สุจิตต์ วงษ์เทศ : อำนาจของภาษาร่าย ในการเมืองยุคเริ่มแรก นาค เป็นคำทางการเมือง เรียกคนป่าเถื่อน

บรรยากาศงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ถ้าพอจะเรียกมันว่าบทกวี : ห้วงรำพึงรำพันถึงทุรสมัย โดย เวฬุ เวสารัช ในร้านหนังสือ The writer's Secret เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2559

ภาษาร่าย มีพลังสร้างอำนาจทางการเมืองให้แม่หญิงคนชั้นนำยุคดึกดำบรรพ์ แล้วสืบเนื่องต่อมาอีกนานมาก จนถึงยุครัฐจารีต

แม่หญิง

แม่หญิงเป็นคนชั้นนำยุคดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว ที่ได้รับยกย่องเป็นหมอมดหมอผี และหัวหน้าเผ่าพันธุ์
เมื่อถึงพิธีเลี้ยงผีประจำปี (ช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว ราวเดือน 3, 4, 5 ตรงกับราวมีนาคม, เมษายน, พฤษภาคม) แม่หญิงต้องทำหน้าที่หัวหน้าพิธีกรรม ใช้ภาษาร่ายบอกเล่าความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ แล้ววิงวอนต่อผีบรรพชนร้องขอความอุดมสมบูรณ์เจริญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทำนายทายทักเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ฤดูเพาะปลูกที่จะมีต่อไปว่าร้ายหรือดี
แม่หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม และเป็นผู้สืบสานจรรโลงศิลปวัฒนธรรม เช่น ตีหม้อ, ทอผ้า, ช่างฟ้อน, ช่างขับ, ช่างปี่, ช่างซอ, หมอแคน, หมอลำ, ฯลฯ ผู้ชายไม่มีสิทธิ์ทำงานเหล่านั้น

ความทรงจำ

คำบอกเล่าเป็นภาษาร่าย บอกความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ให้คนทั้งชุมชนซึ่งชุมนุมเลี้ยงผีในที่นั้นรู้ทั่วกัน เช่น
หมา เป็นบรรพชน เพราะคนเกิดจากท้องหมา และหมาเอาพันธุ์ข้าวจากฟ้าลงมาให้คนปลูกกิน
กบ กับ คางคก (คันคาก) บันดาลให้ฝนตกลงนามีน้ำเลี้ยงคน, สัตว์, พืช ทำให้เจริญพืชพันธุ์เลี้ยงคนและสัตว์
[มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดียืนยันสนับสนุนคำบอกเล่าเหล่านี้]

น้ำเต้า

คนเกิดจากน้ำเต้า เป็นคำบอกเล่าเก่าแก่มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ที่น่าจะแพร่หลายกว้างไกล และมีพลังอำนาจมากทั่วทั้งภูมิภาค
น้ำเต้าเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์นานาชาติ เพราะรูปร่างน้ำเต้าเหมือนมดลูกของแม่ที่ให้กำเนิดคน บางทีเหมือนท้องแก่ของแม่ที่มีลูกอยู่ข้างใน
จึงเป็นต้นแบบทำภาชนะดินเผาก้นมน ใช้ใส่กระดูกฝังศพ (ครั้งที่ 2) ต่อมาเป็นภาชนะดินเผาทำอาหาร
เมื่อมีตัวอักษร คนจดคำบอกเล่าเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษร พบว่าเป็นต้นฉบับเก่าสุด จดด้วยสำนวนโวหารเก่าแก่มาก ได้แก่ เล่าความเมือง ของไทดำในเวียดนาม (จากหนังสือประวัติศาสตร์ไทดำฯ ของ ยุกติ มุกดาวิจิตร พิมพ์ครั้งแรก โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2557)

Advertisement

คำบอกเล่า

วรรณกรรมคำบอกเล่า (ด้วยภาษาพูด) เก่าแก่มากกว่าวรรณกรรมลายลักษณ์อักษร (เป็นภาษาเขียน) เพราะมนุษย์มีภาษาพูดนานมากก่อนมีภาษาเขียน
คำบอกเล่ายุคดึกดำบรรพ์เป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวัน คำสั้นๆ ง่ายๆ มี 2 ลักษณะปะปนสอดแทรกคลุกเคล้ากันเป็นธรรมชาติ ได้แก่ คำปกติ กับคำคล้องจอง เพื่อเน้นย้ำข้อความสำคัญให้มีพลังเป็นพิเศษ
กลอนร่าย

