นำเสนอมุมมองทางยุทธศาสตร์ว่า เพื่อนบ้านเป็นภัยคุกคามนั้น ยังเสนอเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าเช่นนั้น กองทัพไทยจะต้องมีอาวุธทุกอย่างที่กองทัพเพื่อนบ้านมี จนดูเหมือนเราจะลืมประเด็นสำคัญว่า กองทัพไทยต่างหากที่มียุทโธปกรณ์หลายอย่างที่เพื่อนบ้านไม่มี … ทุกครั้งที่พูดเรื่องนี้ จนเสมือนหนึ่งว่า กองทัพไทยเป็นกองทัพเล็กๆ ที่ไม่มีอาวุธสมรรถนะสูงในประจำการ ดังจะเห็นได้จากกรณี การให้เหตุผลในการจัดซื้อเรือดำน้ำว่า ที่ราชนาวีไทยต้องซื้อ เพราะเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำกันหมดแล้ว และไทยไม่มี !

ดังนั้นบทความนี้ จะนำเสนอศักยภาพทางทะเลของกองทัพเรือไทยในมุมมองเปรียบเทียบกับกองทัพเรือของประเทศเพื่อนบ้าน โดยอ้างอิงจากหนังสือ The Military Balance ฉบับปี 2019 ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์ (The International Institute for Strategic Studies – IISS) ของอังกฤษ

กำลังพลเปรียบเทียบเชิงปริมาณ

หากพิจารณาจากตัวเลขกำลังพลในกองทัพเรือแล้ว ก็แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า กองทัพเรือไทยเป็นกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีกำลังพลรวมทั้งหมด 69,850 นาย ในขณะที่เพื่อนบ้านที่เป็นประเทศเป็นหมู่เกาะ และมีความจำเป็นที่ต้องมีกองทัพเรือขนาดใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย มีกำลัง 65,000 นาย และฟิลิปปินส์มี 23,750 นาย ไม่น่าเชื่อว่า ทร. ไทยมีกำลังมากกว่าอินโดนีเซียถึง 4,000 กว่านาย

Advertisement

หรือในกรณีของประเทศที่มีกำลังในระดับรอง เช่น เวียดนามมี 40,000 นาย มาเลเซียมี 18,000 นาย เมียนมามี 16,000 นาย และสิงคโปร์มี 9,000 นาย ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มักจะถูกนำมาเป็นคู่เทียบเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการซื้อ ก็ล้วนแต่มีขนาดของกองทัพเรือที่เล็กกว่าไทยมากๆ

ในกรณีของกัมพูชามีเพียง 2,800 นาย ส่วนลาวและติมอร์มีกองทัพเรือที่เล็กมาก ซึ่งตัวเลขกำลังพลที่ใช้วัดขนาดของกองทัพเรือนั้น ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทร. ไทยมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

กำลังรบเปรียบเทียบเชิงปริมาณ

ถ้านับจำนวนเรือรบหลักที่เป็นเรือฟริเกต (frigate) โดยไม่พิจารณาคุณสมบัติและขีดความสามารถของเรือ จะพบว่า อินโดนีเซียมีมากที่สุด 13 ลำ มาเลเซียลำดับสอง 10 ลำ ไทยลำดับสาม 8 ลำ ประเทศที่รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์มี 6 ลำ เมียนมามี 5 ลำ เวียดนามมี 4 ลำ

Advertisement

ส่วนฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และติมอร์ ไม่มีเรือในชั้นนี้ มีแต่เพียงเรือขนาดเล็ก

นอกจากฟริเกตแล้ว เรือที่เล็กรองลงมาที่มีในภูมิภาคคือเรือคอร์เวต (corvett) อินโดนีเซียมีมากสุดถึง 20 ลำ รองลงมาคือสิงคโปร์มี 11 ลำ ไทยเป็นลำดับสามมี 7 ลำ เวียดนามเป็นลำดับสี่มี 6 ลำ มาเลเซียเป็นลำดับห้ามี 4 ลำ และเมียนมาเป็นลำดับหกมี 3 ลำ

ส่วนฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และติมอร์ ไม่มีเรือในชั้นนี้ มีเพียงเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง

เรือดำน้ำ

ประเทศที่มีเรือดำน้ำมากที่สุดในภูมิภาค คือ เวียดนามมีจำนวน 8 ลำ เป็นเรือดำน้ำเก่า 6 ลำจากรัสเซีย และเรือเก่าอีก 2 ลำจากเกาหลีเหนือ รองลงมาคือ อินโดนีเซียมี 4 ลำ เป็นเรือดำน้ำชั้น 209 ของเยอรมนี และสิงคโปร์มี 4 ลำ เป็นเรือดำน้ำเก่าของสวีเดน ส่วนมาเลเซียมี 2 ลำ เป็นเรือดำน้ำของฝรั่งเศส

