คนตกสี : ‘นักเรียนเลว’ของ‘รัฐมนตรีคนดี’ : โดย กล้า สมุทวณิช

หลังก่อการสำเร็จ ภารกิจแรกๆ ของคณะรัฐประหาร คสช. คือการเปิดตัว “ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ” ออกมาอย่างรวดเร็วภายในสองเดือนหลังควบคุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ ด้วยข้ออ้างว่า สิ่งที่คนไทยและประเทศไทยต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนคือต้องกำหนดค่านิยมหลักของคนไทยขึ้นมาให้ชัดเจน

แม้ชื่อจะเรียกว่าเป็นค่านิยมหลักของคนไทยที่หมายรวมถึงผู้คนทุกเพศวัยสถานะ แต่เมื่อพิจารณาดูแต่ละข้อก็พบว่าค่านิยมดังกล่าวนั้นมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายของเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน เช่น “กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์” “ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม” “มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่”

เหมือนกับการจับเอาเพลง “หน้าที่ของเด็ก” (หรือที่เราเรียกกันว่าเพลง “เด็กเอ๋ยเด็กดี”) มารีบู้ตอีกครั้งโดยเพิ่มจุดเน้นไปยังค่านิยมที่ต้องการ

ในรั้วโรงเรียน ค่านิยม 12 ประการนี้เป็นเรื่องใหญ่งานหลักที่ครูอาจารย์ต้องจับบังคับให้นักเรียนท่องให้ขึ้นใจตั้งแต่ชั้นอนุบาลยันมัธยมปลายตามที่อำนาจของกระทรวงศึกษาฯจะเอื้อมเงื้อมไปบังคับได้ แถม
จัดให้มีสมุดบันทึกความดีว่าเด็กๆ ได้ปฏิบัติตนสอดคล้องกับค่านิยมหลักอะไรไปบ้างหรือไม่ เป็นคะแนนเก็บหรือจิตพิสัยก็ว่ากันไป

Advertisement

เรื่องนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายที่ต่อต้านการยึดอำนาจเพื่อปกครองแบบเผด็จการถึงกับหมดหวัง เพราะเหมือนกับว่าฝ่ายอำนาจนิยมจารีตนิยมได้ชัยไปแล้วในการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมและครอบงำค่านิยม

เชื่อกันว่า การที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาสร้างความวุ่นวายทางการเมืองโดยคนจำนวนมากไม่หืออือ อันเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การทำรัฐประหารนั้นสำเร็จลงโดยไม่มีแรงต่อต้าน ก็ด้วยประชาชนกลุ่มต่างๆ เหล่านั้น ถูกปลูกฝังด้วย “ค่านิยม” อันไม่เป็นประชาธิปไตยที่เกื้อหนุนข้ออ้างของฝ่ายอำนาจนิยมจารีตนิยม ในการละเมิดสิทธิเสียงของผู้คนโดยอ้างคุณค่าอื่นที่เหนือกว่าสูงกว่า หลายคนหมดหวังแล้วด้วยซ้ำว่าคงไม่มีทางที่สังคมจะรวมพลังกันขึ้นมาต่อต้านการใช้อำนาจเช่นนั้นได้ เพราะเชื่อว่าเวลาหกปีที่ผ่านมานี้ เขาได้ครอบงำความคิดความเชื่อของผู้คนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้อย่างเข้มข้นสมบูรณ์แล้ว

จึงทำให้ตื่นเต้นกันมากเมื่อปรากฏว่า “ทัพหน้า” ที่เคลื่อนขึ้นมานำกระแสการต่อต้านในรอบใหม่นี้นำโดยเด็กและเยาวชน ตั้งแต่นิสิตนักศึกษาจนถึงเด็กนักเรียน พวกเขาแสดงตัวออกมาด้วยความรู้ความคิดที่ก้าวหน้าอย่างน่าตกใจ ประกอบกับอารมณ์ขันและความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะของคนรุ่นนี้ด้วย

