การเมืองในความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองในทุกวันนี้

และหนึ่งในวิธีมองที่เป็นที่นิยมก็คือการมองว่าโลกนี้หรือบ้านเมืองนี้แบ่งเป้นสองฝักฝ่ายคือ ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง กับผู้ที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ถ้าพยายามมองลึกลงไปอีกนิดหนึ่ง กลุ่มคนที่ถูกพิจารณาว่าไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงนั้น เขาก็อาจจะต้องการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพียงแต่ว่าความเร็วในการเปลี่ยนแปลง และขอบเขตของความเปลี่ยนแปลงนั้นอาจไม่ได้กว้างขวางครอบคลุมในทุกๆ เรื่อง (หรือผมมองโลกสวยเกินไป?)

อย่างไรก็ตาม ในหมู่คนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่กว้างขวางลึกซึ้งนั้นก็มักจะเชื่อว่ารูปแบบการปกครองบางอย่าง อาทิ ประชาธิปไตยนั้นจะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกและในสังคมของเราได้ดีกว่า ขณะที่ข้อถกเถียงในวงวิชาการเองกลับตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยที่เป็นอยู่นั้นจะสามารถรับมือกับความต้องการที่หลากหลายและรวดเร็วในโลกนี้ได้แค่ไหน อย่างไร และตัวแบบหรือการพัฒนาประชาธิปไตยแบบไหนที่จะรองรับความสามารถของสังคมนั้นๆ ในการปรับตัวกับความรวดเร็วในทุกๆ อย่างในโลกและในประเทศได้แค่ไหนอย่างไร (ดูตัวอย่างที่ David Mclvor. “The Politics of Speed: Connolly, Wolin, and the Prospects for Democratic Citizenship in an Accelerated Polity”. Polity. 43(1), 2011)

Advertisement

ผมคิดว่าอย่างน้อยมีเรื่องสักสามเรื่องที่เป็นแกนกลาง หรืออยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองในวันนี้ เรื่องแรกคือการพยายามจำกัดอำนาจ/ตรวจสอบอำนาจรัฐในทุกระดับ เรื่องที่สองคือเรื่องของการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของระบอบรัฐประหาร และเรื่องที่สามคือการพูดถึงความหลากหลายในสังคมที่ระบบปัจจุบัน โดยเฉพาะรัฐและระบบการเมืองนั้นรองรับไม่ได้ (แน่นอนว่ามีเรื่องมากมายกว่านี้ เช่นความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ฯลฯ แต่ผมของยกเรื่องสามประเด็นนี้มาเป็นหลักในทางการเมืองไว้ก่อน)

การพยายามผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะทุกหัวข้อหรือบางหัวข้อนั้น ก็เพื่อที่จะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญใหม่นั้นสามารถรองรับลักษณะของการตรวจสอบอำนาจ การสกัดกั้นการครอบงำจากระบอบรัฐประหารและการสร้างความเป็นพหุนิยมทางวัฒนธรรมเอาไว้ให้ได้

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจนั้นยังไม่เข้าใจ (ผมเชื่อว่าไม่เข้าใจมากกว่าแกล้งไม่เข้าใจ) เรื่องราวดังกล่าวนี้เอาเสียเลย

Advertisement

ตัวอย่างก็คือในคำสัมภาษณ์และแถลงการณ์ของคุณประยุทธ์นั้นบ่อยครั้งที่อ้างเรื่องความสามัคคี และความเป็นคนไทย ซึ่งในทุกวันนี้เนื้อหาสาระของความเป็นคนไทยและสามัคคีในแบบที่คุณประยุทธ์เชื่อมั่นว่าจะเป็นมนตราสะกดความหลากหลายและความไม่พออกพอใจกับระบบนั้นดูจะไม่สำเร็จกับคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่า

“กูไม่ได้ชังชาติ แต่กูชัง …ึง”

