เฟซบุ๊ก แหล่งบ่มเพาะเฮทสปีชในพม่า

จากสถิติเดือนมีนาคม 2020 พม่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กราว 22.2 ล้านคน คิดเป็น 40.8 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ เฟซบุ๊กเป็นเว็บไซต์/แอพพลิเคชั่นที่มีผู้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากกูเกิลและยูทูบ มีผู้ใช้มากถึง 21 ล้านคน ทิ้งห่างอินสตาแกรม โซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ซึ่งมีตัวเลขผู้ใช้เพียง 8.1 แสนคน แม้ตัวเลขผู้ใช้เฟซบุ๊กยังไม่มากเท่าประเทศอื่นๆ ภูมิภาค (เวียดนามและไทยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กถึง 68.9 และ 76.7 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศตามลำดับ) แต่บทบาทของเฟซบุ๊กเป็นที่ถกเถียงเรื่อยมาในประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทั้งทางเชื้อชาติและการเมือง และในสถานการณ์ที่มีผู้จงใจเผยแพร่ข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) อย่างต่อเนื่องอย่างพม่า

เมื่อเกิดวิกฤตโรฮีนจาระหว่างปี 2016-2017 เฟซบุ๊กถูกใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวปลอม และมีส่วนที่ก่อให้เกิดการปราบปรามชาวโรฮีนจาอย่างรุนแรง เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโรฮีนจาของสหประชาชาติ ออกรายงานที่มีกล่าวถึงบทบาทของเฟซบุ๊กในการสร้างความเกลียดชังและมีส่วนต้องรับผิดชอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจา เฟซบุ๊กโต้ตอบโดยการบล็อกบัญชีของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า นายทหารระดับสูงอีกหลายคน และองค์กรอื่นๆ ที่สร้างความแตกแยกและความเกลียดชัง ในปี 2018 เพียงปีเดียว เฟซบุ๊กบล็อกเพจต่างๆ ไปถึง 484 เพจ และบัญชีผู้ใช้อีก 157 บัญชี โดยเฟซบุ๊กเป็นผู้เก็บข้อมูลของบัญชีและเพจดังกล่าวไว้

ทิโมที แมคลอคลิน (Timothy McLaughlin) ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Wired กล่าวว่า “การจลาจลทางเชื้อชาติในพม่าจะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่มีเฟซบุ๊ก” แมคลอคลินกล่าวถึงการจลาจลระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในรัฐยะไข่ที่รุนแรงขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2012 ในปีนั้นมีการจลาจลระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในรัฐยะไข่เป็นครั้งแรก มีผู้เสียชีวิตถึงเกือบ 200 คน และมีผู้ที่ต้องหลบหนีออกจากพื้นที่อีกนับแสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮีนจา เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของความรุนแรงต่อชาวโรฮีนจาที่จะตามมาอีกหลายระลอก และในที่สุดทำให้มีชาวโรฮีนจาที่ต้องหลบหนีออกจากพม่ามากถึงเกือบ 1 ล้านคน ในปี 2014 มีการจลาจลทางเชื้อชาติเกิดขึ้นอีกครั้งแต่เป็นที่มัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่าชาวมุสลิม (ไม่ใช่เฉพาะชาวโรฮีนจา) เป็นเป้าโจมตีของชาวพม่าพุทธที่กำลังคลุ้มคลั่งหลังมีข่าวเผยแพร่ออกทางเฟซบุ๊กว่าเจ้าของร้านน้ำชาที่เป็นชาวมุสลิมได้ข่มขืนกระทำชำเราลูกจ้างหญิงชาวพม่า จากข่าวปลอมที่ปรากฏในบล็อกหนึ่ง และแพร่กระจายไปสู่เฟซบุ๊ก กลายเป็นเรื่องที่ชาวพุทธทั่วพม่าเชื่อว่าเป็นความจริง ผู้คนที่กำลังโกรธแค้นพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าไปทำลายร้านน้ำชาของ “ผู้ต้องสงสัย” จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในมัณฑะเลย์ และยังเกรงว่าความรุนแรงในลักษณะเดียวกันจะแพร่ไปยังเมืองอื่นๆ ทั่วพม่า

ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่คล้ายคลึงกับกรณีที่เกิดขึ้นกับเจ้าของร้านน้ำชาชาวมุสลิมในมัณฑะเลย์ ดูเหมือนว่าเฟซบุ๊กเป็นแหล่งพื้นที่ข่าวปลอมที่ไม่มีการตรวจสอบ ตั้งแต่เฟซบุ๊กเริ่มเข้าไปในพม่าในปี 2010 เมื่อพม่าเปิดประเทศ และคลื่นโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตพัฒนาขึ้นตามลำดับนั้น เราเห็นการจลาจลทางเชื้อชาติหลายครั้ง ที่เริ่มต้นมาจากข้อความที่เต็มไปด้วยเฮทสปีชในเฟซบุ๊ก

