การเลือกตั้งท้องถิ่นสมรภูมิแรก ที่ อบจ.-การนับหนึ่งแบบถอยหลัง

ข่าวความเคลื่อนไหวเรื่องการจัดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำให้หลายคนกลับมาให้ความสนใจและมีความหวังในเรื่องของการเดินหน้าในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในระดับรากฐาน หรือในระดับท้องถิ่นอีกครั้ง

ผมจะขอไล่เรียงให้เห็นความเป็นมาและที่มาที่ไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ชื่อว่า อบจ. อีกครั้ง

1.คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในเรื่องการเลือกตั้ง อบจ. และส่งหนังสือมายังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา และมีการคาดการณ์ว่าจะมีการกำหนดการเลือกตั้ง อบจ. ไว้ประมาณวันที่ 20 ธ.ค.2563 ที่จะถึงนี้ แต่ทางคณะก้าวหน้าซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่คือส่วนของพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบ และปัจจุบันมีความสนใจเคลื่อนไหวรณรงค์การเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างเข้มข้น เห็นจากมีการประกาศเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.ไปแล้วถึง 32 จังหวัด จาก 76 จังหวัด เมื่อสัปดาห์ก่อน ทางคณะก้าวหน้าเห็นว่าควรจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 13 ธ.ค. เสียมากกว่า เพราะว่าถ้าจัดวันที่ 20 จะทำให้ประชาชนต้องกลับภูมิลำเนาถึงสามครั้ง คือวันที่ 13 (วันหยุดยาวต่อเนื่อง 10-13 ธ.ค.) และปีใหม่

2.อบจ.คือหน่วยการปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัด มีทั้งหมด 76 จังหวัด เว้นกรุงเทพมหานครที่มีสถานะเป็นหน่วยการปกครองรูปแบบพิเศษ (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ได้ชื่อว่า ผู้ว่าราชการ “จังหวัด” กรุงเทพมหานคร)

Advertisement

ประเทศไทยแบ่งการบริหารราชการเป็นสามส่วนใหญ่ คือ

-ส่วนกลาง (กระทรวง ทบวง กรม)

-ส่วนภูมิภาค (จังหวัด อำเภอ หมายถึงสาขาของหน่วยงานจากส่วนกลางที่ไปประจำในพื้นที่ ที่ดินจังหวัด ที่ดินอำเภอ ในแต่ละจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการส่วนภูมิภาคที่ใหญ่สุดคือ ผู้ว่าราชการส่วนจังหวัด ส่วนในระดับอำเภอคือนายอำเภอ เจ้าหน้าที่จะถูกส่งจากหน่วยงานส่วนกลางไปประจำในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ ส่วนขยายและขึ้นต่อกับส่วนภูมิภาคก็คือ ส่วนท้องที่ ซึ่งหมายถึง กำนัน (ตำบล) และผู้ใหญ่บ้าน (หมู่บ้าน) แม้ว่าจะมาจากการเลือกของประชาชน (ไม่ใช่เลือกตั้ง) แต่ก็ไม่ได้มีองค์กรที่มีการตรวจสอบ
ถ่วงดุลอะไรในพื้นที่ เรียกว่าเป็นแขนขา หรือส่วนขยายของส่วนกลาง

Advertisement

ส่วนท้องถิ่น เรียกในภาษาอังกฤษว่า local self-government หมายถึงระบบการปกครองที่มีการเลือกตั้งจากประชาชน มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยเฉพาะให้บริการกับประชาชนในท้องที่นั้น มีการตรวจสอบกันเอง คือประชาชนเลือกทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ โดยองค์กรนี้มีความเป็นนิติบุคคล เก็บรายได้ และทำสัญญาต่างๆ ได้

