ย้อนแย้ง ‘แก้ รธน.’ …พูดอย่าง ทำอย่าง : สมหมาย ปาริจฉัตต์

ย้อนแย้ง ‘แก้ รธน.’ …พูดอย่าง ทำอย่าง : สมหมาย ปาริจฉัตต์

ติดตามเนื้อหาและบรรยากาศการประชุมรัฐสภาพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 วันที่ 23-24 กันยายนที่ผ่านมา ปรากฏอาการย้อนแย้งในตัวเองมากมายหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำอภิปรายของวุฒิสมาชิกปีกคัดค้านการแก้ไข

ขณะที่เรียกร้องให้ฝ่ายสนับสนุนการแก้ไขเคารพเสียงของผู้ลงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีมากถึง 16.8 ล้านเสียง ส่วนไม่เห็นชอบมีแค่ 10.5 ล้านเสียง

แต่พอฝ่ายเสนอให้แก้ไขยื่นญัตติให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างใหม่ กลับคัดค้าน ไม่เอาด้วยอ้างว่า ไม่มีหลักประกันว่า ส.ส.ร.จะร่างรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร
เพราะไม่มีกรอบชัดเจน อาจเลยเถิด เลอะเทอะไปถึงขั้นเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปโน่นเลย

การแก้ไขโดยมี ส.ส.ร.เป็นผู้ยกร่าง ไม่แตกต่างอะไรกับการเซ็นเชคเปล่า จึงไม่ขอเอาด้วย

Advertisement

ทั้งๆ ที่การแก้ไขโดยมี ส.ส.ร.ต้องผ่านการทำประชามติตามบทบัญญัติ มาตรา 256(8) กรณีเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

เมื่อเข้าข่ายต้องลงประชามติ ผู้ที่ลงประชามติจำนวนมากก็คงเป็นคนกลุ่มที่เคยให้ความเห็นชอบถึง 16.8 ล้านเสียง ส.ว.ฝ่ายคัดค้านกลับเกิดอาการปริวิตก จินตนาการไปต่างๆ นานาตรงข้ามสิ่งที่พูดเรียกร้องให้ฝ่ายเสนอแก้ไขเคารพเสียงของผู้ลงประชามติเห็นชอบ แต่ตัวเองกลับหวั่นไหว ไม่มั่นใจ ว่าเที่ยวนี้เสียงสนับสนุนจะมีมากเหมือนครั้งก่อนหรือไม่ เลยต้องค้านไว้ก่อน จึงเข้าลักษณะพูดอย่าง ทำอย่าง ย้อนแย้งชัดเจน

หยิบยกจำนวนผู้ลงประชามติ 16.8 ล้านเสียงขึ้นมาเป็นเหตุผลประกอบการคัดค้านและอภิปรายย้ำแล้วย้ำอีกว่า โอกาสที่จะได้ ส.ส.ร.มาจากอิทธิพลของบรรดาหัวคะแนนนักเลือกตั้ง และพรรคการเมือง จึงไม่มีหลักประกันใดๆ กลายเป็นว่าดูแคลนความคิดของผู้เคยลงประชามติรับรัฐธรรมนูญเสียเอง เกรงตกเป็นเหยื่อ หลับหูหลับตา เลือกคนของนักเลือกตั้งเข้ามา

ย้อนแย้งประการต่อมา ที่ยกเหตุผลว่าที่ประชุมรัฐสภาเปรียบเสมือนเป็นแม่ ทำคลอดบทบัญญัติให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร.จึงเปรียบเหมือนลูก จะเอาลูกมาออกกฎหมายฆ่าแม่ ยกเลิกหรือตัดทอนอำนาจ ส.ว.เป็นไปได้อย่างไรไม่ถูกต้อง

ลืมคิดถึงหลักการสำคัญสูงสุดคือ อำนาจการตัดสินใจเป็นของประชาชน กระบวนการเลือก ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีความชอบธรรมในความเป็นตัวแทนประชาชนยิ่งกว่ามาจากการแต่งตั้งจากกรรมการสรรหาที่ถูกครหามาตลอดว่าชงเอง กินเอง เป็นไหนๆ ส.ส.ร.มาจากการตัดสินใจของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง มีความเชื่อมโยงยิ่งกว่า การอ้างเหตุ ส.ส.ร.เป็นลูก รัฐสภาเป็นแม่ จึงเป็นตรรกะที่อ่อนน้ำหนักอย่างยิ่ง

ส .ส.ร.มีกระบวนการได้มาจากความไว้วางใจของประชาชน จึงควรมีอิสระที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เหมาะสม ประชาชนผู้มีสิทธิลงประชามติจะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายอีกเช่นกันว่า จะรับรองผลงานของ ส.ส.ร.ให้ผ่านออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ อยู่ดี

ถ้าต้องเดินตามกรอบที่รัฐสภากำหนดทุกอย่าง กระบวนการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยมี ส.ส.ร.จะเกิดประโยชน์อันใด

คำอภิปรายย้อนแย้งและตลกร้ายที่สุดก็คือ ที่บอกว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของวุฒิสมาชิก หากเห็นชอบกับการแก้ไขให้ยกเลิกอำนาจนี้ จะเข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายคือรัฐธรรมนูญกำหนด กลายเป็นความผิด มีโทษฐานจงใจ หรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขเขียนไว้ชัดเจน ที่มาของญัตติ มาได้จาก 1 ครม. 2 ส.ส. 3 ส.ส. ร่วมกับ ส.ว. 4 ประชาชนกว่า 50,000 คน การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นหรือแก้จุดอ่อน จึงเป็นสิทธิและหน้าที่ ชัดเจนเช่นเดียวกัน

การคัดค้านโดยมองมุมเดียวว่า หากเลิกอำนาจวุฒิฯในการเลือกนายกฯ อาจเข้าข่ายละเลย ไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย จะกลายเป็นโทษ

คงด้วยเหตุนี้เอง ถึงทำให้ผู้ฟังจำนวนไม่น้อยสะท้อนว่า เป็นเหตุผลที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง สะท้อนอาการห่วงเสถียรภาพ ความปลอดภัยของตัวเป็นสำคัญ แทนที่จะมองสถานการณ์โดยรวม ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นฐานคิดหลัก

ครับ แม้ในที่สุดจะมีมติให้ตั้งกรรมาธิการศึกษา 30 วันก่อนนำมาพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะให้แก้ไขหรือไม่ หากแก้จะแก้อย่างไร

มองร้าย มุมลบ ก็หนีไม่พ้น ถ่วงเวลา ไม่จริงใจ แต่หากมองแง่บวก ขืนดึงดันเดินหน้าต่อมีโอกาส ล้มทั้งกระดาน ไม่ผ่านทั้ง 6 ญัตติ การตั้งกรรมาธิการจึงทำให้ทุกฝ่ายมีเวลากลับไปคิด ทบทวน ใคร่ครวญให้รอบคอบ รอบด้าน และเอาผลการศึกษาก่อนหน้านี้ มาประกอบการตัดสินใจได้เพิ่มขึ้น

หนึ่งเดือนผ่านไป ผลจะออกมาอย่างไร ถนนราชดำเนินจะคลาคล่ำไปด้วยมวลมหาประชาชนจากหลากทิศ หลายสีหรือไม่ ต้องรอติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image