วัฒนธรรมอ่อนละมุน โดย วีรพงษ์ รามางกูร

วัฒนธรรมอ่อนละมุนเป็นคำที่แปลเอง มาจากคำภาษาฝรั่งว่า “soft culture” เป็นคำที่นักสังคมวิทยา หรือ Sociologist ใช้แบ่งสังคมในประเทศต่างๆ ออกเป็น 2 พวก คือสังคมที่มีวัฒนธรรมอ่อนละมุนหรือ “soft culture societies” กับสังคมที่มีวัฒนธรรมแข็งหรือ “hard culture societies”

สังคมวัฒนธรรมอ่อนละมุนคือสังคมที่มีวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่น ไม่ยึดมั่นในหลักการ ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ ยืดหยุ่นไปตามกระแส ไม่ว่าจะเป็นกระแสของโลกหรือกระแสที่เกิดขึ้นภายในประเทศ บางทีก็ไม่ยึดมั่นในตรรกะและเหตุผล แต่เป็นไปตามอารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อกระแสเช่นว่านั้นยุติลง ความคิดความอ่านก็สิ้นสุดลงด้วย เป็นสังคมที่ไม่ยึดมั่นในคุณค่าสังคม “social value” อันใดอันหนึ่งอย่างมั่นคงแข็งแรง แต่จะอ่อนไหวไปตามสถานการณ์

ต่างกับประเทศที่นักสังคมวิทยาจำแนกไว้ในประเทศที่เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมแข็ง สังคมที่มีวัฒนธรรมแข็งเป็นสังคมที่มีประชาชนยึดมั่นในหลักการและเหตุผล เรียนรู้ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ยึดมั่นในคุณค่าสังคม social value อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างอย่างมั่นคง ยากที่จะเปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต้องใช้เวลานาน หรือมีเหตุการณ์ที่มาบีบบังคับอย่างรุนแรง เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน ยุโรปตะวันตก อิสราเอล รวมทั้งชาติอาหรับ เป็นต้น

สังคมไทยถูกจัดเข้าไว้ในจำพวกสังคมที่มีวัฒนธรรมอ่อนละมุน คนไทยไม่ยึดมั่นกับหลักการ หรือคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแข็งแรง ไม่ยึดมั่นกับเหตุผลมากนัก พุทธศาสนาที่คนไทยนับถือก็มี 2 ระดับ คือระดับโลกุตรธรรมกับโลกธรรม แล้วแต่จะเลือกนับถือ กล่าวคือจะเชื่อเรื่องชาตินี้ชาติหน้า นรกสวรรค์ ปุพเพกตปุญญตาก็ได้ หรือจะเชื่อแบบสำนักสวนโมกข์ ของท่านพุทธทาสและท่านปัญญานันทะก็ได้

Advertisement

สังคมไทยในแง่การเมืองการปกครองพิธีกรรมก็มี 2 ระดับ กล่าวคือ ระดับโครงสร้างส่วนบน หรือ “super structure” ตามความหมายของคาร์ล มากซ์ ก็เป็นฮินดูหรือพราหมณ์ที่มีชั้นวรรณะ มีความเชื่อเรื่องกรรมเก่าหรือปุพเพกตปุญญตา ชาตินี้เกิดมาร่ำรวย ยากจน มีฐานะตำแหน่ง ฉลาดหรือโง่เขลาเบาปัญญา ก็เพราะกรรมแต่ชาติปางก่อน

ในขณะเดียวกันโครงสร้างชั้นล่างหรือ “under structure” เป็นวัฒนธรรมแบบจีน กล่าวคือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลระดับเดียวกัน หรือความสัมพันธ์ระหว่างขุนนางกับราษฎร ความสัมพันธ์แบบจีนที่มีลักษณะอุปถัมภ์ค้ำจุนกัน มีการตอบแทนกันด้วยสิ่งของและเครื่องกำนัล มีการเก็บเกี่ยวส่งส่วยให้กัน ในพิธี “กงเต็ก” บุตรชายผู้นำดวงวิญญาณของบิดาไปส่งยังสรวงสวรรค์ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางเมื่อจะข้ามแม่น้ำหรือประตูสวรรค์ก็ต้องจ่าย “เง็กเซียนฮ่องเต้” การบนบานศาลกล่าวก็มีในสังคมตะวันออกเช่นว่านี้

สังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมอ่อนละมุน ที่สามารถรับเอาวัฒนธรรมจากสังคมที่แข็งจากอินเดียและจีนมาใช้สำหรับโครงสร้างส่วนบนและโครงสร้างส่วนล่างได้อย่างลงตัว ไม่ขัดแย้งกัน ทั้งๆ ที่วัฒนธรรมของอินเดียนั้นมีความแตกต่างกันคนละขั้ว

วัฒนธรรมของอินเดียผ่านมาทางศาสนาพราหมณ์และพุทธ เน้นในเรื่องจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเรื่อง “นามธรรม” เรื่องความสุขทางจิตหรือความสุขภายใน เน้นในเรื่องอริยทรัพย์หรือทรัพย์อันประเสริฐภายในจิตใจ ศาสนาที่เกิดขึ้นในอินเดียจึงเน้นการสละความสุขภายนอก เพื่อแสวงหาความสุขภายใน

แต่วัฒนธรรมของจีนนั้น เป็นวัฒนธรรมที่เน้นในเรื่องการปฏิบัติ “pragmatic” หรือ “วัตถุนิยม” หรือ “materialism” ความร่ำรวยมั่งคั่งด้วยทรัพย์ศฤงคารที่จับต้องได้ ยศ ศักดิ์ศรีและสติปัญญา ซื้อได้ด้วยเงินทอง อภิสิทธิ์ ระบบเครือญาติ พรรคพวก พี่น้อง เป็นสังคมที่มีระดับชั้นที่แน่นอน คนในอุดมคติคือ ฮก ลก ซิ่ว เน้นในชีวิตปัจจุบัน โลกนี้ไม่ใช่โลกหน้า

สังคมไทยรับเอาวัฒนธรรมแข็งจากทั้งอินเดียและจีนมาผสมกลมกลืนกันอย่างแนบสนิท เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมอ่อนละมุน ลู่ไปตามลม แล้วแต่ลมหรือพายุจะพัดไปทางไหน เป็น “สังคมที่รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” เป็นสังคมแบบ “ศรีธนญชัย” เป็นสังคมเล่นลิ้น retheric ความเก่งของคนไม่ได้อยู่ที่ผลงาน แต่อยู่ที่การพูดประจบประแจงและถูกใจผู้มีอำนาจ “ความถูกใจ” สำคัญกว่า “ความถูกต้อง”

สังคมดังกล่าวของโครงสร้างส่วนบน เป็นพื้นฐานที่ประเทศไทยถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายต่างประเทศแบบ “ลู่ตามลม” หรือ “bamboo diplomacy” ต่อต้านขัดขืนมหาอำนาจ สมัยโบราณจีนเป็นใหญ่เราก็อ่อนน้อมกับจีน เมื่อจีนอ่อนแอลงเราก็เอาใจอังกฤษ ฝรั่งเศส เมื่ออเมริกาเป็นมหาอำนาจเราก็เอาใจอเมริกา ส่วนสหภาพโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์ ผู้มีอำนาจเป็นรัฐบาลไม่อาจจะเห็นด้วยได้ เพราะลัทธิคอมมิวนิสต์ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทย

อุดมการณ์สังคมนิยมนั้นไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมอ่อนละมุนของไทย แต่อุดมการณ์แบบเสรีตัวใครตัวมันหรือ Laissez faire น่าจะเป็นอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมอ่อนละมุนของไทยมากกว่า