จะเห็นได้ว่าเมียนมาและฟิลิปปินส์ไม่มีเรือดำน้ำ หรือในกรณีของกัมพูชาก็ไม่มีเรือดำน้ำ ซึ่งในกรณีของทั้งสามประเทศนี้ยังไม่มีขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและการทหารที่จะนำเอาเรือดำน้ำเข้าประจำการแต่อย่างใด หรือประเทศเพื่อนบ้านทีมีเรือดำน้ำ ก็มีเงื่อนไขของที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาความขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศที่ไม่ใช่มีไทยเป็นคู่พิพาท

เรือบรรทุกเครื่องบิน

ราชนาวีไทยเป็นกองทัพเรือเดียวในภูมิภาคที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินอยู่ในประจำการ (หากผู้นำประเทศเพื่อนบ้านใช้ตรรกะเดียวกับผู้นำทหารไทย ทุกประเทศในภูมิภาคจะต้องหาหนทางมีเรือบรรทุกเครื่องบินเหมือนที่ไทยมี!)

อากาศนาวี

ทร. ไทยมีกำลังพลอากาศนาวีมากที่สุดจำนวน 1,200 นาย มีอากาศยานลาดตระเวนทางทะเลและปราบเรือดำน้ำ 3 ลำ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ 8 ลำ

อินโดนีเซียมีจำนวนรองลงมาคือ 1,000 นาย มีเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล 27 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ 4 ลำ

เวียดนามมีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ 10 ลำ (ไม่ปรากฎตัวเลขกำลังพลที่ชัดเจน)

มาเลเซียมีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ 6 ลำ (ไม่ปรากฎตัวเลขกำลังพลที่ชัดเจน)

ฟิลิปปินส์มีการจัดกำลังในส่วนนี้ แต่มีเพียงเครื่องบินขนส่ง ส่วนการจัดของสิงคโปร์ในส่วนนี้ เครื่องที่มีภารกิจทางทะเลสังกัดอยู่กับกองทัพอากาศ

นาวิกโยธิน

หลายประเทศในภูมิภาคมีการจัดกำลังนาวิกโยธิน และอาจจะเรียกชื่อในภาษาอังกฤษที่แตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ก็มีภารกิจเดียวกัน ประเทศเวียดนามมีนาวิกโยธินมากที่สุดคือ 27,000 นาย ไทยรองอันดับสองคือ 23,000 นาย อินโดนีเซียอันดับสามคือ 20,000 นาย ฟิลิปปินส์อันดับสี่คือ 8,300 นาย

นอกจากนี้กัมพูชามี 1,500 นาย เมียนมามี 800 นาย ลาวมีทหารบกที่ทำภารกิจทางน้ำ 600 นาย ส่วนมาเลเซีย สิงคโปร์ และติมอร์ไม่มีการจัดกำลังในส่วนนี้

มุมมองเปรียบเทียบ

หากพิจารณาจากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า ราชนาวีมีสถานะเป็น “มหาอำนาจทางทะเล” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นอน และไม่อาจกล่าวอ้างได้เลยว่า ไทยมีกำลังรบทางทะเลน้อยกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาค อีกทั้งการไม่มีเรือดำน้ำก็ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า จะทำให้ “สมดุลแห่งกำลัง” ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านต้องสูญเสียไปแต่อย่างใด

ทุกประเทศทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาคกำลังเผชิญกับสงครามชุดที่ใหญ่ที่สุดคือ “สงครามโควิด-19” ยุทธศาสตร์ในสงครามชุดนี้ไม่ต้องการการซื้ออาวุธ แต่ต้องการการฟื้นฟูประเทศ และดูแลชีวิตของประชาชน สงครามนี้มีข้อเตือนใจที่สำคัญว่า “สังคมที่อ่อนแอในทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถสร้างกองทัพที่เข้มแข็งได้” และยิ่งในสังคมที่ประชาชนประสบความยากลำบากของชีวิต แต่กองทัพกลับเรียกร้องให้ซื้ออาวุธด้วยงบประมาณมหาศาล กองทัพนั้นไม่อาจรบชนะข้าศึกได้เลย เพราะพวกเขาแพ้ใจประชาชนในบ้านไปก่อนแล้ว

วันนี้กองทัพไทยกำลังกลายเป็น “สิ่งแปลกแยก” ในสังคมไทยไปแล้ว โดยมีกองทัพเรือและเรือดำน้ำเป็นตัวแทน … วันนี้ทหารกำลังแยกตัวออกจากประชาชน ด้วยการทำลายความรู้สึกของประชาชนไทยลงอย่างไม่อาจปฎิเสธได้ จนอาจจะต้องถือว่า เรือดำน้ำเป็นคือ การ “ย่ำยีหัวใจประชาชน” ของผู้นำทหารในยามที่ประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่

และคงต้องรอติดตามว่า ผู้แทนของพรรครัฐบาลจะเข้าร่วมยุทธการ “เหยียบย่ำใจประชาชน” ด้วยคำตอบเพียงเพราะว่า “ผมเป็น สส. รัฐบาล” หรือไม่!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image