ความห่วงใยจากสมเด็จพระเทพฯ ถึงหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ผู้เขียนได้มีโอกาสนำหน่วยแพทย์พระราชทานตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ในการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่อำเภออุ้มผาง ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา บ้านหม่องกว๊ะ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 เวลาประมาณ 10.45 น.

ขณะที่พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานและเยี่ยมราษฎร ผู้เขียนนำนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ในโครงการพิเศษของสมเด็จพระเทพฯ สำหรับคนพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ตามโครงการ ODOD ของกระทรวงสาธารณสุข โดยท่านนายกสภามหาวิทยาลัยพะเยา ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ และอธิการบดี ศ.พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ให้ความเห็นชอบ คือ นางสาวกัญญาภัค มินรินทร์ เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายรายงานผลการเรียน ซึ่งเธอเรียนได้เกรด 3.70 เมื่อทรงทราบได้ตรัสชมนิสิตว่าเรียนเก่งมาก ขอให้เรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่อุ้มผาง

เมื่อเสร็จสิ้นรายงานผลการเรียนของนิสิต พระองค์ท่านได้ตรัสถามผู้เขียนว่า…”ท่านเจ้าคุณเป็นอย่างไรบ้าง ได้ไปตรวจดูแลท่านเจ้าคุณอยู่หรือเปล่า…” ผู้เขียนรู้สึกปลื้มใจ ภูมิใจ ดีใจ ด้วยความซาบซึ้ง ปีติ เพราะ “ท่านเจ้าคุณ” ที่พระองค์ท่านทรงถามด้วยความห่วงใยนั้น คือ พระธรรมสิงหบุราจารย์ หรือ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี จำได้แม่นมั่นว่าผู้เขียนได้ทูลตอบพระองค์ไปว่า “หลวงพ่อท่านสบายดีพระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ายังไปดูแลหลวงพ่ออยู่เสมอพระเจ้าข้า” พระองค์ท่านทรงมีรอยยิ้ม พระพักตร์บ่งบอกถึงความสบายใจที่หลวงพ่อสบายดี ตามที่ผู้เขียนได้รายงานให้ทราบ จากนั้น ตอนบ่ายผู้เขียนได้โทรเล่าให้คุณหญิงไขศรีฟัง ท่านบอกว่านั่นแหละ สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงเป็นห่วงล่ะ…

ผู้เขียนกลับจากมหาวิทยาลัยพะเยา เข้ากรุงเทพมหานคร เช้าวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม รีบขับรถเข้าไปตรวจหลวงพ่อที่วัดอัมพวันเช้ากว่าปกติ (ปกติทุกวันเสาร์ผู้เขียนจะไปตรวจหลวงพ่อประจำช่วงเวลา 09.00 น.)

Advertisement

ทันทีที่พบหลวงพ่อ หลังจากวัดความดันโลหิต จับชีพจรและตรวจทั่วๆ ไป ซึ่งพบว่าอาการทั่วไปปกติดี จึงได้รายงานให้หลวงพ่อทราบว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ทรงตรัสถามถึงหลวงพ่อว่า “สบายดีไหม พบท่านเจ้าคุณหรือเปล่า ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง” และได้กราบเรียนหลวงพ่อตามที่ได้ทูลตอบสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไป สังเกตเห็นว่า หลวงพ่อมีสีหน้า แววตา และรอยยิ้มแจ่มใส บ่งบอกถึงความปีติยินดีและดีใจ แม้ท่านจะไม่แสดงออกด้วยการถามตอบ แต่ผู้เขียนเชื่อว่า “หลวงพ่อท่านได้พลังและกำลังใจอันยิ่งใหญ่ที่ได้ยินได้ฟังเป็นคำถ่ายทอดทุกคำพูดสื่อสารต่อให้ “หลวงพ่อ”

