‘นวัตกรรม’ช่วยชาติ โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

โลกยุคใหม่ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคม

แต่กว่าจะมาเป็นนวัตกรรมชิ้นใดชิ้นหนึ่งที่จะเพิ่มมูลค่า หรือก่อให้เกิดประโยชน์ได้นั้น ไม่เพียงแต่มีไอเดียเจ๋งๆ และความคิดสร้างสรรค์ แต่ต้องใช้ทุนและเวลาในการวิจัยและพัฒนา ลองผิดลองถูก ผ่านการพิสูจน์หลายขั้นตอนกว่าจะสำเร็จ

ดังนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วจะทุ่มเท ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาแก้ปัญหาตอบโจทย์ในด้านต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันนวัตกรรมที่สำเร็จยังมีมูลค่าที่จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย

Advertisement

สำหรับประเทศไทย มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามากเป็นลำดับ

ข้อมูลจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยา ศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พบว่าการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554

เมื่อปี 2561 ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา 182,357 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 17.5%

แบ่งเป็น การลงทุนของภาคเอกชน 142,971 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78% ขณะที่การลงทุนจากภาครัฐ 39,385 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22% ส่วนปี 2563 เดิมคาดว่าการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาจะขยายตัวแตะ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.21% ของจีดีพี

แต่จากพิษโควิด-19 ทำให้เอกชนลดงบประมาณด้านนี้ลง อย่างไรก็ตาม สอวช.ร่วมกับภาคเอกชนตั้งกองทุนนวัตกรรมขึ้นมา โดยมี 80 บริษัทร่วมลงขัน โดยรัฐบาลจะพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่ร่วมลงขัน

กองทุนนวัตกรรมนี้ตั้งเป้าว่าจะมีเม็ดเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้เอกชนยังคงเงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนบางส่วนยังเดินหน้าวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง

ล่าสุด มีนวัตกรรมใหม่ที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนด้วยช่องการไหลขนาดไมโคร สเกล (Microchannel Heat Exchanger Technology)

จากความร่วมมือระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี” และบริษัท จีซี เมนเทนแนนซ์ แอนด์ เอนจิเนียริง จํากัด หรือ “จีซีเอ็มอี”

นวัตกรรมชิ้นนี้ใช้องค์ความรู้ด้าน Microchannel Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการออกแบบให้เครื่องมือในกระบวนการผลิตมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมถึง 70-90%

อีกทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิของสารไฮโดรคาร์บอนในกระบวนการลงจากเดิม 5-20 องศาเซลเซียส ทำให้สารไฮโดรคาร์บอนกลั่นตัวเป็นของเหลวได้มากขึ้น

ผลที่ได้คือ ช่วยให้องค์กรประหยัดเงินได้ถึงปีละ 40 ล้านบาท

นวัตกรรมชิ้นนี้ ทาง “ปตท.” และ “จีซี” ร่วมกันยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้วกว่า 40 ฉบับ

ทั้งนี้ “ปตท.” และ “จีซี” ในฐานะเจ้าของเทคโนโลยี อนุญาตให้ “จีซีเอ็มอี” ซึ่งเป็นผู้นำทางด้าน Maintenance and Engineering Solution Provider หรือผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการบำรุงรักษาและวิศวกรรม เป็นผู้นำเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยมุ่งทำการตลาดเข้าทดแทนเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเทคโนโลยีเดิมในอุตสาหกรรม LNG, LPG, HVAC และอุตสาหกรรมอาหาร

เป็นการใช้องค์ความรู้ของแต่ละบริษัทมารวมกันจนประสบความสำเร็จ ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน เสริมความแข็งแกร่งและมั่นคงให้กลุ่มบริษัท ปตท.เท่านั้น

แต่นวัตกรรมนี้จะส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ นำไปใช้เพื่อช่วยลดต้นทุน ซึ่งจะส่งผลโดยรวมต่อประเทศชาติด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image