เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม กับมาตรฐานแรงงาน

ทุกวันนี้ คนวัยแรงงานส่วนใหญ่ในเมืองใหญ่ๆ จะรู้จัก Grab ทั้ง GrabCar,
GrabTaxi, GrabBike, GrabFood รวมทั้งบริการส่งสะดวกอื่นๆ ที่ติดต่อผู้ให้บริการด้วย Smartphone ผ่านแอพพลิเคชั่นผ่านคนกลางที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มดิจิทัล จังหวัดที่มีบริการดังกล่าวเท่าที่ทราบในขณะนี้ในภาคกลางมี กทม.และปริมณฑล เชียงใหม่ ชลบุรี พัทยา หัวหิน และ พระนครศรีอยุธยา ภาคเหนือมี เชียงใหม่ เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี ขอนแก่น โคราช อุบลฯ อุดรฯ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ และภาคใต้มี ภูเก็ต และ กระบี่ สงขลา หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสมุย

นอกจาก Grab แล้ว ธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทยยังมี (Uber ขายให้ Grab แล้ว) ที่ให้บริการรถสาธารณะและรับส่งอาหาร Airbnb, Agoda, Booking, Traveloca, Traveligo, Trip, Expedia และ Hotel Quicklyให้บริการที่พักอาศัยชั่วคราวโดยผู้ให้บริการคือเจ้าของที่พักอาศัยที่ไม่ได้ช้ำประโยชน์อื่นและได้เสนอให้แพลตฟอร์มกลุ่มนี้เป็นผู้หาคนมาพัก BeNeat,Ayasan และ Seekster ให้บริการลูกจ้างทำความสะอาดบ้านและสำนักงาน โดยผู้ให้บริการทำความสะอาดได้เสนอให้บริการผ่านแพลตฟอร์มและแพลตฟอร์มเป็นผู้หางานให้ และ Line Man, Foodpanda และLalamove ให้บริการรับส่งอาหาร และพัสดุ โดยผู้ต้องการใช้บริการติดต่อผ่านแพลตฟอร์มให้จัดสินค้าและบริการขนส่งถึงที่ให้ เป็นต้น

ธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ดังกล่าว มักจะเรียกรวมๆ กันว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform economy) หรือ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital platform) หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing economy) หรือ เศรษฐกิจชั่วคราว (Gig economy) ทั้งหมดนี้มีลักษณะสำคัญคือการจับคู่ความต้องการของผู้เสนอขายสินค้าและบริการกับความต้องการเสนอซื้อสินค้าหรือบริการโดยผ่านกลไกดิจิทัล (ดิจิทัลแพลตฟอร์มและSmartphoneโดยใช้แอพพลิเคชั่นของแพลตฟอร์มที่ให้บริการที่โหลดไว้) กล่าวคือแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือเจ้าของจะทำหน้าที่นายหน้าซื้อขายสินค้าและบริการที่รวดเร็วทันเวลา ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของธุรกิจแพลตฟอร์มคือเจ้าของแพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะไม่มีสินค้าหรือคลังสินค้าเป็นของตนเอง แต่ก็ไม่แน่เสมอไป บางแพลตฟอร์มก็ขายของของตัวเอง หรืออย่าง Grab ก็มี Central กำกับอยู่

ปัจจุบันเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นที่นิยมของประชาชน(ในตัวเมืองใหญ่ๆ) ทั้งนี้ข้อดีของบริการคือความสะดวกสบายของผู้บริโภคโดยช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าและบริการในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยคุณภาพและราคาที่ยอมรับได้ รวมทั้งการลดปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ การเดินทาง รถติด ปัญหาบริการแท็กซี่ ปัญหารถโรงแรมที่ค่อนข้างแพง ปัญหาที่จอดรถ ปัญหาที่พักราคาถูก ปัญหาขาดลูกจ้างทำงานบ้าน ปัญหาการรับส่งพัสดุ ฯลฯ

Advertisement

ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างงานจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานระดับกลางๆและระดับล่างที่เข้ามาเป็นผู้ให้บริการในแต่ละแพลตฟอร์ม ทั้งขับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ บริการโรงแรม ทำความสะอาด ซึ่งส่วนใหญ่ทางแพลตฟอร์มจะเปิดโอกาสให้แรงงานเข้าร่วมในการให้บริการโดยไม่จำกัดหากมีคุณสมบัติตามที่แพลตฟอร์มกำหนด แรงงานสามารถทำงานได้หลายแห่งหลายประเภท เจ้าของห้องว่างสามารถใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่รวมทั้งการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การสร้างเสริมประสบการณ์(start ups)การบริการที่พัก การทำงานกึ่งสมัครเล่น ในช่วงโควิด 19 ระบาดมีโรงแรมปิดกิจการจำนวนมาก แรงงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนหนึ่งสามารถมาทำงานกับ Airbnb หรือ BeNeat ได้

