เราต่างมีเสรีภาพที่จะเลือก แต่ระวัง อย่าเลือกแทนผู้อื่นเสียเลย

ผมขอนำประเด็นบางประเด็นจากหนังสือชื่อ “แด่จริยธรรมแห่งความคลุมเครือ” ของซีโมน เดอ โบวัวร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสมาเล่าสู่กันฟัง บางทีผู้อ่านอาจได้แง่คิดบางประการที่จะช่วยปลอบประโลมความกระวนกระวายใจ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในยามที่ต้องใช้เสรีภาพในการเลือก ในยามที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ข้อความที่ขอยกมาอ้างจะเข้าใจยากสักหน่อย เพราะเป็นเรื่องของปรัชญา และขอให้คำนึงว่าหนังสือเล่มนี้เขียนขี้นในบริบทของสงครามโลกครั้งที่สองที่เพิ่งสิ้นสุดลง

ประเด็นแรกเป็นเรื่องของเยาวชน ซีโมนกล่าวว่า “น้อยครั้งนักที่โลกของเด็กจะยังคงไว้เมื่อถึงวัยรุ่น รอยปริแยกเผยตัวออกมาตั้งแต่วัยเด็กแล้ว ทีละน้อย เด็กจะไถ่ถามตนเองด้วยความฉงน การขบถ และการไม่เคารพ ว่าทำไมถึงต้องทำเช่นนี้ จะเป็นประโยชน์อะไร แล้วถ้าฉันทำอีกอย่างหนึ่งละ จะเกิดอะไรขึ้น เขาค้นพบสภาพอัตวิสัยของตน เขาค้นพบความขัดกันที่ผู้ใหญ่นำมาแย้งซึ่งกันและกัน และยังเห็นความลังเลใจและความอ่อนแอของพวกผู้ใหญ่ด้วย ผู้ใหญ่ไม่ปรากฏตัวเหมือนเป็นพระเจ้าอีกต่อไป ขณะเดียวกัน วัยรุ่นก็ค้นพบลักษณะของมนุษย์ในความเป็นจริงที่ล้อมรอบอยู่ ภาษา ประเพณี จริยธรรม และคุณค่ามีที่มาจากผู้ที่ไม่แน่ไม่นอนเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่วัยรุ่นจะถูกเรียกให้มามีส่วนร่วมด้วยคนกับการดำเนินการของพวกผู้ใหญ่ การกระทำของเขามีน้ำหนักต่อโลกพอ ๆ กับของคนอื่น ๆ เขากำลังจะต้องเลือกและตัดสินใจ เราเข้าใจได้ว่าเขามีความยากลำบากที่จะผ่านชีวิตในช่วงเวลาเช่นนี้”

ผมพบว่าเยาวชนที่เป็นผู้นำการชุมนุมในขณะนี้ มีความฉลาดและเรียนรู้ไว แถมมีอารมณ์ขันและคึกคะนองอยู่ไม่น้อย แต่พวกเขามีความยากลำบาก เพราะนอกจากจะต้องเลือกและตัดสินใจด้วยความยากลำบากเหมือนเยาวชนคนอื่นที่กำลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว ในฐานะผู้นำการชุมนุม พวกเขาต้องเลือกว่าจะใช้วิธีการใดเพื่อที่จะไปสู่เป้าหมายของระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ พวกเขาจะต้องตระหนักว่ากำลังเผชิญกับผู้ใหญ่กลุ่มใดบ้างที่ขวางทางหรือเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายที่วางไว้

ซีโมนได้จำแนกบุคคลเป็นหลายกลุ่มอย่างน่าสนใจ เธอจัดให้ผู้ที่ปราศจากความอบอุ่น ปราศจากความมีชีวิตชีวาไว้ในชั้นที่ต่ำสุด โดยเรียกชื่อว่า “มนุษย์ผู้ตกต่ำ” เธอหมายถึงผู้ที่ “อยู่กับคุณค่าที่เสร็จสรรพแล้วของโลกที่เคร่งคุณค่า เขาจะอวดอ้างความคิดเห็นบางประการ เขาจะหลบอยู่เบื้องหลังป้ายชื่อ และเพื่อซ่อนความไม่แยแสของเขา เขาจะปล่อยตัวไปกับความรุนแรงทางวาจาได้โดยง่าย หรือถึงกับการแสดงความพลุ้งพล่านทางกาย เมื่อวานเขานิยมราชา วันนี้นิยมอนาธิปไตย เขาพร้อมอาสาเป็นผู้ต้านยิว ผู้ต้านสงฆ์ ผู้ต้านสาธารณรัฐ ดังนี้ แม้ว่าเราจะได้นิยามมนุษย์ผู้ตกต่ำว่าเหมือนการปฏิเสธและการหนี แต่เขาหาใช่คนไร้พิษสงไม่ เขาทำให้ตนมีตัวตนในโลกนี้ในฐานะพลังที่มืดบอด ไร้ควบคุม ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามอาจฉวยมาใช้ได้ เขาถูกใช้ในการลงประชาทัณฑ์ ในการรุมทำลายชุมชนยิว การเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ อันโชกเลือดแต่ไม่เสี่ยงทั้งหลายที่จัดขึ้นโดยคตินิยมคลั่งไคล้ของความเคร่งคุณค่าและอารมณ์แรง ก็จะจัดหาผู้ออกแรงจากบรรดามนุษย์ผู้ตกต่ำเหล่านี้ …

