เกาะขอบเวที สสส. ผ่าตัดนโยบาย ‘เด็กปฐมวัย’ เรียนรู้ สร้างสรรค์ ปลอดภัย

ท่ามกลางข่าวร้อนโรงเรียนดังที่ทำเอาหัวใจพ่อแม่เต้นระรัว

ท่ามกลางการเรียกร้องของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว” ต่อกระทรวงศึกษาธิการ ค้านอำนาจนิยมและกฎระเบียบล้าหลัง

ท่ามกลางคำถามที่ยิงหมัดตรงสู่ระบบการศึกษาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่เพียงในช่วงเวลาสำคัญนี้

ล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) มีการจัดเวทีระดมข้อเสนอต่อคณะกรรมการการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้หัวข้อ “ผ่าตัดนโยบายให้เด็กปฐมวัยมีพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย” ในรูปแบบ Online Policy Crowdsourcing สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ขับเคลื่อนสู่กลไกระดับชาติต่อไป

Advertisement

โจทย์ใหญ่ ‘สังคมสูงวัย’

สู่สปอตไลต์ ‘พัฒนาปฐมวัย’

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. เริ่มต้นให้ภาพรวมของการพัฒนาเด็กปฐมวัย ว่าเป็นภารกิจที่หลายหน่วยงานมีหน้าที่ร่วมกัน โดยประเทศไทยมีกลไกระดับชาติทำหน้าที่กำหนดทิศทาง มาตรฐาน และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความต่อเนื่อง ทั่วถึงและเท่าเทียม โดยให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่สร้างการมีส่วนร่วม บูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับชาติ ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชนจนถึงครอบครัว ให้มีกระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความหลากหลายแต่เป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล เป็นหลักประกันให้เด็กปฐมวัยได้รับการเลี้ยงดู พัฒนา ให้การศึกษาและได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ

ณัฐยา บุญภักดี

“โจทย์ใหญ่ในสังคมไทยตอนนี้ คือการเป็นสังคมสูงวัย ทำให้ต้องเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและช่วยดูแลสังคมเราต่อไป ซึ่งจะต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกัน เยียวยา ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก เร่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้กับเด็กปฐมวัยอย่างถ้วนหน้า รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2561 พบว่าเด็กวัยอนุบาลคือกลุ่มวัยที่ถูกอบรมด้วยการทำร้ายร่างกายมากกว่าเด็กวัยอื่นๆ เสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลทางใจ

ซึ่งรายงาน ThaiHealth Watch 2563 ก็พบว่า สายด่วนสุขภาพจิต 1323 มีเด็ก-เยาวชน โทรมาขอคำปรึกษาจำนวนมาก เพราะมีความเครียด วิตกกังวลสูง และกลัวเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ สมอง และพัฒนาการของพวกเขาในระยะยาว” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กฯ กล่าว

Advertisement

ก่อนเล่าว่า ในวันนี้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีกำหนดจะจัดประชุมเพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงคาดหวังว่าข้อเสนอเชิงนโยบายที่ภาคประชาชนระดมสมองร่วมกันในวันนี้ จะเป็นข้อมูลนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ เพื่อเป็นการสะท้อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่มีความห่วงใยต่อปัญหาการดูแลเด็กปฐมวัย

แนะครูปรับบทบาท จาก
‘ออกคำสั่ง’ เป็น ‘ผู้สังเกตการณ์’

จากนั้นมาฟังเสียงฝั่งโรงเรียนกันบ้าง เริ่มจาก ครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงเรียนเอกชน ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก และผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ

“เห็นการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนมาตลอด สิ่งที่เป็นปัญหาคือเราทำหน้าที่อนุบาลเด็กหรือเป็นโรงเรียนแล้วอนุบาล สิ่งสำคัญคือเราต้องมองธรรมชาติของเด็ก เด็กต้องการการอนุบาล เด็กต้องการแม่ ฉะนั้นเราต้องเป็นแม่ครู เด็กอนุบาลต้องการพื้นฐานชีวิตมากกว่าวิชาการ คืองานบ้าน งานครัว งานสวน เด็กต้องมีคนสร้างแรงบันดาลใจนั่นคือ คนเลี้ยงเด็ก โดยต้องทำตัวอย่างให้น่าเลียนแบบ” ครูอุ้ยเล่า

สอดคล้องกับมุมมองของ กรองทอง บุญประคอง หรือครูก้า ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชน ที่บอกเช่นกันว่า การอ่านเขียน ไม่จำเป็นต้องรีบเขียนตั้งแต่อนุบาล สิ่งสำคัญคือ จะทำโรงเรียนให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัยได้อย่างไร และต้องเป็นธุรกิจที่มีจรรยาบรรณของนักการศึกษา ในกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าผู้รับใบอนุญาตจะต้องจบด้านการศึกษาปฐมวัย ฉะนั้น ผู้รับใบอนุญาตต้องหาความรู้ความเข้าใจว่าเด็กวัยนี้ต้องรับการอนุบาลแบบไหน ผู้รับใบอนุญาตควรผ่านการอบรมในหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย ควรรับผิดชอบเด็กทั้งทางกายและทางใจรวมถึงสิทธิเด็ก และต้องมีการประเมินเพื่อต่อใบอนุญาต

