นวัตกรรมใหม่ในคดีรัฐธรรมนูญ โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ-กราฟิก

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติกันนี้มีหลักการสำคัญที่เปลี่ยนไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ อย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังไม่มีใครกล่าวถึงหรือตั้งข้อสังเกตไว้ คือเรื่องของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” กับ “อำนาจ” ที่อาจจะเรียกว่าเป็น “ของใหม่” ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ออกตัวก่อนว่าอาจจะเป็นเรื่องเฉพาะทางไปบ้าง แต่ก็ใคร่ขอนำมาขยายความไว้สำหรับการตัดสินใจในโค้งสุดท้าย สำหรับท่านที่ผ่านชั้น “รับหลักการ” ร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว และกำลังอ่านทำความเข้าใจรายมาตรา

ในรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิ “ฟ้อง” ศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงเป็นครั้งแรก แต่กำหนดขอบเขตของเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบได้ ว่าได้แก่เรื่องของการถูกละเมิดสิทธิโดย “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งหลักการนี้ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

หากตาม “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับลงประชามติ บทบัญญัติที่ให้สิทธิประชาชนเสนอคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญนี้ก็ยังมีอยู่ในร่างมาตรา 213 โดยบัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”

ADVERTISMENT

จาก “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” สู่ “การกระทำ” นี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการในสาระสำคัญของคำร้องตรงที่ประชาชนจะเสนอต่อรัฐธรรมนูญออกไปจากเดิมที่คนจะ “ฟ้อง” ศาลรัฐธรรมนูญได้นั้นต้องเป็นเรื่องของ “กฎหมาย” ขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากเป็นไปตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การ “ฟ้อง” ศาลรัฐธรรมนูญก็กินความไปถึงการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญได้ด้วย

จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า คำว่า “การกระทำ” ตามมาตรานี้ จะหมายความรวมถึงเรื่องอะไรบ้าง

ADVERTISMENT

เดิมนั้น การ “กระทำ” ของรัฐผ่านหน่วยงานของรัฐที่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายนั้นอาจจะถูกตรวจสอบได้โดยศาลปกครอง ไม่ว่าการกระทำของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นจะขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะถือว่าเป็น “การใช้อำนาจทางปกครอง” ที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง

แต่บทบัญญัติของร่างมาตรา 213 ดังกล่าวนั้น อ่านแล้วเข้าใจได้หรือไม่ว่า ต่อไปนี้ การที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิโดย “การกระทำ” ของหน่วยงานของรัฐที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถนำมาฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และเป็นอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแทนศาลปกครอง

และอันที่จริง ตัวบทของร่างมาตราดังกล่าวก็ไม่ได้บัญญัติว่า “การกระทำ” นั้นมี “ขอบเขต” แค่ไหน รวมถึงอะไรบ้าง เนื่องจากตัวบทใช้คำว่า “การกระทำ” เพียงสั้นๆ เท่านั้น

การตรากฎหมาย ถือเป็น “การกระทำ” ตามร่างมาตรานี้หรือไม่ การใช้อำนาจต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีด้วย และที่หนักที่สุด การพิจารณาและทำคำพิพากษาของศาลต่างๆ จะถือเป็น “การกระทำ” ที่อาจถูกตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญได้ตามร่างมาตรานี้หรือไม่

ถ้ามาตรานี้เปิดช่องให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบทุกการกระทำของรัฐ ที่อ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นการกระทำขององค์กรใด ใช้อำนาจระดับไหน ในวาระแรกๆ ที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ถนนทุกสายคงเดินไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ

เพราะเช่นนี้แม้แต่การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ก็อาจจะถูก “นักฟ้องศาล” ขาประจำที่ท่านพอจะนึกชื่อนึกหน้าได้ นำไปโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยอาศัยช่องทางของมาตรานี้ โดยอ้างว่าการดำเนินนโยบายของรัฐนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของตน

นอกจากนี้ บทบัญญัติร่างมาตรา 213 นี้ก็ไม่ได้บัญญัติว่าประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพอันมีสิทธิที่จะเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนี้ ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ “โดยใคร”

ถ้าเช่นนั้น อาจหมายความว่า แม้แต่เอกชนละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญต่อกัน เอกชนอีกฝ่ายที่รู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพก็อาจจะไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตามหลักแล้ว สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนจะเอาไว้ใช้ยันต่อรัฐไม่ให้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพต่อตนเองได้

เพราะรัฐตลอดลงไปถึงองค์กรและหน่วยงานของรัฐนั้น ล้วนต้องผูกพันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นบทบัญญัติแม่บทที่ให้อำนาจรัฐในการกระทำการต่างๆ ที่ต้องชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ส่วนผลบังคับระหว่างเอกชนต่อเอกชนนั้น สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอาจจะไม่สามารถนำมาใช้อ้างหรือต่อสู้ได้โดยตรงได้เท่ากับการใช้อ้างต่อรัฐ แต่ก็มีแนวความคิดว่าสิทธิและเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้แล้ว ถือเป็น “กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย” ซึ่งหากเอกชนไปกำหนดข้อสัญญาหรือมีการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะส่งผลให้สัญญานั้นเป็นโมฆะหรือการกระทำนั้นถือเป็นละเมิด ซึ่งในแง่นี้ สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญก็อาจจะใช้อ้างในกรณีที่เอกชนต่อเอกชนมีกรณีโต้แย้งกันในชั้นศาลในคดีแพ่งก็ได้

แต่บทบัญญัติร่างมาตรา 213 นี้ อาจจะทำให้เข้าใจได้ว่าประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ แม้แต่จากการกระทำของเอกชนด้วยกัน ก็ชอบที่จะใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น ต่อไปหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับได้จริงแล้ว ต่อไปในการดำเนินกิจการต่างๆ ของภาคเอกชน ก็อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจจะถูกผู้ที่ถูกกระทบสิทธินำขึ้นโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง

มาตรา 213 นี้หากมองว่าเป็นประโยชน์ในแง่ของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแบบเป็นรูปธรรมและชัดเจน มีปัญหาเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญก็มี “ศาล” ไว้พิจารณารับเรื่องก็ได้ แต่จะมองอีกมุมว่า ความกว้างขวางแต่ไม่ชัดเจนของตัวบท อาจจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก็ได้

ทั้งหมดนี้อาจเป็นความวิตกหรือจุดที่ติดใจส่วนตัว เมื่ออ่านเฉพาะจากตัวบทในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว อาจเข้าใจได้เช่นนี้จริงๆ แต่จะจริงหรือไม่ เรายังไม่รู้รายละเอียดในขณะที่จะต้องลงประชามตินี้ เนื่องจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องไปบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาภายหลัง ซึ่งเรายังไม่เห็น

แต่ที่เห็นอยู่ต่อหน้า คือเนื้อความในร่างมาตรา 213 ที่เป็นมาตราหนึ่งอันประกอบอยู่ในรัฐธรรมนูญที่เราจะต้องตัดสินใจว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยในวันอาทิตย์นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image