อะไรคือหลักการของรัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตย? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

แฟ้มภาพ

เรามาถึงโค้งสุดท้ายในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วครับ ก็คงมีหลายสิ่งที่ทำให้ต้องมาคิดกัน ซึ่งผมก็คิดว่าคงจะต้องรวบรวมมาบันทึกเอาไว้ โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน ในส่วนแรกคือภาพรวมของการรณรงค์ที่ผ่านมา ตลอดจนข้อสังเกตที่มีต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาก่อนการลงประชามติจนถึงสัปดาห์สุดท้าย และในส่วนที่สองก็คือเรื่องของความเข้าใจต่อสิ่งที่เราเรียกว่า “รัฐธรรมนูญนิยม” หรือหลักการว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับสังคมการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย

ในส่วนของปรากฏการณ์ทางการเมืองของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะพบว่ามีประเด็นอยู่หลายประเด็นที่ควรบันทึกไว้

1.การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นความพยายามร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่สอง นับจากการทำรัฐประหารเมื่อสองปีก่อน และเป็นครั้งที่เกิดขึ้นเมื่อร่างแรกที่นำโดยอาจารย์บวรศักดิ์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแม่น้ำห้าสายของคณะรัฐประหาร และในสุดท้ายร่างก็ถูกคว่ำลงโดยกลไกอีกด้านของคณะรัฐประหาร นั่นคือ สปช. ที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นก่อนที่จะมีการลงประชามติ

2.การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นกลไกที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในโรดแมปของ คสช.ทั้งร่างฉบับอาจารย์บวรศักดิ์และอาจารย์มีชัย

Advertisement

3.เรื่องใหญ่ในข้อถกเถียงเรื่องการลงประชามตินั้น มีทั้งในส่วนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเอง และในส่วนของที่มาและกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ

3.1 ในส่วนของเนื้อหานั้น มีข้อถกเถียงอยู่มากมาย โดยสามารถแบ่งออกเป็นเรื่องใหญ่ๆ ได้หลายเรื่อง อาทิ เรื่องของความเชื่อว่า รัฐธรรมนูญนี้สามารถปราบโกงได้ รัฐธรรมนูญนี้ให้สิทธิแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น รัฐธรรมนูญนี้สามารถฝ่าวิกฤตทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะมีโครงสร้างในระดับสถาบันโครงสร้างใหม่ที่สามารถจัดการปัญหาในยามวิกฤตได้ และรัฐธรรมนูญนี้จะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ในระยะยาว

ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญนี้ก็ตั้งข้อสงสัยว่า การปราบโกงนั้นมีลักษณะทั่วถึงทุกสถาบันไหม หรือจงใจที่จะวางจุดเน้นไปที่สถาบันนักการเมืองเท่านั้น การเพิ่มสิทธิแก่ประชาชนนั้นมีลักษณะจะไปเปลี่ยนแปลงหลักคิดในเรื่องของสวัสดิการมากน้อยเพียงไร (คือจากหลักสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะมันเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้ มาสู่หลักสังคมสงเคราะห์คือจะมีประชาชนกลุ่มเดียวที่จะได้รับความช่วยเหลือเมื่อเข้าตามหลักเกณฑ์เท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่าประชาชนนั้นเป็นผู้รับความเมตตากรุณาจากรัฐ แทนที่ประชาชนจะเป็นนายของรัฐ หรือเป็นเจ้าของ/ที่มาของอำนาจอธิปไตย) การลดทอนเสรีภาพของประชาชนภายใต้แนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติที่ขยายปริมณฑลไปอย่างกว้างขวาง และการมีบทบาทที่สูงขึ้นขององค์กรอิสระในการเข้ามาตัดสินความขัดแย้งในสังคมในยามวิกฤตโดยมีความเบาบางในการยึดโยงกับประชาชนในแง่ของที่มา และการตั้งคำถามบทบาทของสถาบันการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับโอกาสในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ภายหลังจากการมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

Advertisement

มิพักต้องพูดถึงประเด็นในเรื่องของโอกาสที่จะมีนายกฯคนนอก และการที่วุฒิสภานั้นจะมาจากการแต่งตั้งของ คสช.อีกห้าปี ดังที่ปรากฏขึ้นในคำถามพ่วงในการลงประชามติในรอบนี้

