ผลทดสอบทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่ โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, ภูนท สลัดทุกข์, เมรดี อินอ่อน

ในแต่ละปีมีเด็กนักเรียนเกือบสองล้านคนเข้ารับการทดสอบด้านการศึกษา ผลลัพธ์คือ “คะแนนโอเน็ต” ซึ่งสะท้อนสัมฤทธิผลทางการศึกษาในประเทศไทย จำแนกตามระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที 6 เป็นตัวชี้วัดที่น่าสนใจสำหรับโรงเรียน/นักเรียน/ผู้ปกครอง รวมทั้งนักบริหารศึกษา ในโอกาสนี้ผู้เขียนขอนำผลงานวิจัยเล็กๆ ว่าด้วย คะแนนโอเน็ตระดับ ป.6 มาวิเคราะห์ พร้อมเสนอข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่ซึ่งสัมพันธ์กับคะแนนโอเน็ต

คะแนนโอเน็ตที่เรานำมาคำนวณจำแนกออกเป็น 4 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์และผลรวมทั้งสี่วิชา (ssum คะแนนเต็มเท่ากับ 400) รูปภาพแรก เปรียบเทียบคะแนนตามหน่วยงานต้นสังกัด กล่าวคือ สพฐ. เอกชน อุดมศึกษา (ร.ร.สาธิต) ท้องถิ่น และหน่วยงานพิเศษ เช่น สังกัดตำรวจตระเวนชายแดน โฮมสกูล ฯลฯ พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กลุ่มบนสุดคือ ร.ร.สาธิตในสังกัดสถาบันอุดมศึกษา ตามด้วย ร.ร.เอกชน กลุ่มกลางคือ ร.ร.สังกัดหน่วยงานท้องถิ่นและสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับกลุ่มที่นิยามว่าพิเศษนับรวม ร.ร. ตชด. การศึกษาพิเศษ โฮมสกูล สนง.พุทธศาสตร์ สถาบันพลศึกษา

นักวิจัยในทีมเสนอว่า เราควรจะวิเคราะห์ความแตกต่าง

Advertisement

มิติพื้นที่ (จังหวัด) จึงเรียงคะแนนโอเน็ต ป.6 เป็นรายจังหวัด พร้อมกับทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนโอเน็ตกับเศรษฐกิจจังหวัด ใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว (GPP per capita) เป็นตัวอ้างอิง นำมาแสดงเป็นรูปภาพ (10 จังหวัดที่คะแนนโอเน็ตสูงสุด และ 10 จังหวัดที่คะแนนโอเน็ตต่ำสุด) ในรูปภาพข้างล่าง

เราตั้งข้อสันนิษฐานว่า จังหวัดที่ฐานะเศรษฐกิจดีอาจมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับคะแนนโอเน็ต ผลคำนวณเป็นตามคาดหมายกล่าวคือ ค่าสหสัมพันธ์ = 0.5 นับว่าถือว่าสูงทีเดียว (เกินความคาดหมาย) รูปภาพในลำดับถัดมา แกนตั้งหมายถึง คะแนนโอเน็ตรวมสี่วิชา คะแนนเต็ม 400 แกนนอนหมายถึง ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว (ค่าล็อกธรรมชาติ)

Advertisement

คะแนนโอเน็ตเป็นส่วนหนึ่งของ “ข้อมูลขนาดใหญ่” ในระบบการศึกษา ซึ่งเป็นกระจกเงาสะท้อนสัมฤทธิผลการเรียนที่นำมาอ้างอิงอย่างกว้างขวาง ผู้บริหารทุกจังหวัดทุกระดับควรให้ความสำคัญ ไล่เรียงจากผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำ อปท. ผู้นำชุมชน สมาคมผู้ปกครอง ฯลฯ เพื่อเข้าใจว่า เด็กในจังหวัดของเรามีคะแนนโอเน็ตระดับสูง-ปานกลาง-หรือระดับล่าง เพื่อหามาตรการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้คะแนนสูงขึ้น GPP per capita อาจจะมิใช่ต้นเหตุที่แท้จริงของคะแนน แต่ว่ามีความสัมพันธ์กับตัวแปรร่วมอื่นๆ (covariates) อาทิ ฐานะเศรษฐกิจของผู้ปกครอง รายจ่ายการลงทุนในเด็ก การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาซึ่งแตกต่างกันตามหน่วยงานต้นสังกัด ฐานะทางการเงินของโรงเรียน เงินบริจาคให้การศึกษา วัฒนธรรมและค่านิยม ฯลฯ ผู้บริหารในแต่ละจังหวัดควรนำข้อมูลนี้มาประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน คุณภาพการศึกษาของเด็กเป็นเรื่องสำคัญต่ออนาคตของชาติ ไม่พึ่งปล่อยให้เป็นภาระของสถานศึกษาหรือครูฝ่ายเดียว

ในบทความสั้นๆ เช่นนี้ไม่สามารถบรรจุข้อมูลทั้งหมด จากประสบการณ์วิจัยช่วยให้ข้อคิดว่า ฐานข้อมูล onet เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีคุณประโยชน์ยิ่งนัก สามารถนำมาวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างระหว่างสถานศึกษาและระหว่างจังหวัด ซึ่งผู้เขียนหวังว่าจะมีโอกาสนำผลวิจัยมาเสนอต่อสาธารณะในโอกาสต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image