ที่เห็นและเป็นไป : ไปไม่เคยถึง ‘คำตอบ’

ที่เห็นและเป็นไป : ไปไม่เคยถึง ‘คำตอบ’

ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เคลื่อนไหวต่อเนื่องเพื่อกดดันรัฐบาลช่วยทำให้ประเทศชาติมีอนาคตพอจะเติบโตอย่างมีความหวังว่าจะสร้างความรุ่งเรืองให้ชีวิตได้บ้าง

ขณะที่รัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณถี่ขึ้นถึงความจำเป็นต้องรักษาความมั่นคง โดยอาศัยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดไปทั่วโลก

การชุมนุมซึ่งเป็นการรวมตัวถูกหยิบยกขึ้นมาชี้ว่าเป็นเหตุที่เสี่ยงต่อการระบาดรอบใหม่ของประเทศไทย

ทว่าความพยายามของรัฐบาลดูจะไม่ได้ผลนัก เพราะนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องมองว่า โควิดเป็นแค่ข้ออ้างของรัฐบาลที่จะอาศัย พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาควบคุมความเคลื่อนไหวของประชาชนเท่านั้น เป็นแค่เจตนาอาศัยโควิดมาเป็นข้ออ้างเพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง

Advertisement

และยืนยันว่าจำเป็นต้องเคลื่อนไหวเพื่อสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลหาทางบริหารประเทศให้ดีขึ้น

เนื่องจากข้อสังเกตว่าประเทศไม่มีความหวังสำหรับอนาคตนั้น มีข้อมูลมาตอกย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ

ในทางการเมือง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นคำตอบของสังคมถูกยื้อออกไป ด้วยอาศัยบทบาทของ “วุฒิสภา”

Advertisement

เมื่อรัฐธรรมนูญถูกมองว่า “2 มาตรฐาน” หรือ “ก่อให้เกิดการใช้อำนาจอย่างล้นเกิน” สร้างปัญหามากมาย โดยเฉพาะถูกมองว่าเอื้อต่อการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำลายฝ่ายตรงกันข้าม และ “วุฒิสภา” เป็นหนึ่งในส่วนที่ถูกจับตา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ติดขัดด้วยบทบาทของ “วุฒิสภา” จึงตอกย้ำ และสะสมแรงกดดันความไม่พอใจทางการเมือง จนเชื่อกันว่าจะเป็นเงื่อนไขให้การชุมนุมต่อต้านรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่จะเป็นทางออกนำไปสู่อนาคตที่หวังได้

เกิดความสิ้นหวังในระบบรัฐสภา

ในทางเศรษฐกิจ ความเป็นไปที่เกิดขึ้นเป็นข่าวคราวให้ได้รับรู้ยิ่งตอกย้ำความสิ้นหวัง

มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ไม่มีอะไรที่เป็นโล้เป็นพาย เป็นความหวังได้เลย

ข่าว “รถไฟความเร็วสูง” จาก “จีน” เชื่อม “เวียงจันทน์” จะเปิดใช้ในวันชาติลาวเดือนธันวาคมปีหน้า 2564 เป็นรถไฟสายที่เชื่อมต่อไปยังยุโรป นั่นหมายถึงศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภูมิภาคจะเป็น “ลาว” โดยที่การเชื่อมต่อกับประเทศไทยยังติดขัดสารพัด

ข่าวการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ จากประเทศเราไป “เวียดนาม-อินโดนีเซีย” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่อุตสาหกรรมสิ่งทอย้ายไปกัมพูชาเรียบร้อยก่อนหน้านั้นแล้ว

หมายถึงแนวโน้มว่าความหวังในเรื่องการลงทุนเริ่มริบหรี่ไปทุกที

ขณะที่ความหวังเรื่องท่องเที่ยวยังเลือนราง และสับสนในเชิงนโยบายว่าจะผ่อนคลายอย่างไรกันแน่

หันไปมองความเป็นไปด้านสังคม ประเทศเข้าสู่วิกฤตความเชื่อถือ “เยาวชนคนรุ่นใหม่” กล่าวหาโจมตีว่า “คนรุ่นเก่าสร้างสังคมที่ไร้ประสิทธิภาพในการพัฒนาไว้ให้” ยอมจำนนต่อการปล่อยให้เกิดการผูกขาดการทำมาหากิน ปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในทุกมิติ สร้างระบบการศึกษาที่เน้นเรื่องการปลูกฝังให้ยอมจำนนต่ออำนาจนิยม ทำลายศักยภาพที่แตกต่างของมนุษย์

“ความไม่เชื่อ” เติบโตในความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่มากมาย จนถึงขั้นพูดกันคนละภาษา และดูจะไม่มีทางที่จะคุยกันรู้เรื่องอีกแล้ว

เกิดความขัดแย้งแตกแยกมากมาย

คำถามคือว่า บริหารกันอย่างไร ประเทศจึงมาสู่ความเลวร้ายในทุกด้านถึงเพียงนี้

กลายเป็นประเทศที่ถูกตอกย้ำความไร้หลักที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม หรือเข้าใจในกันและกันได้

เป็นประเทศที่คนรุ่นใหม่เรียกหาความหวังสำคัญ อนาคตที่พอมีหนทางสร้างความรุ่งเรืองให้ชีวิต

แต่ผู้มีอำนาจไม่เพียงไม่มีคำตอบให้ กลับกลายเป็นเน้นการใช้อำนาจเข้าจัดการเพื่อหยุดยั้งการแสดงออก

เพิ่มคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพ ให้สังคมโลกจับตามองเพื่อตั้งเงื่อนไขสร้างแรงกดดันทางความสัมพันธ์ ทางการค้า

ที่น่าเศร้าคือ “คนที่ถามว่าเราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ”

กลับเป็นผู้ที่ตราหน้าว่า “ชังชาติ” จนทำให้ความหมายคำว่า “ชาติ” กลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งขึ้นในหมู่ประชาชน

ปัญหาเกิดต่อเนื่อง ลุกลามไปเรื่อยๆ ขณะที่คำตอบแทบไม่มองไม่เคยมีให้

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image