Brexit : วิกฤตอังกฤษ โดย ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

ถ้าหากสามารถใช้เครื่องมือวัดระดับความรุนแรงได้แล้ว ภาวะ “แผ่นดินไหว” ที่เกิดจากผลการลงประชามติของชาวสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ต้องจัดอยู่ในระดับ 9 ริกเตอร์อย่างแน่นอน เพราะผลกระทบที่ตามมาทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทูต สังคมและจิตวิทยา ที่จะเกิดต่ออนาคตของสหราชอาณาจักรและประชาคมยุโรป (ต้นแบบการจัดตั้งเออีซีของประชาคมอาเซียน) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นรุนแรงเกินกว่าที่ใครจะประมาณการล่วงหน้าได้

ทั้งๆ ที่การลงประชามติเป็นวิถีทางหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสหราชอาณาจักร (ซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์และไอร์แลนด์เหนือ) ได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของการปกครองในระบบที่ดีที่สุดแบบนี้ แต่ผลเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมหาศาลจนนำไปสู่คำถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ จำเป็นหรือไม่ หลีกเลี่ยงหรือมีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่านี้อีกหรือไม่ และมีบทเรียนราคาแพงบทไหนบ้างที่สังคมไทยน่าจะเรียนรู้เผื่อเตรียมไว้ในอนาคต โดยเฉพาะบทบาทของผู้นำประเทศ

ในความเป็นผู้นำนั้น การรักษาคำพูดถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะนั่นคือรากฐานที่จะทำให้ผู้คนเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจได้ อย่างน้อยที่สุด เดวิด คาเมรอน มีข้อนี้ที่ต้องกล่าวถึง

เพราะเดวิด คาเมรอน เคยประกาศเป็นพันธสัญญาตั้งแต่ปี 2013 และตอกย้ำคำสัญญาเดิมอีกครั้งในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อกลางปีที่แล้ว ภายใต้เงื่อนไขว่า การลงประชามติในเรื่องอนาคตของประเทศที่เกี่ยวพันกับสหภาพยุโรปซึ่งคุกรุ่นมาตลอดสองทศวรรษ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนภายในปี 2017 หากพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้ง

Advertisement

เมื่อชนะเลือกตั้งได้รับเสียงข้างมากอย่างเหลือเชื่อจนสามารถสร้างประวัติศาสตร์จัดตั้งรัฐบาลอนุรักษนิยมพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ จึงดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 คนนี้ต้องรักษาคำพูดและทำตามสัญญา

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เดวิด คาเมรอน คนเดียวกันนี้ เคยตระบัดสัตย์มาก่อน เพราะเคยให้คำมั่นสัญญาต่อสาธารณชนถึงสองครั้งสองคราในเดือนกันยายน 2007 และพฤษภาคม 2009 (ก่อนการเลือกตั้งในปีถัดไป) ว่าจะสนับสนุนและผลักดันให้มีการลงประชามติอย่างแน่นอน แต่สุดท้ายก็ประกาศถอนคำพูดเมื่อปลายปี 2009 เพราะเชื่อว่าการลงประชามติในสิ่งที่ไม่มีทางแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้นั้นเป็นการเสียเปล่า เพราะ ณ เวลานั้น สนธิสัญญาลิสบอนซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของสหภาพยุโรปได้รับการรับรองจากมวลสมาชิกและมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แล้วทำไม เดวิด คาเมรอน ไม่ยอมตระบัดสัตย์ฉีกคำสัญญาอีกครั้งหนึ่งในปี 2016 ทั้งๆ ที่อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ (เพราะการผิดคำพูดกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของนักการเมืองอังกฤษไปแล้ว) การผิดคำสัญญาในเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่ออนาคตของประเทศนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ให้อภัยกันได้ ในขณะเดียวกัน หากไม่รักษาคำพูดก็ไม่ได้ทำให้ต้องสูญเสียตำแหน่งผู้นำประเทศที่จะมีวาระจนถึงปี 2020 ยิ่งกว่านั้น เสียงคัดค้านที่เสนอให้ใช้การเลือกตั้งทั่วไปเป็นเวทีต่อสู้การตัดสินแทนการลงประชามติที่เสี่ยงสร้างความเสียหายให้กับประเทศ ก็ “ดัง” เข้าหูผู้นำศิษย์เก่า “อีตั้น” อันลือชื่อคนนี้อยู่ตลอดเวลา