Advertisement

ในความเบื่อหน่ายนั่นเองที่มนุษย์ผู้ตกต่ำรู้สึกถึงความอ้างว้างของโลก … โลกก่อให้เกิดความกลัวในตัวเขา เขาถูกกดทับด้วยเหตุการณ์ปัจจุบัน และหลงทางอยู่ในความมืดมิดของอนาคต ซึ่งมีผีสางอันน่ากลัวสิงอยู่ ได้แก่สงคราม โรคภัย การปฏิวัติ ฟาสซิสม์ บอลเชวิสม์ เป็นต้น”

ซีโมนมองว่าเหนือชั้นขึ้นมาจากมนุษย์ผู้ตกต่ำ ได้แก่มนุษย์ผู้เคร่งคุณค่า (serious) “พวกเขาวางตนว่าไม่ใช่สารัตถสำคัญเมื่อเทียบกับกรรมวัตถุ (object) ที่เห็นว่าสำคัญ เขาล้มล้างตัวตนเพื่อประโยชน์ของสิ่งอัน (thing) ซึ่งเมื่อถูกอภิเษกขึ้นด้วยความเคารพก็จะปรากฏในนามของเหตุมุ่งหมาย (Cause) เช่น วิทยาศาสตร์ ปรัชญา การปฏิวัติ ฯลฯ … ความเคร่งคุณค่ามีขึ้นเมื่อเสรีภาพปฏิเสธตัวมันเองเพื่อประโยชน์ของจุดหมายที่แสร้งว่าสัมบูรณ์ … มนุษย์ผู้เคร่งคุณค่าจึงอันตราย เป็นธรรมดาที่เขาจะทำตัวเป็นทรราช ในขณะที่เขาสำคัญผิดอย่างจิตไม่ซื่อถึงสภาพอัตวิสัยของการเลือกของเขา เขาแสร้งทำเป็นว่า คุณค่าอันปราศจากเงื่อนไขของกรรมวัตถุนั้นได้รับการยืนยันผ่านตัวเขาเอง และในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ตระหนักถึงคุณค่าของอัตวิสัยและของเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์ … ถ้าตัวตน มี ก็แต่ในรูปของกรรมวัตถุ เช่น กองทัพ ทหารจะอยากได้สิ่งอื่นนอกจากการเพิ่มค่ายทหารและการซ้อมรบไปทำไม”

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เยาวชนที่เป็นผู้นำการชุมนุมจะต้องระวัง คือผู้ที่ซีโมนเรียกว่านักผจญภัย พวกนี้“โผเข้าหาการประกอบกิจต่าง ๆ อย่างอาจหาญ สู่การสำรวจ การพิชิต การสงคราม การเก็งกำไร ความรัก หรือการเมือง แต่เขาไม่ผูกพันกับจุดหมายที่เล็งไว้ หากผูกพันกับการเอาชนะจุดหมายเท่านั้น เขาชอบการกระทำเพื่อการกระทำ เขาผ่านโลกนี้ไปด้วยความปีติที่จะใช้เสรีภาพ แต่เขาคงเฉยเมยต่อเนื้อหาของเสรีภาพนั้น … แต่ท่าทีของนักผจญภัยไม่บริสุทธิ์เสมอไป โดยผ่านภาพปรากฏของการทำตามอำเภอใจนั้น คนหลายคนมีจุดหมายลับ ๆ ที่เขามุ่งหาอย่างเคร่งคุณค่าเต็มที่ เช่น ความมั่งคั่ง หรือความมีชื่อเสียง … เขาหัวเราะเยาะผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ แต่เขาผูกพันกับวิชาชีพและความสำเร็จของตน คตินิยมฉกฉวยประโยชน์อย่างไม่อายเช่นนี้อยู่คนละขั้วกับจิตวิญญาณผจญภัย … กอร์เตซ (Cortez) และผู้พิชิตชาวสเปนรับใช้พระเจ้าและองค์จักรพรรดิ์พร้อมกับรับใช้ความพึงพอใจของตน การผจญภัยยังอาจถูกแทรกด้วยอารมณ์แรง บ่อยครั้ง รสนิยมการพิชิตจะพัวพันอย่างละเอียดอ่อนกับรสนิยมการครอบครอง ดอน ฮวนชอบแต่การทำให้สาวลุ่มหลงใช่ไหม เขาชอบพวกผู้หญิงด้วยไม่ใช่หรือ แม้กระทั่ง เขากำลังหาผู้หญิงสักคนที่สามารถทำให้เขาสมปรารถนาไม่ใช่หรือ”

