ทวงอำนาจตัวเอง–ยากแท้

เขียนเรื่องนี้ขณะการชุมนุม 19 กันยายน ทวงอำนาจคืนราษฎร เพิ่งเริ่มขึ้น

จึงไม่ทราบจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ดี หรือ ร้าย

กระนั้น คาดหมายล่วงหน้าได้ คือ เรื่องคงไม่จบง่ายๆ

Advertisement

ทวงอำนาจคืนราษฎรนั้น ยากเย็น แสนเข็ญจริงๆ

กลไก ขัดขวางเดิมๆ ถูกงัดมาใช้ทุกรูปแบบ

ตั้งแต่ ท่าทีผู้นำ โดยเฉพาะแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์เฉพาะกิจ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชัดเจน

Advertisement

และ ตีความเป็นอื่นใดไม่ได้

นอกจากสกัดม็อบเต็มที่

ที่บอกว่า

“ผมได้ยินสิ่งที่ท่านพูด ผมรับทราบความคับข้องใจของพวกท่านในเรื่องการเมือง และความไม่พอใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ”

ฟังดูดี

แต่เป็นไปแบบ ฟังแต่ไม่ได้ยิน มากกว่า

เพราะ ในคำแถลง ไม่ได้บอกแม้แต่นิดเดียวว่าจะทำอะไรเพื่อสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวเลย

แถมยังขอให้รอไปก่อน

รอให้การแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 เรียบร้อยค่อยมาพูดกัน

ซึ่งไม่รู้จะนานเท่าใด เพราะแค่วัคซีนป้องกันโรค ป่านนี้ก็ยังไม่สำเร็จ

และยิ่ง เมื่อไปดูท่าทีของ พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคแกนนำอย่างพลังประชารัฐ และ วุฒิสมาชิก

ก็เป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้ ผู้มีอำนาจเต็มที่ มิได้มีท่าทีโอนอ่อน ผ่อนปรนใดๆ

ตั้งแต่ท่าทีคัดค้านกันแบบหัวชนฝา ไปจนถึงเนียนๆ แบบ เล่นเกมซื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป นานเป็นปีๆ หรือหลายปี

ถึงได้บอกว่าคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า “ผมได้ยินสิ่งที่ท่านพูด”

มันกลวงโบ๋ และพร้อมจะพลิกแพลงไปเรื่อยๆ

ยังจำวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ โน้มน้าว ให้สังคม คำนึงถึงความจำเป็นของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แอบแฝงความพยายามรักษาอำนาจเบ็ดเสร็จเอาไว้

ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธคอเป็นเอ็นว่า

“ผมไม่ได้เอากฎหมายไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมอะไรทั้งสิ้นเลย ไม่เกี่ยวเลย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะก็มีอยู่แล้ว ผมไม่ต้องไปสั่งการอะไรเพิ่มเติม”

ขณะที่ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ขยายความ โดยย้ำว่า

“เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสบายใจยิ่งขึ้น เราพยายามใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างค่อนข้างเบาที่สุดแล้ว ไม่ได้มีการห้ามการออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว วันนี้สิ่งที่เราจะไม่ห้ามต่อไป คือเราจะไม่ใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาห้ามการชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต่อในเดือนสิงหาคมนี้ มีเจตนาเพื่อใช้ในการควบคุมโรคโดยบริสุทธิ์ใจเพียงอย่างเดียว การห้ามการชุมนุมจะไม่ปรากฏใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ต่ออายุ”

อ่านคำอธิบาย ไม่รู้กี่รอบ

แต่ ตีความได้เรื่องเดียว

นั่นคือรัฐบาลพยายามบอกว่าจะแยกแยะเรื่องโรคระบาดออกจากเรื่องการเมือง

แต่แพล็บเดียว พล.อ.ประยุทธ์ ก็รวบเอาเรื่องโรคระบาดกับเรื่องการชุมนุมการเมืองมาเป็นเรื่องเดียวกัน

โดยพยายามโน้มน้าวว่าการชุมนุมการเมืองนี่แหละจะทำให้เรื่องโควิด-19 เลวร้ายลงที่สุด

“อยากขอให้เราเอาชนะโควิดและผ่านวิกฤตโลกครั้งนี้ไปด้วยกันให้ได้ก่อน จากนั้นเราค่อยกลับมาที่เรื่องการเมือง”

แถไปกันมึนๆ แบบนี้แหละ

ถึงได้บอก การ ทวงอำนาจ คืนราษฎร มันยากเย็นจริงๆ

นี่ยังไม่รวม “ทีเด็ดเก่า”

กรณีมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อ 10 สิงหาคม เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่

และศาลรัฐธรรมนูญก็รับวินิจฉัยแล้ว

ผลออกมา อาจจะตอกย้ำ สิ่งที่คาดหมาย “ชัดเจน” ขึ้นไปอีก

นั่นคือ การทวงคืนอำนาจราษฎร ยากเย็นแสนเข็ญจริงๆ

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image