เช่นเดียวกับความเห็นของ พงศ์ปณต ดีคง ผู้ก่อตั้งเพจ Leeway การเรียนรู้ผ่านการเล่น ที่เน้นย้ำว่า เด็กควรได้เรียนรู้ตามธรรมชาติด้วยตนเอง ครูควรเปลี่ยนจากการออกคำสั่งเป็นผู้สังเกตการณ์ ควรมีทักษะจิตวิทยาเด็ก นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า อีกหนึ่งปัญหาคือหลักสูตรเน้นให้สอนอ่านออกเขียนได้ และการเรียงโต๊ะเป็นแถวทำให้เด็กขาด “จินตนาการ”

“คิดว่าควรใช้หลักสูตร highscope ซึ่งผ่านการวิจัยมาแล้ว ว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ควรหากรอบในการอธิบายการเรียนการสอน ส่วนปัญหาด้านนวัตกรรม คือประเทศไทยยังขาดพื้นที่สำหรับครูในการรายงานผลพ่อแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก” พงศ์ปณตกล่าว

จิตวิทยา พื้นฐานอารมณ์ ‘ขอให้เด็กเป็นเด็กจริงๆ’

ข้อมูลในประโยคสุดท้ายจากผู้ก่อตั้งเพจ Leeway ข้างต้น สัมพันธ์กับความเห็นของ อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก และผู้บริหารไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) ผู้ทำโครงการด้าน Family Engagement ที่เปิดเผยว่า ไทยมีการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กได้เร็ว แต่มีปัญหาคือผู้ดูแลในศูนย์เด็กเล็กไม่ได้คุยกับผู้ปกครอง และสิ่งที่สำคัญจริงๆ สำหรับเด็กคือพื้นฐานทางอารมณ์

“เราขาดระบบในการแลกเปลี่ยนระหว่างพ่อแม่และผู้ดูแล และอีกปัญหาหนึ่งคือรัฐขาดผู้ตรวจสอบ ฉะนั้น ต้องให้ครอบครัวเป็นผู้ตรวจสอบ ขอเสนอการแก้ไขปัญหาว่าเราควรยกระดับองค์ความรู้ และกำหนดมาตรฐานการมีส่วนร่วมเชิงบวกระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง” อรุณฉัตรกล่าว

อีกหนึ่งมุมมองทางจิตวิทยา ที่มีความเห็นในทำนองเดียวกันคือ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็ก เจ้าของเพจ “ตามใจนักจิตวิทยา” ซึ่งระบุว่า ปัญหาของการศึกษาของเด็กปฐมวัยคือขาดบุคลากรที่ให้ความรู้ครู การดูแลเด็กต้องดูแลทั้งกาย ใจ และสติปัญญา และมีกฎง่ายๆ ให้เด็กคือไม่ทำลายตนเอง ผู้อื่นและสิ่งของ นอกจากนี้ ทุกโรงเรียนควรให้เด็กเล่นอย่างเพียงพอไม่ควรมีสอบเข้า ป.1 และครูควรรู้เรื่องพัฒนาการเด็ก การเล่นช่วยเด็กได้มาก ช่วยให้หลั่งสารความสุข ให้สมองได้เรียนรู้พัฒนาด้านเหตุผล ควรใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่สอบ และไม่ควรดูถูกศักยภาพเด็ก ขอเสนอว่าควรมีนักจิตวิทยาเด็ก หรือครูที่เรียนจิตวิทยาหรือการเล่นบำบัด เขตละ 1 คน ก่อนฝากทิ้งท้ายให้ผู้ใหญ่ดูแลจิตใจของทั้งเด็กและครู

ในขณะที่ ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร หรือครูใหม่ ผู้ก่อตั้ง 101 Educare Center และตัวแทนจาก Thailand EF partnership ซึ่งจบการศึกษาปฐมวัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา มองว่า ปัญหาในการศึกษาปฐมวัยคือจิตวิทยาเด็ก เรียนมาแต่ไม่ได้ใช้จริง และขาดองค์ความรู้หลายๆ ด้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีวินัยเชิงบวก ไม่ทำร้ายร่างกาย ตัวตนและสมอง ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก

“ขอให้เด็กเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นเด็กจริงๆ ได้เรียนรู้ตามพัฒนาการผ่านการเล่น ผ่านดนตรี อีกหนึ่งปัญหาคือครูและพ่อแม่ขาดการร่วมมือ ต้องติเพื่อก่อ เวลามีปัญหาต้องช่วยกันทั้งบ้านและโรงเรียน” ดร.ปิยวลีกล่าว