นั่นคือเหตุการณ์เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2558

สําหรับผู้เขียนได้พบและกราบนมัสการหลวงพ่อจรัญครั้งแรกในวังสวนจิตรลดา ขณะนั้นยังทำหน้าที่ผู้อำนวยการกองอนามัยครอบครัว กรมอนามัย ราวปี พ.ศ 2534-2535 ในตอนนั้นหลวงพ่อนั่งรอรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทราบจากท่านกรมวังผู้ใหญ่ (ว่าที่ร้อยตรีกิตติ ขันธมิตร) ว่าหลวงพ่อจรัญจะเข้ามาในวังสวนจิตรลดา ช่วงเดือนเกิดเมษายนของทุกปี เป็นเดือนที่พระองค์ท่านจะเลี้ยงขอบคุณข้าราชการผู้ใหญ่ ทุกกระทรวง ทบวง กรม กองต่างๆ ทั้งภาครัฐวิสาหกิจ เอกชน พ่อค้า ประชาชน ที่ได้ร่วมถวายงานกับพระองค์ท่านตลอดปีที่ผ่านมา…หลวงพ่อจะถวายปัจจัยโดยเสด็จพระราชกุศลตามอัธยาศัยทุกๆ ปี จุดนี้เองผู้เขียนจึงได้รู้ว่า…พอถึงเดือนพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทุกเดือนเมษายนของทุกปี ท่านจะต้องเข้าเฝ้าฯ และจะมีเด็กนักเรียนชาวเขาทั้งชายและหญิงอายุ 10-15 ปี ประมาณ 150-200 คน มาเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในคำกล่าวรายงานของท่านกรมวังผู้ใหญ่ ว่าที่ร้อยตรีกิตติจึงได้ทราบว่า ก่อนจะมาเข้าเฝ้าฯในเดือนเมษายนนั้น เด็กเหล่านี้จะเข้าอบรมบวชเณร บวชชี ที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งทำกันมานานแล้ว โดยโครงการนี้ชื่อว่า “โครงการบรรพชาสามเณรและโครงการอบรมปฏิบัติธรรมเนกขัมมะ (ศีลจาริณี) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ เป็นโครงการหนึ่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คัดเลือกนักเรียนในถิ่นทุรกันดารที่มีฐานะยากจนแต่เรียนดีเข้าพระราชทานพระราชานุเคราะห์ฯให้ศึกษาเล่าเรียนตามความสามารถและเหมาะสม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ได้สำเร็จการศึกษาและออกไปประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก

ในภาคฤดูร้อนของทุกปี สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้นำนักเรียน ในพระราชานุเคราะห์ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 2 เข้าร่วมกิจกรรมเทิดพระเกียรติเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยนักเรียนชายเข้าร่วมโครงการบรรพชาสามเณรตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ถึงปัจจุบันรวม 21 ครั้ง มีนักเรียนทั้งสิ้นจำนวน 1,560 คน และนักเรียนหญิง เข้าร่วมโครงการอบรมปฏิบัติเนกขัมมะ (ศีลจาริณี) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 รวม 16 ครั้ง มีนักเรียนทั้งสิ้นจำนวน 2,352 คน ณ วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จั.สิงห์บุรี โดยมี “พระธรรมสิงห์บุราจารย์” เป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่จะนำไปใช้ในการครองตน และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไป

อนึ่ง จะเห็นได้ว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญได้สนองแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มามากกว่า 20 ปีแล้ว และเด็กนักเรียนชาวเขาในถิ่นทุรกันดารมีนักเรียนชาย 1,560 คน นักเรียนหญิง 2,352 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 3,912 คน เกือบ 4,000 คน หลวงพ่อได้อบรม “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” ด้วยวิปัสสนากรรมฐานดูแลเด็กเล่านี้ดั่งลูกหลาน ทั้งอาหารการกิน ที่พักอาศัย ดูแลสุขภาพแม้เจ็บป่วยก็ส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี และได้รับความอนุเคราะห์จาก “ผอ.รพ.สิงห์บุรี” ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อพร้อมรับเด็กนักเรียนดังกล่าวอย่างไม่มีข้อบกพร่อง

ผู้เขียนเองเวลาไปตรวจหลวงพ่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ท่านจะบอกเล่าด้วยความดีใจ ปีติ เสมอๆ ว่าเดี๋ยวเดือนเมษายนนี้จะมีการบวชชี พราหมณ์ เป็นเด็กชาวเขาชายหญิงกว่า 150-200 คน โครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะมาบวชที่นี่ ท่านจะบอกคุณชำนาญ ป้าเจริญ หรือพระเลขาและแม่ครัวให้เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง ที่หลับที่นอนต้องให้สะอาดให้พร้อมก่อนถึงเดือนเมษายน