Advertisement

จนต้องมีใครสงสัยกันบ้างแหละว่า ภายใต้การศึกษายุค “ค่านิยม 12 ประการ” ซึ่งพวกเขาน่าจะมีอายุอยู่ราว 8-15 ปีนั้น ทำไมจึงส่งผลเหมือนเป็นไปในทางตรงข้ามได้เช่นนี้

เพราะนอกจากการปลูกฝังค่านิยมดังกล่าวแล้ว ระบบการศึกษาของประเทศเราถดถอยย่อยยับเสียแทบทุกส่วน ตั้งแต่ในทางเนื้อหาวิชาการที่มีผู้พบบ่อยๆ ว่าผิดพลาดคลาดเคลื่อนทั้งในเชิงข้อเท็จจริงและเรื่องของทัศนคติที่ล้าหลังอย่างน่าตกใจ ระบบการวัดผลที่วุ่นวายเหลวไหล ข้อสอบ ONET ซึ่งเป็นการวัดผลการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติของชาติเต็มไปด้วยคำถามที่เพี้ยนพิลึกจนถูกเอามาล้อเป็นเรื่องตลกจนทุกวันนี้

นอกจากเรื่องทางวิชาการ บรรยากาศและวัฒนธรรมในโรงเรียนโดยเฉพาะของรัฐนั้นก็เลวร้ายลง ปรากฏข่าวการล่วงละเมิดเด็กนักเรียนอย่างสารพัดรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงความลุแก่อำนาจของครูอาจารย์ในยุคอำนาจนิยมเถลิงขึ้นครอบงำ

รวมทั้งหมดแล้วในความชื่นชมจึงเต็มไปด้วยความน่าสงสัยว่า เด็กและเยาวชนทั้งหลายนี้ พวกเขารอดจากการถูกครอบงำทั้งความรู้ อุดมการณ์ และค่านิยมภายใต้ระบบแบบนั้นมาได้อย่างไร แถมไม่ใช่แค่รอดมาได้เท่านั้น แต่เขากลับเติบโตขึ้นอย่างฉลาด สวยงามและเต็มไปด้วยความหวังอันเจิดจ้ายิ่งกว่าที่คนรุ่นเราๆ จะคาดหมายได้เสียอีก

เพราะนอกจากที่ระบบการศึกษาที่ล้าหลังทำอะไรพวกเขาไม่ได้แล้ว ระบบที่ว่านั้นต่างหากที่ผลักดันให้พวกเขาทรงพลังขึ้นมาอย่างที่เห็น

ถ้าจะเอาแค่ความคิดเห็นจากสิ่งที่ได้ประสบมา ทั้งจากการติดตามข่าวสาร หรือที่ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับเด็กรุ่นนี้ และความที่มีลูกอยู่ในระบบโรงเรียน ก็อาจจะพอมีความเห็นอย่างคาดเดาได้บ้าง

ข้อเท็จจริงที่เราต้องยอมรับประการแรก คือเด็กๆ รุ่นที่เห็นนี้เกิดและเติบโตมาในยุคของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เข้าถึงได้ไม่ยากในสังคมเมือง ข้อมูลทั้งข้อเท็จจริงและความคิดเห็นมหาศาลในเครือข่ายนั้นเชื่อมโยงกับชีวิตของเขาผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก

อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี คือปัจจัยแรกที่รบกวนครอบกะลาแห่งความรู้และค่านิยมที่รัฐเผด็จการพยายามจะกักขังพวกเขาไว้ กับกะลาที่ว่านั้นเองก็มีรอยรั่วแตกร้าวในตัวเองด้วย

รอยรั่วแตกร้าวที่ว่านั้น คือความหน้าไหว้หลังหลอกของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาและราชการ ความหน้าไหว้หลังหลอกที่ประจานว่า สิ่งที่พวกเขาสั่งสอนเด็กๆ นั้น แท้จริงแล้วตัวเขาเองก็หาได้เชื่อถือและปฏิบัติตาม