3.2 ในส่วนของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา สิ่งที่เราเรียนรู้นั้นมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการเรียกร้องที่จะขอให้เกิดระบบการรณรงค์ที่เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความเห็นที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสรี ทั้งนี้ในระดับหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้กุมอำนาจในระบอบ กับของผู้ที่ไม่ได้กุมอำนาจรัฐนั้นไม่ตรงกัน ผู้ที่กุมอำนาจรัฐเอาไว้เห็นว่าการรณรงค์ไม่ควรจะมีขึ้นอย่างเสรี แต่สามารถแสดงความคิดเห็นในระดับส่วนบุคคลได้ ทั้งนี้จะต้องไม่บิดเบือน ไม่ก้าวร้าวหยาบคาย

เรื่องที่เกิดขึ้นจริงนั้นไม่ง่ายเหมือนหลักการที่ฝ่ายมีอำนาจรัฐได้ประกาศเอาไว้ เพราะว่าอำนาจในการตีเส้นว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้นั้นถูกกำกับอยู่สี่ชั้น หนึ่งคือ อำนาจของ คสช.ในการกำหนดว่าอะไรคือการเมือง อะไรไม่ใช่การเมือง ผ่านการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน สองคือ อำนาจของกลไกรัฐปกติ คือตำรวจในการพิจารณาว่าอะไรเข้าข่ายการปลุกระดมตามประมวลกฎหมายอาญา สามคือ อำนาจของ กกต.ในการพิจารณาว่าอะไรขัดกับการลงประชามติ โดยเฉพาะเงื่อนไขเรื่องความหยาบคาย ก้าวร้าว และสี่คือ อำนาจของ กรธ.หรือผู้ร่างที่เข้ามากล่าวหาโจมตีคนที่เห็นต่างว่ามีลักษณะบิดเบือนและปลอม ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของตน แทนที่จะสร้างบรรยากาศให้เห็นว่า สิ่งที่คนเห็นต่างนั้นอาจมาจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ตามรากฐานทางอุดมการณ์และมุมมองที่มีต่ออำนาจและสิทธิเสรีภาพรวมทั้งสวัสดิการ ตลอดจนการปฏิเสธไม่เข้าร่วมการถกเถียงในแบบดีเบต แต่ก็ไม่หยุดการบรรยายและให้ความรู้แก่ประชาชนด้านเดียวของตนลงไป

ความไม่ลงรอยกันระหว่างหลักการกว้างๆ ของ คสช.ในเรื่องของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ (อย่างน้อยเขาก็อยากให้คนออกไปลงคะแนน รับหรือไม่รับ แต่เขาไม่ต้องการให้มีการรณรงค์ไม่รับอย่างออกหน้าออกตา แต่ก็หยอดไว้ว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านแล้ว การเลือกตั้งจะมีขึ้นอย่างแน่นอน และจะอนุญาตให้ใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่) ทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนั้นเป็นที่ห่วงกังวลจากสังคมโลก แต่ก็ไม่เป็นที่ห่วงกังวลของสังคมไทยในส่วนที่สนับสนุนการแก้ปัญหาทางการเมืองในแบบที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของสื่อมวลชนเองที่ไม่ได้มีเอกภาพร่วมกัน แต่เน้นการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองว่าฉันเป็นของแท้ ไม่ใช่ของเทียม หรือเดือดร้อนกับการที่นักข่าวคนหนึ่งถูกละเมิดที่บ้านไผ่มากกว่าเรื่องนักข่าวอีกคนหนึ่งที่ถูกละเมิดเพียงเพราะนั่งรถไปกับแหล่งข่าวที่ถูกหมายตาโดยอำนาจรัฐ (หลักฐานคือไม่มีแถลงการณ์จากองค์กรสื่อในกรณีหลัง แต่มีในกรณีแรก)

และอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในโค้งสุดท้ายนั้น การพยายามวางกรอบจำกัดต่อการรณรงค์นอกเหนือไปจากการแทรกแซงในเรื่องของการจัดเสวนาในหลายที่ และการเอาเถิดเจ้าล่อกับกลุ่มนักกิจกรรมประชาธิปไตยทั้งหลาย ก็เป็นเรื่องของการปิดสถานีโทรทัศน์ (เป็นการชั่วคราว) ของสื่อที่ออกตัวชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารและเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และการเข้าไปสกัดขัดขวางความเชื่อมโยงระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับประชาชนภายใต้ข้อหาการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กระบวนการหลักไม่ได้มาจาก กกต.กับ พ.ร.บ.ประชามติ แต่ใช้ข้อหาขัดคำสั่ง คสช.และกฎหมายอาญา

สำหรับเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น เป็นสิ่งที่โดยหลักการและหลักวิชานั้นเขาถือกันว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะรัฐธรรมนูญกับรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) นั้นไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกับการพิจารณากฎหมายกับกฎหมายในสังคมเสรีประชาธิปไตย ก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีความหมายว่าเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจที่ไม่ใช่ประชาชน กับผู้มีอำนาจที่เป็นประชาชนไม่เหมือนกัน

เรื่องที่ผมพยายามนำเสนอนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และลึกซึ้งไปกว่าการพยายามอ้างว่ารัฐธรรมนูญในสังคมประชาธิปไตยคืออะไรก็ได้ ที่เปลี่ยนได้โดยนักการเมืองที่อ้างว่ามาจากเสียงข้างมากของประชาชน หรือมองว่ายึดโยงกับประชาชนเพียงแค่มาจากการเลือกตั้ง แต่จะต้องเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญในสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นมีรากฐานมาจากแนวคิดเรื่องของ “รัฐธรรมนูญนิยม” ซึ่งโดยสรุปแล้วมีประเด็นที่ควรพิจารณาอยู่ 7 ประการ

1.เป็นรัฐธรรมนูญที่มองว่าประชาชนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หรือที่เราเข้าใจกันว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและมาจากประชาชนนั่นแหละครับ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญจะต้องสะท้อนถึง “เจตนารมณ์” ของประชาชน (will of the people) ในฐานะที่มาของอำนาจในการปกครอง และฐานของความชอบธรรมในการปกครอง ความเชื่อในเรื่องของเจตนารมณ์ของประชาชนนั้น สามารถขยายความไปเป็นเรื่องการยึดโยงกับประชาชนได้ว่า เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจในการปกครองแล้ว เขาจะต้องปกครองโดยมีความรับผิดชอบ โดยการที่เขาสามารถเรียกคืนอำนาจของเขาได้และแต่งตั้งสถาบันทางการเมืองใหม่ได้

2.รัฐธรรมนูญในสังคมประชาธิปไตยจะต้องมีลักษณะแบบกฎหมาย คือกำหนดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และเป็นกฎหมายสูงสุด โดยที่รัฐบาลนั้นจะต้องทำงานตามกรอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

3.เชื่อมโยงมาจากข้อ 1. และ ข้อ 2. นั่นคือ รัฐธรรมนูญที่ถือหลักว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและมาจากประชาชนนั้นจะต้องถูกกำกับโดยกฎหมาย (ไม่ใช่คิดแต่จะออกกฎหมายไปกำกับคนอื่น) และถูกกำกับโดยหลักการประชาธิปไตย ดังนั้นหลักการที่เราเรียกว่ารัฐธรรมนูญนิยมนี้จะต้องเชื่อมโยงกับการเมืองแบบประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชน ถึงแม้ในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม รัฐธรรมนูญก็จะต้องคงหลักของการใช้อำนาจจากการยินยอมของประชาชน (อาทิ ระยะเวลาในการใช้อำนาจพิเศษ และการตรวจสอบย้อนหลัง)

4.นอกเหนือจากหลักการว่าประชาชนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และรัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว หลักการ

อื่นๆ ที่มีในรัฐธรรมนูญนิยมก็คือเรื่องของการมีรัฐบาลที่ถูกจำกัดอำนาจ ไม่ใช่มองว่ารัฐบาลนั้นมีอำนาจมหาศาลที่รุกล้ำไปในพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของประชาชนได้ การมีการแบ่งแยกอำนาจที่มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน (ไม่ใช่การตรวจสอบฝ่ายเดียวโดยอีกฝ่ายหนึ่ง) การควบคุมกองทัพโดยอำนาจพลเรือน การควบคุมตำรวจด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่รู้สึกว่าตำรวจสามารถใช้กฎหมายกับประชาชนได้ฝ่ายเดียว และตรวจสอบอำนาจตำรวจได้ยาก รวมทั้งการมีฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระ (แต่การมีตุลาการที่เป็นอิสระหมายถึง การที่อำนาจอื่นไปแทรกแซงการทำงานของตุลาการไม่ได้

แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกับการที่ให้ตุลาการไปแทรกแซงอำนาจอื่นได้ เพราะถ้าตุลาการแทรกแซงอำนาจอื่นได้ ตุลาการก็จะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน)

5.รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญนิยมนั้นจะต้องเป็นรัฐบาลที่เคารพและให้หลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลแต่ละคน ตามที่ระบุไว้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล แน่นอนว่าสิทธิของประชาชนนั้นถูกจำกัดได้ แต่การจำกัดสิทธิของประชาชนก็จะต้องถูกจำกัดเช่นเดียวกัน การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในยามวิกฤตนั้นเกิดขึ้นได้ แต่จะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบตามหลักประชาธิปไตย รวมทั้งการจำกัดสิทธินั้นจะต้องเป็นการจำกัดสิทธิเป็นการชั่วคราวและเท่าที่จำเป็น หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ รัฐบาลตามหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยที่รองรับโดยรัฐธรรมนูญนิยมนั้นจะต้องมองว่ามีไว้เพื่อทำให้สิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่มีไว้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

6.การกำกับดูแลและปกครองประเทศด้วยหลักรัฐธรรมนูญนิยมนั้นจะต้องครอบคลุมถึงการมีสถาบันต่างๆ ที่สามารถควบคุมตรวจสอบให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ (ที่เป็นที่ซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชนนั้นสถิตอยู่) ซึ่งหมายถึงการควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ (ไม่ใช่แค่นักการเมือง แต่หมายถึงรัฐบาลและระบบราชการ รวมทั้งกองทัพด้วย) และเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นรากฐานของการใช้อำนาจในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย

7.การเคารพหลักรัฐธรรมนูญนิยมในปัจจุบัน ขยายความจากยุคเริ่มต้น (คือการร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐและฝรั่งเศส) มาสู่การเคารพต่อหลักการการปกครองตนเองของประชาชน ซึ่งหมายถึงการที่ประชาชนจะสามารถมีเสรีภาพในการเลือกอนาคตของเขาได้เอง หรือเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเชื่อมโยงของเขากับสถาบันทางการเมืองได้ เช่นการลงประชามติออกจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจการเมืองบางลักษณะอย่างในกรณีอังกฤษ (ทั้ง 7 ข้อนี้ปรับปรุงจาก Louis Henkin. 1994. “A New Birth of Constitutionalism : Genetic Influences and Genetic Defects. ใน Michel Rosenfield. ed. Constitutionalism, Identity, Difference, and Legitimacy : Theoretical Perspective. Durham : Duke University Press.)

คำถามที่สำคัญต่อตัวร่างและกระบวนการร่าง/ลงประชามติของบ้านเรานั้นจึงอยู่ที่ว่าทั้งตัวผู้ร่างฯ และประชาชนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนร่างที่จะลงประชามติในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมนี้ มีมุมมองในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร และมองเห็นหลักการอะไรภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ฝ่ายที่สนับสนุนร่างก็คงจะต้องอธิบายให้ได้ว่าเขาจะจินตนาการและนิยามระบอบการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างไรที่เชื่อมโยงกับเจตนารมณ์ของประชาชน

ส่วนฝ่ายที่ไม่รับก็คงจะต้องมีคำอธิบายมากไปกว่าการมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นมันดีที่สุดแล้ว โดยโทษว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นมาจากพลังต้านประชาธิปไตยเท่านั้น โดยต้องตั้งคำถามด้วยว่า ที่ผ่านมานั้นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมันเป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญนิยมมากน้อยแค่ไหน และในอนาคตนั้นจะพัฒนาการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยให้เชื่อมโยงกับหลักการรัฐธรรมนูญนิยมได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image