หน่วยการปกครองท้องถิ่นของไทย เว้นแต่ กทม. และพัทยา (มีรายละเอียดเรื่องพัทยาแต่ขอละไว้ก่อน) มีลักษณะสองชั้นคือ ทุกจังหวัดจะมีหน่วยการปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดที่เรียกว่า อบจ. ส่วนในระดับชั้นที่รองลงมาก็อธิบายง่ายๆ ว่า แบ่งเป็นสองระบบใหญ่ คือหน่วยการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่เมือง (เทศบาล มีสามระดับตามขนาดและความมั่งคั่งของพื้นที่ ได้แก่ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล) หน่วยการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ที่ไม่ใช่เมือง (ชนบท) คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

อธิบายง่ายๆ ว่าในรอบนี้ท่ามกลางหน่วยการปกครองท้องถิ่น 5 แบบ ทางรัฐบาลพิจารณาให้มีการเลือกตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัดเท่านั้นเอง คือ อบจ. ในขณะที่อีก 4 แบบที่เหลือยังไม่มีข่าวความคืบหน้าใดๆ

3.การเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งนี้เกิดขึ้นในกระแสทางการเมืองที่ร้อนระอุในแง่ของการชุมนุมและกระแสความตื่นตัวทางการเมืองในระดับชาติ ทั้งในเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กระแสข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ กระแสการรณรงค์ลดอำนาจวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร และกระแสการขับไล่นายกรัฐมนตรี หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าการผลักดันเรื่องการเลือกตั้ง อบจ.ในรอบนี้ทั้งที่มีการเรียกร้องกันมานานตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 และมีการปล่อยให้คณะผู้บริหารเดิมที่หมดอายุและไม่มีการเลือกตั้งใหม่มาหลายปีนั่งอยู่ในอำนาจต่อมาอย่างยาวนานนั้นทำไมจึงเกิดในเวลานี้

นอกจากนี้แล้ว เราไม่พบเห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีกับระบบการปกครองท้องถิ่นเลย (เว้นแต่การยุบสภาเขตของ กทม.) ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แต่ทำให้ประชาชนผิดหวัง แต่ทำให้บรรดา กปปส.หลายท่านที่ชูธงเรื่องการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นนั้นเองก็ผิดหวังไปด้วย ทั้งที่ข้อเสนอในส่วนของการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นของฝ่าย กปปส.เองนั้นก็เป็นข้อเสนอที่น่ารับฟังและต้องการที่จะปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นอย่างจริงจัง

4.ที่มาที่ไปของ อบจ.นั้นจัดว่าเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่มีรากฐานมาอย่างยาวนาน แต่มีประเด็นท้าทายอยู่หลายประการ เพราะเป็นองค์กรที่จัดตั้งอย่างเต็มรูปมาไม่นาน อำนาจหน้าที่ทับซ้อนกับหลายองค์กร และที่สำคัญคือมีอำนาจจริงน้อยมากเมื่อเทียบกับหน่วยการปกครองท้องถิ่นอื่นๆ และยังถูกขนาบและครอบโดยระบบการปกครองในระดับภูมิภาค

เราอาจแบ่งพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของ อบจ. ออกเป็น 4 ยุคสมัยหลัก (จากข้อมูลในสารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทยของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (สถาบันพระปกเกล้า: 2447) ในส่วนของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่เรียบเรียงโดย อลงกรณ์ อัครแสง แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

4.1.กำเนิดสภาจังหวัด ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล 2476 โดยสภาจังหวัดมีสถานะเป็นเพียงองค์กรที่ให้คำปรึกษากับคณะกรรมการจังหวัด ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล สมาชิกสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งอำเภอละ 1 คน เว้นแต่อำเภอนั้นจะมีประชากรมากกว่าหนึ่งหมื่นคนให้มีสมาชิกเพิ่มได้ สภาจังหวัดให้คำปรึกษาคณะกรมการจังหวัด (ที่รวมของข้าราชการส่วนภูมิภาค) ในเรื่องกิจการของจังหวัดกับเทศบาล ตั้งกระทู้ถาม และตรวจและรายงานงบประมาณ ต่อมาในปี 2481 ก็มี พ.ร.บ.สภาจังหวัดเป็นของตัวเอง