พอย่างเข้าเมษายนของทุกปี ผู้เขียนเองรู้สึกได้เองว่าที่วัดอัมพวันคึกคักคึกคัก จะพบเห็นเด็กนักเรียน 10-15 ปี จำนวนมาก มาปฏิบัติธรรม พอขึ้นบนกุฏิชั้นสอง หลวงพ่อท่านก็จะบอกผู้เขียนเลยว่าตอนนี้มีเด็กชาวเขา “ลูกของสมเด็จพระเทพฯ” มาบวชชีพราหมณ์ที่นี้ 15 วัน เดี๋ยวต้องลงไปอบรมสอนวิปัสสนากรรมฐาน พอวันสุดท้ายของแต่ละรุ่น ก็จะได้ยินว่าวันนี้เป็นวันปิดโครงการบรรพชาสามเณร และปิดโครงการปฏิบัติธรรมเนกขัมมะ (ศีลจาริณี) ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะต้องไปอบรมให้ปัจฉิมโอวาท แล้ววันพรุ่งนี้อาตมาก็จะเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย จะต้องเดินทางตั้งแต่เช้าและเด็กนักเรียนพวกนี้จะต้องเข้าไปด้วย นี้คือเหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้รู้ได้เห็นและติดตาม จริยวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อของประชาชนที่งดงาม ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แม้จะอายุมากขึ้นๆ ท่านเองก็ปีติ ดีใจ ภูมิใจ เวลาท่านทำพิธีกรรมเสร็จท่านก็จะดีใจเสมือนเป็น “เรือจ้าง” “ผู้ใหญ่ใจบุญ” และจากเด็กดอย เด็กชาวเขา มาสู่ชาวเราในเมืองสิงห์บุรี พูดไทยก็ไม่ชัด วัฒนธรรมความเป็นอยู่ต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง และมาอยู่ในกรอบปฏิบัติพระพุทธศาสนา แต่หลวงพ่อสามารถอบรมกล่อมเกลาให้…เด็กชาวดอย เด็กชาวเขาดังกล่าว..เสมือนหนึ่งเป็น “ลูกของสมเด็จพระเทพฯ” เป็นบุตรหลานของ “หลวงพ่อเอง” ให้เป็น “คนดี มีคุณธรรม มีศีลธรรม” มีกริยามารยาทงดงาม พูดจาดีขึ้น การเดินเข้าแถวไปทานอาหาร ด้วยอาการสงบนิ่งไม่พูดคุยกัน การใส่เสื้อผ้าขาวสะอาด การกราบไหว้ที่ถูกวิธี เนื้อตัวดูหมดจด

ข้อมูลเชิงประจักษ์นี้ ผู้เขียนได้มาเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ปี พ.ศ. 2552 มีเด็กชาวเขา ชื่อนายคำแก้ว ลายแสง บ้านอยู่ บ้านเลขที่ 7 หมู่ 1 ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง พ่อแม่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง แม่ตาบอด พ่ออายุมาก 60 ปีเศษ มีอาชีพทำไร่ใบชาและขับวินมอเตอร์ไซค์เป็นบางวัน ยากจน ขัดสน ผู้เขียนเคยไปเยี่ยมบ้าน พ่อแม่นายคำแก้ว ที่ ต.เทอดไท นายคำแก้วเรียน “สาธารณสุขรุ่น 2” ยังไม่ได้สัญชาติไทย บอกว่าตอนเด็กเล็ก อายุ 12-13 ปี เรียนหนังสือชั้นประถมมัธยมเรียนที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน เป็นแหล่งเรียนรวมของเด็กชาวเขา นายคำแก้วเล่าว่า ได้เคยมาปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ตามโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้เขียนได้สอบถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้ไปบวชเณรวัดอัมพวัน เด็กบอกว่า ได้พบ “หลวงพ่อจรัญ” ท่านสอนวิปัสสนากรรมฐานดีมาก ผมได้ถือมาปฏิบัติจนถึงเดี๋ยวนี้ ทำให้ผมมีวันนี้เพราะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหลวงพ่อจรัญ นายคำแก้วได้เรียนจบรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาอนามัยชุมชนเกียรตินิยมอันดับ 2 รับพระราชทานปริญญาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปแล้ว และขณะนี้ได้มีงานทำที่ อบต.เทอดไท ในอำเภอแม่ฟ้าหลวง ทำงานใกล้บ้านและได้รับสัญชาติไทยแล้ว นายคำแก้วยังรำลึกถึงพระคุณของ “หลวงพ่อจรัญ” ตลอดเวลาไม่มีวันลืม และท้ายสุดเด็กคนนี้กตัญญูต่อพ่อซึ่งอายุมากต้องทำไร่นา และแม่ตาบอดได้กลับมาดูแลพ่อแม่ และส่งเงินดูแลครอบครัว และน้องสาวจนถึงปัจจุบัน นับเป็นครอบครัวที่มีความสุข