Advertisement

ในเหตุผลความเป็นไปได้หลายๆ ประการนั้น มูลเหตุสำคัญที่เชื่อว่าทำให้เดวิด คาเมรอน กล้าหาญเดินหน้าท้าความเสี่ยง ก็เนื่องมาจากความมั่นใจในชัยชนะ

ความมั่นใจแรกสุด เกิดจากความสำเร็จของการลงประชามติในปี 2014 เมื่อชาวสก๊อตกว่าร้อยละ 55 โหวตเลือกให้สกอตแลนด์ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรต่อไป ทำให้นายกรัฐมนตรีเชื้อสายสก๊อตคนนี้มั่นใจว่าจะสามารถทำได้อีกครั้งในปี 2016 แบบสบายๆ เดวิด คาเมรอน เคยยืนยันกับบรรดาผู้นำในประชาคมยุโรปตั้งแต่ยังไม่ประกาศวันลงประชามติว่า (จะ) ชนะแน่แบบแบบอร์

การสร้างประวัติศาสตร์ทำให้พรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด กวาดที่นั่งได้เกินครึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 จนสามารถจัดตั้งพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษนั้น ย่อมสร้างความมั่นใจเกียร์สองให้กับเดวิด คาเมรอน ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีปีที่ 6 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอย่างไม่มีทางเป็นอื่นได้ มากกว่านั้น นอกจากจะมั่นใจในกระแสว่าประชาชนจะโหวตสนับสนุนแนวคิดการอยู่ภายในสหภาพยุโรปตามผู้นำแล้ว เดวิด คาเมรอน ยังโชคดีที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ โดยเฉพาะจากพรรคแรงงานคู่แข่งทางการเมืองตลอดกาล รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีต่างพรรคอย่างโทนี แบร์ และกอร์ดอน บราวน์ เรียกว่าการลงประชามติครั้งนี้ สามารถสร้างพันธมิตรต่างพรรคได้อย่างน่ามหัศจรรย์

ความมั่นใจที่สาม ก็คือผลสำรวจความคิดเห็นที่เสียงส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนให้คงอยู่ร่วมในประชาคมยุโรปต่อไป และเชื่อมั่น (ผิดๆ) ว่าจะมีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันลงคะแนนเสียง ว่ากันว่านายเดวิด คาเมรอน และทีมงานผู้สนับสนุนถึงกับเตรียมฉลองชัยตั้งแต่ยังไม่ได้มีการเปิดหีบนับคะแนน เพราะมั่นใจอย่างมากๆ ว่าจะชนะแน่นอนแบบไม่มีทางเกิดปาฏิหาริย์ใดๆ ได้ มั่นใจมาตลอดถึงขั้นไม่เคยคิดเตรียมการแผนสำรองในกรณีที่เกิดผล (โหวต) ตรงข้ามอย่างที่เกิดขึ้นจริงๆ

สุดท้ายแล้ว ความมั่นใจดังกล่าว (ถูกมองว่า) กลายเป็นความหายนะทั้งต่อสหราชอาณาจักรและต่อประชาคมโลกยุโรปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน รวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีเองด้วย แน่นอนที่สุดว่าผลการลงประชามติที่เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 52 ต้องการให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเป็นความจริงที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้

แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นใหญ่หลวงเกินกว่าที่ใครจะประเมินหรือจินตนการได้ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทูต สังคม รวมทั้งทางด้านจิตวิทยานั้น หากเกิดขึ้นจริงใครจะรับผิดชอบและใครเป็นผู้รับกรรม