หรือแม้กระทั่งเรื่องของการชูสามนิ้วเมื่อมีการร้องเพลงชาติในโรงเรียนหรือในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ กลับพบถึงความกระอักกระอ่วนใจของของผู้รับผิดชอบในการเปิดเพลงว่า เด็กๆ และคนอีกหลายช่วงวัยมีความกระตือรือร้นและพร้อมเพรียงมากในการรอให้มีเพลงชาติขึ้น พวกเขาจะได้แสดงสัญลักษณ์การชูสามนิ้วในเพลงนั้นๆ

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าพวกเขามีความเชื่อว่าชาติเป็นของพวกเขาด้วยเช่นกัน และเขาสามารถเรียกร้องหาความหมายและเป้าหมายใหม่ๆ ในการอยู่ร่วมกันในชาติได้เช่นกัน ไม่ใช่ต้องทำตามกลุ่มคนที่มีอำนาจแต่ไม่ชอบธรรมในสายตาของพวกเขามากำหนดนิยามความเป็นชาติแต่ฝ่ายเดียว

ในอีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะมาพิจารณาก็คือเรื่องของความเป็นไปได้ที่ประชาธิปไตย โดยเฉพาะความเชื่อในประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่จะสามารถโอบล้อมเอาความหลากหลายทุกอย่างที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ เพราะในประชาธิปไตยเสรีนิยมนั้น ส่วนหนึ่งย่อมจะต้องรองรับความหลากหลายและการใช้เสรีภาพ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะต้องพูดถึงประชาธิปไตย ทั้งในระดับการตัดสินใจ และรูปแบบการมีส่วนร่วมของการปรึกษาหารือ

ในแง่นี้ ในการวางเงื่อนไขใหม่ในรัฐธรรมนญนั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ หรือการต่อต้านหลักการบางอย่างในรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นอยู่

แต่ต้องหมายถึงการพูดถึงความเป็นตัวแทนและการทำงานร่วมกันได้ของตัวผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ร่าง หรือ ส.ส.ร.นี้เอง ซึ่งไม่ใช่แค่พูดว่าพวกเขาจะต้องเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง แต่ต้องหมายถึงความสามารถในการทำงานร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายของความเห็น อุดมการณ์และผลประโยชน์จากหลายฝักฝ่ายให้ได้

เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเสียงข้างมาก แต่เป็นประเด็นท้าทายว่าความหลากหลายของหลายฝ่ายนั้นจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร

และถ้าซ้อนทับในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเข้าไปด้วยแล้ว ความหลากหลายก็ว่ายากแล้ว ยังมีเรื่องความเปลี่ยนแปลง และความรวดเร็วในความเปลี่ยนแปลงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เรื่องนี้ก็จะยิ่งยุ่งยากเข้าไปด้วย

เรื่องของความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะแปะป้ายง่ายๆ ว่าคนรุ่นเก่านั้นมีความเชื่องช้า และคนรุ่นใหม่มีความรวดเร็ว บางครั้งความรวดเร็วก็อาจไม่ใช่เรื่องที่คนรุ่นใหม่ที่มักผูกขาดความรวดเร็วนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้อย่างเป็นระบบเสมอไป เพราะว่าความรวดเร็วนั้นไม่ได้ถูกผูกขาดไว้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เทคโนโลยีบางอย่างก็อาจจะเชื่อว่าทำได้ แต่ก็มีข้อจำกัด เช่น ช่องความเห็นในการถ่ายทอดสด บางครั้งคนแสดงความคิดเห็นอย่างรวดเร็วมากๆ ก็อาจอ่านไม่ทัน หรือระบบกวาดคำมาวิเคราะห์ในฐานข้อมูล ก็อาจไม่เห็นเนื้อหาหรือบริบทอันเป็นที่มาของคำเหล่านั้น

ความรวดเร็วและความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นนี้ทำให้เราต้องมาคิดกันว่าไอ้การเรียกร้องแค่การกระจายอำนาจออกมา และปฏิรูปโครงสร้างที่เป็นอยู่ รวมกระทั่งความเชื่อว่าประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินนั้นมันจะสามารถโอบรับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้แค่นั้น ถ้าเรายังมีฐานความเชื่อในแบบรัฐชาติ ระบบราชการรวมศูนย์ และระบบรัฐสภาที่เป็นอยู่