ครั้นนานไป คำคล้องจองสั้นๆ ก็ค่อยๆ ยาวขึ้น แล้วกำหนดใช้ในพิธีกรรม เช่น สื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ (คือ ผี) ปัจจุบันรู้จักกันทั่วไปว่าคำสู่ขวัญ เป็นกลอนเรียกอีกอย่างว่า กลอนร่าย หรือ ร่าย
[คำคล้องจองที่เป็นร้อยกรองยุคดั้งเดิมเริ่มแรก เรียกรวมๆ โดยไม่จำแนกว่า กลอน]
ผีบรรพชน เช่น ผีแถน, ผีฟ้า ไม่ใช่คน จึงใช้ภาษาปกติของคนย่อมสื่อสารไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง ต้องมีภาษาพิเศษใช้สื่อสารโดยเฉพาะ ได้แก่ ภาษาร่าย
ร่ายเป็นลักษณะก้ำกึ่งระหว่างภาษาพูดกับภาษาเพลง หรือร้อยแก้ว กับ ร้อยกรอง ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นพิเศษ
หลังรับอารยธรรมอินเดีย แล้วรับกาพย์และฉันท์จากคัมภีร์สันสกฤตมาแต่งร้อยกรองอย่างชำนาญแล้ว แต่ราชสำนักก็ยังยกย่องใช้ฉันทลักษณ์ร่าย หรือภาษาร่ายของหมอมดหมอผียุคดึกดำบรรพ์ เมื่อแต่งคำประณามพจน์ในวรรณกรรมราชสำนัก เช่น สดุดีเมือง, นมัสการทางศาสนา, ยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน ฯลฯ

สวด-เซิ้ง

เมื่อสังคมมีพัฒนาการเติบโตขึ้น ภาษาร่ายก็ปรับเปลี่ยนไปโดยจำแนกบทบาทหน้าที่สำหรับใช้งานสวด กับ เซิ้ง
สวด ใช้งานคนเดียว เช่น คำทำขวัญต่างๆ, อ่านโองการแช่งน้ำของพราหมณ์, สวดมหาชาติคำหลวง, เทศน์มหาชาติ, เจรจาโขน ฯลฯ
เซิ้ง ใช้งานรวมกลุ่ม เช่น เซิ้งบั้งไฟของชุมชน, โอละพ่อ (หรือ ระเบ็ง) ของราชสำนัก

Advertisement

นาค

นาค เป็นคำทางการเมืองของผู้มีวัฒนธรรมเหนือกว่า ใช้เรียกคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ ที่มีวัฒนธรรมด้อยกว่า
นาค หมายถึง คนป่าเถื่อนที่ล้าหลังทางวัฒนธรรม
[คำว่า นาค มาจากภาษาละติน แปลว่า คนเปลือย, คนแก้ผ้า ฯลฯ ชาวอินเดียใช้เรียกชาวอุษาคเนย์ ราว 1,500 ปีมาแล้ว]
เมื่อพระสงฆ์จากอินเดียทำพิธีบวชให้คนพื้นเมืองชุดแรก จึงเรียก บวชนาค แปลว่า บวชให้พวกป่าเถื่อน
คนพื้นเมืองอุษาคเนย์ รับคำว่า นาค เป็นของตน โดยไม่รู้ความหมายเชิงดูถูก แล้วใช้สืบมาจนปัจจุบัน
[เช่นเดียวกับคำว่า ส่วย แปลว่า ขี้ข้า ในลุ่มน้ำมูล]

ทำขวัญนาค

ทำขวัญนาคสะท้อนการต่อรองอำนาจระหว่าง ศาสนาผีของแม่ กับศาสนาพุทธของพ่อ
พุทธต้องยอมให้ผีทำพิธีก่อน หลังจากนั้นจึงเข้าโบสถ์ทำพิธีบวชตามพุทธบัญญัติ
เท่ากับศาสนาผีดั้งเดิมเป็นฐานรากอันแข็งแกร่ง แล้วรับเอาศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์ที่ไม่ขัดกับหลักผี มาเคลือบหรือประดับประดาศาสนาผีให้ดูดีและทันสมัยเท่านั้น (จำกระท่อนกระแท่นจากคำอธิบายนานแล้ว ของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์)
คำทำขวัญนาค เป็นภาษาร่ายของพื้นเมือง พรรณนาพระคุณของแม่ที่ต้องทุกข์ทรมานอุ้มท้องให้กำเนิดลูกชายมาเป็นนาค (ซึ่งไม่เกี่ยวกับพ่อ)
คนทำขวัญเรียกหมอขวัญ แต่เดิมเป็นแม่หญิง (สมัยหลังจึงเปลี่ยนเป็นชาย) เป็นประเพณีพื้นเมือง ไม่มีในอินเดียและลังกา เพราะไม่มีในพุทธบัญญัติ)

