SHUT DOWN กทม. เปิด มธ. ชุมนุมใหญ่…สองนคราประชาธิปไตย

การชุมนุมใหญ่ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง วันที่ 19 กันยายนนี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จะเกิดขึ้นได้และมีผู้เข้าร่วมมากหรือน้อยกว่าวันที่ 16 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทุกฝ่ายกำลังรอติดตามผลว่าเหตุการณ์จะจบลงอย่างไร

เช่นเดียวกับการประชุมรัฐสภาวันที่ 23-24 กันยายน เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นยกร่างใหม่ หรือแก้ไขรายมาตรา ตัดอำนาจวุฒิสมาชิกในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปไป จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมี ส.ว.ครบ 1 ใน 3 ของทั้งหมด 250 คน คือ 84 คน จนลงมติให้การรับรองการแก้ไขได้สำเร็จ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ระหว่างที่สถานการณ์กำลังดำเนินไปในขณะนี้ เกิดวิวาทะทางการเมือง ให้การศึกษาพี่น้องประชาชนร่วมชาติได้ขบคิดพิจารณา ถกเถียง อภิปรายแลกเปลี่ยนอย่างน้อย 3 ประเด็น ที่น่าแสวงหาคำตอบให้กับตัวเองและสังคมเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

ข้อถกเถียงประการแรกว่าด้วย เผด็จการรัฐสภา ผลจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบโต้ฝ่ายค้านที่โจมตีเป็นเผด็จการว่า พรรคการเมืองใช้อำนาจโดยเสียงข้างมาก อาศัยมือที่มากกว่าปิดปากฝ่ายค้านที่ผ่านๆ มาต่างหากเข้าข่ายเผด็จการรัฐสภา ปรากฏว่าถูกย้อนกลับว่าการที่กองทัพยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งวุฒิสมาชิกมาเลือก
ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ร่วมกับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาสนับสนุนต่างหาก เป็นเผด็จการรัฐสภาที่หนักยิ่งกว่า จริงหรือไม่

วิวาทะประการต่อมาว่าด้วยการขอใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์จัดการชุมนุม ถูกอดีตนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งคัดค้าน กล่าวหาว่ามีเบื้องหลัง ไม่สุจริต อาจเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนโต้ตอบและยกกรณีมวลมหาประชาชนอันไพศาลขึ้นมาเปรียบเทียบ เคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองในนามกลุ่มองค์กรใดก็แล้วแต่ ถึงขั้นปิดกรุงเทพมหานคร ยึดสถานที่ราชการเป็นเวลานานนับเดือน ตึงเครียด ประสาทกินกันแทบทั้งเมือง จนกระทั่งทหารออกมาใช้ความรุนแรง ยึดอำนาจ บริหารต่อมาจนถึงขณะนี้ กรณีนี้เป็นความชอบธรรม ทำได้ ไม่เข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญ อย่างนั้นหรือ

ข้อถกเถียงประการที่สาม ว่าด้วยจุดยืน บทบาท อำนาจของวุฒิสมาชิกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเกิดการรวมตัวของนักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชน เรียกร้อง 3 ข้อ หยุดคุกคามผู้เห็นต่าง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยุบสภาจัดการเลือกตั้ง ท่าทีวุฒิสมาชิกส่วนน้อยประกาศชัดเจน เห็นด้วยกับการแก้ไขไม่ว่าตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือแก้ไขเป็นรายมาตรา ยินยอมตัดอำนาจวุฒิสมาชิกในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป ขณะที่วุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ยังสงวนท่าที เป็นเสียงเงียบที่คาดเดาได้ยากว่าสุดท้ายแล้วจะเอาอย่างไร
แม้ว่ามีกลุ่มหนึ่งทำท่าขึงขัง จะรวมตัวกันในนามวุฒิสมาชิกกลุ่มอิสระ คุยว่ามีถึง 60 คน แต่ถึงวันแสดงตัวตนจริง กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า

เ มื่อ ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเป็นราวต่อประธานรัฐสภา ปรากฏว่าวุฒิระดับนำบางคน ถอยหลัง ลงคลอง เปลี่ยนท่าที ฉับพลันจากที่เคยประกาศพร้อมแก้ไข ขอให้บอกมาจะแก้มาตราอะไร ประเด็นไหน กลับกลายเป็นจรเข้ขวางคลอง ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหน้าตาเฉย อ้างว่า รัฐธรรมนูญเพิ่งบังคับใช้มาได้ไม่กี่ปี และอีกไม่กี่ปีวุฒิสมาชิกที่มีบทบาทตามบทเฉพาะกาลก็จะครบวาระ จะกลับมาใช้ตามบททั่วไปแล้ว

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่วุฒิสมาชิก แต่อยู่ที่พรรคการเมืองต่างหาก ถ้าไม่เสนอหรือสนับสนุนคนนอกให้เป็นนายกรัฐมนตรีเสียอย่าง วุฒิสมาชิกจะไปทำอะไรได้ ข้อโต้แย้งนี้พอฟังได้

แต่บอกความจริงครึ่งเดียว ไม่พูดถึงที่มาของวุฒิสมาชิก ที่เกิดจากการแต่งตั้งจากกลุ่มคนที่มีอำนาจ คือ คสช. เป็นไปในลักษณะชงเอง กินเอง เพื่อเป็นช่องทางสนับสนุนคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันขึ้นระหว่างผู้ถูกเสนอชื่อ

ไม่ว่าพรรคการเมืองจะเสนอชื่อใครคนใน หรือคนนอก ก็ตาม อำนาจของวุฒิสมาชิกในการเลือกยังดำรงคงอยู่ รวมถึงอำนาจในการให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมีวุฒิสมาชิกสนับสนุนไม่ถึง 84 คน ญัตติแก้ไขเป็นอันต้องตกไป

ด้วยเหตุที่การปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ ทำให้เกิดปัญหาหลากหลายประการ อีกทั้งการแก้ไขทำได้ยาก จึงทำให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้แก้ไขและยกร่างใหม่อย่างกว้างขวาง

รายงานผลการศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่งเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบและยื่นต่อให้รัฐบาลแล้ว เป็นข้อเท็จจริงยืนยันถึงปัญหาและจุดอ่อน ความสมเหตุสมผลที่ควรแก้ไขอย่างชัดเจนหนักแน่น

แต่ท่าที ความคิด จุดยืนของผู้มีอำนาจโดยตรง โดยเฉพาะวุฒิสมาชิก ยังไม่สามารถทำให้สังคมมั่นใจได้ว่าจะไปทางไหน จะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ มีความเป็นธรรม เดินหน้าต่อไปด้วยความราบรื่นหรือตรงกันข้าม

ยังเป็นประเด็นวิวาทะ คงความอึมครึม อึดอัด ต่อไปจนถึงวันที่รัฐสภาพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นแหละ ทุกคนจะได้เห็นโฉมหน้า ตัวตนที่แท้จริงของวุฒิสมาชิกเป็นเช่นไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image