อำนาจอธิปไตยคืออะไร? โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

แฟ้มภาพ

ผู้เขียนได้เริ่มอ่านร่างเบื้องต้นของรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มกราคมนี้ ซึ่งอ่านได้แค่มาตรา 3 ที่ว่า

“อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติ หน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม” ก็ชะงักแล้วรำพึงกับตัวเองว่า ปวงชนชาวไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่เป็นคำดาดๆ จนดูเหมือนคนจะรู้จักโดยทั่วไปว่าอำนาจอธิปไตยคืออำนาจสูงสุดที่ใช้ในการปกครองปกครองประเทศ แต่เป็นของปวงชนหรือประชาชนคนไทยจริงหรือไม่ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็เขียนไว้อย่างนี้

แต่ “อำนาจอธิปไตย” คืออะไร? เพราะว่าการที่จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับว่า “อำนาจสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศนั้นเป็นของประชาชน” ดูออกจะเป็นตลกฝืดๆ ที่โกหกพกลมไปเรื่อยๆ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ดูจะไม่มีอำนาจในการปกครองประเทศเลยนอกจากประชาชนส่วนน้อยจำนวนไม่ถึง 1% ของประชาชนชาวไทยทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนายทหารระดับสูงทั้งนั้นที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ นี่ว่ากันตามประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 กันมาเลยทีเดียว

ทีนี้เรามาว่ากันถึงความเป็นมาเป็นไปของ “อำนาจอธิปไตย” กันดีกว่า แบบว่ารู้ประวัติความเป็นมาของอำนาจอธิปไตยแล้วจะได้เข้าใจจริงๆ กันเสียทีว่าทำไมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถึงตะบี้ตะบันเขียนลงไปทุกฉบับว่า “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”

Advertisement

เนื่องจากความรู้ทางวิชาการของภูมิภาคยุโรปตะวันตกมีอิทธิพลต่อความเชื่อและความรู้สึกนึกคิดของชาวโลกปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่องอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) นี้บัญญัติขึ้นโดยนายฌอง โบแดง (Jean Bodin) ชาวฝรั่งเศสเมื่อประมาณ พ.ศ.2100 และเป็นคนแรกที่ริเริ่มใช้คำว่า “อำนาจอธิปไตย” เนื่องจากในช่วงนั้นยุโรปตะวันตกได้มีการพัฒนาทางการเมืองขึ้นเป็นรัฐชาติ (nation state) แล้วตั้งแต่ในช่วงนั้นพระสันตะปาปาแห่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้อ้างอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าผ่านทางนักบุญปีเตอร์มาสู่พระสันตะปาปาเพื่ออ้างความชอบธรรมที่จะมีอำนาจเหนือรัฐชาติต่างๆ ในยุโรปตะวันตก ทำให้ ฌอง โบแดงได้บัญญัติคำว่า “อำนาจอธิปไตย” ขึ้นเพื่อลบล้างอิทธิพลของพระสันตะปาปา โดยเขียนเผยแพร่ว่า อำนาจอธิปไตยนั้นเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ฌอง โบแดง ได้เสนอทฤษฎีอำนาจอธิปไตยในหนังสือเรื่อง “Six Books” ไว้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นเครื่องหมายที่บอกถึงความแตกต่างระหว่างรัฐกับสังคมอื่นๆ ที่ครอบครัวหลายครอบครัวอยู่ร่วมกัน ว่าครอบครัวเป็นพลเมืองของรัฐ ซึ่งต้องยอม

อยู่ภายใต้อำนาจขององค์อธิปัตย์ หรือผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุด

โดยหลักการนี้ รัฐจึงประกอบด้วยผู้ปกครองและผู้ใต้อำนาจปกครอง และการยอมรับในอำนาจปกครองของพลเมืองผู้อยู่ใต้การปกครองนี่เอง จะทำให้มนุษย์เป็นพลเมืองได้เป็นประการสำคัญ นอกจากรัฐจะมีอธิปัตย์หรือมีอำนาจอธิปไตยแล้ว รัฐจะมีพลเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองอันเดียวกัน แม้พลเมืองจะมีขนบธรรมเนียมภาษากฎหมายที่ยอมรับบังคับใช้ หรือศาสนาที่ต่างจากผู้ปกครองก็ตาม เนื่องจากอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่รัฐทั้งหลายในโลกปกครองโดยระบอบที่มีกษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้คติความเชื่อทางการปกครองอันไม่แตกต่างกันมากนักว่ากษัตริย์เป็นผู้ได้รับอาณัติอำนาจจากสวรรค์ หรือจุติจากสวรรค์ลงมาปกครองโลก (Divine Rights of King)

