เกมเพื่อการเรียนรู้

ขณะที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา ทำโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการใช้อำนาจและความรุนแรงลงโทษเด็ก แต่เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียน ซึ่งรวมตัวกันในนามกลุ่มนักเรียนเลวและครูขอสอน กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

อีกด้านหนึ่งความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ ระดับสถานศึกษา ตั้งแต่โรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย ยังคงเกิดสิ่งดีๆ นวัตกรรมทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่ท้าทาย น่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่ง

นวัตกรรมที่ว่านั้นคืออะไร เกิดขึ้นที่ไหน โดยใครและเมื่อไหร่

ครับ ผมตื่นเต้น ประทับใจ เลยอยากถ่ายทอดสิ่งดีๆ เรื่องดีๆ นวัตกรรมดีๆ เหล่านี้ ให้รับรู้และร่วมกันมีส่วนร่วมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

Advertisement

การสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นบอร์ดเกม หรืออีกนัยหนึ่ง การใช้บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้นั่นเอง

เรียนรู้ปัญหาจากเรื่องใกล้ตัวไปจนถึงจักรวาล เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไข แสวงหาทางออกใหม่ พัฒนาความรู้ ความคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างปัญญาและภูมิคุ้มกันเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในที่สุด

เป็นนวัตกรรมที่ผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) คิดค้นและพัฒนาขึ้น ภายใต้โครงการความร่วมมือที่ชื่อว่า ออกแบบเกม ออกแบบสังคม โดยดึงเอา อาจารย์มหาวิทยาลัย คนหนุ่ม คนสาวนักพัฒนาบอร์ดเกม จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ร่วมเป็นพันธมิตรสนับสนุน เช่น มูลนิธิสื่อชาวบ้าน
(มะขามป้อม) กลุ่มเถื่อนเกม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ

Advertisement

เพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน มีโอกาสได้ร่วมเล่นเกมที่ถูกอออกแบบ โดยนำเอาประเด็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมาเป็นโจทย์สร้างบอร์ดเกมให้ผู้เล่นได้รับทั้งความรู้ การคิดอย่างมีวิจารณญาณและคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดและการสื่อสาร
แลกเปลี่ยนความคิดอย่างสร้างสรรค์ ฝึกการทำงานร่วมกัน ความเป็นผู้นำ ได้ความสนุกสนาน เพลิดเพลินไปพร้อมกัน

โดยกระบวนการพัฒนาก่อนจะได้ผลผลิตออกมาเป็นบอร์ดเกมผ่านขั้นตอนตามลำดับ ตั้งแต่การสำรวจและทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างถ่องแท้ การระบุและกำหนดขอบเขตปัญหาให้ชัดเจน การค้นหาแนวคิดและแนวทางที่มีความหลากหลายโดยไม่ติดอยู่กับการวิพากษ์ การเปลี่ยนแปลงแนวคิดการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมและชัดเจนขึ้น การทดสอบแนวทางการแก้ปัญหานั้นกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อรับข้อเสนอแนะและนำมาพัฒนาปรับปรุงแก้ไขต่อไป โดยผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบบอร์ดเกมเบื้องต้น การออกแบบเกมที่มีเนื้อหาเพื่อสังคม

จริงๆ แล้วโครงการนี้เริ่มเปิดตัวตั้งแต่สองปีที่ผ่านมา เดือนกรกฎาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมเป็นภาคี สนับสนุนเชิญชวนให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 ทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา สมัครเข้าร่วมโครงการ ถึง 183 ทีม จากทั่วประเทศ หลังพิจารณาข้อเสนอของทุกกลุ่มแล้ว คัดเลือกเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาบอร์ดเกมในปีแรก 20 ทีม

หัวข้อหรือประเด็นปัญหาที่แต่ละกลุ่มนำขึ้นมาเป็นแกนในการสร้างบอร์ดเกมแยกเป็นด้านๆ ได้แก่ กลุ่มสิ่งแวดล้อม เกม BIN BIN ปลุกสำนึกรักษ์ แยกขยะก่อนทิ้ง, เกม Cadmium Control อยู่กับแคดเมียมอย่างปลอดภัย, เกม Snapper บอร์ดเกมรักษ์น้ำบางปะกง, เกม Revival Resource สะกดจิตสำนึกอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติผ่านเกม, เกม City Saver บอร์ดเกมชวนแก้ปัญหาขยะ

กลุ่มโลกของเด็กมัธยม (Youth World) ได้แก่ เกม Fortune Condom เกมเพื่อการเรียนรู้เพศศึกษา, เกม Hoodoo รู้เท่ารู้ทัน เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ, เกม Rabbit Hole บอร์ดเกมที่สะท้อนเรื่องราววุ่นๆ ในโรงเรียน, เกม The Literature วรรณคดีมีชีวิต มิติใหม่ของการเรียนรู้วรรณคดีไทย, เกม Cyberbullying Lost Game การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

กลุ่มเศรษฐกิจและการเงิน (Economy & FinanceX ได้แก่ เกมเศรษฐีสวนทุเรียน, เกม Happy Trading วางแผนเพื่ออนาคต, เกม Farming Land สู้ได้ถ้ารู้จักวางแผน, เกม Windfell บทเรียนของความพยายาม, เกม Aec Together เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้

กลุ่มวิถีพลเมือง (Citizenship) ได้แก่ เกม What if เรียนรู้จริยธรรมเพื่อลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น, เกม The Media รู้เท่าทันสื่อ, เกม Safe or Unsafe บอร์ดเกมที่คุณจะนึกถึงขณะขับรถ, เกมจับคนแซง กระตุ้นสำนึกรักษาสิทธิ, เกม Vocation Quest อาชีพที่ใช่กับสารการเรียนที่ชอบ

จาก 20 เกมในรุ่นแรกนี้ เกมเศรษฐีสวนทุเรียนได้รับคัดเลือกให้ชนะเลิศได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กลุ่มนักเรียนผู้ร่วมสร้างและพัฒนาแต่ละเกมเป็นใคร มาจากโรงเรียนใดบ้าง ท่านที่สนใจและอยากทดลองร่วมเล่นเกมไหน เปิดเว็บไซต์ คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มธ.กับบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หาคำตอบได้เลยครับ

ผลงานต่างๆ นี้ ผ่านการนำไปใช้ในพื้นที่จริง ให้กลุ่มเป้าหมายจริงได้เล่นแล้ว เช่น ชาวสวนทุเรียน เป็นต้น เริ่มเปิดสู่สาธารณะในงาน เกมและการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 กับอีก 14 เกมใหม่ เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2563 ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 อาคารสยามสแควร์วัน มีนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ผู้สนใจใฝ่รู้เข้าร่วมจำนวนมาก

ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้เรื่องดีๆ สิ่งดีๆ นวัตกรรมดีๆ เหล่านี้ได้แพร่กระจายออกไปยังทุกสถานศึกษา ทุกชุมชน ทุกวงการให้กว้างขวางที่สุด อย่างน้อยนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน ที่ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม ทางการศึกษา มีทางเลือก มีเครื่องมือแสวงหาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองและสังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image