เมื่อ‘อำนาจ’กดทับ จึงต้องเล่า‘ลับหลัง’

ศิลปะจากความอัดอั้น
“ในเรื่องพื้นที่ อดีตมองเป็นเรื่องของอำนาจบางอย่างที่ดำรงอยู่ ที่ไม่กล้าไปต่อกรกับองค์กรนั้นๆ แต่ในปัจจุบัน ศิลปะสามารถเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ หากเล่าอย่างแยบยล พื้นที่ศิลปะไม่เคยปล่อยให้คำว่าการเมืองเดียวดายมากนัก หากไม่ได้โฉ่งฉ่างจนเกินไปก็เชื่อว่าพื้นที่พร้อมจะเปิดรับ อาจจะมีบางที่ไม่ยอมรับงานแนวนี้ สเปซที่ใจแคบเกินไปก็คงไม่เหมาะกับเรา ก็แค่ไปหาสเปซอื่น”

คือคำกล่าวของ กฤษฎา ดุษฎีวนิช พนักงานประจำภัณฑารักษ์ของหอศิลป์แห่งหนึ่ง ผู้ออกมาจับปากกาวาดภาพผ่านสื่อดิจิทัล นำเสนอเรื่องราวทางการเมือง ในนิทรรศการ ลับหลัง จัดแสดง ณ “WTF Gallery and Cafe” ซอย สุขุมวิท 51 ระหว่างวันที่ 2-27 กันยายนนี้

เพราะในช่วงศตวรรษที่ผันผ่าน อำนาจบางอย่างครอบงำง่ายดายด้วยการเชิดชู “ศิลปินแห่งชาติ” จำกัดการศึกษาไว้เพียงท่องจำ ชะงักการพัฒนาศิลปะให้หันเหตามการชักนำ ศิลปินกลุ่มนี้ จึงขอใช้พื้นที่ “ลับหลัง” นำเสนอกระบวนความคิดอันซับซ้อนในยุคที่ความจริงสุดบิดเบือน กระตุ้นมโนสำนึกของคนรุ่นใหญ่ ที่ยืนหยัดหลังเกราะกำบัง ด้วยหวั่นมุมมองการเมืองสะเทือนตำแหน่ง การงาน

Advertisement

ลับหลัง คือ นิทรรศการของเพื่อนและรุ่นพี่ที่จบจากมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งเดียวกัน โดยศิลปินทั้ง 4 ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2524-2537 ทำงานในกรอบองค์กรของรัฐด้านการศึกษา กฤษฎาเล่าว่า บ้างเป็นอาจารย์ บ้างเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย ว่าอย่างง่ายทำงานเพื่อรัฐ ด้วยเนื้องานของศิลปินจึงมี 2 พาร์ท พาร์ทหนึ่งทำงานในระบบการศึกษา เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง อีกพาร์ทสร้างสรรค์งานศิลป์ด้วยแรงขับจากความอัดอั้นบางอย่าง เมื่อต้องการจะสื่อสารออกสู่พื้นที่สาธารณะ แกลเลอรี่ข้างนอก จึงเป็นคำตอบ

ทันทีที่ก้าวขาขึ้นชั้นสอง สายตาจำต้องสะดุดกับผลงานจำนวนมากที่ตั้งตระหง่านด้วยไม้ค้ำยัน หันไปด้านขวา กระดาษสีน้ำเงินที่แปะอยู่บนเสา เขียนข้อความปลุกเร้าให้ผู้เข้าชมหยิบผลงานขึ้นมายืนชู คือ เซต “what the fuck Political” ประกอบไปด้วยผลงานภาพประกอบกว่า 10 ชิ้น เรียงรายพิงผนัง

“งานเซตนี้ จุดเริ่มต้นไม่ได้เพื่อจัดแสดงที่ WTF Gallery and Cafe แต่อยู่ในแพลตฟอร์มอินสตาแกรม “wtf_political” ซึ่งเริ่มทำตอนก่อนโควิดระบาด ช่วงที่การเมืองมีเหตุผลที่ประหลาดเข้ามาโดยที่เราทำอะไรไม่ได้