Advertisement

พูดง่ายๆ ก็คือการเสนอเรื่องอำนาจอธิปไตยนั้นคือความพยายามที่จะปลดแอกของอำนาจของสันตะปาปามาให้กษัตริย์หรือผู้ปกครองรัฐต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันตกนั่นเอง

ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยของนายฌอง โบแดงได้รับการยอมรับและบัญญัติลงในสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลียซึ่งยุติสงคราม 30 ปีซึ่งเป็นสงครามศาสนาระหว่างพวกคาทอลิกกับพวกโปรเตสแตนต์ในเยอรมนี โดยทำให้องค์ประกอบของรัฐสมัยใหม่มี 4 ประการอย่างที่นักเรียน นักศึกษาท่องกันอยู่ปัจจุบันนี้ว่า “รัฐประกอบด้วย 1) ประชาชน 2) ดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน 3) รัฐบาล 4) อำนาจอธิปไตย” นั่นเอง

ครับ! หลังจากนั้นก็เกิดนักคิดขึ้นอีก 3 คนที่ผู้ที่ศึกษาวิชารัฐศาสตร์ต้องเรียนแนวความคิดของทั้ง 3 คนนี้กันทุกคนคือ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) จอห์น ล็อค (John Locke) และจัง จ๊าคส์ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) ที่เรียกรวมกันว่าเป็นทฤษฎีสัญญาประชาคม (The Social Contract Theory) ซึ่งสรุปเรื่องประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแทนกษัตริย์หรือผู้เผด็จการโดยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือคณาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยด้วยแนวความคิดทั้ง 3 คนนี้ โดยโธมัส ฮอบส์ ถือว่าประชาชนได้มอบอำนาจสิทธิธรรมชาติของตนทั้งหมดให้ผู้ปกครอง ประชาชนจะเรียกคืนหรือทวงถามคืนซึ่งอำนาจและสิทธิธรรมชาตินั้นมิได้โดยประการทั้งปวง

แต่จอห์น ล็อค ถือว่ารัฐบาลเป็นรัฐบาลแบบประชาธิปไตยจะต้องรับผิดชอบต่อคู่สัญญา คือ ประชาชน และประชาชนสามารถที่จะทวงถามเรียกอำนาจและสิทธิธรรมชาติคืนได้

ส่วนจัง จ๊าคส์ รุสโซ เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเป็นรัฐบาลแบบประชาธิปไตยโดยตรง และรัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ให้สอดคล้องกับความประสงค์ส่วนใหญ่ (General Will)

แต่ในปัจจุบันนี้แนวความคิดที่ว่า รัฐบาลเกิดจากการทำสัญญาของประชาชนนั้นจะมีไม่มากนัก แต่กลับจะเห็นไปว่ารัฐบาลเกิดจากความยินยอมของประชาชนยกอำนาจการปกครองให้อันจะนำไปสู่รากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

โปรดสังเกตว่าแม้ว่าโธมัส ฮอบส์ จะสนับสนุนการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่เขาเป็นผู้เริ่มต้นทฤษฎีสัญญาประชาคม แต่จอห์น ล็อค และจัง จ๊าคส์ รุสโซ นั้นเน้นเรื่องประชาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเมื่อเกิดมีการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2332 (สมัย ร.1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) และระบอบประชาธิปไตยที่ว่านี้ก็ขยายไปเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกซึ่งเป็นที่มาของการที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแจ้งชัดตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับได้เขียนไว้

แต่ผู้เขียนอ่านร่างเบื้องต้นของรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ จนจบแล้ว รู้สึกว่าเนื้อหาโดยเอาเฉพาะมาตราที่ 3 ที่คัดลอกมาแต่ต้นก็จะเห็นว่าทั้ง “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” ที่อ้างมานั้นว่าเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ดูจะไม่ได้ยึดโยงอะไรกับประชาชนเลย อาทิ วุฒิสภาก็เลือกกันเองในกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ นายกรัฐมนตรีก็มาจากคนนอก ศาลและองค์กรอิสระรวมทั้งหน่วยงานของรัฐก็ไม่ได้ให้ประชาชนเลือก

ดูจะเป็นรัฐธรรมนูญแบบระบอบคณาธิปไตยมากกว่าระบอบประชาธิปไตยนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image