ด้วยบารมีของพระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ และในพระบรมราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ทรงเมตตาให้โอกาสเด็กชาวเขาในถิ่นทุรกันดารได้มีโอกาสในชีวิต นับเป็นพระคุณอันใหญ่หลวง

ด้วยความผูกพัน เคารพนับถือ และด้วยความห่วงใยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่มีต่อ “หลวงพ่อ” ผู้เขียนจะได้รับสั่งถึงหลวงพ่อเสมอ ด้านสุขภาพ ห่วงใยเนื่องด้วยหลวงพ่ออายุมากขึ้น และการงาน แขกที่มาวัดอัมพวัน ปฏิบัติธรรมมีจำนวนมากๆ และตื่นดึกๆ ไม่ค่อยได้พักผ่อนเต็มที่และพระองค์ท่านเองก็ระลึกถึงพระคุณของหลวงพ่อจรัญของประชาชนเสมอว่า หลวงพ่อเป็นธุระทุกๆ เรื่อง และทุกอย่างในโครงการของพระองค์ท่าน และยังกังวลว่า แล้วต่อไปจะดำเนินการอย่างไร หากหลวงพ่ออายุมากขึ้นๆ และทุกครั้งที่ผู้เขียนมาเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงถามถึงหลวงพ่อ” ทุกครั้ง ท่านก็จะยิ้มดีใจ ปีติ และมีพลังกำลังใจทุกครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่พระองค์ทรงทำให้หลวงพ่อจรัญมีกำลังกาย กำลังใจ ปฏิบัติศาสนกิจทางพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน

วันนี้ แม้ท่าน “หลวงพ่อของประชาชน” ท่านได้ละสังขารอย่างสงบไปแล้วแต่ “คำสอน” ที่เป็น “อมตะ” หาได้มรณะไปไม่ ยังสถิตอยู่ชั่วนิรันดร์…ดังความตอนหนึ่งที่หลวงพ่อกล่าวไว้ว่า “การเจริญกรรมฐานโดยเฉพาะการเจริญสติปัฏฐาน 4 อันเป็นทางสายเอก ถ้าทำได้ท่านจะระลึกชาติได้จริง เพื่อจะได้ใช้หนี้เขาไป ไม่ปฏิเสธทุกข้อหา มีปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิต ถ้าใครทำกรรมฐานได้ลึกซึ้ง จะรู้เหตุผลของชีวิตได้อย่างดีที่สุด จะเว้น การทำ พูด คิด ที่จะก่อความทุกข์เดือนร้อนให้เกิดแก่ตนเอง และผู้อื่น มันเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างนี้”

ผู้เขียนในฐานะลูกศิษย์และคนไทยทั้งประเทศ ขอแสดงความอาลัยและเคารพอย่างสูง แม้กายดับสูญ แต่ยังมีสิ่งที่เป็นนิรันดร์ นั่นคือ “ข้อคิดทางธรรม” จากหลวงพ่อของประชาชน ที่จะยังอยู่ให้เราได้ปฏิบัติอยู่เป็นนิจศีล ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image