ด้าน นงเยาว์ แข่งเพ็ญแข หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คนแรก เสนอกระบวนการเรียนรู้แบบพัฒนาสมอง เทคนิคการบูรณาการสมองครบส่วนและพหุปัญญา ชี้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ถูกทำลายเพราะการหัดเขียนตาม

“ภาษาพูดคือภาษาที่แท้จริง ปัญหาคือครูสอนเด็กลอกเลียนผลงานมาเรื่อยๆ เด็กไม่ได้เข้าใจจริงๆ อย่าเติมวินัยลบให้เด็ก ทุกพฤติกรรมมีสาเหตุ เด็กไม่สามารถอธิบายได้เหมือนผู้ใหญ่ แสดงออกได้ด้วยการร้องไห้ ฉะนั้น เด็กจึงรู้สึกทุกข์กว่าเราพันเท่า”

รักในสิ่งที่ลูกเป็น เห็นในสิ่งที่ลูกทำ

“ขอให้ผู้ปกครองรักในสิ่งที่ลูกเป็น เห็นในสิ่งที่ลูกทำ”

คือคำกล่าวของ สรยศ พนายางกูร หรือครูก้อง ผู้บริหารโรงเรียนเศรษฐบุตรอุปถัมภ์ และตัวแทนจากสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยที่มีต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่วนโรงเรียน เสนอว่าการฝึกครูสำคัญที่สุด ควรมีการสอนเรื่องการเรียนรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น การป้องกัน ช่วยเหลือ เรียนรู้เข้าใจความรู้สึกคนอื่น นอกจากนี้ ควรมีการร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาจิตวิทยามาศึกษาโรงเรียนอนุบาล รัฐบาลควรมีระบบฐานข้อมูลที่ตรวจสอบประวัติครูได้ อย่างในประเทศออสเตรเลีย อเมริกาและอังกฤษ

ส่วน ภูวฤทธิ์ ภูวภิรมย์ขวัญ หรือครูเกด จากอนุบาลช้างเผือก ย้ำว่า พ่อแม่ควรเน้นให้ลูกเรียนอย่างมีความสุข ผู้ปกครองต้องร่วมมือกัน ให้เรียนอนุบาลผ่านการเล่น ต้องไม่แก้ปัญหาด้วยวินัยเชิงลบ อย่าดูแต่เกรด ส่วนโรงเรียนอย่าเน้นแต่ธุรกิจ จนมองข้ามเด็ก อย่าให้ทักษะชีวิตถูกมองข้าม สังคมทำให้กลายเป็นโรงเรียนเร่งเรียนไปหมด อีกข้อเสนอต้องขีดเส้นใต้คือ “ยกเลิกการติวสอบเข้า ป.1”

“ขอเสนอให้นโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยสอดคล้องกับพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็ก ให้เด็กขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยตนเอง โรงเรียนต้องให้ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครองเราควรทำให้เด็กมีความหลากหลาย”

ด้าน ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร หรือครูหม่อม จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอในประเด็นศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตปฐมวัย ด้วยแนวคิด ตัวตน-พัฒนาการ 4 ด้าน-ทักษะสมอง EF หรือทักษะการคิด และแนวคิด 5 มีอยู่จริง ได้แก่ ครูมีอยู่จริง เด็กมีอยู่จริง หลักสูตรมีอยู่จริง ครอบครัวมีอยู่จริง เพื่อนร่วมงานมีอยู่จริง

ส่วน พันเอก นพ.บวร แมลงภู่ทอง กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เยาวชนและครอบครัว เสนอแนวคิด เลี้ยงลูกใหม่ปั้นให้ดี และโมเดลบ้านสามหลัง บ้านหลังที่ 1 คือครอบครัว บ้านหลังที่ 2 คือสถานศึกษาและสถานที่ทำงาน บ้านหลังที่ 3 คือสังคม ทุกที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย พร้อมฝากถึงคุณครูและผู้ปกครองว่า “อยากให้เด็กเป็นอย่างไรเราต้องเป็นก่อน”

‘ไม่ตี ก็ดีได้’

มั่นคงจากภายใน เลิกใช้ความรุนแรง

“ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กอาจเกิดจากค่านิยม รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการเลี้ยงดูเด็กด้วยความรุนแรงจะทำให้เด็กเกิดความกลัว ฝังใจกับสิ่งที่ถูกกระทำ”

คือความเห็นของ เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ผู้สมัครเข้าร่วมเวทีระดมข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ความรุนแรงที่ฝังลึกลงในความทรงจำ ยังมีผลต่อพัฒนาการทั้งทางกายและใจ การจะลบค่านิยมไม้เรียวสร้างคน ต้องปรับที่ผู้ใหญ่ทุกคน โดยปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็ก ปลูกฝังแนวทางการเลี้ยงดูเด็กด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์และปลอดภัย