Advertisement

ดังนั้น เยาวชนที่เป็นผู้นำจะต้องหากัลยาณมิตรให้มากขึ้น ไม่ควรเชื่อ “ครู” ผู้ส่งสารอันน่าตื่นตาตื่นใจมาจากต่างประเทศมากเกินไป ควรระวังคนที่มาชื่นชมใน “ความกล้า” ไว้บ้าง อีกประการหนึ่ง ขอให้คำนึงถึงผู้ตามด้วย ขอยอมรับว่าผู้ตามอย่างผมมีความกลัวมากกว่าความกล้า

ผมจำบทสนทนาในภาพยนตร์เรื่อง Invictus ระหว่างเมนเดลากับเลขานุการของเขา ซึ่งโต้แย้งเขาว่า ไม่ควรเอาตัวไปเสี่ยงกับการสนับสนุนทีมรักบี้แห่งชาติสปริงบ็อกส์ ที่คนผิวขาวชื่นชอบแต่เป็นที่น่ารังเกียจของคนผิวดำ เมลเดลาตอบว่า 27 ปีที่อยู่ในคุก เขามีเวลาทำความรู้จักกับจิตวิญญาณของคนผิวขาว และรู้ว่ารักบี้คือหนึ่งในจิตวิญญาณนั้น ถ้าเอาสิ่งนี้ไปจากพวกเขา เราก็จะเป็นอย่างที่เขากลัวว่าเราจะเป็น เราจะสูญเสียพวกเขาไป ขณะนี้เราต้องการคนทุกคนเพื่อสร้างชาติ ต้องการอิฐทุกก้อน ไม่ว่าอิฐนั้นจะมีสีของทีมสปริงบ็อกส์ก็ตาม เมนเดลาบอกว่าเขาเป็นผู้นำ และในฐานะผู้นำ เขาตัดสินใจที่จะเลือกให้การสร้างชาติสีรุ้ง (rainbow nation) มาก่อนคะแนนนิยมหรืออนาคตทางการเมืองของตน

ผมเป็นผู้ที่อยากตามผู้นำการชุมนุม ที่เคารพการตัดสินใจของผู้นำที่ทำด้วยความรอบคอบ แต่ก็อยากให้ผู้นำจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า เราควรก้าวไปทีละก้าว และก้าวที่สำคัญในขณะนี้คือการแก้ไขและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่มิใช่หรือ โดยเฉพาะควรระวังการหมกเม็ดในการแก้ไขมาตรา 256 ที่อ้างว่าการแก้ไขมาตรานี้ก็เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตทำได้ง่ายขึ้น แต่ปัจจุบันการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องการเพียงเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง แล้วทำไมพรรครัฐบาลจึงขอแก้เป็นต้องการเสียงข้างมากเกินสามในห้า เช่นนี้เป็นการขอแก้เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยากขึ้นไม่ใช่หรือ

สรุปคร่าว ๆ ว่า มนุษย์ผู้ตกต่ำไม่ยึดคุณค่าและใช้เสรีภาพไปอย่างเปล่าประโยชน์ จึงอาจถูกผู้อื่นใช้เป็นเครื่องมือในการลุยหรือการป่วน ผู้เคร่งคุณค่ายกคุณค่าของตนเป็นเหมือนรูปเคารพ ยอมสละเสรีภาพเพื่อรูปเคารพและไม่อยากให้คนอื่นมีเสรีภาพที่จะไม่ยอมรับใช้รูปเคารพนั้น นักผจญภัยดูเหมือนว่าจะยึดคุณค่าแห่งเสรีภาพ แต่ไม่คำนึงถึงเสรีภาพของผู้อื่น และบางครั้งก็ซ่อนคุณค่าเพื่อประโยชน์ส่วนตนเอาไว้ แต่ก็มีมนุษย์ที่ยึดคุณค่าแห่งเสรีภาพ ซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบ มิใช่เสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ หากต้องเล็งเป้าหมายให้ชัด และต้องเลือกการกระทำด้วยความลำบากใจและในความคลุมเครือ โดยพยายามทำเสรีภาพของตนและของเพื่อนมนุษย์ให้เป็นจริง

เราต่างมีเสรีภาพที่จะเลือก แม้จะเลือกเป็นคนเคร่งคุณค่าหรือเป็นนักผจญภัย ฯลฯ หรือจะเลือกให้เสรีภาพเองมาก่อน ถ้าเป็นกรณีหลัง ย่อมหมายความว่า เราจะใช้เสรีภาพ ทั้งเพื่อเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เราจึงต้องระวัง แม้ผู้อื่นจะยินยอมด้วยเห็นแก่เป้าหมายระยะยาว แต่ก็ไม่ควรเลือกแทนผู้อื่นมากนัก ผู้อื่นบางคนคงอยากให้ความสำคัญแก่ภารกิจที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่อยู่ตรงหน้า

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image