สุจิตต์ วงษ์เทศ : มิวเซียมชุมชนป้อมมหากาฬ แสดงประวัติศาสตร์สังคมกรุงรัตนโกสินทร์

ป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ริมคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพฯ (ซ้าย) ภูเขาทอง (ขวา) เห็นคลองมหานาค เชื่อมคลองโอ่งอ่างและสะพานผ่านฟ้า [ภาพถ่ายทางเครื่องบิน โดย ปีเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันต์ (Peter Williams Hunt) นักบินฝ่ายพันธมิตร ถ่ายเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1946 หรือ พ.ศ. 2489]

บริเวณเรือนไม้ชุมชนป้อมมหากาฬ กรุงเทพฯ ควรบริหารจัดการเป็นมิวเซียม แบ่งปันความรู้ไร้พรมแดน จัดแสดงประวัติศาสตร์สังคมกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่
(1.) ลาว, เขมร ขุดคูน้ำก่อกำแพงกรุงรัตนโกสินทร์ (2.) ลิเก มหรสพชาวบ้าน กำเนิดสมัย ร.5 (3.) วีรกรรมชาวชุมชนป้อมมหากาฬ
ถ้าชุมชนถูกรุกรานไล่รื้อจากอำนาจบาตรใหญ่ของ กทม. ก็ทำมิวเซียมออนไลน์ไร้พรมแดน

วีรกรรมฯ

เฉพาะหัวข้อวีรกรรมชาวชุมชนป้อมมหากาฬ จัดแสดงความจริง 2 ด้าน ดังนี้
ด้านสว่าง ความเป็นมาของพลังชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อพิทักษ์รักษาชุมชนชานกำแพงพระนคร ในประวัติศาสตร์สังคมยุคแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
ด้านมืด แสดงอำนาจรัฐราชการเผด็จการ ทำลายล้างผลาญชุมชนชานกำแพงพระนคร ในประวัติศาสตร์สังคมตั้งแต่ยุคสถาปนากรุงเทพฯ

สำนึกรักชุมชน

มหานครขนาดใหญ่ๆ ในโลก จะสร้างสำนึกรักชุมชนเพื่อลดปัญหาสังคม และปัญหาอื่นๆ ในสังคมเมือง
เมื่อคนในชุมชนมีสำนึกรักชุมชนร่วมกัน จะเกิดการหวงแหนสาธารณสมบัติ และสิ่งสาธารณูปโภค แล้วร่วมกันดูแลทำนุบำรุงรักษา เท่ากับลดภาระทางการท้องถิ่น เช่น เทศบาล หรือหน่วยงานต่างๆ ของท้องถิ่น
มิวเซียมท้องถิ่นเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญมาก ที่มหานครในโลกต้องทำเพื่อสร้างสำนึกรักชุมชนอย่างรื่นรมย์
แต่มิวเซียมในทางสากล ต่างจากพิพิธภัณฑ์ในทางไทยราวฟ้ากับดิน

มิวเซียม

มิวเซียม เป็นคำทับศัพท์จาก museum หมายถึงพื้นที่แบ่งปันความรู้ไร้พรมแดน และไร้กำหนดกฎเกณฑ์อย่างเป็นทางการ เน้นให้ความสำคัญเนื้อหามากกว่ารูปแบบ
ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ของทางการ
พิพิธภัณฑ์ เป็นคำผูกใหม่ แปลจาก museum หมายถึงพื้นที่เก็บของเก่า เหมือนโกดัง แต่จัดระเบียบแบบแผนเป็นทางการ เน้นความสำคัญรูปแบบจัดแสดง ไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญเนื้อหา จึงขาดสำนึกแบ่งปันความรู้สู่สาธารณะ

