คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เราเกลียดชัง‘คนรวย’เพราะเขารวย?

ราวกับว่าช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คนในระดับมหาเศรษฐีของประเทศนี้อยู่ดีๆ ก็ออกมาทำ หรือพูดอะไรที่ไม่เห็นหัวประชาชนคนส่วนใหญ่ ผู้คนที่อาจจะไม่ได้มีฐานะมั่งคั่งในลีกเดียวกับบุคคลเหล่านั้น

ก่อนหน้าก็มีเรื่องทายาทตระกูลเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ไทยระดับโลกที่เกือบจะซื้อกระบวนยุติธรรมไปได้อย่างอุกอาจ ตามมาด้วยเจ้าของอสังหาริมทรัพย์และรีสอร์ตหรูที่ออกมาแสดงทรรศนะชวนส่ายหัว และล่าสุดคือ เจ้าของโรงเรียนเอกชนเครือใหญ่เจ้าเดียวกับที่ได้เล่าไปในคอลัมน์ตอนที่แล้วออกมาแสดงทรรศนะที่ดูถูกเหยียดหยามผู้ปกครองเด็กที่เป็นผู้เสียหายอย่างไม่ยี่หระ โดยไม่นำพาว่าพวกคนสวมเสื้อแดงๆ ปากแดงๆ ออกมาเฮฮู้ฮ่านั้นก็ล้วนแต่เป็นคนแบบเดียวกับ “กลุ่มลูกค้าหลัก” ของเขาทั้งสิ้น

การ “เรียกแขก” ของบรรดาคนรวยระดับประเทศเหล่านี้ก็ทำให้คนส่วนใหญ่ที่เหลือในสังคมนั้นรู้สึกอดรนทนไม่ได้จนต้องจัด “ทัวร์” ไปลงกันเสียจนต้องหลบลี้หนีหน้าหรือออกมาขอโทษขอโพยกันบ้าง

แต่ก็ยังมีผู้ที่ออกมากางปีกป้องผู้มั่งคั่งเหล่านั้นอยู่บ้าง ด้วยข้อโต้แย้งในแนวทางที่ว่า ที่ไปจัดทัวร์ลงใส่เขานั้น เพราะอิจฉาในความร่ำรวยของพวกเขาใช่ไหม และ มันผิดอะไรที่เขาจะรวยขนาดนี้ มันก็เพราะ พ่อแม่บรรพบุรุษของเขาสั่งสมมา หรือ ที่ว่าจะแบนกิจการของเขาน่ะ มีปัญญาไปใช้บริการหรือเปล่า

Advertisement

มิตรสหายท่านหนึ่งมาชวนคุยตั้งข้อสังเกตว่า เท่าที่เห็น บรรดากลุ่มประชาชนปกป้องมหาเศรษฐีนั้น บางคนก็ไม่ได้ใช่คนมีฐานะดีอะไรเท่าไรนัก แต่ทำไมจึงมาเป็นปากเสียงเถียงแทนผู้มั่งคั่งเหล่านั้น

หรือหากใครเคยเฉียดเข้าไปอ่านกระทู้ในเว็บบอร์ดชุมชนออนไลน์เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยอย่าง pantip.com คงจะทราบว่า ผู้คนในพื้นที่นั้นเหมือนจะมีแนวคิดหรือจารีตเฉพาะอยู่ที่ถ้ามีความขัดแย้ง สมมุติว่ามีผู้ไปโพสต์ว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือได้รับความเดือดร้อนจากทุนใหญ่ หรือระบบที่อำนาจเหนือกว่า คนในเว็บบอร์ดนั้นส่วนใหญ่จะเลือกเข้าข้างฝ่ายนายทุนผู้มั่งคั่ง หรือกลไกธุรกิจยักษ์ และชี้ว่าปัญหาโทษทั้งหลายนั้นเกิดจากฝ่ายที่เดือดร้อนเสียหายนั้นผิดเอง ยอมรับความเสียหายนั้นเอง ไม่ศึกษาเอง แข่งขันกับเขาไม่ได้เอง หรือโง่เอง ด้วยเหตุผลประเภทว่า ทำธุรกิจทำไมไม่รู้จักปรับตัว บ้าง ทำไมไม่รู้จักพัฒนาหาทักษะใส่ตัว หรือก็คิดแบบนี้ไงคุณถึงยังจน

