อนาคต‘ถุงมือยางไทย’สู่‘ตลาดโลก’

สืบเนื่องจากคราวประชุมคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 31 เมื่อวันพุธที่ 2 กันยายน 2563 ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นว่า ควรศึกษาแนวทางส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง ตรวจสอบสภาพปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อจัดทำแนวทางและข้อเสนอเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรม “การผลิตถุงมือยาง” จึงอาศัยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 96 มีมติตั้ง “อนุกรรมาธิการแนวทางส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรม และการผลิตถุงมือยางแห่งประเทศไทย” ในคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย 1.นายโกศล ปัทมะ 2.นายธนพล บุญมาลี 3.นายธนภัทร นวลมณี 4.พลตรี ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ 5.นายนิติกร แสงอำไพ 6.นาย
พิเชษฐ สถิรชวาล 7.นายพีระเพชร ศิริกุล 8.นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร 9.นายสมัคร ป้อมเพชร 10.นายสุรพล ชามาตย์ โดยมี นายพิเชษฐ สถิรชวาล เป็นประธานอนุกรรมาธิการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่เพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมแก้ปัญหาอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง ตลอดจนสภาพปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลข้อเท็จจริงจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางส่งเสริมและแก้ปัญหาอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางของประเทศไทย ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางไทยสู่ตลาดโลกให้ได้อย่างไร?
ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาและอ่านรายงานการศึกษาของ “สถาบันพลาสติก” เรื่อง “อนาคตถุงมือยางในตลาดโลก” มีข้อมูลที่ดีควรแก่การเผยแพร่ เชื่อว่ามีประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศไทย ความว่า…
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ใช้ในทางการแพทย์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ทำให้อัตราการใช้ถุงมือยางในวงการแพทย์มีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากถุงมือทางการแพทย์แล้ว ถุงมือที่ใช้ในอุตสาหกรรมและถุงมือที่ใช้ในครัวเรือนก็มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากการคำนึงถึงสุขภาพอนามัยที่ดี เช่น การใช้ถุงมือในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารแปรรูป การใช้ภายในครัวเรือน เป็นต้น ปัจจุบันถึงแม้ไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีข้อได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบ แต่อย่างไรก็ตาม กระแสความต้องการถุงมือยางสังเคราะห์มีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากประเด็นการแพ้โปรตีนในยางธรรมชาติ ฉะนั้น ในอนาคตสัดส่วนการใช้ถุงมือยางสังเคราะห์อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีการใช้น้ำยางธรรมชาติที่ลดลง
ดังนั้น ในรายงานฉบับนี้จึงทำการศึกษาการแข่งขันระหว่างยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมถุงมือยาง รวมถึงการเปรียบเทียบอุตสาหกรรมถุงมือยางกับประเทศคู่แข่งของไทย เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มรวมถึงข้อเสนอแนะในการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยในอนาคต

1.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับถุงมือยาง
1.1 ประเภทของถุงมือยาง ถุงมือยางแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ถุงมือยางที่ใช้ในการแพทย์ ถุงมือยางตรวจโรค ถุงมือนี้จะมีชนิดแบบที่มีแป้ง (Powdered) และไม่มีแป้ง (Non-Powdered) ถุงมือชนิดนี้มีความบาง กระชับมือ ความยาวอยู่แค่ข้อมือ การผลิตต้องออกแบบให้เหมาะกับการใช้งาน คือสวมใส่ง่ายและเป็นถุงมือที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อโรค ราคาจะถูกกว่าถุงมือที่ใช้ในงานศัลยกรรม ถุงมือยางศัลยกรรม ถุงมือชนิดนี้จะมีเนื้อบาง แข็งแรง ยาวถึงข้อศอก ขั้นตอนการผลิตที่สำคัญคือกระบวนการฆ่าเชื้อ ซึ่งต้องใช้รังสีแกมมา ทำให้มีราคาค่อนข้างแพง การบรรจุหีบห่อจะมีความประณีตกว่าถุงมือแบบอื่น เนื่องจากต้องปลอดเชื้อ 100% ต้องสะดวกเวลาแกะใช้และปกติจะไม่มีการนำกลับมาใช้ใหม่ 2) ถุงมือยางที่ใช้ในงานบ้าน ถุงมือชนิดนี้จะมีขนาดใหญ่ แข็งแรงทนทาน เนื้อหนากว่าถุงมือยางที่ใช้ในการแพทย์เนื่องจากต้องสัมผัสกับน้ำผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ จะออกแบบให้มีอายุใช้งานได้นาน และมักมีการออกแบบให้มีสีสันสวยงาม สวมใส่สบาย นุ่มมือ บรรจุหีบห่ออย่างประณีตสวยงามเพื่อดึงดูดแม่บ้าน เพราะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ต่างจากถุงมือที่ใช้ในการแพทย์ 3) ถุงมือยางที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ถุงมือประเภทนี้จะมีขนาดใหญ่ แข็งแรง ดูเทอะทะ ไม่สวยงาม แต่ต้องมีความทนทานต่อการใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม การบรรจุหีบห่อไม่จำเป็นต้องสวยงาม เนื่องจากไม่ใช่สินค้าสำหรับผู้บริโภค
1.2 กระบวนการผลิต กระบวนการผลิตถุงมือยางใช้เทคนิคการจุ่มโดยใช้สารช่วยน้ำยางจับตัว (coagulant dipping) ซึ่งมีหลักการทั่วไปคือ จุ่มแบบหรือแม่พิมพ์ (former) ลงในสารช่วยจับตัวก่อนแล้วจึงจุ่มแบบที่มีสารดังกล่าว เคลือบผิวแล้วลงในน้ำยางคอมพาวด์จนเกิดการฟอร์มเจลยางแบบบางๆ บนผิวแบบ แล้วจึงยกแบบขึ้นจากน้ำยางคอมพาวด์เพื่อผ่านไปที่กระบวนการขั้นต่อไป
โดยทั่วไปถุงมือมี 2 ชนิดคือ ชนิดที่มีแป้ง (powdered gloves) และชนิดไม่มีแป้ง (powder-free gloves) โดยถุงมือชนิดที่มีแป้งจะสวมใส่ได้ง่ายเพราะแป้งในถุงมือนอกจากจะทำหน้าที่หล่อลื่นแล้ว ยังดูดซับความชื้นขณะที่เราสวมใส่ถุงมือด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่แพ้แป้งก็สามารถเลือกใช้ถุงมือชนิดที่ไม่มีแป้งได้

2.ภาพรวมอุตสาหกรรมถุงมือยางไทย
2.1 ผู้ประกอบการ จากการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการถุงมือยาง ปี 2557 ภายใต้โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา โดยเริ่มจากการรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทย มีผู้ประกอบการถุงมือยางที่สำรวจได้ทั้งสิ้น 65 ราย เมื่อแบ่งขนาดของผู้ประกอบการตามทุนจดทะเบียน พบว่ากว่าร้อยละ 58 ของผู้ประกอบการถุงมือยางเป็น SME โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในภาคกลางและภาคใต้เป็นหลักที่ร้อยละ 40 และ 36 ตามลำดับ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกที่ร้อยละ 20 ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนที่เท่ากันคือ ร้อยละ 2 ขณะที่จำนวนแรงงานส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 และ 32 ตามลำดับ รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ที่ร้อยละ 24, 2 และ 0.4 ตามลำดับ สาเหตุที่ทำให้มีจำนวนแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออกเป็นหลักเนื่องจากใกล้แหล่งวัตถุดิบ คือยางธรรมชาติ อีกทั้งภาคใต้และภาคตะวันออกมีสัดส่วนจำนวนผู้ประกอบการขนาดใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 46 และ 38 ตามลำดับ ขณะที่ภาคกลางมีจำนวนผู้ประกอบการที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่เพียงร้อยละ 23