นางนาค

นางนาค เป็นสัญลักษณ์ของบรรพชนคนพื้นเมืองเพศหญิง เริ่มรับอารยธรรมที่มาทางทะเลสมุทรจากดินแดนมีเทคโนโลยีก้าวหน้า ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1000
เมื่อชาวชมพูทวีปเดินทางมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับกลุ่ม ชนชาวสุวรรณภูมิที่ยังล้าหลังทางเทคโนโลยี จึงพบว่าไม่มีผ้าผืนใหญ่ใช้นุ่งและห่มเหมือนชาวชมพูทวีป ก็เรียกชาวสุวรรณภูมิอย่างเหยียดหยามดูถูกด้วยถ้อยคำของตนว่า นาค แปลว่า คนเปลือย, คนแก้ผ้า

นางนาคจามปา

ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตของรัฐจามปา (ในเวียดนาม) ว่าคนในตระกูลพราหมณ์ (พ่อค้า) ไปทางทะเลสมุทร แล้วสมรสกับนางนาค (ซึ่งเป็นธิดาพระยานาค) ต้นวงศ์จามปา

นางนาคฟูนัน

ต่อมาราชทูตจีนชื่อคังไถและจูยิง ซึ่งเข้าไปรัฐฟูนัน ได้ดัดแปลงขยายนิทานเรื่องนางนาคในศิลาจารึกจามปาให้ยาวออกไปเป็นเรื่องของฟูนัน ว่า
พราหมณ์พ่อค้าลงเรือมาจนถึงฟูนัน นางพญาชื่อลิวเย หรือนางใบมะพร้าว พาบริวาร
ปล้นสะดมและยึดเรือลำนั้น
พราหมณ์พ่อค้าจึงแผลงศรไปทะลุเรือนางลิวเย นางก็ตกใจกลัว จึงยอมอ่อนน้อมเป็นภรรยาของโกณฑินยะ
ขณะนั้นนางมิได้สวมเสื้อผ้า โกณฑินยะจึงพับผ้าเข้าและสวมลงไปบนศีรษะของนาง ต่อจากนั้นเขาก็ขึ้นปกครองประเทศและสืบเชื้อพระวงศ์ต่อมา

นางนาคกัมพูชา

ตำนานเมืองพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชา มีคำบอกเล่าว่าทุกคืนนางนาคแปลงร่างเป็นสาว เพื่อร่วมเพศสังวาสกับพระราชาบนปราสาท (เชื่อกันว่าหมายถึงปราสาทพิมานอากาศ ในนครธม) ถ้าคืนใดพระราชาไม่สังวาสกับนางนาค คราวนั้นพระราชาก็จะถึงกาลวิบัติ และบ้านเมืองจะล่มจม

นางนาคอยุธยา

กฎมณเฑียรบาล ยุคต้นอยุธยา ระบุพระราชพิธีเบาะพก ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จเข้าในพระตำหนักศักดิ์สิทธิ์ แล้วบรรทมกับแม่หยัวเมือง (กฎมณเฑียรบาลเรียกแม่หยัวพระพี่)
หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินต้องทรงร่วมเพศสังวาสกับนางนาค ซึ่งเป็นแบบแผนดั้งเดิมที่รับตกทอดจากกัมพูชา
เบาะพก เป็นคำเขมร หมายถึงมีบางอย่าง (เช่น อวัยวะเพศชาย) ทิ่มๆ ตำๆ บริเวณใต้ชายพก (ของหญิง)
แม่หยัวเมือง เป็นคำดั้งเดิม (บางทีเขียนว่าแม่อยัวเมือง) กร่อนจาก “แม่อยู่หัวของเมือง” หมายถึง หญิงเป็นใหญ่สุด (ในพิธีกรรม) ของเมือง หรือราชอาณาจักร ในที่นี้คือ ผีบรรพชนที่เป็นแม่หญิง ได้แก่ นางนาค

นางนาคในเพลงดนตรี

นางนาค เป็นชื่อทำนองเพลงประโคมสำหรับปี่พาทย์ (ไม่มีร้อง) ขนาดสั้นๆ เรียกกันทั่วไปว่า เพลงนางนาคใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาผี เกี่ยวกับผีบรรพชนซึ่งเป็นหญิง ใช้ประโคมในพิธีเวียนเทียนทำขวัญ เช่น ทำขวัญแต่งงาน, ทำขวัญนาค ในฤดูบวชนาค
ตามปกติขนบของวงดนตรีไทย โดยเฉพาะวงปี่พาทย์ ไม่ว่าจะบรรเลงเพลงเรื่องหรือเพลงชุดใดๆ ที่เกี่ยวกับพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ จะต้องบรรเลงเพลงสาธุการเป็นเพลงแรก เพราะเป็นเพลงสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา
มีแต่เพลงชุดทำขวัญชุดเดียวเท่านั้นไม่เริ่มด้วยเพลง สาธุการ แต่เริ่มด้วยเพลงนางนาคเป็นเพลงแรก ซึ่งเกี่ยวข้องกับผีบรรพชนเป็นหญิง ที่ยังสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

