ว่าด้วยแนวคิดพื้นที่สาธารณะ และการเมืองของพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย

ว่าด้วยแนวคิดพื้นที่สาธารณะและการเมืองของพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย

ข้อถกเถียงว่าด้วยพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนมิใช่เล่น ทั้งในแง่ของทฤษฎีแนวคิดเองที่อิงกับประสบการณ์ตะวันตก และในแง่ของความเข้าใจเรื่องของพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย

โดยเฉพาะในเรื่องของพื้นที่สาธารณะในสังคมไทยนั้นมีความซับซ้อนทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ และความเข้าใจที่ตรงกัน (และอาจไม่ตรงกัน) ถึงมิติทางสาธารณะ และตัวคำว่าสาธารณะเองที่ในประเทศไทยมีหลายความหมายมาก

ในประการแรก เรื่องพื้นที่สาธารณะเองเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันในมิติด้านภูมิศาสตร์ แต่เมื่อพูดคำว่าภูมิศาสตร์ (geography) ในสังคมไทยเรามีความเข้าใจน้อยมาก มักจะแทนที่เรื่องภูมิศาสตร์ด้วยแผนที่และเทคโนโลยีด้านแผนที่ที่ซับซ้อน ทั้งที่แผนที่เป็นเพียงส่วนเดียวของการทำความเข้าใจพื้นที่ เป็นการสร้างพื้นที่ให้หยุดนิ่งและเป็นวัตถุ ขณะที่การทำความเข้าใจพื้นที่ยังต้องรวมกระบวนการเข้าใจพลวัต และความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในพื้นที่ และความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับผู้คนที่เกิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นอาจแฝงฝังด้วยมิติทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่าง พึ่งพา เอาเปรียบ ครอบงำ และอาจไม่เท่าเทียมอีกด้วย

Advertisement

ที่อธิบายมานั้นเป็นส่วนเสี้ยวเดียวของภูมิศาสตร์วิพากษ์ (critical geography) รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการเชิงพื้นที่ (spatial process) ซึ่งทำความเข้าใจพื้นที่และเข้าใจมิติของพื้นที่ทั้งด้านกายภาพและในสภาพอื่นๆ ด้วย

อย่างในกรณีของพื้นที่สาธารณะนั้น สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือทั้งความเข้าใจที่มีต่อพื้นที่กายภาพของมัน และกระบวนการทำให้พื้นที่หนึ่งนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะ (public space) ซึ่งความซับซ้อนก็จะเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากจะเข้าใจทั้งมิติเรื่องของพื้นที่ (space, spatial) ก็ยังจะต้องเข้าใจเรื่องของคำว่าสาธารณะ (public) ด้วย

หากเข้าใจโดยง่าย พื้นที่สาธารณะมักถูกให้ความสำคัญในแง่ของการเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของเมือง โดยเฉพาะเมืองสมัยใหม่ และมักจะแฝงมาด้วยเรื่องของการเรียกร้องให้มีพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น หรือกังวลถึงความขาดแคลนของพื้นที่สาธารณะในเมือง ทั้งจากการเคลื่อนไหวให้มีสวนสาธารณะเพื่อเพิ่มธรรมชาติให้กับเมือง หรือการสร้างอาคารและพื้นที่ลานกว้างที่มีลักษณะใหญ่โตและย้อนอดีตสู่ความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรมยุโรปเพื่อยกระดับรสนิยมและความเป็นอยู่ของผู้คนในเมือง ไปจนถึงการสร้างลานกิจกรรมในระดับเมือง หรือในระดับย่าน/ชุมชน

Advertisement

การเรียกร้องเรื่องพื้นที่สาธารณะมักมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ทางกายภาพและสุขภาวะของผู้คนในเมือง (รวมไปถึงความกังวลอัตราส่วนของพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่สีเขียว ต่อจำนวนประชาชนซึ่งมักจะหนาแน่นยิ่ง) ความสนใจเรื่องของพื้นที่สาธารณะยังหมายรวมไปถึงการทำความเข้าใจพื้นที่ในแง่ของการปะทะสังสรรค์ทางสังคมในยุคที่คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในพื้นที่ส่วนตัวหรือครอบครัวมากขึ้น