ค่านิยมเกี่ยวกับการมีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย กลับกลายหมายถึงแค่ว่าให้เด็กนักเรียนต้องเคารพในระเบียบวินัยที่ไม่มีเหตุผลซึ่งโรงเรียนสั่งการกำหนด แต่ครูอาจารย์ทางโรงเรียนเองกลับไม่ยี่หระต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งกระทำการละเมิดต่อสิทธิเด็กมากมาย ที่เป็นการทำร้ายร่างกายโดยอ้างว่าเป็นการลงโทษทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจไว้ซ้ำยังเป็นความผิดทางอาญาอีกต่างหาก การละเมิดเอาเปรียบเด็กและผู้ปกครองเรียกรับทรัพย์สินผลประโยชน์อย่างไม่รู้อายอย่างไม่สนใจค่านิยมเรื่องความสุจริตมีคุณธรรม

ยิ่งเมื่อเกิด “วิกฤตทรงผม” เมื่อเร็วๆ นี้ ยิ่งชัดเจนต่อความมือถือสากปากถือศีล ที่ประจานให้เห็นว่าพวกผู้ใหญ่ในโรงเรียนนั้นไม่ได้เชื่อถือศรัทธาอะไรแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการที่เป็นต้นสังกัดจะประกาศระเบียบว่าด้วยทรงผมนักเรียนแบบใหม่ที่ผ่อนปรนลงแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าโรงเรียนต่างๆ ก็ได้แสดงความดื้อแพ่งเลี่ยงบาลีตีความกฎหมายเพื่อที่จะจำกัดเสรีภาพของเด็กๆ ต่อไป

ทั้งหมดนี้คือภาพที่แสดงให้เห็นเด่นชัดว่า พวกผู้ใหญ่ที่ยืนอยู่เบื้องหน้าในห้องเรียนหรือหน้าเสาธง ก็ไม่ได้เชื่อในสิ่งที่พวกเขาสั่งสอนกับเด็กๆ เลย

ประกอบกับสภาพของสังคมและการเลี้ยงดูที่เปลี่ยนไป เด็กและเยาวชนคนรุ่นนี้ไม่ยอมรับความเชื่อที่สร้างขึ้นด้วยความกลัวและอำนาจอีกแล้ว ในเมื่อโลกยุคที่เขาเกิดและเติบโตมานั้น ทุกคำสั่งและการแนะนำจะต้องมีเหตุผลที่รับฟังได้ และพวกเขามีสิทธิที่จะโต้แย้งไต่ถามได้ ไม่มีใครยอมเชื่อเพราะกลัวถูกลงโทษอีกต่อไป

หากพวกเขาจะเชื่อถือศรัทธาในครูอาจารย์ผู้สั่งสอน ก็ต้องเป็นเพราะพวกเขารู้สึกยอมรับจากหัวใจว่า บุคคลผู้นั้นมีความรู้ มีเหตุผล และตรรกะความเข้าใจต่อโลกที่เหนือกว่า และเขาไม่มีทางที่จะถกเถียงชนะด้วยเหตุด้วยผลที่เป็นระบบได้ ไม่ใช่เพียงเพราะไม้เรียวหรืออำนาจในมือ

ครูอาจารย์ส่วนใหญ่ที่รู้จักพัฒนาตัวเองหรือปรับเปลี่ยนแนวคิดก็จะได้รับการยอมรับเชื่อถือ แต่อีกส่วนก็ยืนยันที่จะใช้อำนาจดิบเถื่อนแบบที่เคยถูกสั่งสอนเติบโตมาต่อไป พอถูกเอาเรื่องเอาความตามกฎหมาย ก็ทำได้เพียงร้องห่มร้องไห้ดรามาว่า “มันหมดยุคของครูแบบเขาเสียแล้ว”