นางนาค กับ พระทอง

นางนาคกับพระทอง เป็นเพลงคู่กัน สัญลักษณ์ของพิธีแต่งงานยุคอยุธยา มีเนื้อหาพรรณนาการร่วมเพศ
นางนาค เป็นสัญลักษณ์คนพื้นเมืองสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ที่ยกย่องผู้หญิงเป็นหมอมด หมอผี หัวหน้าเผ่า
พระทอง เป็นสัญลักษณ์ของชายพ่อค้าต่างชาติมาทางทะเลสมุทร ผู้นำวัฒนธรรมจากภายนอกสู่คนพื้นเมือง
นางนาคกับพระทอง เป็นตำนานบอกความเป็นมาของบรรพชนคนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิ ก่อน พ.ศ. 1000 กล่าวถึงนางนาคกับพระทองเมื่อเป็นวัยรุ่นมีเซ็กซ์ก่อนแต่งงาน
พบร่องรอยเป็นพยานอยู่ในคำร้องบทมโหรี ยุคอยุธยา พรรณนาว่าหลังมีเซ็กซ์กันแล้วพระทองจะลากลับ นางนาครำพึงรำพันว่าเมื่อไรจะได้นอนมีเซ็กซ์ด้วยกันอีก ขอผ้าห่มไว้ดูต่างหน้า ดังนี้

ร้องนางนาค

๏ เจ้าเอยนางนาค เจ้าคิดแต่เท่านั้นแล้ว
เจ้าปักปิ่นแก้ว แล้วเจ้ามาแซมดอกไม้ไหว
จำปาสองหูห้อย สร้อยสังวาลแลมาลัย
ชมพูผ้าสไบ เจ้าห้อยสองบ่าสง่างาม

ร้องพระทอง

๏ พระทองเทพรังสรรค์ หล่อด้วยสุวรรณกำภู
เจ้างามบริบูรณ์ไม่มีคู่ โฉมตรูข้าร้อยชั่งเอย
๏ พระทองข้ารูปหล่อเหลา หนักเล่าก็ได้ร้อยชั่ง
รัศมีนั้นงามอยู่เปล่งปลั่ง ทั้งเมืองไม่มีเหมือนเอย
ร้องคู่พระทอง
๏ พระทองเจ้าจะไป น้องจะได้ใครมานอนเพื่อน
อันใจเจ้าดีไม่มีเหมือน เจ้าเพื่ิอนที่นอนของน้องเอย
๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ ค่อยอยู่จงดีกว่าจะมา
จะไปก็ไม่ช้า จะพลันมาเป็นเพื่อนนอนเอย
๏ พระทองเจ้าจะไป จะให้อะไรไว้น้องชม
ขอแต่ผ้าลายที่ชายห่ม จะชมต่างหน้าพระทองเอย

โองการแช่งน้ำ

โองการแช่งน้ำ เป็นวรรณกรรมการเมือง ยุคก่อนอยุธยา หรือต้นอยุธยา ที่พระเจ้าแผ่นดินตรัสภาษาเขมร
พิธีกรรมรับจากเขมร ฉันทลักษณ์รับจากลาว เรียกพระพรหมว่าขุนแผน
โองการแช่งน้ำ แต่งใช้ในพิธีสาบาน โดยดื่มน้ำพระพัทธ์ ได้จากพิธีกวนน้ำศักดิ์สิทธิ์มีหลักฐานเก่าสุดเป็นภาพสลักที่ประสาทนครวัด ราว พ.ศ. 1650 ในภาษาเขมรเรียก ตึ๊กตะบัล ไทยรับมาเรียกดึกดำบรรพ์ มีการละเล่นเรียก ชักนาคดึกดำบรรพ์ ต้นทางโขน
แต่งเป็นร่าย กับ โคลง สลับกันอย่างไม่เคร่งครัด มี 35 บท
เนื้อความทั้งหมดแบ่งได้ 6 ตอน ได้แก่ เริ่มเรื่อง, เล่าเรื่อง, เชิญ, แช่ง, อวยพร, ถวายพระพร
เริ่มเรื่อง เป็นร่ายสรรเสริญพระวิษณุ, พระศิวะ, พระพรหม
เล่าเรื่อง บอกฐานะของกษัตริย์ มาจากสมมติราช
เชิญ เป็นโคลงเชิญผีกับเทวดาอารักษ์มาร่วมเป็นพยาน
แช่ง เป็นร่ายแช่งคนคิดคดทรยศ
อวยพร เป็นร่ายกับโคลงสลับกัน อวยพรคนซื่อตรงจงรักภักดี
ถวายพระพร ยอพระเกียรติกษัตริย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image