Advertisement

“เราอยู่ในองค์กรที่ไม่สามารถพูดได้เต็มปาก ว่าเราต้องฟัดนู่นฟัดนี่ จึงต้องสร้างอีกร่างหนึ่งขึ้นมา ก่อนหน้านี้ผลิตเป็นสติ๊กเกอร์ไปแปะในมหาวิทยาลัย ปั่นป่วนเนื้อหาอะไรบางอย่าง เช่น พูดเรื่องความเท่าเทียม ความห่วยแตกของรัฐ ด้วยความที่ทำงานศิลปะมาโดยตลอด ส่วนมากจะเป็นศิลปะเน้นแนวคิด (Conceptual art) งานภาพประกอบ (Illustration art) แบบนี้ยังไม่เคยมี แต่งานแบบป้ายประท้วงนี้มีความตรงไปตรงมา ชัดเจน สื่อสารกับคนดูได้ ให้มาร่วมสนุก แชร์รูปต่อเพื่อสร้างเครือข่าย ด้วยความหมายของสเปซจึงไม่อยากให้ศิลปะแน่นิ่งอยู่กับที่ อยากให้สื่อออกไปข้างนอก หรือเป็นไปได้ อีกไอเดียต่อจากนี้ ด้วยความที่ต่อขาไม้เอาไว้ถือ ก็อาจจะเอาไปใช้ประท้วงสัปดาห์หน้า ถ้ามีแรงและศักยภาพมากพอ อยากให้เราเข้าใจในภาพที่เห็น และตั้งคำถามกับมัน” กฤษฎาเล่า ก่อนจะเผยด้วยว่า

ภาพเหล่านี้วาดโดยใช้อารมณ์จากข่าวทุกวันนี้ที่เกิดความวิปลาส เช่น ทนายอานนท์ นำภา ถูกอุ้ม ซึ่งเมื่อวาดแล้วโพสต์ในอินสตาแกรม กระแสตอบรับในการรีโพสต์มากในระดับหนึ่ง จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้นิ่งดูดายกับเรื่องพวกนี้ ช่วยกันขับเคลื่อน จะเห็นมูฟเมนต์ของคนรุ่นใหม่ ของงานศิลปะที่ขยับไปใกล้การเรียกร้องอะไรบางอย่าง อย่างน้อยเราทำ มีคนอื่นทำ มีกลุ่มก้อนที่เขียนเรื่องพวกนี้

“เราเห็นภาพบางอย่าง ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ดี เราเห็นความผิดเพี้ยนอะไรบางอย่างที่รัฐพยายามทำให้เราเชื่อว่าความผิดเพี้ยนนั้นมันคือ เรื่องจริงที่ฝังลึกลงไปในใจกลางการศึกษา ลึกลงไปในระบบวิธีคิด วิธีเชื่อ พูดได้-ไม่ได้แล้วแต่กรณี แต่ในช่วงปีหลังๆ มานี้ การศึกษาขยับ นำเด็กเยาวชนไปไกลจนเราอาจจะเป็นได้แค่ผู้เฝ้ามอง ผู้สนับสนุน และสร้างความรู้อีกชุดหนึ่งขึ้นมาซัพพอร์ตคนรอบข้างที่ร่วมต่อสู้ พยายามอย่าให้เขาไปคนเดียว ต้องไปเป็นกลุ่มก้อน เพื่อที่ความจริงจะได้ปรากฏอย่างแท้จริงเสียที”

“ถ้าเราคุยกันด้วยเหตุด้วยผล จะไม่มีอะไรรุนแรง ทุกงานมีเหตุ มีผลในตัว เราไม่ได้ไปโจมตีใคร เราแค่ต่อต้านรัฐที่วิปลาสอยู่ ณ ขณะนี้