วาทกรรมที่ว่า ค้าขายไม่ดี ถูกเลิกจ้าง ต้องปิดกิจการเพราะเศรษฐกิจไม่ดีไม่ได้นั้นเป็นเพียงข้ออ้าง ทำไมไม่รู้จักปรับตัวไปขายออนไลน์ นั้นก็เริ่มต้นที่นี่

Advertisement

มิตรสหายท่านนั้นสรุปรวบยอดคำถามชวนคิดไว้ด้วยประโยคเดียวว่า “ทำไมคนเหล่านั้นจึงตั้งค่าความคิดแบบเข้าข้างคนรวยไว้ก่อน”

เรามาลองทำความเข้าใจคนประเภทที่พยายามสร้างกรอบคิด หรือแม้แต่สะกดจิตตัวเองให้ “บูชาคนรวย” และ “ความร่ำรวย” รวมถึงพยายามเป็นพวกเดียวกับ “คนรวย” และเชื่อว่าที่คนรวยนั้นทำอะไรก็ถูก มีเหตุผลเข้าใจได้กันดูบ้าง

หากใครเคยเข้าคอร์สประเภทสัมมนาสอนรวย หรืออ่านหนังสือแนวๆ นี้ คงเคยได้ยินกฎทองคำข้อสำคัญสำหรับการที่ใครอยากจะปรับฐานะให้เป็นคนรวยกับเขาบ้างว่า อย่างแรก คุณต้องปรับจิตใจเลิกเกลียดคนรวย คิดแบบคนรวย และพยายามเป็นพวกกับคนรวยให้ได้เสียก่อน

ไม่แน่ใจว่าใครเป็นต้นตำรับความคิดนี้ในโลก แต่สำหรับแวดวงโค้ชชิ่งและ “สอนรวย” ของไทย เห็นว่าน่าจะจำและสอนตามๆ กันมาจากหนังสือขายดีระดับโลกเรื่อง Secrets of the Millionaire Mind ของ T. Harv Eker ที่มีฉบับแปลไทยแล้วในชื่อว่า “ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน”

ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในกฎข้อที่ 6 ว่า “คนรวยชื่นชมผู้ร่ำรวยและประสบความสำเร็จคนอื่นๆ คนจนชิงชังผู้ร่ำรวยและประสบความสำเร็จ” ซึ่งก็จะเชื่อมโยงไปถึงข้อที่ 7 ด้วยว่า “คนรวยคบหาสมาคมกับคนที่มองโลกในแง่ดีและประสบความสำเร็จ คนจนขลุกอยู่กับคนที่มองโลกในแง่ร้าย หรือไม่ประสบความสำเร็จ”

แกนหลักของความคิดนี้อยู่ที่ว่า คนส่วนใหญ่(ที่ยังจนอยู่นั่นแหละ) มักจะเกลียดชังคนร่ำรวย โดยมองว่าคนรวยนั้นเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นหรือสังคมจึงร่ำรวยมาได้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วก็ไม่ได้จำเป็นว่าต้องเป็นเช่นนั้น แต่การเกลียดชังคนรวยนั้นจะไปทำให้เรามีกรอบคิดในสมองต่อต้านเงินทองและความร่ำรวยโดยที่เราไม่รู้ตัว และนั่นก็ส่งผลให้เราไม่รวยไปเลยจริงๆ ดังนั้นถ้าอยากร่ำรวย คุณต้องเริ่มจากการชื่นชมคนรวยและผู้ประสบความสำเร็จ และถ้าเป็นไปได้ให้ไปหาคบค้าสมาคมกับผู้คนเหล่านั้นด้วย