มีบางคนเชื่อว่าการที่เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมอ่อนละมุน ทำให้คนไทยไม่เครียด คำว่า “ไม่เป็นไร” ไม่มีคำแปลในภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศส แต่ตรงกับคำในภาษาจีน “บ่อเซียงกัง” คำอังกฤษ “never mind” ก็ไม่ตรงเสียทีเดียว

ขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมไทยไม่มีระเบียบวินัย คนไทยไม่กลัวกฎหมายแต่กลัวตำรวจ กฎหมายก็ยืดหยุ่นได้ แล้วแต่ดุลพินิจของผู้บังคับใช้ การบังคับใช้แบบ “สองมาตรฐาน” มีให้เห็นให้ได้ยินจนเป็นของธรรมดา การเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง แม้ว่าจะเป็นสิทธิของตนอยู่แล้วก็ยังอด “วิ่งเต้น” ไม่ได้ เมื่อสมปรารถนาแล้วก็อดหาของไปกำนัล “ผู้ใหญ่” ไม่ได้ และเสียใจถ้า “ผู้ใหญ่” ไม่รับของกำนัล ไม่ชอบ “ผู้ใหญ่” ที่ตนวิ่งไม่ได้ แต่เคารพนับถือ “ผู้ใหญ่” ที่ตนวิ่งได้

นักวิชาการฝรั่งบางคนเห็นว่าประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก นอกจากที่ตั้งของประเทศที่อยู่ตรงกลางระหว่าง 2 มหาอำนาจ อังกฤษและฝรั่งเศสแล้ว ความที่ไทยมีนโยบายลู่ตามลม มีวัฒนธรรมอ่อนละมุน ไม่แข็งกร้าว เช่น พม่า เวียดนาม หรือแม้แต่จีน หรือรัฐอิสลาม เช่น มลายูและอินโดนีเซีย จึงทำให้ไทยรอดพ้นการเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกมาได้

การจะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอาจจะต้องเป็นสังคมที่มีระเบียบวินัย เคารพตัวเอง มีศักดิ์ศรี ไม่ประจบผู้ใหญ่จนเกินไป มีอุดมการณ์ที่ค่อนข้างถาวรไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของสังคมไทย บางทีคนไทยก็เอาจริงเอาจังกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย บางทีก็ไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของตน บางทีก็ต่อต้านระบอบเผด็จการ บางทีก็เรียกร้องเผด็จการ บางทีก็เป็นคนชอบเสรีภาพ ความเป็นไทยบางทีก็ต่อต้าน เอาแน่ไม่ได้

คนไทยคนหนึ่งนับถือทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ พราหมณ์ คริสต์ อิสลาม รวมทั้งผีบ้าน ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ ต้นไม้ใหญ่ เสาตกน้ำมัน ขอหวยเบอร์โชคลาภได้ทั้งนั้น

ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่เคยมีระบอบเผด็จการทหาร เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ บัดนี้ก็สามารถพัฒนาการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่งที่มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร เป็นรัฐบาลพลเรือน ไม่เป็นรัฐทหาร มีระบอบการปกครองที่มีเสถียรภาพ ไม่กลับไปกลับมาอย่างประเทศไทย อาจจะเป็นไปได้ว่าประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมแข็ง ไม่ใช่วัฒนธรรมอ่อนละมุนอย่างของเรา

การที่วัฒนธรรมเราเป็นวัฒนธรรมอ่อนละมุน เราจึงไม่ชอบความรุนแรง ไม่มีสงครามฆ่าล้างกันเพราะเชื้อชาติและศาสนา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือการปฏิวัติรัฐประหาร ฝ่ายชนะก็ไม่ได้ฆ่าฟันทำลายล้างฝ่ายที่แพ้อย่างรุนแรงเหมือนกับประเทศอื่นๆ อย่างที่เป็นข่าวในหลายภูมิภาค

แพ้ก็ไปบวชเป็นพระ ชนะก็เป็นรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image