จากม็อบสู่สภา

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าวาระการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 23-24 ก.ย. ทำให้ในวันดังกล่าวมีวาระการพิจารณา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ ประกอบด้วย 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย 2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เสนอโดย พรรคร่วมรัฐบาล 3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และมาตรา 271 เรื่องการปฏิรูปประเทศ 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 และยกเลิก มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี 5.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิก มาตรา 279 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 6.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิก มาตรา 93 และมาตรา 101 (4) เรื่องให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. 2 ใบตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย เป็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้ทุกกลุ่ม รวมถึงการชุมนุมครั้งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา แม้กระทั่งรัฐบาลเอง ก็ระบุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายเร่งด่วน และต่อมาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ และได้เสนอผลการศึกษาต่อสภาแล้ว ระบุว่า ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเอง ได้เสนอญัตติแก้ไข ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาวันที่ 23-24 ก.ย.นี้

ปมสำคัญในการแก้ไข มี 2 จุดใหญ่ๆ ได้แก่ การแก้มาตรา 256 เพื่อปลดล็อกให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างใหม่ และที่หลายพรรคยกเว้นพรรครัฐบาล ให้ความสำคัญได้แก่ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ที่เรียกว่าปิดสวิตช์ ส.ว. เพื่อป้องกัน ส.ว.ใช้อำนาจนี้ซ้ำอีก หากเกิดเหตุการณ์ที่จะต้องมีการสรรหาตัวนายกรัฐมนตรีใหม่ กรณีดังกล่าว ได้มีการตั้งเวทีอธิบายต่อสังคมและทำโพลสำรวจความเห็นหลายรอบ พบว่า ประชาชนเห็นด้วยและสนับสนุน อย่างไรก็ตาม วุฒิสภาซึ่งมาจาก คสช.เอง มีท่าทีไม่ยอมรับ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า หากการประชุมรัฐสภาวันที่ 23-24 ก.ย. วุฒิสภายืนยันท่าทีเดิม จะกลายเป็นชนวนวิกฤตการเมืองที่กระทบต่อรัฐบาลและผู้นำรัฐบาลหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image