Advertisement

มิวเซียมที่ไม่มีกำแพง

ความเป็นมาของมิวเซียมในทางสากลและพิพิธภัณฑ์ในทางไทย อ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เขียนอธิบายดังต่อไปนี้
“มิวเซียม” (museum) รากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณแปลว่า “บัลลังก์ของเทพมิวส์” (Muse) ซึ่งเป็นคณะเทพธิดาที่ทั้งดลบันดาลและอำนวยพรให้เกิดทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” หรือ “ความรู้” ต่างๆ
มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าเมื่อพิธากอรัส (Pythagoras มีชีวิตอยู่เมื่อราว 570-495 ปีก่อนคริสตกาล) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์คนสำคัญของโลกชาวกรีก ได้เดินทางเข้าไปถึงเมืองโครโตเน (Crotone ปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี)
คำแนะนำแรกที่ท่านให้แก่ชาวเมืองก็คือ ให้สร้างสถานบูชาเทพมิวส์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และให้ชาวเมืองกลมเกลียวกัน
ดังนั้น โดยนัยยะสำคัญแล้ว “มิวเซียม” จึงหมายถึงสถานที่ที่มีการจัดการความรู้มากกว่าจะหมายถึงอย่างอื่น
คําว่า “มิวเซียม” มีความหมายต่างไปจาก “พิพิธภัณฑ์”
เพราะ “พิพิธภัณฑ์” เป็นศัพท์ผูกใหม่ โดยถ่ายถอดมาจากคำว่า “มิวเซียม” (museum) ในภาษาอังกฤษออกมาเป็นคำไทยในความหมายที่คลาดเคลื่อนออกไปจากความหมายเดิมของฝรั่งอยู่มาก

คำว่า พิพิธภัณฑ์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกผสมอยู่ในคำที่ผูกเป็นชื่อ “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ใช้เก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ หรือเครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศ (คำว่า “ประพาส” แปลว่า “เที่ยวเล่น” ส่วน “พิพิธภัณฑ์” ตามรูปศัพท์แปลว่า “ของแปลก”) สร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 พระที่นั่งองค์ดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนสถานที่เก็บคอลเล็กชั่นส่วนตัวของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ใช้ต้อนรับพระราชอาคันตุกะบ้าง แต่ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเที่ยวชม
ทุกครั้งที่เสด็จประพาสยังต่างแดน พุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ไม่เคยตรัสเรียก “museum” ว่า “พิพิธภัณฑ์” เลยสักครั้ง หากแต่เรียกอย่างทับศัพท์ว่า “มิวเซียม” แม้กระทั่งเมื่อโปรดให้นำวัตถุต่างๆ ที่สะสมไว้ในพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์มาจัดแสดงไว้ ณ หอคองคอเดีย (ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม อยู่ทางเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านทิศตะวันตก) ก็เรียกการจัดแสดงนั้นว่า “เอกษบิชั่น” (exhibition) ตรงกับคำแปลในภาษาไทยว่า “นิทรรศการ”
เพิ่งจะในสมัยรัชกาลที่ 6 นี่เอง ที่เรียก “มิวเซียม” ว่า “พิพิธภัณฑ์”
โดยรากทางประวัติศาสตร์แล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทยเราจึงมีลักษณะเป็นสถานที่เก็บของเก่า แสดงของแปลก มากกว่าที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาหรือองค์ความรู้ต่างๆ ตามความหมายของคำว่า “museum” ในภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ต้น
ดังนั้น “มิวเซียม” จึงไม่จำเป็นต้องมีของเก่าๆ หรือของมีค่าในแง่ของราคาค่างวดมาตั้งโชว์ แต่แสดงให้เห็นถึง “คุณค่า” ของความรู้หรืออะไรที่กำลังจัดการนั่นแหละวิเศษที่สุดแล้ว

มีคำของนักปราชญ์ที่ว่า “ความรู้ไม่มีพรมแดน” การจัดการความรู้ก็ยิ่งไม่ควรมีพรมแดน “มิวเซียม” จึงไม่ต้องมี “กำแพง” มาเป็นขอบเขตปิดกั้นพรมแดนของตัวเองก็ได้ใช้ความรู้ และปริมณฑลทางสังคมวัฒนธรรมของคนเองนั่นแหละ เป็นพรมแดนที่ไม่ต้องถูกสิ่งปลูกสร้างอะไรมาปิดกั้น อย่างที่ย่านเก่าชุมชนริมแม่น้ำจันทบุรีทำนั่นแหละครับ ดีงามมากๆ แล้ว เพราะที่เห็นและเป็นอยู่ ชุมชนแห่งนี้ก็เปรียบได้กับ “มิวเซียมที่ไม่มีกำแพง”
[ประวัติศาสตร์สังคม “คน” จันทบุรี ที่ไม่มีกำแพง โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 29 กรกฎาคม-4 สิงหาคม 2559 หน้า 82]

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image