“ผมมีงานที่ต้องรับผิดชอบอีกหลายพาร์ท นี่คือ อีกพาร์ทที่ขอแสดงออกแบบลับหลังสักหน่อย” กฤษฎาเผย

ข้างๆ กัน ยังมีผลงานศิลปะจัดวาง โดย ชัยวัช เวียนสันเทียะ เป็นหน้าจอฉายวิดีโอความยาว 9 นาที จำนวน 2 ชิ้น จัดวางโดยใช้กระจกสะท้อนเงาภาพเคลื่อนไหว ชวนให้ยืนพินิจความหมาย

ก่อนจะก้าวขาขึ้นมาชั้นสาม สายตาทั้งสองต้องหันโฟกัสไปยัง “I’m stuck in a dictatorsh*t” ผลงานกราฟฟิตี้ โดย พรรษา พุทธรักษา เป็นภาพมนุษย์ในห่วงยางรถยนต์ หัวดิ่งลงพื้นขนาบแนวบันได และอีกชิ้น คือ “LOBOBOY EB crew” เนื้อหาล้อเลียนเรื่องเรือดำน้ำ

“อย่างงานกราฟฟิตี้ ศิลปินคนนี้เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งหนึ่ง ด้วยตัวงานอาจมีความรุนแรงของเนื้อหา เหมือนเวลาเราคุยอยู่ในกรุ๊ปเดียวกัน เราพูดถึงเรื่องการเมืองอย่างเข้มข้น แต่การแสดงออกในมิติของอาจารย์เอง หรือพื้นที่สำหรับให้ศิลปินแสดงออกยังเปิดเผยได้ไม่เต็มที่เหมือนกับที่เราคิด หรือคุยกัน” กฤษฎาเล่า

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีงานอีกเซตที่น่าสนใจคือ ชิ้นงานเก่าที่นำมาเล่าในบริบทใหม่ ผลงานของ พีรนันท์ จันทมาศ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง

กฤษฎา เล่าว่า เป็นงานภาพวาด (painting) ที่มีความเสมือนจริง ใช้สกิลทางด้านจิตรกรรมอย่างครบถ้วน ซึ่งงานชิ้นนี้เคยถูกนำไปจัดแสดง เมื่อปี 2018 ที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะอนุรักษนิยม จึงพูดแบบหลบชิ่งเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมือง ความเชื่อ ความศรัทธา เลือกพูดแค่ด้านความงามของจิตรกรรม และภาพแทน ซึ่งส่วนตัวเมื่อเห็นงานก็รู้สึกว่าน่าสนใจ ถ้างานชิ้นนี้ถูกหยิบยกไปอยู่ในพื้นที่ที่ฟรีมากขึ้น เช่น WTF Gallery and Cafe ภาพก็อาจถูกมองอีกแบบ ด้วยตัวสเปซที่ขับเน้นคอนเทนต์ หรือสาระบางอย่างในตัวงานให้เด่นขึ้นมา และร้อยเรียงกับชิ้นอื่นๆ ได้

เจ้าของผลงาน ยังเล่าด้วยว่า เมื่อก่อนออกไปชุมนุม กปปส.กับเพื่อน ช่วงที่มีกระแสเรียกร้อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พอดีมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งเห็นต่างกับเราเรื่องนี้ เถียงกันอยู่บ่อยๆ ก็เลยชวนเขาไปชุมนุมด้วย เผื่อจะได้ฟังข้อมูลทางเราบ้าง ซึ่งเขาก็ยอมไป ยืนคุยกันข้างเวทีอยู่พักหนึ่ง เขาไม่อยากอยู่ตรงนั้นเพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ที่ของเขา จึงชวนไปนั่งคุยที่อื่น ห่างออกไปจากเวทีจนไกลลับเสียง เมื่อแชร์ข้อมูลกันไปมา ก็บอกว่า หลังจากนี้ไปชุมนุมเวทีเสื้อแดงบ้าง นัดวันกันเรียบร้อย พอถึงวันจริงมีข่าวป่วนเวที มีระเบิดก็เลยไม่ได้ไปตามนัด แต่ก็นัดเจอกันที่บ้านอยู่บ่อยๆ

