เหมาเข่งอำนาจสถาปนา รธน. …เหาะเหินเกินลงกา

เหมาเข่งอำนาจสถาปนา รธน. …เหาะเหินเกินลงกา

คงต้องเกาะติดเกมการเมืองเรื่องแก้รัฐธรรมนูญกันต่อไปจนกว่าจะเกิดความชัดเจน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อสถานการณ์และระบบการเมืองไทยโดยตรง จะเดินหน้าหรือถอยหลังยิ่งกว่า 6 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุดกรรมาธิการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มี ส.ส. 30 คน ส.ว. 15 คน ร่วมกันขอเวลา 30 วันก่อนรับหลักการ มีมติตั้งอนุกรรมาธิการพิจารณาเสนอความเห็นประเด็นข้อกฎหมาย เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายส่วนหนึ่งที่เคยเป็นอดีตกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว นัดประชุมครั้งแรก
วันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา

คำถามมีว่า ประเด็นข้อกฎหมายเรื่องใดบ้าง ที่เกิดข้อถกเถียง จากความเห็นต่าง ทั้งที่เกี่ยวกับเนื้อหา และกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม

ประเด็นร้องแรงเร่งด่วนที่สุดเวลานี้ คงเป็นเรื่องของการทำประชามติ ต้องทำในกรณีใด ทำกี่ครั้ง ทำเมื่อไหร่

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างใหม่ ซึ่งความเห็นแบ่งออกสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าต้องทำประชามติ รับฟังความเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงก่อน ที่จะมี ส.ส.ร.

โดยอ้างคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยชี้ว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน หากจะแก้ไขต้องไปขออนุญาตประชาชนเสียก่อน แนวทางนี้เข้าข่ายทำประชามติสองครั้ง ทั้งก่อนและหลังร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นต่าง มองว่าไม่จำเป็นต้องทำถึงสองครั้ง แต่ทำครั้งเดียวเมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ

Advertisement

ไม่ว่าอนุกรรมาธิการจะสรุปความเห็นออกมาในแนวทางใดก็ตาม ต้องผ่านอีกสองด่าน ด่านแรกในที่ประชุมกรรมาธิการ และด่านที่สองในที่ประชุมรัฐสภาภายหลังครบกำหนด 30 วัน ซึ่งจะเปิดประชุมวันที่ 2 พฤศจิกายน

แม้จะมีข้อสรุปแล้วก็ตาม ในความเป็นจริงการลงประชามติก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที เพราะคณะรัฐมนตรีเพิ่งส่งร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา

ฉะนั้นจะต้องรอจนกว่ากรรมการกฤษฎีกาส่งร่างเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จนผ่านขั้นตอนของวุฒิสภาตามลำดับ ออกมาใช้บังคับ การเตรียมการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงจะเริ่มดำเนินการได้ ต้องใช้เวลาอีกนานนับปี สถานการณ์จะร้อนแรงขึ้นขนาดไหน คาดเดาได้ยาก

นอกจากประเด็นการทำประชามติแล้ว ข้อถกเถียงว่าด้วยการออกแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เห็นต่างกัน ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งวุฒิสมาชิก

โครงสร้างสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร มีจำนวนเท่าไหร่ ที่มาอย่างไร คุณสมบัติ ระดับไหน ต้องถกเถียงอภิปรายเจรจาต่อรองกันอีก

ระหว่างมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนน จำนวนเป็นไปตามสัดส่วนประชากรในจังหวัด กับผสมผสานประชาชนเลือกส่วนหนึ่งและสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิอีกส่วนหนึ่งโดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ภายใต้ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ความร้อนแรงที่น่าติดตามผล ก็คือ การประชุมรัฐสภาภายหลังครบกำหนด 30 วัน จะมีวุฒิสมาชิกให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขครบ 1 ในสามของทั้งหมด หรือ 84 คน หรือไม่ อยู่ดี

ถึงวันที่ต้องตัดสินใจระหว่างประเด็นข้อถกเถียงทางเทคนิคทางกฎหมาย กับ ข้อถกเถียงทางจุดยืนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่แสดงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ อะไรควรมาก่อนหลัง สังคมจะได้เห็นตัวจริงของผู้ทรงเกียรติอีกครั้ง

ถ้าติดตามท่าทีของวุฒิสมาชิกมาตามลำดับจะพบว่า ตอนแรกให้ความสำคัญกับเนื้อหา โดยเห็นด้วยการแก้ไขในรายละเอียดเนื้อหาเป็นรายมาตราเฉพาะที่เกิดปัญหาตีความต่างกัน และคัดค้านกระบวนการแก้ไขโดยให้มี ส.ส.ร.อ้างเหตุผลว่าไม่มีหลักประกันจะร่างใหม่ออกมาอย่างไร อาจเลยเถิดไปถึงเรื่องที่ไม่สมควรเพราะไม่มีกรอบขอบเขต

แต่พอฝ่ายค้านเสนอญัตติแก้ไขเป็นรายมาตราเพิ่มเติมอีก 4 ญัตติ ที่สำคัญให้ตัดอำนาจวุฒิสมาชิกในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี กับการกำกับติดตามการปฏิรูปประเทศโดยเสนอให้ออกกฎหมายระดับรองแยกต่างหาก

วุฒิสมาชิกแทนที่จะสนับสนุนญัตติแก้ไขรายมาตราตามท่าทีแต่แรก กลับยกเอาเรื่องการมี ส.ส.ร.ขึ้นมาเป็นเหตุ

เหมาเข่ง ตีขลุมไปหมด ไม่ว่าแก้อย่างไร แก้ตรงไหน รายมาตรา หรือยกร่างใหม่โดย มี ส.ส.ร. ต้องทำประชามติถามประชาก่อนทั้งสิ้น

ครับ คอยติดตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการศึกษาประเด็นข้อกฎหมายสรุปออกมาก่อน ถึงค่อยมาตัดสินกันว่า แนวทางการตีความเหมาเข่งเช่นนี้เข้าข่ายเหาะเหินเกินลงกา เกินเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

สะท้อนความต้องการแท้จริง ที่จะตีรวน ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยืดยาวออกไปจนบทเฉพาะกาลครบกำหนดบังคับใช้ 5 ปี เลือกนายกรัฐมนตรีรอบใหม่อีกครั้งพอดี

ติดตามแล้วคิดถึงวลีเด็ดของอดีตประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตีตกไปที่ว่า เขาอยากอยู่ยาว อีกครั้งหนึ่งจนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image