นอกจากนี้ ความสนใจในเรื่องของพื้นที่สาธารณะยังรวมไปถึงเรื่องของ “ปริมณฑลสาธารณะ” (public sphere) ในความหมายที่ว่า ปริมณฑลสาธารณะมีนัยต่อความเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นในทางการเมือง และเป็นพื้นที่ของส่วนรวมที่ไม่ใช่รัฐ และต่อรองกับรัฐไม่ใช่ด้วยจำนวนและการปะทะ แต่หมายถึงการใช้เหตุผลในการปรึกษาหารือกัน ประสานกันกับรัฐผู้ใช้อำนาจจากเบื้องบน และระบบเศรษฐกิจแบบตลาด กล่าวกว้างๆ ก็คือพื้นที่ที่ผู้คนจะมาพบปะกันและแสดงตัวตนของตน แต่ก็ไม่ได้แค่เพราะว่าอยากรู้จักกัน แต่หมายถึงการมารวมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายสาธารณะบางอย่าง เช่น พูดคุยกันในร้านกาแฟ หรือพื้นที่อื่นๆ ปริมณฑลจึงหมายถึงสภาวการณ์ ขณะที่พื้นที่อาจหมายถึงเฉพาะมิติกายภาพ หรือในอีกด้านหนึ่งนั้น

ปริมณฑลสาธารณะอาจไม่ได้มีหนึ่งเดียว หรือมีเป้าหมายของความสูงส่ง หรือความเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางการเมืองทุกอย่าง แต่พื้นที่/ปริมณฑลสาธารณะอาจจะเป็นพื้นที่แสดงออกของความเป็นการเมืองอย่างหนึ่งในอีกหลายๆ กิจกรรมเท่านั้นเอง และการทำความเข้าใจปริมณฑลสาธารณะในมิตินี้ยังรวมถึงความเข้าใจในข้อจำกัดของมิติของปริมณฑลสาธารณะที่อาจจะไม่สามารถโอบล้อมทุกกิจกรรมทางการเมืองมาไว้ในพื้นที่เดียว แต่อย่างน้อยความเป็นสาธารณะในความหมายนี้ก็หมายถึงการให้ความสำคัญกับตัวพลเมือง หรือผู้คนทั่วไปมากขึ้น แม้อาจจะมีข้อจำกัดบางประการเช่นกับผู้หญิง หรือกับบางชนชั้นที่อาจไม่มีโอกาสเข้าไปใช้ ในอีกด้านหนึ่งพื้นที่สาธารณะอาจจะไม่สามารถตกลงกันได้อย่างสันติเสียทีเดียว อาจจะต้องมาจากการปะทะทางกายภาพและช่วงชิงกันในหลายแบบไม่จะต้องเป็นเรื่องของการถกเถียงที่หาข้อตกลงกันได้เสมอไป

ส่วนคำว่าสาธารณะนั้นบางครั้งในข้อถกเถียงเองเราก็ไม่สามารถแยกขาดระหว่างคำว่าสาธารณะกับคำว่าความเป็นส่วนตัวได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มันมีมิติของทั้งการเข้าถึง และการแยกตัวออก กล่าวง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราไม่มีเรื่องของความเป็นส่วนตัวไว้บ้าง เราจะถูกเข้าถึง (หรือคุกคาม) ได้ตลอดเวลาจากอำนาจภายนอก ขาดการปกป้องและอิสระ แต่ในอีกด้านหนึ่งถ้าทุกคนมีแต่ความเป็นส่วนตัว คนที่เปราะบางอาจจะเข้าถึงความเป็นสาธารณะหรือส่วนรวมหรือได้รับการแบ่งปันทรัพยากรและพื้นที่ได้ยาก

ในแง่นี้เมื่อเราพูดถึงพื้นที่สาธารณะนั้น เราจึงต้องทำความเข้าใจพลวัตที่ไม่เคยหยุดนิ่งของการทำงานและความหมายของมันด้วย และเป็นไปได้ว่าในแต่ละยุคสมัยมันไม่เคยหยุดนิ่ง และเต็มไปด้วยการต่อรองกันตลอดเวลา รวมทั้งการซ้อนทับที่ไม่พอดีระหว่างคำว่าพื้นที่ (สถานที่) กับปริมณฑลในทางความคิดด้วย อาทิ เราจะทำอะไรได้บ้างและทำอะไรไม่ได้บ้างในพื้นที่กายภาพ