เป็นที่รับรู้กันในวงการเมืองของเกาะอังกฤษว่า เป้าหมายที่แท้จริงของนายกรัฐมนตรี (ที่เคยถูกยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มาร์กาเร็ต แธตเชอร์คนนี้) ที่ตัดสินใจเล่นเกมเสี่ยงยินยอมให้มีการลงประชามติในครั้งนี้ ก็เพราะมั่นใจว่าชัยชนะจะช่วยยุติปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคอนุรักษนิยมและกำราบศัตรูทางการเมืองภายในโดยเฉพาะกลุ่ม Eurosceptics ที่มีแนวคิดต่อต้านประชาคมยุโรปให้เงียบเสียงไปได้อีกนานเป็นทศวรรษ ในขณะเดียวกัน ก็จะเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจากับผู้นำยุโรปได้อีกหลายเท่าตัว

เดวิด คาเมรอน เคยวาดหวังมากกว่านั้นว่า จะสร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ชนะการเลือกตั้งถึงสองสมัย และเป็นผู้ชนะในการลงประชามติครั้งสำคัญถึงสามครั้ง สร้างประวัติศาสตร์ที่ต้องมีการจารึกและกล่าวถึงไปถึงรุ่นหลานรุ่นเหลนว่า เป็นนายกรัฐมนตรีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลงประชามติตัดสินใจทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ

แต่สุดท้าย เมื่อความพ่ายแพ้เกิดขึ้น ความหายนะก็เกิดตามมา การแถลงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเดวิด คาเมรอน ในช่วงเวลาแปดโมงเช้า (ไม่นานหลังจากผลการนับคะแนนปรากฏอย่างเป็นทางการแล้ว) ด้านหนึ่งถูกยกย่องว่าเป็นสปิริตของผู้นำที่สมควรเอาเป็นแบบอย่างในการแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ดูเป็นความจริงที่ขมขื่นยิ่งกว่า

ดูเหมือนว่า เดวิด คาเมรอน เลือกที่จะถอนหนามออกจากอกและโยน “เหล็กร้อน” ให้ว่าที่ผู้นำคนต่อไปอย่างเลือดเย็น

ในการแถลงด้วยเสียงสะอื้น เดวิด คาเมรอน ระบุไว้อย่างชัดเจน ภาระหน้าที่ในการยื่นเรื่องขอลาออกจากสมาชิกภาพสภาพยุโรปอย่างเป็นทางการนั้น เป็นของผู้นำคนใหม่ ทั้งๆ ที่เคยยืนยันเป็นหลักเป็นฐานก่อนการลงประชามติว่า จะเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจแห่งประวัติศาสตร์นี้

ในการคิดคำนวณจนนำไปสู่การตัดสินใจลาออกแบบกะทันหันนี้ เดวิด คาเมรอน ย่อมไม่ต้องการที่จะให้ประวัติศาสตร์จารึกชื่อ “David Cameron” ในฐานะผู้ทำให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป สกอตแลนด์แยกออกจากสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์เหนือรวมประเทศกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ และอีกสารพัดปัญหาที่จะทำให้สหราชอาณาจักรในวันพรุ่งนี้แตกต่างจากสหราชอาณาจักรในวันนี้อย่างมหาศาลก็เป็นได้

ในภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ว่า น้ำตาของเดวิด คาเมรอน ที่หลั่งในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนนั้น เป็นน้ำตาแห่งความรู้สึกเสียใจต่อการตัดสินใจผิดพลาดจนทำประเทศเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเสียดายที่จำใจต้องก้าวลงจากตำแหน่งในสภาพของผู้แพ้

แต่อย่างน้อยที่สุด เดวิด คาเมรอน ได้ยกภาระอันหนักอึ้งที่สุดนี้ออกจากตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (พร้อมๆ กับดับฝันทางการเมืองของบอริส จอห์นสัน ที่จะก้าวขึ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป) กลายเป็นภาะอันใหญ่หลวงสำหรับกัปตันเรือคนใหม่ที่นำเรือ UK ลำนี้ฝ่าคลื่นแรงถอยหลังหรือมุ่งหน้าสู่ที่หมายใดก็ไม่อาจคาดการณ์ได้แม่นยำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image