4.2.กำเนิดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด 2498 จะพบว่าหลังจากยุคคณะราษฎรใหม่ๆ ตอนมีสภาจังหวัด การขยับความสนใจอีกครั้งของการปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะระดับจังหวัดก็คือภายหลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และกลับมาจากดูงานต่างประเทศ จอมพล ป. พบว่าไทยยังไม่มีองค์กรปกครองท้องถิ่นนอกเขตเมือง (เทศบาล) และกึ่งเมือง (สุขาภิบาล-ปัจจุบันยกเลิกแล้ว ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล) พูดง่ายๆ ก็คือ ชนบท ดังนั้น อบจ.จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลพื้นที่ทั้งจังหวัดในส่วนนอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้ง อบจ.ยุคแรกนั้น แม้จะเริ่มมีพื้นที่ดูแลจริงจัง และมีการยกโครงสร้างเป็นแบบสภาท้องถิ่น คือ มีสภา อบจ. (สมาชิกคือ ส.จ.) ที่มาจากการเลือกตั้งตามเขตอำเภอ ส่วนอำเภอไหนมากก็มีตัวแทนมาก และก็มีตัวนายก อบจ. ซึ่งตัวนายก อบจ.ในสมัยนั้นก็ถูกนั่งควบโดยผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นคนของส่วนกลางมาอยู่ในภูมิภาค แถมพ่วงเอาปลัดจังหวัดมานั่งเป็นปลัด อบจ. และยังมีนายอำเภอและปลัดกิ่งอำเภอมานั่งด้วย

ในงานของอาจารย์อลงกรณ์ไม่ได้ฟันธงในส่วนนี้เอาไว้ ว่าตรงนี้แหละครับที่ทำให้ อบจ. ยุคหนึ่งเป็นขุมทองหรือกระเป๋าขวาของมหาดไทยในส่วนภูมิภาค เพราะจังหวัดในความหมายของส่วนภูมิภาคก็เอางบประมาณส่วนนี้จากรายได้การจัดเก็บต่างๆ แหละครับไปหล่อเลี้ยงการบริหารงานในจังหวัด เพิ่มเติมจากงบประมาณที่ส่วนกลางเขาจัดสรรลงมาให้กับหน่วยงานภูมิภาค

ในอีกด้านหนึ่งผมก็เห็นว่าพัฒนาการของ ส.จ. ที่มาจากการเลือกตั้งประชาชน ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดเครือข่ายอิทธิพลในท้องถิ่นก่อนที่หลายคนจะขึ้นเป็น ส.ส. และพัฒนาการของ อบจ.ยุคนี้แหละครับที่สายสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนภูมิภาคและนักการเมือง/ชนชั้นนำในท้องถิ่นนั้นเชื่อมโยงกันมากกว่าจะขัดแย้งกัน โครงสร้างระบบถ้อยทีถ้อยอาศัยนี้มีมาตั้งแต่ 2498 จนถึง 2540 จึงเป็นโครงสร้างที่ยาวนานมาก และแม้ว่าในตอนท้ายๆ ก่อนปี 2540 การเลือกตั้งจะมีความต่อเนื่องจนนักการเมืองหลายคนเริ่มมีอิทธิพลต่อการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดได้ แต่โครงสร้างระบบอุปถัมภ์ในจังหวัดทั้งจากระบบ อบจ. และเครือข่ายไม่เป็นทางการเช่น กาชาด ไลอ้อน โรตารี่ กรอ. ก็มีส่วนในการสร้างระบบพันธมิตรชนชั้นนำในต่างจังหวัดทั้งสิ้น

