19-20 กันยายน วันฟังเสียงเยาวชน

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศจัดชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 19 กันยายน 2563 และอาจเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันที่ 20 กันยายน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยเป็นที่ชุมนุมใหญ่ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 และมีการเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนินในวันที่ 14 ตุลา แต่ขณะที่กำลังจะสลายการชุมนุม ก็เกิดการปะทะกับฝ่ายตำรวจและทหาร ทำให้มีผู้ชุมนุมสูญเสียชีวิตและในที่สุดรัฐบาลทหารได้ลาออกไป ในปี 2516 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อยากให้ใช้สถานที่สักเท่าไร แต่นักศึกษาได้ “ล่ามโซ่” ห้องสอบและเชิญชวนนักศึกษาให้ออกมาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในปี 2519 นักศึกษาที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์ถูกล้อม ถูกทำร้าย ถูกจับกุม จนเป็นบาดแผลทางใจมาถึงทุกวันนี้ ด้วยเหตุที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่สามารถช่วยปกป้องนักศึกษาไว้ได้ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีจึงลาออกด้วยความรับผิดชอบ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองมากมาย ทั้งนี้ เพราะธรรมศาสาตร์มีปณิธานคือเสรีภาพทางวิชาการ และมีคำขวัญคือ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”

ความขัดแย้งที่น่าจะคลี่คลายก่อนวันชุมนุม คือความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์กับนักศึกษาผู้จัดชุมนุม ผู้บริหารอาจผ่อนปรนโดยดูที่เจตนารมณ์มากกว่าตัวอักษรของกฎระเบียบ และนักศึกษาก็อาจตระหนักว่า การดื้อบางอย่างอาจพอรับได้ แต่ไม่ควรถึงกับหักดิบข้อตกลง

ดูเหมือนว่า การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนมีจุดมุ่งหมายดังนี้คือ มี “ข้อเรียกร้อง 3 ข้อได้แก่ (1) หยุดคุกคามประชาชน (2) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (3) ยุบสภา โดยมีจุดยืน 2 ข้อได้แก่ (1) ไม่เอารัฐประหาร (2) ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และมี 1 ความฝันได้แก่ ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง” ในเรื่องนี้ คุณอานันท์ ปันยารชุนได้ให้สัมภาษณ์ ซึ่งผมขออนุญาตสรุปความตามเข้าใจของผมว่า อดีตผ่านไปแล้ว อนาคตจะต้องสร้าง ปัจจุบันคือความจริงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงควรพิจารณาว่าข้อเรียกร้องข้อใดทำไปแล้วบ้าง ข้อใดทำได้ก่อน ข้อใดต้องใช้เวลา ส่วนความฝันเป็นเรื่องอุดมคติซึ่งข้อปฏิบัติเป็นอนาคตที่สังคมต้องตกลงกัน

ผมเข้าใจว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พึงพิจารณาว่าจะรักษาปณิธานของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งบริหารความเสี่ยงโดยทำความเข้าใจกับนักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมที่ปฏิบัติได้ด้วยดีเพียงใด

Advertisement

ผมได้ฟังบทสัมภาษณ์ของนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่ง ผมทึ่งในความมุ่งมั่นและวุฒิภาวะของเธอ ฟังแล้วไม่เชื่อว่า จะมีผู้ที่คอยชี้นำนักเรียนและนักศึกษาให้ “หลงผิด” หากเชื่อว่าพวกเธอต้องการ “เลือกอนาคตของตนเอง” มากกว่า เธอชื่อ เมนู สุพิชฌาย์ เป็นนักเรียนมัธยมปลายที่เชียงใหม่ จึงขออนุญาตนำบางส่วนของการให้สัมภาษณ์ของเธอมาเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้

ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนไป หนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงคือสื่อสังคมออนไลน์ นักเรียนจึงควรปรับตัวให้มีความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) มากขึ้น หากขาดทักษะการวิพากษ์ ก็จะเกิดอคติ (bias) และความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ผู้อื่นก็จะเสียไป เธอเองก็มองระบบการศึกษาในเชิงวิพากษ์ และได้ถือโอกาสเกริ่นนำความคิดเชิงปฏิรูปการศึกษาของตนในเวทีการชุมนุมไปบ้างแล้ว ต่อไปจะขอโอกาสขึ้นเวทีเพื่อพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาให้มากขึ้น

เธอเชื่อว่าการปฏิรูปเริ่มต้นจากตัวเราเองได้ เราต้องเปล่งเสียงออกมา ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ออกมาเปล่งเสียงของตัวเอง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการร่วมมือของทุกคน ที่ผ่านมาทุกคนอยากมีเสียง แต่เสียงนั้นถูกกดไว้ให้ไร้ค่า เช่น ผู้บริหารการศึกษาจะตอบกลับมาแบบรวบยอดว่า “เด็กไทยไม่เหมาะกับการศึกษาแบบฟินแลนด์” แสดงว่าสิ่งที่ขาดอยู่คือผู้มีอำนาจยังไม่ค่อยฟังเสียงของประชาชน

Advertisement

การปฏิรูปการศึกษานั้นเชื่อมโยงกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมือง รัฐบาลควรให้ความสำคัญแก่ประชาธิปไตยให้มากกว่านี้ ต้องรับผิดชอบต่อโครงสร้างทางสังคมที่เหลื่อมล้ำให้มากกว่านี้ รัฐบาลต้องช่วยเหลือคนชั้นล่างให้มากกว่านี้ จริงอยู่ ความเหลื่อมล้ำมีมาก่อนรัฐบาลนี้ แต่ก็ต้องรีบแก้ไข ตัวอย่างความเชื่อมโยงดังกล่าวคือ ถ้ามีนโยบายให้นักเรียนเรียนออนไลน์มากขึ้น แต่สำหรับคนที่ไม่มีกล้องที่ติดอยู่กับคอมพิวเตอร์ สำหรับคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ยาก นักเรียนเหล่านี้ก็ลำบากที่จะเรียนออนไลน์

การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รัฐบาลอาจประกาศนโยบายในเรื่องให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ไม่ค่อยมีการปลี่ยนแปลงตราบเท่าที่การเมืองยังเหมือนเดิม ดังนั้น นักเรียนนักศึกษาจึงออกมาเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา เพราะเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา และออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย เพราะถ้าไม่มีประชาธิปไตยก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการปฏิรูปการศึกษา

ทัศนคติที่น่าสนใจของคุณเมนูข้อหนึ่งคือ อยากให้นักเรียนสายวิทย์ได้เรียนด้านศิลปะด้วย ส่วนสายศิลป์ก็ควรมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์พอสมควร โดยไม่แยกขาดจากกัน โดยส่วนตัวเลือกสายศิลป์เพื่อจะได้มีเวลาไปหาความรู้และทักษะที่ต้องการนอกห้องเรียน เช่น การเขียนโปรแกรม การร้องเพลงแร็พ ฯลฯ เยาวชนต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ที่มาขึ้นเวทีพ่อแม่ย่อมเป็นห่วง แต่รู้ว่าลูกมีความเห็นของตัวเอง แม้ความเห็นนั้นจะต่างจากของพ่อแม่ แต่พ่อแม่คอยสั่งสอนมาว่าให้อดทน “ถ้าล้มแล้วให้ลูกลุกขึ้น” ที่ผ่านมามิได้ถูกคุกคามอะไรมาก ดีเสียอีกที่ถูกตั้งคำถาม เพราะเป็นโอกาสที่จะอธิบายหากมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน โชคดีที่มีเพื่อนคอยทำคิวซีข้อความที่จะโพสต์ออกไป และมีอาจารย์คอยช่วยเป็นโคช

สังเกตว่าผู้นำนักเรียนและนักศึกษาเพิ่งพ้นจากวัยเด็ก เด็กมีเสรีภาพโดยไม่ต้องรับผิดชอบ พวกเขาคงคิดว่าโลกนี้เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมประกอบสร้างโลกนี้ จึงไม่ต้องรับผิดชอบ จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ไม่ได้ เพราะเป็นโลกของผู้ใหญ่ อยู่ต่อมาพวกเขาเข้าสู่วัยรุ่น และเริ่มตระหนักว่า พวกเขามีเสรีภาพแต่ต้องรับผิดชอบด้วย พวกเขาจะต้องประกอบสร้างโลกนี้ร่วมกับผู้ใหญ่ พวกเขาต้องรับผิดชอบที่จะต้องเลือกชอบสิ่งนี้ ไม่ใช่สิ่งนั้น พวกเขาจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะรู้จักตนเอง รู้จักผู้อื่น รู้รักสังคม รู้รักวิถีชีวิตและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรียนรู้ที่จะเลือกชอบระบบการเรียนรู้ ซึ่งรวมถึงระบบการศึกษาและโอกาสการมีประสบการณ์ตรงในชีวิต วัยรุ่นกำลังก้าวพ้นวัยเด็กสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ทุกคนเคยรู้สึกถึงการตื่นขึ้นเช่นนี้มาแล้ว เคยเลือกชอบที่จะดื้อดึง ไม่ใช่ดื้อตามภาษาเด็ก แต่ดื้อดึงเพราะต้องการการเปลี่ยนแปลงในระบบที่กักขังพวกเขาให้อยู่ในจารีตที่พวกผู้ใหญ่เคยชิน มาวันนี้ ผู้ใหญ่ที่เคยคิดเปลี่ยนแปลงสังคม กำลังหาเหตุผลต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นใหม่เรียกร้อง การมีแนวโน้มในเชิงอนุรักษ์นี้มีความจำเป็น แต่ต้องระวังมิให้แข็งตัวเกินไป จนจะเป็นการปิดกั้นการประนอมได้ของความขัดแย้งระหว่างวัย

ช่วยกันรับฟังเยาวชน ที่ขอเปล่งเสียงความต้องการในการชุมนุมวันที่ 19 และ 20 กันยายน แล้วผู้ใหญ่บางคนอาจระลึกได้ถึงวัยขบถของตน อาจเปิดใจกว้างและโอบรับความเปลี่ยนแปลงที่พอยอมรับได้ ในโอกาสนี้ ผู้ใหญ่ควรแสดงออกถึงประสบการณ์และความรู้สึกของตน เพื่อเตือนสติเยาวชนถึงอันตรายของการเปลี่ยนแปลงที่สุดโต่งและอาจถูกตีกลับ ถูกตีกลับโดยผู้มีอำนาจและมีอาวุธ ที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยวนเวียนอยู่ในวงจรมิรู้จบ

มีผู้ใหญ่คนหนึ่งขอให้ผมสื่อสารกับเยาวชนด้วย เพื่อขอให้เยาวชนพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรงโดยใช้ความรอบคอบและการครุ่นคิดอย่างแยบคาย เยาวชนต้องเตือนสติกันเอง และต้องระวังมิให้ใช้คำพูดก้าวร้าวที่เปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ หลายคนคงอยากเห็นเยาวชนและผู้ใหญ่ก้าวไปด้วยกันให้มากกว่านี้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมมีความเห็นอกเห็นใจกันเป็นที่ตั้ง

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image