จากข้อมูลการค้นคว้าของ ดร.สุธาริน คูณผล ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง The Concept and Practice of ‘Public Space’ in the City of Bangkok, Thailand: A Case Study based on Sanam Luang. (Department of Geography, School of Oriental and African Studies, University of London, 2001) ซึ่งผมได้หยิบเอาบางส่วนของข้อถกเถียงในโลกของวงวิชาการตะวันตกมาอภิปรายขยายความและถกเถียงไปด้วยแล้ว

ในบทที่หก สุธารินได้ค้นคว้าสำรวจพัฒนาการของคำว่า “สาธารณะ” ในสังคมและชี้ว่าสาธารณะโดยเฉพาะ “พื้นที่สาธารณะ” นั้นเป็นของใหม่มาก จากเดิมในสังคมไทยมีคำหลายคำที่ใช้ในความหมายที่่ใกล้เคียงกับคำนี้ ตั้งแต่คำว่าหลวง ส่วนรวม ทั่วไป ฯลฯ

คำว่า สาธารณะในยุคแรกนั้นมีความหมายลบ ในสมัยก่อนการรับประทานอาหารในที่สาธารณะเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ เพราะคนที่ไม่มีบ้านที่ไม่สามารถกลับไปทานอาหารที่บ้านได้ แม้แต่อาหารตักกลับบ้านก็ใส่ถุงมากกว่ากินกันริมถนน โดยเฉพาะผู้หญิงจะไม่นั่งรับประทานอาหารที่ริมถนน

คำว่า สาธารณะในความหมายเป็นกลาง ทั่วไป และร่วมกัน ถูกนิยามโดนปทานุกรม ของกรมตำรา กระทรวงธรรมการ ในปี พ.ศ.2470 ยังใช้ในความหมาย สาธารณชน สาธารณสถาน

อีกคำที่มีความสำคัญก็คือคำว่า หลวง แต่การศึกษาพบว่า คำว่าหลวงนั้นมีความหมายซ้อนทับกับคำว่า สาธารณะ (ซึ่งเป็นส่วนเดียวของหลวงเมื่อไม่นานนี้ ดังปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 อย่างในอดีต คำว่าหลวงในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ.2416 ก็แปลว่า ยิ่งใหญ่ หรือพจนานุกรม/ปทานุกรมสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ก็แปลว่า ใหญ่ หรือมีอำนาจ ยังไม่มีความหมายว่าสาธารณะ

ขณะที่ในปัจจุบันนั้น สุธารินเสนอว่า คำว่าสาธารณะ/public อาจจะมีความหมายได้ใน 3 มิติ คือ

1.มิติของความเป็นพลเมือง (civic) /ชุมชน (communal) : จะใช้ในแง่ของส่วนรวม (communal) หรือชุมชน (community) ซึ่งตรงข้ามกับ ส่วนตัว (personal) และปัจเจกชน (individual)

2.มิติของราชการ/ทางการ (official): ใช้ในความหมายสาธารณะ (public) ซึ่งตรงข้ามกับ เอกชน (private)

3.มิติของลำดับชั้น (hierarchical): ใช้ในความหมายของ ราชการ (state’s) ในความหมายตรงข้ามกับราษฎร (subject)

ในอีกมิติที่นำไปสู่ข้อสรุปของสุธารินก็คือในขณะที่คำว่า สาธารณะของตะวันตกมีรากมาจากเรื่องเพศสภาพ คือ pubes คำว่าสาธารณะจึงมีมิติการถกเถียงอยู่ที่เรื่องของเพศสภาพ และการเติบโตของสังคม (อาทิผู้หญิงถูกกีดกันจากพื้นที่สาธารณะในอดีต) แต่ของไทยดูเหมือนว่ารากคำและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์/วัฒนธรรมจะผูกพันไปในเรื่องของการเคลื่อนตัวหรือการซ้อนทับในมิติของลำดับชั้นทางสังคมเสียมากกว่า (คือเมื่อไหร่ที่คำนี้จะอยู่หรือหลุดจากเรื่องของผู้ปกครองแบบเดิม หรือรัฐ)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องพื้นที่สาธารณะแล้ว นักวิชาการบางท่านอย่าง อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่นานมานี้เองที่พื้นที่สาธารณะได้เปลี่ยนแปลงความหมายจากการเป็นพื้นที่ที่ดูแลและควบคุมโดยรัฐมาเป็นของตัวกระทำการอื่นๆ เช่นการเปลี่ยนเป็นคำว่า พื้นที่ส่วนรวม (“รากฐานความคิดทางการเมืองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” (รัฐศาสตร์สาร 21(1): 127-148). ทั้งประเด็นของสุธาริน และอรรถจักร์ อาจทำให้เราเห็นว่าร่องรอยของการเชื่อมต่อและแยกขาดของความเป็นสาธารณะและพื้นที่ที่ไม่ใช่สาธารณะนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจทั้งในแบบตะวันตก และในแบบของเราเอง อย่างในกรณีพื้นที่สาธารณะในความหมายของไทยพีบีเอสเอง ก็มองว่าตัวเองเป็นทั้งพื้นที่สาธารณะและสื่อสาธารณะ (ที่เปิดพื้นที่สาธารณะ) และแน่นอนว่า รากที่มาก็มาจากทั้งการเคลื่อนตัวออกจากรัฐ (ในยุคไอทีวี) และทุน (ในยุคทักษิณ) แต่โดยการดำรงอยู่ของไทยพีบีเอสเองก็เห็นทั้งการมีกฎหมายและปฏิบัติการของการต่อรองมากมาย และถูกกดดันในทุกฝ่ายมาโดยตลอด (และอาจไม่เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายด้วยซ้ำ ฮา) มิหน้ำซ้ำยังถูกแทรกแซงจากรัฐ (ถูกปรับถูกเตือน) ถูกวิจารณ์จากฝ่ายที่เดือดร้อนจากการคุกคามของรัฐเช่นกัน

