บูมเมอร์พม่ากับรัฐแบบผู้ใหญ่สอนเด็ก

ในระยะหลังมานี้ ผู้เขียนได้ติดตามข่าวการชุมนุมประท้วงของนักเรียน นิสิต-นักศึกษา และประชาชนในประเทศไทยแบบใกล้ชิดขึ้น และก็มักได้ยินคำอธิบายว่าด้วยการปะทะกันทางความคิดระหว่าง “ผู้ใหญ่” และ “เด็ก” อยู่บ่อยครั้ง ปรากฏการณ์นี้ก่อตัวขึ้นเมื่อมีเด็กๆ และเยาวชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ตั้งแต่การเรียกร้องให้เปลี่ยนกฎเกี่ยวกับทรงผม เครื่องแบบ การเรียนการสอนในโรงเรียนที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ไปจนถึงการเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เยาวชนและคนทุกเพศทุกวัย ก็มีส่วนร่วมกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้เหมือนๆ กัน

ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก บ่อยครั้งที่เราเห็นความอาวุโสอยู่เหนือเหตุผลและความสามารถ วัฒนธรรมพม่าแทบไม่ต่างจากวัฒนธรรมไทย ฝ่ายรัฐบาลพม่าก็มี “ครูใหญ่” ควบคุมดูแลความเรียบร้อย และคอยบอกไม่ให้ครูชั้นผู้น้อยและนักเรียนแตกแถว สังคมที่เชิดชูผู้อาวุโส (ลูจี) เหนือสิ่งอื่นใดอย่างพม่า จึงไม่ค่อยมีผู้กล้าที่กล้าติเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาว่าที่ผ่านมามีความล้มเหลวใดบ้าง

คนที่ตั้งตนเป็นผู้ใหญ่คือคนที่ส่วนมากเป็นคนรุ่น “เบบี้ บูมเมอร์” หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1946-1964 คนในรัฐบาลพม่าทุกคน รวมทั้งผู้ใหญ่ในระบบข้าราชการทั้งหมดของพม่าก็เป็นคนในวัยนี้ทั้งสิ้น ทำให้รัฐบาลและฝ่ายบริหารทั้งหมดขาดความหลากหลาย การตัดสินใจทั้งหมดมาจากคนรุ่นบูมเมอร์ จริงอยู่ว่าคนพม่ากลุ่มนี้เติบโตมาในยุคเผด็จการทหาร มีความทรงจำที่เกี่ยวกับรัฐบาลประชาธิปไตยแบบเลือนราง และต่อสู้เพื่อให้พม่าเป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด แต่นับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของพรรคเอ็นแอลดี และออง ซาน ซู จีเข้ามาเป็นรัฐบาล พม่าก็ไม่ได้มีการพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงแต่อย่างใด
เพราะปรากฏว่ารัฐบาลยังนำกฎหมายมาใช้ปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล หรือผู้ที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของทั้งรัฐบาลและกองทัพ

หากจำกันได้ ในปลายปี 2017 วา โลน (Wa Lone) และ จ่อ โซ อู (Kyaw Soe Oo) นักข่าวรอยเตอร์ส ที่เคยเข้าไปทำข่าวในรัฐยะไข่เหนือ และรายงานข่าวเรื่องการสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮีนจา 10 คนที่หมู่บ้านอิน ดิน (Inn Din) ถูกตัดสินให้จำคุก 7 ปี ในมุมมองของ “รัฐ” พม่า ที่หมายรวมถึงทั้งกองทัพและรัฐบาลพม่า การรายงานข่าวของวา โลน และจ่อ โซ อูเป็นเหมือนการนำเรื่องในครอบครัวไปโพนทะนาให้คนอื่นฟัง ผู้ใหญ่ในรัฐบาลและกองทัพจึงต้องหาทางสั่งสอน แต่นักข่าวทั้ง 2 คนเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้ปีเศษก็ถูกปล่อยตัวออกมาด้วยการกดดันจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาคมโลก นักการทูตคนหนึ่งเคยให้ข้อมูลสำนักข่าว Frontier ว่าออง ซาน ซูจีกล่าวกับคณะทูตจากทั่วโลกว่าเธอไม่ต้องการเข้าไปก้าวล่วงในการพิจารณาคดีของวา โลน และจอ โซ อู เพราะรู้ดีว่ากองทัพเข้าไปแทรกแซงให้ศาลพิพากษาให้นักข่าวทั้ง 2 คนมีความผิด เหมือนผู้ใหญ่ที่ชอบสอนว่า “จงอย่าไปยุ่งเรื่องของคนอื่น” แม้ว่าเรื่องคนอื่นจะผิดศีลธรรมแค่ใดก็ตาม

Advertisement
อ่อง โม ซอ หัวหน้าพรรค DPNS (ภาพจาก The Irrawaddy)

ในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกานี้ เรายังเห็นสภาพเดิมๆ ของผู้ใหญ่ที่ต้องการสั่งสอนเด็ก ซึ่งทำให้พม่าไม่สามารถพัฒนาไปไกลกว่านี้ได้ และกฎหมายหรือกฎหมู่ที่ออกมาก็จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่สยบยอมต่ออำนาจรัฐเท่านั้น ไม่เอื้อให้ผู้ที่คิดต่างหรือผู้ที่ตั้งคำถาม ตราบใดก็ตามที่บรรดาบูมเมอร์ หรือ “ผู้ใหญ่” ในรัฐบาลยังยืนกรานว่าไอ้นี่ก็ทำไม่ได้ ไอ้โน่นก็ไม่ดี ในกรณีล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้งพม่าเป็นกฎว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองเมืองทุกพรรค พรรคการเมืองได้รับอนุญาตให้ประกาศนโยบายของพรรคตนได้ 15 นาทีในรายการเฉพาะกิจบนช่อง MRTV ซึ่งเป็นโทรทัศน์ของรัฐบาล มีพรรคการเมืองที่อ่านนโยบายออกอากาศไปแล้ว 28 พรรค

ตามกฎของคณะกรรมการการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องส่งบท (script) ที่จะอ่านออกอากาศให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน เมื่อหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (DPNS หรือ Democratic Party for a New Society) ส่งบทไปให้คณะกรรมการพิจารณา ก็ได้รับแจ้งมาว่าพรรคต้องเซ็นเซอร์ข้อความบางส่วนออก อ่อง โม ซอ (Aung Moe Zaw) หัวหน้าพรรค DPNS เคยเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาเมื่อมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในปี 1988 พรรค DPNS ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่นั้น และช่วยพรรคเอ็นแอลดีหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปปี 1990 แต่หลังจากนั้นพรรคก็ถูกยุบ แกนนำหลายคนถูกจับกุม ส่วนอ่อง โม ซอหลบหนีออกมาทางชายแดนไทย-พม่า และลี้ภัยต่อมาอีกหลายปี

ในปัจจุบันพรรค DPNS เป็นพรรคที่วิพากษ์การทำงานของรัฐบาลอย่างเปิดเผย บทที่อ่อง โม ซอจะอ่านออกอากาศมีเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาลในเรื่องสิทธิของเด็กและเยาวชน และกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาล เช่น เหมืองทองแดงที่เลตปะด่อง (Letpadaung) นอกจากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งยังสั่งให้พรรค DPNS นำคำว่า “ที่ถูกกดขี่” ออกไปด้วย เมื่อบทของพรรค DPNS ถูกเซ็นเซอร์ อ่อง โม ซอจึงตัดสินใจไม่ไปปรากฏตัวที่ช่อง MRTV เพราะถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ความน่าสนใจของประเด็นนี้อยู่ที่ว่าการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทุกพรรคอ่านนโยบายออกอากาศบน MRTV ได้นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2015 รัฐบาลที่ในเวลานั้นนำโดยพรรค USDP ของนายกรัฐมนตรีเตง เส่งก็เคยให้พรรคการเมืองแถลงนโยบายออกสื่อมาแล้ว แต่ไม่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาใดๆ

Advertisement

มติของคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ตอกย้ำว่าแม้อำนาจจะเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารมาสู่รัฐบาลพลเรือน และฝ่ายหลังอ้างว่าตนมุ่งมั่นสร้างประชาธิปไตยและพัฒนาเศรษฐกิจพม่าให้รุดหน้า แต่ในความเป็นจริง ประชาธิปไตยพม่ากลับถดถอย ด้วยข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้น และการคาดโทษผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดผ่านการใช้กลไกศาลและองค์กรอิสระ นอกจากนี้ ยังมีมวลชนพม่าอีกจำนวนมากที่ยังซื่อสัตย์ต่อรัฐบาลและตัวออง ซาน ซูจีเป็นพิเศษ ที่พร้อมจะโต้ตอบผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ผู้เขียนอดคิดไม่ได้จริงๆ ว่าการพัฒนาทางการเมืองในพม่าจะดำเนินต่อไป

อย่างไร ในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ พรรคเอ็นแอลดีก็คงกำชัยและได้เสียงส่วนใหญ่เข้าไปในรัฐสภาอีก เป้าหมายของพรรคคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้ออง ซาน ซูจีได้เป็นประธานาธิบดีแบบถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ว่าประธานาธิบดีพม่าคนต่อไปจะเป็นใคร หากอำนาจยังอยู่ในมือ “บูมเมอร์” ที่ขาดขันติธรรมและความสามารถด้านการบริหารเช่นนี้ รวมทั้งยังบริหารประเทศแบบผู้ใหญ่สอนเด็กแบบนี้อยู่ โอกาสที่เราจะเห็นพม่าเติบโตคงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image