2.2 สภาวะการผลิตและการค้า ประเทศไทยมีการผลิตถุงมือยางทั้ง 3 ประเภทคือ ที่ใช้ในทางการแพทย์ ถุงมือยางที่ใช้ในงานบ้าน และถุงมือยางที่ใช้ในอุตสาหกรรม โดยในปี 2014 ไทยมีการผลิตถุงมือยางดังกล่าวทั้งหมดประมาณ 15,110 ล้านคู่ โดยผลผลิตถุงมือยางของไทยประมาณร้อยละ 98 ผลิตเพื่อการส่งออก (ประมาณ 14,810 ล้านคู่) และใช้ในประเทศเพียงร้อยละ 2 (ประมาณ 300 ล้านคู่) โดยประเภทถุงมือยางที่ไทยมีการผลิตและส่งออกส่วนใหญ่เป็นถุงมือที่ใช้ในการแพทย์ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 90 ของถุงมือยางทั้งหมด การส่งออกและตลาดส่งออก ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกถุงมือยางเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย การส่งออกถุงมือยางของประเทศไทย โดยในปี 2014 พบว่ามีการส่งออกสูงถึง 1,105 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อพิจารณาในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่าการส่งออกถุงมือยางของไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมประมาณร้อยละ 11 ถุงมือยางส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังประเทศสหรัฐ เนื่องจากการตื่นตัวของการป้องกันโรคระบาด รักษาสุขอนามัย และการขยายตัวของสาธารณสุข โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 547 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของการส่งออกถุงมือยางทั้งหมดของไทย รองลงมาคือ เยอรมนีและญี่ปุ่น ที่ร้อยละ 8 และ 6 ตามลำดับ การนำเข้าและแหล่งนำเข้า สำหรับการนำเข้าถุงมือยางของไทยในปี 2014 มีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 38 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเมื่อสังเกตภาพรวมในช่วงปี 2009-2014 พบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มการนำเข้าถุงมือยางที่สูงขึ้นประมาณ 21% โดยมีการนำเข้าถุงมือยางจากประเทศมาเลเซียมากสุด ทั้งถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางสังเคราะห์ ส่วนใหญ่นำเข้ามาเพื่อส่งออก เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าและผลิตไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า
โดยไทยสามารถนำเข้าถุงมือยางจากประเทศมาเลเซียคู่ละประมาณ 0.07 เหรียญสหรัฐ และส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา หรือเยอรมนี คู่ละประมาณ 0.08 เหรียญสหรัฐ ซึ่งได้กำไรส่วนต่างคู่ละ 0.01 เหรียญสหรัฐโดยประมาณ ในปี 2014 มีการนำเข้าถุงมือยางจากมาเลเซียทั้งสิ้น 31 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของการนำเข้าถุงมือยางทั้งหมดของไทย

3.การแข่งขันระหว่างยางธรรมชาติ และยางสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมถุงมือยาง
3.1 คุณภาพ วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตถุงมือยางแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ จากยางธรรมชาติ (NR) ซึ่งก็คือน้ำยางข้น และจากยางสังเคราะห์ โดยยางสังเคราะห์ที่ใช้ในการผลิตถุงมือยางคือ ยางอะครีโลไนไทรล์บิว ทาไดอีน (NBR) หรือที่เรียกกันว่าถุงมือยางไนไตร ดังนั้น ในหัวข้อนี้จะทำการเปรียบเทียบคุณสมบัติของถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรในด้านต่างๆ ดังนี้
– ความทนทานต่อการฉีกขาด เนื่องจากยางธรรมชาติสามารถตกผลึกได้เมื่อถูกดึงยืด ดังนั้น ยางธรรมชาติจึงมีความทนทานต่อการฉีกขาดสูงทั้งที่อุณหภูมิห้องและที่อุณหภูมิสูง การเติมสารตัวเติมเสริมแรงทำให้ค่าความทนทานต่อการฉีกขาดของยางเพิ่มขึ้น ขณะที่ยางไนไตร บิวทาไดอีนมี Carboxylic acid ผสมอยู่จึงทำให้ถุงมือไนไตรมีคุณสมบัติทนทาน แข็งแรง จึงทนต่อการฉีกขาดได้ดีเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรจึงมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันในด้านความทนทานต่อการฉีกขาด
