เสียงสวรรค์! โดย จำลอง ดอกปิก

แฟ้มภาพ

การจัดออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม

เป็นผลพวงสืบเนื่องจากการยึดอำนาจการปกครอง 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.

มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมาใหม่ และประกาศบังคับใช้ มีเนื้อหาบางมาตรา ให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นกติกาการปกครองประเทศสูงสุด

ฉบับแรกถูกคว่ำโดยสภา สปช.

Advertisement

ร่าง 279 มาตรา ที่นำไปให้ประชาชนตัดสินวันอาทิตย์นี้ ดำเนินการยกร่าง

โดย ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ เป็นหัวหน้าชุด ซึ่งไม่ว่าใครเห็นว่าดี มองว่าแย่

ไม่ว่าจะไม่รับ หรืออยากเห็นชอบตัวสั่น ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ประชาชนทุกผู้นาม ควรออกไปใช้สิทธิ แสดงตัวในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยแท้จริง

Advertisement

คะแนนที่ออกมาครั้งนี้ ไม่สูญเปล่า

หนำซ้ำยังเท่ากับยืนยันหลักการแก้ปัญหาบ้านเมืองที่ถูกต้อง แท้จริงนั้นคืออย่างไร

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ ผลประชามติครั้งนี้ ไม่ว่าออกมาประการใด ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบหรือไม่ก็ตาม

การวิพากษ์ วิจารณ์ เห็นต่าง เห็นด้วยในเรื่องที่ตามกติกาได้ข้อยุติแล้ว มีต่อไปแน่นอน แต่ไม่ควรรังเกียจ มองเลวร้าย

อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว พูดเตือนสติเอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การมองว่าความคิดต่างเป็นเรื่องที่อันตรายนั้น จะมีความเสี่ยงมาก 12 ปีของความขัดแย้งต่อเนื่อง จนนำไปสู่ความรุนแรง ทำให้ความเชื่อมั่นในการถกเถียงเหลือน้อยลงทุกที

ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นว่า “ที่ต้องตั้งสติให้มากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน เราจะต้องเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน เราต้องมีความหวังในการถกเถียงร่วมกัน เพื่อให้ประเทศอยู่ต่อไป”

ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ความขัดแย้งจะคงอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน ไม่มีทางถูกปัดกวาด ลบล้างให้หมดสิ้นไปได้ด้วยเสียงส่วนใหญ่

แต่เราต้องเรียนรู้จากบทเรียนเล่มใหญ่ที่คาอยู่ในมือ

ความขัดแย้งเป็นปัญหาที่มิใช่ปัญหา ไม่มีสังคม หรือประเทศใดในโลก ที่ทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกันหมด

การควบคุมความขัดแย้งให้อยู่ในระดับเหมาะสม ทุกฝ่ายยอมรับได้ คือการมีกติกาตัดสินปัญหาที่ได้มาตรฐาน การวินิจฉัย ตัดสินเป็นธรรม มาตรฐานเดียว ฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่ตนเอง ตรงไปตรงมา ปราศจากอคติ

ความขัดแย้ง เห็นต่างเป็นเรื่องปกติ และแก้ไข คลี่คลายได้ด้วยวิธีการบริหารจัดการแบบปกติ

หากเป็นปัญหาการเมือง ก็ต้องแก้ หาทางออกด้วยกระบวนการทางการเมืองให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

พรรคการเมืองหนึ่งได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้บริหารประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ให้นำมาประกาศใช้เป็นกติกากลางปกครองประเทศสูงสุด ไม่ได้หมายความว่า พรรคนั้น ร่างนั้น ดีงาม สมบูรณ์แบบ ชนิดไร้ที่ติ

แต่มันมีความชอบธรรมตามระบบระดับหนึ่ง

การทำประชามติครั้งนี้ ความสำคัญของมันไม่ได้อยู่ที่การเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินโดยตรงในขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น

แต่ยังเท่ากับเป็นการยืนยัน ปัญหาทุกเรื่องและโดยเฉพาะการเมือง การปกครอง ใช้ความรุนแรงแก้ไม่ได้

ใช้อำนาจอย่างเดียว แก้ไขไม่ได้-ไม่จบ

ต้องแก้ด้วยวิธีที่ถูกต้องชอบธรรม ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ฟังเสียงสวรรค์ เสียงประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image