ลองยกตัวอย่างรัฐสภา เอาแค่ในส่วนสภาผู้แทนราษฎรเอง ในการประชุมที่มีการถ่ายทอดนั้น เราพบกับความเชื่องช้าของระบบในการจัดการปัญหามากมายที่เกิดขึ้น และปัญหาบางอย่างในสังคมกลับยังไม่ได้รับการบรรจุไว้ในรัฐสภาหรือ หากมีการระบุเอาไว้การพิจารณาก็มีความล่าช้าเป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนของระบบราชการซึ่งยิ่งขยายตัวขึ้น เราพบว่าความเชื่องช้าของระบบราชการในการจัดการปัญหาที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนั้นกลับทำได้ยาก

ในด้านกลับกัน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็วก็ไม่ได้สร้างหลักประกันว่าประชาธิปไตยแบบที่เข้าใจกันว่าจะต้องมีการถกเถียง หารือ คำนึงถึงทุกฝักฝ่าย จะสามารถจัดการกับความรวดเร็วที่เกิดขึ้นในโลกนี้ได้

ในทางหนึ่งเราอาจเชื่อมั่นว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นจะต้องเกิดขึ้นในระดับการปฏิรูปโครงสร้างและสถาบันต่างๆ

แต่ในอีกทางหนึ่งหนึ่งเราอาจจะรู้สึกว่าไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เพราะเรื่องการเปลี่ยนแปลงและความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงนั้นมันเป็นเรื่องราวอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราควรจะทำใจให้สบาย และดูความไม่ลงรอยและความรวดเร็วจากความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นตัวทดสอบระบอบประชาธิปไตยว่าจะปรับตัวได้อย่างไร โดยไม่ต้องไปทำอะไรกับมันมากนัก

ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งก็ยังคงเชื่อว่าถึงที่สุดแล้ว การเปิดให้มีความหลากหลายแบบไม่ต้องไปยุ่งอะไรมาก คือเปิดกว้างรับสิ่งที่มันจะเกิดไปเรื่อยๆ ก็อาจกระทบกับเงื่อนไขการเกิดประชาธิปไตยที่อย่างน้อยต้องใช้เวลาในการปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆ เป็นเวลายาวนาน และที่ผ่านมาก็มักจะเป็นจุดเปราะบางที่ทำให้ฝ่ายเชื่อในเผด็จการเสนอว่าประชาธิปไตยนั้นรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วไม่ได้หรอก

กล่าวโดยสรุปแล้วการทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วน่าจะต้องทำให้เราหันมาทบทวนถึงตัวตนและประเด็นความเป็นส่วนรวมของสังคมการเมืองที่เรากำลังต่อสู้เรียกร้องและต่อรองในวันนี้ นอกเนือไปจากความเชื่อในชัยชนะของผู้ถูกกดทับและกดขี่ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนคุ้นชินในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งในเรื่องของเสรีภาพ ความรับผิดชอบ และความสัมพันธ์ที่มีกับคนอื่นๆ อย่างน้อยการคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่มีความสัมพันธ์กับประชาธิปไตย และการย้อนกลับไปดูบทบาทของระบบราชการ พรรคการเมือง ระบบธุรกิจใหญ่ที่อาจจะตอบอะไรกับเรื่องนี้ไม่ได้มากนัก

หรือแม้กระทั่งการพูดถึง “เครือข่าย” องค์การร่วมจัดและร่วมเปลี่ยนแปลงที่กำลังมีบทบาทอยู่ (ไม่รวมคำที่แทบจะหมดอายุไปแล้วเช่นประชาสังคม) คำถามสำคัญก็คือจะสามารถสร้างสังคมการเมืองและรูปแบบการบริหารจัดการในระยะยาวเมื่อได้ชัยชนะหรือมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงใหม่ได้อย่างไร

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image