4.3.ความเปลี่ยนแปลงของ อบจ.ในช่วงการปฏิรูปทางการเมือง (จะพบว่าท่ามกลางกระแสการเรียกร้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในช่วงก่อน 2540 ไม่นาน ดังที่เห็นจากความสำเร็จในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ตั้งแต่ 2528 แต่ในท้ายที่สุดสิ่งที่ได้มาก็คือ) การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลในปี 2537 ทำให้เกิดประเด็นท้ายขึ้นมาว่า เมื่อมีระบบการปกครองท้องถิ่นเต็มพื้นที่แล้ว คือ อบต. ในพื้นที่ชนบท และเทศบาลในพื้นที่เมือง อบจ. เดิมที่ดูแลพื้นที่นอกเทศบาลจะทำหน้าที่อะไร ในปี 2540 จึงมีการปรับภารกิจของ อบจ.ครั้งใหญ่ ให้เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นชั้นที่สอง มีพื้นที่ทับซ้อนกับเทศบาลและ อบต. คือดูทั้งจังหวัด แต่มีหน้าที่และที่มาของรายได้ต่างออกไป

โดยเน้นการประสานงานระหว่างพื้นที่หน่วยการปกครองท้องถิ่นระดับเทศบาลกับ อบต. ที่มีลักษณะเล็กไม่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ต่อมาในปี 2546 อบจ. และเทศบาล อบต. ก็มีระบบการเลือกตั้งใหม่ แทนที่ผู้บริหารจะมาจากการเลือกตั้งก่อน แล้วให้ผู้ที่ชนะเข้ามาในฐานะสมาชิกสภาท้องถิ่นเลือกคนหนึ่งมาเป็นนายก อบจ. ก็ให้เปลี่ยนเป็นเลือกตั้งนายก อบจ.โดยตรง และเลือก ส.จ./ส.ท./ส.อบต. โดยตรง

5.กล่าวโดยสรุป แม้ว่า อบจ.จะมีลักษณะเป็นการปกครองท้องถิ่นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด มีงบประมาณและรายได้ของตัวเอง (อาทิ จากค่าธรรมเนียมรถยนต์ ค่าภาคส่วนแร่และปิโตรเลียม ภาษีน้ำมัน ยาสูบ ค่าธรรมเนียมโรงแรม และค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมทั้งภาษีที่จัดสรรมาให้ตามสัดส่วนเช่นส่วนหนึ่งของภาษีที่ดิน และค่าธรรมเนียม) อบจ.มีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่ในอีกด้านหนึ่ง แต่ก็มีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับสอง/ล่าง คือ เทศบาล และ อบต. เพราะไม่มีพื้นที่ของตนเอง ใครเขาทำอะไรก็ทำด้วย เช่น อบจ.มีแผนพัฒนาท้องถิ่น เทศบาล และ อบต.ก็มี การควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ที่จอดรถ การพาณิชย์ การส่งเสริมการลงทุน การส่งเสริมการท่องเที่ว การจัดการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การส่งเสริมกีฬา การส่งเสริมประชาธิปไตย การจัดการป่าไม้ การป้องกันสาธารณภัย เรื่องเหล่านี้นอกจากเทศบาลและ อบต.ก็ต้องทำแล้ว หน่วยงานภูมิภาคก็ต้องทำ (รายละเอียดเหล่านี้อาจารย์อลงกรณ์ใส่ไว้เป็นหน้าๆ ไปดูรายละเอียดได้เลย)

เรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญกว่านั้นก็คือ อบจ.นั้นเนื่องจากไม่มีพื้นที่ของตนเอง และแม้ว่าจะไม่ได้เป็นองค์การกระเป๋าขวาของจังหวัดในความหมายเดิม แต่จนถึงวันนี้ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ อบจ.และองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นๆ ก็จะต้องสนับสนุนเงินและทรัพยากรอื่นๆ ให้กับระบบราชการส่วนภูมิภาคตามหนังสือเวียนของความอนุเคราะห์ต่างๆ พูดง่ายๆ ไม่ได้โดยเอาไปโดยตรงแบบเดิม ก็ยังต้องจ่ายบ้าง

นอกจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีอำนาจเหนือ อบจ. ยุบ อบจ.ได้ เช่นเดียวกับนายอำเภอก็จัดการเทศบาลและ อบต.ได้โดยส่งเรื่องไปที่กระทรวงมหาดไทยและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการปลดผู้บริหารท้องถิ่นได้) เรื่องนี้หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งจะพบว่า องค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นไม่ได้มีสถานะที่ทำอะไรในท้องถิ่นได้ทั้งหมด ส่วนกลางโดยมหาดไทยและเครือข่ายในรูปแบบภูมิภาคนั้นจัดการท้องถิ่นได้ แถมมีโครงการของตัวเอง และยังมีแขนขาคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ไม่ยอมยุบ สุดท้ายยังไม่ให้เลือกทุกสี่ปีแต่ให้อยู่ถึง 60 อีกต่างหาก

คำถามที่สำคัญก็คือ องค์กรทั้งในแบบ อบจ. เทศบาล และนายอำเภอ โดยเฉพาะสภานั้นควรจะต้องตรวจสอบการทำงานของนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดมิใช่เหรอ ถ้าเราคิดว่าประเทศนี้มีการกระจายอำนาจจริง งบประมาณทุกอย่างที่ลงในพื้นที่นั้นควรจะต้องถูกตรวจสอบโดยสภาท้องถิ่นและองค์กรกลางมิใช่หรือ? แผนการพัฒนท้องถิ่นควรจะต้องจัดขึ้นมาจากท้องถิ่นและประสานแผนกับโครงการส่วนกลางมากกว่าการพูดถึงวิสัยทัศน์ของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอที่ไม่มีความแน่นอนในการโยกย้าย (คือแน่นอนแค่ว่าห้ามอยู่เกินสี่ปี แต่จะไปเมื่อไหร่ประชาชนในท้องที่ไม่มีส่วนกำหนด เว้นแต่จะมาล้อมจวนในการขับไล่จนเป็นเรื่อง)

6.เมื่อได้อธิบายให้เห็นเช่นนี้แล้ว เราจึงพบกับความเป็นจริงว่า อบจ.เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ดูจะอ่อนแอและสยบต่อระบบการปกครองส่วนกลางมากที่สุด อบจ.มีพื้นที่ให้บริการทับซ้อน และตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้อย่างจริงจัง ทั้งที่มีที่มาจากประชาชน การเลือกตั้ง อบจ.ที่จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้มีการปฏิรูปตัวองค์กรเองซึ่งมีคนอภิปรายเรื่องนี้กันมานานแล้ว ยิ่งชี้ให้เห็นว่าการปล่อยให้มีการเลือกตั้ง อบจ.ในช่วงกระแสความตึงเครียดทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่น่าจะต่ออายุระบอบการปกครองนี้ไปได้อีกระยะ เว้นแต่ว่าคณะก้าวหน้านั้นจะปลุกกระแสการเมืองระดับชาติลงไปในการรณรงค์การเลือกตั้งในรอบนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่กระนั้นก็ตาม ความเป็นจริงทางการเมืองที่การเลือกตั้งนายก อบจ. แบบหนึ่งจังหวัดเป็นหนึ่งเขตอาจไม่ได้ทำให้กระแสก้าวหน้านั้นครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่การเลือกตั้ง ส.จ. ตามเขตอำเภอก็คงเป็นที่คาดหวังได้บ้างว่าก้าวหน้าจะปลุกกระแสและมีตัวแทนไปในสภา อบจ.ได้บ้าง

7.สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจในการเลือกตั้ง อบจ.ที่จะถึงนี้ เราอาจจะคาดหวังว่าเราจะได้พบเห็นประเด็นที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น