อันที่จริงเหตุผลประการหนึ่งจากกฎข้อนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะผิด นั่นก็คือความจริงที่ว่าคนรวยหรือความร่ำรวยนั้นเป็นคนละเรื่องกับคนเห็นแก่ตัวหรือความเอารัดเอาเปรียบ คนรวยที่จิตใจดีงามและยุติธรรมมีอยู่ถมไป และความร่ำรวยของเศรษฐีส่วนใหญ่ก็เกิดจากน้ำพักน้ำแรง หรือมันสมองของพวกเขาเองจริงๆ นั้นก็มีจำนวนมากกว่า

แต่กฎแห่งความร่ำรวยข้อนี้ ก็ทำให้มีผู้ตีความเลยเถิดไปจนกลายเป็นว่า พวกคนที่มา “ด่าคนรวย” นี้เป็นเพราะเป็นพวกมีความคิดแบบคนจน ดังนั้นเขาจะร่วมไปกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์พวกคนรวยระดับอภิมหาเศรษฐีนี้ไม่ได้ แม้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เพราะถ้าเขาไปร่วมลงทัวร์กับคนพวกนั้นเสียแล้ว เท่ากับเขาจะเป็น “พวกมีความคิดแบบคนจน” และมองโลกในแง่ร้ายแง่ลบ ซึ่งจะส่งผลต่อกรอบคิดเรื่องความมั่งคั่ง

หลายคนที่ยึดถือกฎแห่งความร่ำรวยข้อนี้นอกจากจะไม่ร่วมกระแสวิพากษ์วิจารณ์บรรดาผู้มีฐานะดีที่เป็นกระแสในสังคมแล้ว ยังตั้งตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกระแสนั้นด้วย เพราะเชื่อว่าการจะมี “สมองเงินล้าน” นั้น ต้องมองความร่ำรวยและคนรวยในแง่ดี และหาเหตุผลมาอธิบายความชอบธรรมให้แก่คนร่ำรวยที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์นั้นให้ได้ด้วย

ก็จึงไม่แปลกถ้ามีใครสักคนไปตั้งกระทู้เกี่ยวกับการถูกเอารัดเอาเปรียบในการจ้างงาน ต้องมีคนไปสวมจิตใจเล่นบทบาทเป็นนายทุนหรือนายจ้างตอบอย่างไม่ยี่หระว่า “ทนไม่ได้ก็ลาออกไปหางานใหม่สิครับ” เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้ถูกแล้ว ดีแล้ว เป็นวิถีหนึ่งของความร่ำรวย

หรือบางคนก็อาจจะไม่ได้ทำตาม หรือแม้แต่รู้จักไอ้กฎแห่งความรวยข้อนี้หรอก เพียงแต่พวกเขาเชื่อว่า เขาอยู่บนเส้นทางที่จะประสบความสำเร็จนั้นแล้ว ด้วยความอดทน ความพยายาม และความสามารถ ความทะเยอะทะยานและมั่นใจ กับยังไม่เคยล้มอย่างจริงจัง หรือถูกเอาเปรียบแบบแก้ไขป้องกันไม่ได้ ทำให้เขาเผลอดูหมิ่นดูแคลนคนที่ประสบชะตากรรมเช่นนั้นเพราะเชื่อว่ามันเกิดจากการที่ผู้เดือดร้อนนั้นเป็นพวกขี้แพ้ที่ต้องถูกระบบคัดออกไปโดยชอบแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะยอมรับว่าความมั่งคั่งร่ำรวยนั้นไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเอารัดเอาเปรียบ หรือเห็นแก่ตัว แต่ก็ปรากฏว่ามีการทดลองเชิงกลไกสมองและพฤติกรรมหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งอ้างถึงในหนังสือ คิด, เร็วและช้า (Thinking, fast and slow) ของศาสตราจารย์แดเนียล คาห์นเนอมาน นักเศรษฐศาสตร์จิตวิทยารางวัลโนเบลในเรื่องที่เกี่ยวกับการปูพื้นฐานความคิดว่า ถ้าเราให้อาสาสมัครกลุ่มทดลองแต่งประโยคที่เกี่ยวข้องกับเงิน ความร่ำรวย ค่าตอบแทน หรือให้เห็นภาพธนบัตรหรือภาพอะไรที่สื่อถึงเงินทอง จากนั้นให้สร้างสถานการณ์ให้มีคนทำอะไรผิดพลาดในห้อง เช่น ทำดินสอในกล่องตกกระจาย หรือร้องขอความช่วยเหลือในบางเรื่อง ผลจะปรากฏว่ากลุ่มทดลองนั้นจะมีแนวโน้มว่าจะมีคนเข้าไปช่วยเหลือน้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ให้อ่าน หรือถูกปูพื้นด้วยเรื่องของเงินทองและความมั่งคั่งอย่างมีนัยสำคัญ