Advertisement

ในปี 2018 เมื่อรัฐบาลแกมเบียยื่นขอหมายศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐให้เฟซบุ๊กเปิดเผยข้อมูลที่เฟซบุ๊กบล็อกไปก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นข้อมูลแสดง “ความตั้งใจ” ให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประกอบการยื่นฟ้องพม่าต่อศาลโลก แต่เฟซบุ๊กไม่ยินยอมทำตามคำขอของแกมเบีย และยังเรียกร้องให้ศาลระดับรัฐในวอชิงตัน ดี.ซี. ปฏิเสธคำขอของแกมเบียด้วย โดยอ้างว่าคำขอของแกมเบีย “กว้าง” เกินไป ทั้งๆ ที่รัฐบาลแกมเบียเขียนในใบคำร้องอย่างชัดเจนว่าต้องการข้อมูลจากเฟซบุ๊กของนายทหารและเจ้าหน้าที่รัฐ 17 คน กองทหาร 2 กอง และจากเพจอื่นๆ อีกบางส่วน เฟซบุ๊กให้คำมั่นสัญญาว่าจะจ้างคนพม่าเพื่อกลั่นกรองโพสต์ที่สร้างความเกลียดชัง และจะมีมาตรการที่เคร่งครัดขึ้นเพื่อปราบปรามเฮทสปีชให้ถึงที่สุด

อย่างไรก็ดี จากการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์สในเดือนสิงหาคม 2018 ยังพบว่ามีโพสต์ และคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเฮทสปีชนับพันตัวอย่าง โดยที่เฟซบุ๊กไม่ได้มีมาตรการจริงจังเพื่อสกัดกั้นทั้งข่าวปลอมและเฮทสปีชเหล่านี้ เฟซบุ๊กจึงเป็นพื้นที่ที่ปล่อยให้ฝ่ายขวาจัดและผู้ที่เกลียดชังโรฮีนจาแสดงออกได้อย่างเสรี ในขณะที่เฟซบุ๊กจัดให้กองกำลังติดอาวุธของโรฮีนจา หรือที่เรียกว่า ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) เป็นองค์กรอันตราย แต่ยังปล่อยให้เพจอย่างเป็นทางการของกองทัพพม่าเผยแพร่ข่าวปลอมเพื่อปลุกระดมให้คนพม่าเกลียดชังชาวโรฮีนจาต่อไปได้ เคยมีโพสต์หนึ่งบนเฟซบุ๊กที่เรียกร้องให้กองทัพให้มาตรการที่รุนแรงกับชาวโรฮีนจา มีคนแชร์โพสต์นั้นถึง 13,000 ครั้ง และมีคอมเมนต์มากถึง 2,000 คอมเมนต์

ตลอดครึ่งหลังของปี 2018 มีองค์กรหลายแห่งทั้งภายในและภายนอกพม่า ที่พยายามกดดันให้เฟซบุ๊ก โดยเฉพาะซีอีโอ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ออกมารับผิดชอบการที่เฟซบุ๊กปล่อยปละละเลยจนทำให้มีเฮทสปีชเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮีนจาเผยแพร่ไปทั่ว หนึ่งปีหลังชาวโรฮีนจาถูกสังหารไปแล้ว 25,000 คน และอพยพออกจากรัฐยะไข่ไปแล้ว 7 แสนคน เฟซบุ๊กออกแบบประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของตนออกมา เพื่อวิเคราะห์บทบาทของตนที่มีต่อการเมืองและสังคมพม่าต่อกรณีโรฮีนจา เฟซบุ๊กจ้างคนพม่าถึง 100 คนเพื่อร่วมทำแบบประเมินในครั้งนั้น

Advertisement

เฟซบุ๊กกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในการเลือกตั้งในพม่าที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายน เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาดเป็นรอบที่ 2 ทำให้การหาเสียงของพรรคการเมืองน้อยใหญ่ในพม่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก คณะกรรมการการเลือกตั้งพม่าออกกฎให้แต่ละพรรคหาเสียงโดยมีการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด หลายพักการเมืองหันไปหาเสียงโดยใช้สื่อโซเชียลไปพร้อมๆ กัน

เฟซบุ๊กออกมาประกาศในเว็บไซต์ของตนว่ากำลังเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยปรับปรุงระบบการตรวจจับเฮทสปีชและเนื้อหาที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความรุนแรง และเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นเฟซบุ๊กจะถอดโพสต์ที่กล่าวว่าผู้สมัครเป็นคน “เบงกาลี” ออก (ชาวพม่าที่ต่อต้านชาวโรฮีนจาใช้คำนี้เพื่อกล่าวถึงชาวโรฮีนจา แม้โดยทั่วไป “เบงกาลี” จะมีความหมายถึงชาวเบงกอล แต่ในปัจจุบันกลายเป็นคำที่มีความหมายแฝงทางการเมือง และแสดงถึงทัศนคติเหยียดเชื้อชาติ) นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังอ้างว่าตนทำงานกับบริษัท 3 แห่ง ได้แก่ BOOM. AFP Fact Check และ Fact Crescendo เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแฟนเพจพรรคการเมืองในพม่า

เฟซบุ๊กเป็นสื่อโซเชียลมีเดียที่มีบทบาทอย่างสูงในพม่า ถูกจับตามองและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องตลอดมา เฟซบุ๊กจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับพม่าอย่างมาก มีคำกล่าวที่ว่า “เฟซบุ๊กคืออินเตอร์เน็ต และอินเตอร์เน็ตคือเฟซบุ๊ก” เพราะชาวพม่าที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เกือบทุกคนมีบัญชีเฟซบุ๊กเป็นของตนเอง และเสพข่าวสารทุกอย่างผ่านเฟซบุ๊ก ดังนั้นท่าทีของเฟซบุ๊กที่มีต่อการเมืองพม่าจึงน่าจับตามองมากเป็นพิเศษ

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image