7.1 นวัตกรรมการเลือกตั้งแบบใหม่ๆ ในการหาเสียง

7.2 การเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายอำนาจในท้องถิ่นภายหลังการเลือกตั้ง 2562 เราอาจพบคนที่เคยลงสนาม ส.ส. รอบที่แล้วมาลงในระดับ อบจ. ทั้งนายก และ ส.จ.ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และในระดับเครือข่ายท้องถิ่น เช่นบ้านใหญ่ในจังหวัด บ้านใหญ่ข้ามจังหวัด และเครือข่ายระบบอุปถัมภ์นั้นเปลี่ยนแปลงอย่างไร

7.3 เราอาจจะพบความเชื่อมโยงของการเมืองระดับชาติกับท้องถิ่นทั้งในแบบการลงในนามกลุ่มที่เชื่อมโยงกับพรรคระดับชาติ และการลงในนามพรรคระดับชาติเองในท้องถิ่น อะไรคือเงื่อนไขเหล่านั้น

7.4 เราอาจพบความเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรในบางจังหวัดที่อาจจะเปลี่ยนไปจนรูปแบบข้อเสนอและจินตนาการของการเมืองท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดเปลี่ยนไป ขั้วอำนาจอาจเปลี่ยน คนใหม่ๆ อาจจะเข้ามาได้ หมายความว่าเราจะพบว่าการตัดสินใจเลือกของประชาชนเปลี่ยน และโครงสร้างประชากรเปลี่ยนจริงไหม และถ้าบางจังหวัดประชากรเปลี่ยนแต่การเลือกตั้งได้กลุ่มเดิมมาเราจะอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร

7.5 เราอาจจะเห็นเครือข่ายพลเมืองในท้องถิ่นเริ่มก่อตัว เพื่อผลักดันนโยบายและสะท้อนปัญหาบางอย่างลงไปในการรณรงค์ในท้องถิ่น เพื่อให้ผู้สมัครแต่ละคนได้นำเสนอวิสัยทัศน์ นโยบาย และโครงการต่างๆ มากขึ้น

7.6 เราอาจจะคาดหวังว่าโครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลางในรูปแบบของภูมิภาคนั้้นจะถูกท้าทายและตั้งคำถามมากขึ้น หรือถ้าเครือข่ายอำนาจเดิมยังมีอิทธิพลหลัก เราอาจไม่พบสิ่งนี้เลย

7.7 เราอาจไม่พบอะไรเลย เพราะว่าการเลือกตั้ง อบจ.เป็นการเลือกตั้งนอกกรุงเทพฯ แต่โครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ทำให้สื่อไม่ให้ความสนใจอย่างเป็นระบบ นักวิชาการที่สนใจก็จะถูกมองว่าเป็นพวกนักวิชาการท้องถิ่น ทั้งที่ถ้าเราสนใจเรื่องการรณรงค์ 76 พื้นที่อย่างจริงจัง เราอาจจะเกิดจินตนาการใหม่ๆ ที่มีกับกรุงเทพฯ ทั้งในแง่เมืองใหญ่เมืองอื่นๆ และเมืองรอบกรุงเทพฯที่แน่นอนว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายตัวออกไปนอนกรุงเทพฯ และเราอาจจะต้องสนใจเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดในท้องถิ่นนอกกรุงเทพฯทั้งที่เป็นบ้านของคนจำนวนมาก และยังเป็นอะไรมากกว่าแหล่งท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องความสนใจในตำราการเมืองการปกครองท้องถิ่นแบบเดิมที่พูดแต่เรื่องของการปกครองท้องถิ่นในฐานะรากฐานของประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยแบบสนามเล็ก ไม่ใช่ระดับชาติ แต่เป็นเรื่องที่ต้องอธิบายใหม่ว่าการปกครองท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องสำคัญของการปกครองในระดับชาติมากกว่าแค่ส่วนขยายของการเมืองระดับชาติ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image