จากนั้นหันมาฟังข้อเสนอของ ธัญทิพย์ ชาติสวัสดิ์ จากมูลนิธิสุพรรณนิมิต ที่ระบุว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในไทยและทั่วโลก เกิดจากการอบรมวินัยที่ร้ายแรง ซึ่งส่งผลต่อเด็กในอนาคต และสาเหตุอาจมาจากผู้กระทำซึ่งอาจเคยถูกกระทำมาก่อน

“ขอเสนอว่าควรทำให้ระบบประเมิน ระบบตรวจสอบ ระบบการช่วยเหลือเด็กให้เข้มแข็งมากขึ้น อยากให้ทุกคนร่วมมือกันช่วยเหลือเด็กๆ โดยเริ่มต้นจากระดับท้องถิ่น ให้มีความร่วมมือระหว่างสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา ควรมีค่ายอบรมพ่อแม่ ให้ความรู้ผู้ปกครองตั้งแต่เด็กอยู่ในท้อง มองเด็กเป็นศูนย์กลาง ควรดูแลเด็กแบบองค์รวม ทั้งเด็กและชุมชน”

ด้านกุมารแพทย์จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ เสนอมาตรการการดูแลปกป้องเด็กและมาตรการในการควบคุมดูแลคุณครู ได้แก่ ห้ามใช้พฤติกรรมรุนแรงต่อเด็กทั้งทางกาย วาจา อารมณ์ โดยให้บุคลากรเซ็นรับทราบข้อตกลงนี้และกำชับว่าห้ามเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แต่หากเกิดขึ้นแล้ว ทั้งผู้กระทำและผู้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่เข้าช่วยเหลือจะถูกให้ออกสถานเดียว

นอกจากนี้ ควรอบรมให้เด็กทุกคนเป็นผู้แจ้งเหตุและอบรมครูเรื่องทักษะวิธีทางบวกในการอบรมเด็ก ติดกล้องวงจรปิด หากผู้บริหารไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ และนับว่าเป็นความผิดทางวินัย พร้อมฝากถึงคนที่คิดว่าการตีเด็กเป็นวิธีอบรมที่ดีว่า “ไม่ตีก็ดีได้และดีกว่า จากภายในที่มั่นคง”

เทคโนโลยีช่วยได้ โลก ‘ออนไลน์’
กับพรุ่งนี้ของการศึกษา

ปิดท้ายที่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ นั่นคือเทคโนโลยีที่มีผลต่อการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมไปถึงการแจ้งเหตุหากเด็ก “ถูกทำร้าย”

ชิตพงษ์ กิตตินราดร จากสถาบัน Change fusion แหล่งผลิตนวัตกรรม เทคโนโลยีและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสังคมบนโลกออนไลน์ กล่าวว่า เทคโนโลยีช่วยเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเหตุเกี่ยวกับเด็กที่ถูกทำร้าย และช่วยการคัดกรอง ว่าเด็กเป็นเหยื่อของความรุนแรงหรือไม่ เช่น โปรเจ็กต์ แชทบอท My SiS สำหรับช่วยผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงในครอบครัว, แชทบอท “ไม่ขำ” เพื่อช่วยเด็กจากการกลั่นแกล้งในโรงเรียน และระบบพยากรณ์ปัญหา EF เด็กปฐมวัย ช่วยให้ครูและผู้ปกครองรู้ว่าเด็กคนนี้มีปัญหาด้านพัฒนาการไหมอย่างไร เช่นถามเกี่ยวกับการอ่านนิทานให้เด็ก การกินนม โดยสามารถพยากรณ์ได้ผ่านพารามิเตอร์

ด้าน ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าพื้นที่ออนไลน์ที่เด็กปฐมวัยเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ในปัจจุบันเด็กเข้าถึงสื่อออนไลน์กว่า 90% ฉะนั้น จำเป็นต้องมีกติกาควบคุมการใช้งาน ควบคุมเนื้อหาที่เด็กเข้าถึงและควบคุมเวลาการเล่นไม่ให้นานเกินไป

พร้อมเสนอมาตรการ 5 ข้อ ได้แก่ สร้างแนวทางการใช้โซเชียลมีเดียในบ้าน ส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีทักษะในการคิดตาม การสร้างช่องทางให้แนวคิดเหล่านี้ไปถึงผู้ปกครอง สร้างแนวทางการใช้โซเชียลมีเดียในโรงเรียน และระเบียบข้อบังคับในการลงทะเบียนผู้ใช้งานที่ต้องระบุอายุของผู้ใช้

เป็นเวทีถกเถียงพูดคุยและเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในช่วงเวลาสำคัญนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image