ก็น่าตกใจที่เพิ่งรู้ตัว

อีกหนึ่งในความพยายามของรัฐราชการไทยในยุคหลังพยายามกระทำผ่านการศึกษา คือการยัดเยียดสั่งสอนคือประวัติศาสตร์ ด้วยเชื่อง่ายๆ ว่าถ้าสามารถปลูกฝังเรื่องเล่าแบบเดิมที่เคยได้ผลในการกล่อมเกลาคนรุ่นตัวเองแล้ว จะสามารถเคาะสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่ปลอดภัยต่อการใช้อำนาจจารีตคร่ำครึ แต่ผลออกมาก็เหมือนกับว่าสอนเท่าไรก็ไม่พอ ยัดเยียดเท่าไรก็ไม่ได้ผล จนบางคนคิดไปเองว่าเดี๋ยวนี้เขาเลิกสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยกันไปแล้วหรือ เด็กๆ ยุคใหม่จึงไม่ซาบซึ้งกับเรื่องราวเรื่องเล่าที่เคยเรียกน้ำตาพวกเขา

หากใครที่มีลูกหลานเรียนอยู่ชั้นประถมหรือมัธยมก็คงทราบดีว่า หลายปีมาแล้วที่วิชาประวัติศาสตร์ถูกแยกออกจากวิชาสร้างประสบการณ์ชีวิตมาสอนเป็นเอกเทศที่เข้มข้นไปด้วยเนื้อหาของประวัติศาสตร์ชาติไทยตำรับกระทรวงศึกษาธิการ ประวัติศาสตร์ที่ไม่เชื่อมโยงกับโลกภายนอก และเต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่ห้ามถามห้ามเถียง

แต่นั่นเอง ภาพที่กลุ่มนักเรียนที่ชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการชูหนังสือประวัติศาสตร์ของ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ขึ้นมา จึงเป็นการแสดงออกที่ตบหน้าผู้ใหญ่เหล่านั้น เป็นภาพที่บอกว่าเด็กๆ เขาไม่ได้ไม่อ่านไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ แต่เขาอ่านคนละเล่มกับพวกคุณ

นักเรียนที่ร่วมกิจกรรมต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองในวันนี้รวมตัวกันในชื่อของ “นักเรียนเลว” ซึ่งอาจจะดูไม่เข้าท่าน่าสับสนกับผู้ที่เชื่อในอิทธิพลของภาษาถ้อยคำว่าการนำคำที่มีความหมายไม่ดีหรือไม่เป็นมงคลมาขนานนามตั้งชื่อเรียกของตนนั้นมันจะดีไปได้อย่างไร

แต่ก่อนหน้านั้น กลุ่มอันธพาลการเมือง กปปส. ซึ่งแกนนำสำคัญคนหนึ่งก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันนี้ ได้ช่วงชิงเอาคำว่า “คนดี” ไปใช้ตามอำเภอใจ จนคำว่า “คนดี” หรือ “ความดี” กลายเป็นของแสลง กลายเป็นข้ออ้างข้อเรียกของกลุ่มคนที่ไม่เคารพกติกา ไม่ยอมพูดจากันโดยเหตุผล ถือเอาว่าที่ตัวเองเป็น “คนดี” คือเหตุผลอันสมบูรณ์ในตัวแล้วที่จะละเมิดทำลายกติกาอย่างหยาบคายไร้สำนึกแค่ไหนก็ได้ในนามของ “ความดี”

หากสิ่งที่บรรดา กปปส.ได้กระทำและส่งผลจนทุกวันนี้ คือ “ความดี” เสียแล้ว เด็กและเยาวชนของเราก็รังเกียจที่จะยืนข้างนั้น สู้เรียกตัวเองว่าเป็น “นักเรียนเลว” ของระบบคนดีที่กดขี่ผู้คนเสียยังดีกว่า

ชื่อกลุ่มของ “นักเรียนเลว” คือการประกาศอย่างกล้าหาญ ว่าพวกเขาอยู่คนละข้างกับ “ความดี” แบบ กปปส. ของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และ “ความดี” ในแบบที่อำนาจรัฐเผด็จการจารีตนิยมประสงค์ต้องการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image