– ความทนทานต่อแรงดึงและความยืดหยุ่น เนื่องจากโมเลกุลของยางธรรมชาติมีความเป็นระเบียบสูงจึงทำให้ยางธรรมชาติสามารถตกผลึกได้ง่ายเมื่อถูกดึงยืด ซึ่งผลึกที่เกิดขึ้นช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับยาง ดังนั้น ยางธรรมชาติจึงมีความทนทานต่อแรงดึงสูงมากโดยที่ไม่ต้องใช้สารตัวเติมเสริมแรงเข้าช่วย หากมีการเติมสารตัวเติมเสริมแรงลงไป ส่งผลให้ความทนทานต่อแรงดึงมีค่าเพิ่มขึ้น และสมบัติความยืดหยุ่นเป็นลักษณะเด่นของยางธรรมชาติที่คงรูปแล้วซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง เมื่อแรงภายนอกที่มากระทำกับยางหมดไปทำให้ยางกลับคืนสู่รูปร่างและขนาดเดิมได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลดังกล่าวถุงมือยางธรรมชาติจึงมีคุณสมบัติที่ดีกว่าถุงมือยาง
ไนไตรในด้านความทนทานต่อแรงดึงและความยืดหยุ่น
– การแพ้โปรตีน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติสามารถทำให้เกิดการแพ้ต่อผู้ใช้ เช่น การแพ้สารเคมีหรือโปรตีนที่ตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์ การแพ้ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคือ การแพ้โปรตีนที่มีอยู่ในน้ำยางธรรมชาติ แต่ถุงมือไนไตรไม่มีโปรตีนผสม ผู้ที่มีอาการแพ้โปรตีนจากยางธรรมชาติจึงสามารถใส่ทำงานได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวถุงมือยางไนไตรจึงมีคุณสมบัติที่ดีกว่าถุงมือยางธรรมชาติในด้านการแพ้โปรตีน
– ความสะดวกสบายในการสวมใส่ เนื่องจากถุงมือไนไตรมีความแข็งมากกว่า เวลาใส่ทำงานจะรู้สึกเมื่อยมือเมื่อยนิ้วมากกว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวถุงมือยางธรรมชาติจึงมีคุณสมบัติที่ดีกว่าถุงมือยางไนไตรในด้านความสะดวกสบายในการสวมใส่
– การสัมผัส เนื่องจากถุงมือไนไตรจะยืดหยุ่นน้อยกว่า เวลาสวมใส่จะไม่ค่อยกระชับมือเท่ากับถุงยางธรรมชาติ มักจะหลุดมือบ่อย ขณะที่ถุงมือยางธรรมชาติสวมใส่สบายพอดีและมีความสามารถในการจับฉวยสิ่งต่างๆ ได้ดี ไวต่อการสัมผัส ด้วยเหตุผลดังกล่าวถุงมือยางธรรมชาติจึงมีคุณสมบัติที่ดีกว่าถุงมือยางไนไตรในด้านการสัมผัส
– ความทนน้ำมันและสารเคมี เนื่องจากยางไนไตรเป็นโคพอลิเมอร์ของอะไครโลไนไตร์ล และบิวทาไดอีน ยางชนิดนี้มีความเป็นขั้วสูง ยางชนิดนี้จึงมีคุณสมบัติเด่นคือ ทนต่อน้ำมันปิโตรเลียมและตัวทำละลายที่ไม่มีขั้วต่างๆ ได้ดี เนื่องจากยางชนิดนี้ประกอบด้วยสองส่วนคือ บิวทาไดอีน ซึ่งให้ความยืดหยุ่นและอะไครโลไนไตร์ล ช่วยเพิ่มความทนต่อน้ำมันและตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอน ความทนทานต่อความร้อนและโอโซน ความต้านทานการขัดถู ความแข็งและความทนทานต่อแรงดึง และความหนาแน่น แต่ลดการกระเด้งกระดอน Compression Set อัตราการซึมผ่านก๊าซและสมบัติการหักงอที่อุณหภูมิต่ำลง ด้วยเหตุผลดังกล่าวถุงมือยาง
ไนไตรจึงมีคุณสมบัติที่ดีกว่าถุงมือยางธรรมชาติในด้านความทนน้ำมันและสารเคมี
– การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากถุงมือยางธรรมชาติผลิตจากน้ำยางข้นหรือยางธรรมชาติ จึงมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่ายางสังเคราะห์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวถุงมือยางธรรมชาติจึงมีคุณสมบัติที่ดีกว่าถุงมือยางไนไตรในด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรมีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกันในแต่ละคุณสมบัติ แต่โดยภาพรวมแล้วนอกจากประเด็นหลักคือ การแพ้โปรตีนในยางธรรมชาติในผู้ใช้บางรายแล้ว ถุงมือยางธรรมชาติมีความยืดหยุ่น สวมใส่สะดวกสบายกว่าถุงมือยางไนไตร รวมถึงมีความทนทานต่อแรงดึงมากกว่า อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความต้องการและการใช้งานของผู้ใช้และตลาดเป็นหลักไงเล่าครับ (อ่านต่อฉบับหน้า เรื่อง เทคโนโลยีกระบวนการผลิตถุงมือยาง)

Advertisement

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image