“จุดที่เริ่มค่อยๆ เปลี่ยนความคิด เพราะรู้สึกว่า ข้อมูลที่เขาแชร์ให้เรามันมีความเป็นเหตุเป็นผลฟังขึ้น ทำให้เรารู้สึกสงสัย เลยเริ่มหาข้อมูลเริ่มอ่าน ศึกษาเชิงลึกมากขึ้น ทำให้พบสมการทางการเมืองที่เราไม่เคยนึกถึง เพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่เราคิดแค่ว่า มีนักการเมือง มีสภา กลายเป็นจุดเปลี่ยนนับแต่นั้นมา” พีรนันท์เผย

เมื่อถามถึงบรรยากาศของบ้านเมืองในฐานะคนทำงานภาครัฐ พีรนันท์มองว่า เหมือนถูกทำให้รู้สึกว่าสงบ แต่ถ้าเรายอมรับความจริงกันในระดับหนึ่ง แค่เราเข้าไปในเฟซบุ๊กที่ไม่ใช่กลุ่มเพื่อนของเรา หรือไปในทวิตเตอร์ ในโซเชียล ดูข่าวออนไลน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ข่าวที่เราดูประจำ เราจะพบบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ปกติ ที่ชัดเจน
“การพยายามใช้อำนาจรัฐที่สร้างขึ้นมา พยายามปิดปาก กดประชาชนให้อยู่ในร่องรอย ในที่ๆ เขาต้องการ นี่เป็นบันไดขั้นแรกที่เมื่อเขากดตรงนี้ได้ ทุกอย่างก็จบ ทุกอย่างก็คอนโทรลได้หมด แต่หากประชาชนออกมาจากตรงนี้ได้ เรื่องบางอย่างที่สังคมไม่เคยรับรู้มาก่อนก็อาจจะค่อยๆ เปิดเผยขึ้นมา”

สำหรับงานเซตบาตร Hold one’s breath และ Insecurity พีรนันท์เผยว่า วาดโดยใช้ความรู้สึก ณ ขณะนั้น ไม่ได้ดีไซน์มาก่อน

“เมื่อเอาวัถตุหุ่นนิ่งมาจัด พยายามตั้ง ซึ่งเหรียญที่ตั้งอยู่ใต้บาตร และบนบาตร ความจริงตั้งอยู่เช่นนั้นไม่ได้ เหรียญไม่สามารถหนุนบาตรหนักๆ ที่เป็นโลหะได้ และไม่สามารถตั้งบนขอบบาตรบางๆ ได้ จึงใช้วิธีการเอาดินน้ำมันแปะไว้ ถ่ายรูป แล้วก็เอามาวาด ซึ่งความจริงเช่นนั้นสามารถปรากฏได้อยู่ในงานจิตรกรรม มีความอภินิหาร มีปาฏิหาริย์อะไรบางอย่าง ให้ภาพเป็นตัวเล่า”

ปิดท้ายด้วย In the palm of one’s hand ภาพชูกำปั้น ที่เกิดแรงบันดาลใจจากม็อบ 2 สี เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งล้วนใช้มือเป็นสัญลักษณ์ในการต้อสู้ เพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่าง

“สำหรับผมมีความหมายทั้งในแง่ของ อิสรภาพ เสรีภาพ การต่อสู้ แต่สิ่งที่อยู่ภายในมือ คือ ธนบัตร ที่มีความหมายในเชิงมูลค่า บางสิ่งบางอย่างมีมายาคติที่ทำให้รู้สึกว่า มีพลังกว่านั้น

“มือ หรือสิ่งที่อยู่ภายในมือ ที่อันควรจะมีเพาเวอร์มากกว่ากันในบริบทของประชาธิปไตย” พีรนันท์ทิ้งท้ายด้วยคำถาม

อธิษฐาน จันทร์กลม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image