เทียบเคียง บทเรียน ประชามติ จากเมียนมา ประชามติ อังกฤษ

แม้จะยังเหลืออีก 2 วันก่อนที่วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม จะเดินทางมาถึง แต่ภาพของ “ประชามติ” แห่งประเทศไทยก็มีความเด่นชัด

เด่นชัดว่าไม่เหมือน “ประชามติ” ที่ “สหราชอาณาจักร”

เด่นชัดว่าละม้ายเหมือนกับ “ประชามติ” ที่ “สหภาพเมียนมา” เมื่อปี 2551 มากกว่า

มิใช่ละม้ายเหมือนเพียงเพราะว่าเป็นประชามติในเรื่องอันเกี่ยวกับ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ตามแผนโรดแมปสู่ “ประชาธิปไตย” เช่นเดียวกัน

Advertisement

หากที่สำคัญยังอยู่ที่ “เนื้อหา” ของ “ร่างรัฐธรรมนูญ”

หากที่สำคัญมากยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการของประชามติแห่งประเทศไทยยังใกล้เคียงกับกระบวนการของสหภาพ เมียนมาเป็นอย่างมาก

1 อาจเป็นเพราะสภาพสังคม การเมือง ไม่แตกต่างกันมากนัก

Advertisement

ขณะเดียวกัน 1 อาจเป็นเพราะฐานที่ตั้งทางการเมืองอยู่ไม่ห่างกัน และความสัมพันธ์ของผู้ครองอำนาจเป็น “ไฟลั่ม” เดียวกัน

นั่นคือ เป็นทหาร และได้อำนาจมาโดยผ่านปืน

หากไปสอบถามบรรดาแรงงานเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นที่สมุทรสาคร ไม่ว่าจะเป็นที่ราชบุรี ก็คงจะได้คำตอบ

ไม่จำเป็นต้องถาม พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย

 

เหตุปัจจัยอะไรทำให้กระบวนการทำ “ประชามติ” ระหว่างสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 กับสหภาพเมียน มาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 มีความแตกต่างกัน

ปัจจัย 1 เพราะระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน

ระบอบการปกครองของสหราชอาณาจักรเป็นระบอบ “ประชาธิปไตย” ระบอบการปกครองของสหภาพเมียนมาเป็นระบอบ “เผด็จการ”

ที่สหราชอาณาจักร ความเห็น “ต่าง” ปรากฏขึ้นอย่างคึกคัก

ที่สหภาพเมียนมา ความเห็น “ต่าง” ถูกสกัดขัดขวาง และรุนแรงถึงกับมีการจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมากมาย

เป็นบรรยากาศของการให้ “รับ” มิใช่บรรยากาศของการ “ไม่รับ”

ที่สหราชอาณาจักร กระบวนการทุกกระบวนการสามารถ “ตรวจสอบ” ได้ ตรงกันข้าม ที่สหภาพเมียนมา กระบวนการทุกกระบวนการเป็นความลับ ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถตรวจสอบได้

ขืนเรียกร้อง ขืนพยายามเข้าไปตรวจสอบก็ “โดน”

เพราะรัฐบาลทหารของสหภาพเมียนมา ไม่เพียงมีกฎหมายปกติใช้ควบคุมและบังคับ หากยังมีกฎหมาย “พิเศษ” เป็นเครื่องมืออีกด้วย

ความแตกต่างจึงเหมือน “ฟ้า” กับ “เหว”

 

พลันที่ได้เห็นความคึกคักจากกระบวนการจัดทำประชามติของ สหราชอาณาจักร ภายในสังคมประเทศไทยต่างคาดว่าบรรยากาศของไทยน่าจะเป็นอย่างสหราชอาณาจักร

แต่แล้วหลายคนก็ต้อง “ก้มหน้า” ยอมรับ

เพราะความโน้มเอียงของประเทศไทยกลับเอนไปในทางประชามติของสหภาพเมียนมามากกว่าจะไปในทางประชามติของสหราชอาณาจักร

เรามี พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ก็จริง

แต่บทบัญญัติของ พ.ร.บ. โดยเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง บ่งบอกให้ตระหนักว่าน่าจะเป็น พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มากกว่า

เพราะยังมีประกาศและคำสั่ง “คสช.” ควบคุม กำกับอีกทอด 1

ผ่านการเคลื่อนไหวภายใต้บรรยากาศแห่ง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาจนใกล้ถึง วันที่ 7 สิงหาคม

ก็เริ่มสัมผัสได้ใน “ปรากฏการณ์” อันเหนือความคาดคิด

ที่โพลหลายสำนักออกมายืนยันว่าเสียง “รับ” จะคึกคัก หนักแน่น สูงโลดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ก็ทำท่าว่าอาจจะไม่ใช่ เพราะความรู้สึกที่ดำเนินไปเหมือนกับจะกลายเป็น “กระแส” ในช่วงโค้งสุดท้ายกลับเทไปในด้านที่จะ “ไม่รับ” มากกว่า

กระแสนี้หากเป็นจริงก็น่าจะเป็น “ปาฏิหาริย์” เป็นปาฏิหาริย์อันสะท้อนลักษณะ “ด้านกลับ” ภายในการตัดสินใจของประชาชน

 

บทเรียนอันทรงความหมายยิ่งของ “ประชามติ” ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม จึงสำคัญยิ่งในทางการเมือง

ที่ต้องการจะควบคุม ที่ต้องการจะบงการ ผ่านกฎหมายปกติ ผ่านกฎหมายพิเศษ กลับนำไปสู่สภาวะแข็งขืน ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้การบงการ ควบคุม

คำตอบแท้จริงจึงอยู่ที่วันที่ 7 สิงหาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image