การทดลองนี้คงไม่ได้มุ่งชี้ผิดถูกอะไรในเชิงจริยธรรม แต่ก็เป็นไปได้ว่าโดยสัญชาตญาณของคนทั่วไปนั้นมีการเชื่อมโยงว่า หากตัวเราจะมีเงินหรือมั่งคั่งได้แล้ว ก็จำเป็นจะต้องลดความเห็นอกเห็นใจ หรือคิดถึงคนอื่นให้น้อยลงด้วย ด้วยธรรมชาติของเงินที่เป็นตัวแทนค่าของทรัพยากรอันปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอยู่จำกัด

และย้ำอีกเป็นครั้งที่สามว่า ความร่ำรวย หรือการเป็นคนรวยนั้นไม่ได้แปลว่าหมายถึงการเห็นแก่ตัว หรือเอาเปรียบสังคมโดยอัตโนมัติ หรือความร่ำรวยเป็นความผิดและเกิดมาเป็นคนรวยเป็นบาปกำเนิด อันที่จริงการยกย่องชื่นชมคนที่ร่ำรวยนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องที่สมควรจริงๆ หากความร่ำรวยของเขานั้นมาจากความรู้ความสามารถ ความอดทนและการทำงานอย่างหนักของพวกเขา

เพราะนั่นเท่ากับเราชื่นชมในศักยภาพของมนุษย์คนหนึ่ง โดยความร่ำรวย หรือทรัพย์สินของเขาเป็นเพียงตัวชี้วัดอันเป็นรูปธรรมเท่านั้น ซึ่งเราจะยิ่งชื่นชม หรือยินดีต่อความร่ำรวยของเขาได้เต็มปากเต็มใจ ถ้าเขาเป็นคนร่ำรวยที่อยู่ในประเทศ ซึ่งเป็นระบบที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมีกลไกลดความเหลื่อมล้ำได้ในระดับหนึ่ง จนเรายอมรับได้อย่างแท้จริงว่าความร่ำรวยของเขาไม่ได้มีตัวช่วยมาจากการฉวยโอกาสหรือเอาเปรียบด้วยระบบหรืออำนาจอันไม่เป็นธรรม

แตกต่างจากคนร่ำรวยบางจำพวกในบางประเทศ ในการปกครองและเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดว่าความร่ำรวยอย่างมหาศาลของเขานั้นมาจากการเข้าไปเกื้อหนุนหล่อเลี้ยงกลไกอันไม่เป็นธรรมที่สร้างสภาวะอันได้เปรียบอย่างไม่รู้จบให้พวกเขา โดยเฉพาะกลไกของอำนาจรัฐและการเมือง ใช้อำนาจละเว้น หรือกำหนดกติกาจนกระทั่งได้เป็นเจ้าใหญ่หนึ่งเดียวในธุรกิจผูกขาด หรือได้เข้าไปใช้ทรัพยากรที่น่าสงสัยถึงความถูกต้องตามกฎหมาย หรือได้ประโยชน์จากการย่อหย่อนหรี่ตาให้ของระบบราชการที่ต้องกำกับดูแล

เช่นนี้ ถ้าเรารู้สึกอดรนทนไม่ไหวอยากจะ “ด่าคนรวย” บางคนบางท่านเสียบ้างก็ไม่ต้องรู้สึกแย่ หรือเป็นขี้แพ้อะไร เพียงขอให้แน่ใจว่าที่เราด่านั้นไม่ใช่ เพราะเขาเป็นคนรวย แต่เป็นเพราะที่มาแห่งความร่ำรวย และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของพวกเขาต่างหาก

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image