กบฏไม่มาตามนัด 9 ก.ย.2528 : รัฐประหารที่ไม่รู้ว่าใครเป็นหัวหน้า

กบฏไม่มาตามนัดหรือกบฏสองพี่น้อง เป็นความพยายามรัฐประหารเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2528 ของนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย พันเอกมนูญ รูปขจร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มนูญกฤต รูปขจร ได้รับยศเป็นพลตรี) และน้องชาย คือ นาวาอากาศโทมนัส รูปขจร (ภายหลังได้รับยศพลอากาศเอก) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกเสริม ณ นคร (อดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด) พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่งและมีพลเรือนบางส่วนซึ่งเป็นผู้นำแรงงานโดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก นายเอกยุทธ อัญชันบุตร (อดีตนักธุรกิจการเงินผู้หนีคดีแชร์ลูกโซ่และถูกฆาตกรรมเมื่อ พ.ศ.2556) การกบฏครั้งนี้พยายามยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ต่อมาได้เป็นประธานองคมนตรี)

กบฏไม่มาตามนัดนี้มีขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีพลเอกเปรมเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศสวีเดน และการกบฏครั้งนี้ถือว่าเป็นการพยายามรัฐประหารที่ไม่ประสบความสำเร็จครั้งสุดท้ายของประเทศไทยหลังจากที่ทำรัฐประหารสำเร็จมาแล้ว 10 ครั้ง นอกจากนี้ ยังถือเป็นการพยายามรัฐประหารรัฐบาลของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ครั้งสุดท้ายอีกด้วย

การกบฏเริ่มต้นเมื่อเวลา 03.00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นกองกำลังยานเกราะที่ พ.อ.มนูญเคยเป็นผู้บังคับบัญชามาก่อนพร้อมด้วยกำลังทหารจากกองกำลัง
ทหารอากาศโยธินอีก 400 นายเศษ ซึ่งนาวาอากาศโทมนัสเป็นผู้นำ ได้เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุดเดิมที่ตั้งอยู่ในสนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) โดยอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ประกาศว่ามีพลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ และจับกุมพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นตัวประกัน ส่วนนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ได้นำกำลังทหารส่วนหนึ่งและผู้นำสหภาพแรงงานเข้ายึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อนำรถเมล์ออกไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย

ต่อมาทหารฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชาการทหารบก รักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลโทชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ประสานกับฝ่ายรัฐบาลซึ่งมี พลเอกประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรีรักษาการนายกรัฐมนตรี ตั้งกองอำนวยการสู้กบฏขึ้นที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ โดยส่งกองกำลังทหารเข้าต่อต้านฝ่ายกบฏและออกแถลงการณ์ตอบโต้ฝ่ายกบฏ

Advertisement

เมื่อเวลาประมาณ 09.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน คือ นายนีล เดวิส ชาวออสเตรเลีย และนายวิลเลียม แรตช์ ชาวอเมริกัน

ก่อนเที่ยงกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลได้บุกเข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ และ อ.ส.ม.ท. คืนมาได้จึงยุติการกระจายเสียงของฝ่ายกบฏ ทำให้ผู้นำแรงงานหลายคนฝ่ายกบฏต้องตั้งเวทีปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โจมตีรัฐบาลร่วมกับสหภาพแรงงานอื่นๆ ผู้นำก่อการกบฏยังใช้วงดนตรีเพื่อชีวิต “คาราบาว” มาเล่นคอนเสิร์ต เพื่อเรียกมวลชนมาชุมนุมสนับสนุนฝ่ายกบฏ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการใช้คอนเสิร์ตเป็นเครื่องมือทำรัฐประหาร

มีการปะทะระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลและทหารฝ่ายกบฏประปราย จนมีการเจรจาเมื่อเวลา 15.00 น. โดย พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นตัวแทนฝ่ายกบฏ และทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ และถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อเวลา 17.30 น. ส่วนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อคืนวันนั้น แล้วเข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส โดยทันทีเมื่อการกบฏล้มเหลว ส่วนผู้ก่อการกบฏ คือ พันเอกมนูญ รูปขจร และ นาวาโทมนัส รูปขจร ได้ลี้ภัยไปประเทศสิงคโปร์และเดินทางไปอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ส่วนคณะกบฏที่เหลืออยู่ได้ให้การว่าถูกบังคับจากคณะผู้ก่อการกบฏ จึงมิได้มีการลงโทษทัณฑ์ฝ่ายกบฏแต่ประการใด

Advertisement

ปรากฏการณ์ของ “กบฏไม่มาตามนัด” จัดว่าเป็นการรัฐประหารที่มีเงื่อนงำมากที่สุด กล่าวคือจนบัดนี้เป็นเวลา 34 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีการเปิดเผยเลยว่าใครคือหัวหน้ากบฏเพราะกำลังทหารของฝ่ายกบฏมีไม่ถึงหนึ่งพันนายซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะยึดกรุงเทพมหานครได้และฝ่ายกบฏไม่มีกำลังทหารราบซึ่งเป็นกำลังหลักในการยึดพื้นที่เลยแม้แต่คนเดียว และการได้รับฉายาว่า “กบฏไม่มาตามนัด” นั้นบ่งชัดว่าฝ่ายกบฏต้องคาดหวังว่าจะมีกำลังทหารราบเข้ามาสมทบเมื่อกำลังทหารราบไม่มาตามนัดจึงเกิดการเจรจาซูเอี๋ย (แพ้-ชนะ ในความหมายคำภาษาจีนแต่เดิมหมายความว่าทั้งฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะก็จะหันมาพูดคุยกัน เพื่ออยู่ร่วมกันต่อไป) กันง่ายๆ

ทำให้การรัฐประหารของเมืองไทยหลัง พ.ศ.2528 เป็นต้นมาดูเป็นเรื่องเกี้ยเซี้ย (ภาษาจีนทางการเมืองหมายถึง จัดการปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม เจรจาต่อรอง ประสานหรือจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวในหมู่ชนชั้นนำของสังคมเพื่อรักษาอภิสิทธิ์หรือสถานะดั้งเดิมของพวกตนไว้, ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ก่อประโยชน์อันใดให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย) กันทั้งนั้น

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image