สังคมคาร์บอนต่ำ

มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าไวรัสโควิด-19 โรคอุบัติใหม่ที่ก่อวิกฤตครั้งใหญ่ทั่วโลกขณะนี้ อาจมาจากสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไป

หากเป็นเช่นนั้นจริงก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้มนุษย์ต้องเผชิญวิกฤตที่เลวร้ายใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ร่วมมือกันลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กันอย่างจริงจัง

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยร่วมลงนามความตกลงปารีส ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ขณะที่ภาคเอกชนก็ตระหนักเช่นกัน หลายองค์กรปรับเปลี่ยนการผลิตและการทำงานต่างๆ เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

Advertisement

อย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี” ที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดคว้ารางวัลโครงการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (LCSi) ในระดับยอดเยี่ยม จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ “ทีจีโอ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และในปีนี้ได้คะแนนเป็นอันดับ 1

โครงการเด่นๆ ที่ “จีซี” ดำเนินการ อาทิ โครงการ Heat Integrate Deheptanizer Overhead with Benzene Column Reboiler เป็นการลดการใช้พลังงานไอน้ำ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 19,910 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

โครงการปรับปรุงโรงกลั่นนํ้ามันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนพลังงานในกระบวนการผลิต โดยนำพลังงานความร้อนที่สูญเสียไปในบรรยากาศกลับมาใช้ในกระบวนการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 18,913 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ “จีซี” ยังได้รับการรับรองเครื่องหมายคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ ครบทั้ง 100% และฉลากลดโลกร้อน (CFR) จาก “ทีจีโอ” อย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี

รวมถึงรางวัลอื่นๆ ด้วย อาทิ รางวัลฉลากลดโลกร้อน 91 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกความหนาแน่นสูง จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 2% เมื่อเทียบกับปีฐาน และรางวัลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ 125 ผลิตภัณฑ์ 100% ครบทุกผลิตภัณฑ์

“จีซี” ยังวางเป้าหมายจะมีผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มเป็น 25% ภายในปี 2573 และยกเลิกการผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2565

ก่อนหน้านี้ “จีซี” นับเป็นบริษัทแรกๆ ที่นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ และประสบความสำเร็จ อาทิ โครงการ Upcycling The Oceans, Thailand (UTO) ที่นำขยะจากทะเลมาแปรรูปผ่านกระบวนการอัพไซคลิง เป็นสินค้าแฟชั่น ได้แก่ เสื้อผ้า และกระเป๋าเป้ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน เก็บขยะพลาสติก PET ได้ 40 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 115.27 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

ถือเป็นโครงการแรกของไทยที่ดำเนินการสอดคล้องมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (BS8001/2017) ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับแรกของโลก

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “จีซี” ยืนยันว่า หนึ่งในกลยุทธ์หลักขององค์กรคือกำหนดเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2573 เช่นเดียวกับเป้าหมายของประเทศไทย

อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตลง 52% ภายในปี 2593 ซึ่งเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก (SDG 13 – Climate Action)

การที่ “จีซี” ได้รับการยอมรับจากองค์กรสากลด้านบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Carbon Disclosure Project หรือ CDP) ว่ามีการดูแลสิ่งแวดล้อมระดับ A นี้ ทำให้ “จีซี” มีความพร้อมจะขยายผลเรื่องนี้ให้กับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ถือเป็นแบบอย่างที่บริษัทและองค์กรอื่นๆ จะนำไปต่อยอดพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ อย่างยั่งยืนต่อไป

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image