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งคือด้านแรงงานก็มีข้อเสียอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่มีมาตรฐานแรงงานหรือการคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งการฉวยโอกาสเอาเปรียบแรงงานผู้ให้บริการ การขัดแย้งกับผู้ให้บริการเดิมเจ้าของพื้นที่ที่ไม่ได้อาศัยแพลตฟอร์ม การไม่มีความก้าวหน้าในอาชีพ การลดลงของรายได้ในระยะยาว เช่นในกรณีของ GrabCar รายได้จะดีตอนเข้าร่วมบริการใหม่ๆเพราะทางแพลตฟอร์มจะหา
สิ่งล่อใจจากจำนวนรอบที่ทำงาน หรือสิ่งล่อใจอื่นๆ แต่ทางแพลตฟอร์มรับคนไม่จำกัดทำให้มี
ผู้บริการเพิ่มขึ้น (ในช่วงโควิด-19 มีผู้ให้บริการร้อยละ 44 ทำงานมาต่ำกว่า 6 เดือน) และรายได้ลดลง นอกจากนั้นแล้วผลตอบแทนหรือค่าบริการที่ได้จะถูกแพลตฟอร์มหักร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของรายได้ในขณะที่ผู้ให้บริการต้องแบกรับภาระค่าเสื่อมรถ ค่าน้ำมัน ค่าเสื่อมสุขภาพ จิปาถะ โดยถ้าจะให้รายได้ดีต้องขับวันละไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง (ร้อยละ 30 ของผู้ให้บริการ GrabCarทำงานมากกว่า วันละ 8 ชั่วโมง) ซึ่งผู้ให้บริการ GrabCar บางคนบอกว่ายิ่งอยู่นานยิ่งขาดทุน นอกจากนั้นแล้วผู้ให้บริการ GrabCar จะใช้รถส่วนตัวและใบขับขี่ธรรมดาซึ่งนับว่าผิดกฎหมายและยังเป็นปัญหาที่ประกันภัยรถไม่คุ้มครองเพราะใช้รถผิดประเภท (แต่ Grab ได้ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่คุ้มครองทั้งผู้โดยสารและคนขับ 1 แสนบาทกรณีอุบัติเหตุและ 2 แสนกรณีเสียชีวิต) ส่วนแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่มีหลักประกันจากนายจ้าง นอกจากนั้นแล้วผู้ให้บริการเช่น BeNeat หรือคนขับ Grab ที่เป็นสตรีอาจมีความเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ

ในแง่ของมาตรฐานแรงงานหรือการคุ้มครองแรงงาน เป็นที่ทราบกันดีว่า โดยทั่วไปแรงงานที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มมิได้มีสถานะเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม แต่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือหุ้นส่วน(partner)อย่างไม่เป็นทางการของแพลตฟอร์ม หรือทางกฎหมายหมายถึงผู้รับจ้างทำของ(contractor) ซึ่งจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน (ผู้รับจ้างทำของจะอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และได้รับค่าตอบแทนตามชิ้นงาน ในขณะที่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554) ตัวอย่างเช่นกรณีของ BeNeat Platform ที่ระบุไว้ในเว็บไซต์อย่างชัดเจนว่า “BeNeat (บีนีท) แพลตฟอร์มเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการเท่านั้น ผู้ให้บริการเป็นผู้รับจ้างอิสระ (ซึ่งไม่ใช่ในฐานะลูกจ้าง คนงาน ผู้ร่วมทุน หุ้นส่วน หรือผู้ได้รับสิทธิพิเศษในการให้บริการจากบีนีทอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้น บีนีทไม่ได้เป็นผู้ให้บริการและจ้างผู้ใดให้บริการเช่นว่านั้น…”

การที่แรงงานผู้ให้บริการกับแพลตฟอร์มไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานหมายถึงการขาด การประกันสังคมตามมาตรา 33 (ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายหรือ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตรและชราภาพ การว่างงาน) ขาดการดูแลจากกองทุนทดแทน (ความเจ็บป่วยและอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงาน) สิทธิประโยชน์วันลา วันหยุดโดยได้รับค่าจ้าง การชดเชยการเลิกจ้าง การดูแลสภาพการทำงาน เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองร่วม

ในประการหลังนี้ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม คนขับ GrabBike และกลุ่มสมาชิก Grab สันทนาการ (บนแพลตฟอร์ม Facebook) จำนวนกว่า 500 คน ได้ออกมารวมตัวกันบริเวณหน้าอาคารธนภูมิ ทาวเวอร์ สำนักงานใหญ่ของ Grab ประเทศไทย ชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องแพลตฟอร์มซูเปอร์แอพพ์ กรณีดูแลพาร์ตเนอร์ไม่เป็นธรรม รวมถึงข้อกล่าวหาการถูกเอารัดเอาเปรียบ ตั้งแต่กรณีการบังคับให้ซื้อเสื้อแจ๊กเก็ต กระเป๋าจัดเก็บพัสดุ ไม่สามารถเลือกรับงานหรือยกเลิกงานได้ ไม่มีประกันอุบัติเหตุหรือประกันชีวิตคุ้มครองให้ในกรณีที่พาร์ตเนอร์คนขับประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต ไปจนถึงการไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากบริษัท Grab ประเทศไทยในกรณีที่ถูกวินมอเตอร์ไซค์ทำร้ายร่างกาย เหตุการนี้ส่อให้เห็นว่าแรงงานเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเริ่มตื่นตัวในปัญหาด้านมาตรฐานแรงงานและการคุ้มครองแรงงานแล้วและเริ่มมีการเคลื่อนไหวให้เห็น

เรื่องมาตรฐานแรงงานและการคุ้มครองแรงงานเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นเรื่องไม่เล็กที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงแรงงานที่ไม่ควรแค่วิ่งตามปัญหาให้ทัน แต่ต้องมีการป้องกันปัญหาล่วงหน้าด้วย กล่าวคือ กันไว้ดีกว่าแก้ครับ

บทความนี้เป็นอานิสงส์จากการที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมเวทีระดมสมองชุมชนนโยบายเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ครั้งที่ 4 เรื่อง เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับอนาคตของสภาพการทำงานและสวัสดิการ ที่จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท
ประจำประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม2563 ณ โรงแรม Westin Grande สุขุมวิท ท่านที่มีความประสงค์อยากได้เอกสารประกอบการประชุม (ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมมากกว่าที่ผู้เขียนได้นำเสนอ) น่าจะขอจากหน่วยงานดังกล่าวได้

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image