นี่ก็เป็นอีกมิติที่ชี้ให้เห็นว่าในแง่พื้นที่สาธารณะนั้น คำว่าพื้นที่ไม่ใช่มีแค่กายภาพแบบสนาม แต่ยังหมายถึงเรื่องของปริมณฑลที่ไม่ได้อยู่ในแง่ความคิด เพราะมีกายภาพที่จับต้องได้อีกหลายมิติด้วย เช่น ข่าวมันก็สะท้อนความจริง แต่ความจริงในข่าวมันก็มาปรากฏในจินตกรรมของเราผ่านสื่อ

ในงานของสุธาริน ยังมีบทที่ว่าด้วยเรื่องของพัฒนาการสนามหลวงจากอดีตจนถึงทศวรรษ 2540 ซึ่งเราได้เห็นข้อมูลที่สำคัญหลายอย่าง และเห็นการเคลื่อนตัว การยึดครองและช่วงชิงความหมายกันมาในแต่ละยุคสมัย ทั้งในแง่พัฒนาการของประวัติศาสตร์ การกำหนดกฎเกณฑ์ การให้ความหมาย และที่สำคัญคือการใช้สอยของแต่ละกลุ่มคน

ไล่เรียงมาตั้งแต่สมัยการสร้างขึ้นมา การกลายเป็นทุ่งพระเมรุ การเปลี่ยนจากทุ่งเป็นสนาม การเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อความงดงามเหมาะกับยุคสมัยใหม่ การกลายเป็นพื้นที่สาธารณะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความเปลี่ยนแปลงจากราชพิธีสู่รัฐพิธี การใช้พื้นที่ในมิติทางการเมืองทั้งการชุมนุมและการปราศรัย การใช้เป็นพื้นที่ของตลาดและการแลกเปลี่ยนในลักษณะของการเป็นพื้นที่กิจกรรมบนดิน (ตลาดนัด) ไม่เป็นทางการ และคลุมเครือ (อาทิ การขายบริการทางเพศ) การเป็นพื้นที่โบราณสถาน การกำกับดูแลพื้นที่และการปรับแปลงพื้นที่ในชีวิตประจำวันของผู้คน

จากการอ่านงานของสุธาริน ผมพบว่าสนามหลวงในฐานะหนึ่งในพื้นที่สาธารณะของไทยและของกรุงเทพฯนั้นมีพลวัตมาโดยตลอด จนถึงวันนี้ความหมายและการเคลื่อนตัวของปฏิบัติการและกระบวนการเชิงพื้นที่ของสนามหลวงเองก็ยังไม่เคยหยุดนิ่ง การระบุว่าใครควรเป็นเจ้าของ ใครใช้ได้ ใครควรอนุญาต หรือแม้กระทั่งวันพรุ่งนี้ของสนามหลวงจะเป็นอย่างไร และจะได้มาด้วยกระบวนการอะไรนั้นเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนก็เป็นส่วนหนึ่งของทั้งกระบวนการทางประวัติศาสตร์ กระบวนการเชิงพื้นที่ และ กระบวนการทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และเวลาในสังคมนี้มาโดยตลอดล่ะครับ

โดย : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image