‘เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ’ ใครต้องตอบ

‘เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ’ ใครต้องตอบ

“เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ” คือคำถามที่เป็นส่วนหนึ่งในคำแถลงของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หลังประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเพื่อให้ความเห็นชอบ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร”

“เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ” ถูกใช้ในความหมายที่นายกรัฐมนตรีต้องการสื่อถึง “การปล่อยให้มีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ชุมนุม” ด้วยการเน้นย้ำคำแถลงว่า “เจ้าหน้าที่ถูกกระทำ” อยู่หลายครั้ง เหมือนจะให้เข้าใจว่าการชุมนุมของเยาวชนคนหนุ่มสาวกระทำโดยก่อความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่

ความคิดของ “นายกรัฐมนตรี” ที่มีคณะรัฐมนตรียืนเป็นพยานรับรองคำพูดอยู่รายรอบโพเดียมแถลงข่าว

คณะรัฐมนตรีที่มาจากผู้นำ หรือนักการเมืองอาวุโสในพรรคร่วมรัฐบาล

Advertisement

เป็นพยานในฐานะผู้เห็นดีเห็นงามกับถ้อยความที่ พล.อ.ประยุทธ์แถลงด้วยการยิ้มแย้ม หัวเราะชอบอกชอบใจในคำพูดดังกล่าว

ความน่าสนใจยิ่งอยู่ที่ “เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ” ไม่ใช่คำใหม่

คำถามนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อท้าทายให้คนที่ได้รับฟังหาคำตอบมาแล้วหลายครั้ง

Advertisement

ส่วนใหญ่เมื่อชี้ให้เห็นว่า “กติกาการอยู่ร่วมกัน” หรือ “กฎหมาย” ตั้งแต่ “รัฐธรรมนูญ” อันเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นต้น จนถึงกลไกการใช้อำนาจตีความกฎหมายที่เกิดคำครหาว่า “สองมาตรฐาน” ตลอดมา เป็น “ความวิปริตของการใช้อำนาจ”

ซึ่งทุกครั้งที่เกิดเรื่องราวของความกังขาในเรื่องการใช้กฎหมายจะเกิดคำถาม “เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ”

เป็นคำถามเดียวกับที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ถามล่าสุด แต่เป็นคนละมุมมอง

ทำให้เห็นว่า “เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ” กลายเป็นคำถามร่วมไปแล้ว

ฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะผู้มีอำนาจเรียกร้องให้ทำตามกฎหมาย ตอกย้ำว่าประเทศต้องบริหารด้วยกฎหมาย ประชาชนมีหน้าที่เคารพกฎหมาย

เพราะหากไม่มีกฎหมายเป็นหลักยึด เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดการปฏิบัติตามให้ได้เสียแล้ว การอยู่ร่วมกันจะมีแต่ความวุ่นวาย เพราะไร้หลักไร้เกณฑ์

“เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ”

แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา กับความรู้สึกที่ว่าการใช้กฎหมายของประเทศไทยเราไม่มีหลักการที่แน่นอน ตีความกันไปตามแต่จะให้เกิดผลอย่างไร

มีการกล่าวหาว่าเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง เอื้อการสืบทอดอำนาจ เพื่อการใช้กฎหมายเป็นอาวุธทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม ทำให้คู่แข่งทางการเมืองอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม

“เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ”

ต่างคนต่างถามคำถามเดียวต่อกันและกัน

เป็นคำถามที่กล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นคนผิด คนละเมิด

เหมือนจะไม่แปลก แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องพิสดารอย่างยิ่ง และสร้างความเสียหายต่อความเป็นชาติ เป็นประเทศอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นคำถามชัดเจนว่าไม่ยอมรับในกันและกัน

มี “กฎหมาย” และ “การบังคับใช้” ที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า “ไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน หรือไร้มาตรฐาน เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายจตรงกันข้าม”

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง เรียกร้องให้ปฏิบัติตาม เพื่อให้ “กติกาการอยู่ร่วมกัน”

การไม่ยอมรับในกันและกันนี้ เกิดขึ้นมาและคงอยู่ยาวนานอย่างเหลือเชื่อ

เหลือเชื่อว่าไม่มีการทำให้การอยู่ร่วมกันดีขึ้น เหมือนประเทศนี้ไม่มีการบริหารจัดการที่ดีที่จะทำให้เกิดความปกติ คือมีการยอมรับกติการ่วมกันได้

“เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ” ที่ถามกันมาก่อนหน้านั้น และที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เอ่ยขึ้นมาเรียกร้องให้เห็นความจำเป็นในการประกาศภาวะฉุกเฉิน จึงไม่ควรจะเป็นแค่คำถามเรียกร้องให้คนอื่นตอบ

แต่น่าจะต้องเป็นคำถามหาถึง “คนที่จะต้องรับผิดชอบ” เพื่อจัดการ “ไม่ให้ต้องอยู่กันอย่างนี้”

ซึ่งคำถามที่น่าจะซีเรียสในการหาคำตอบมากกว่าคือ “ใครควรจะเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบจัดการให้ไม่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างนี้”

และที่ผ่านมา “คนที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบนั้น” เคยหาทางจัดการเพื่อให้พ้นไปจากสภาวะที่ต้อง “อยู่กันแบบนี้”

หรือว่า “คนที่ต้องรับผิดชอบ” นั้น

กลับเป็นต้นเหตุสร้างปัญหาให้เกิดคำถามว่า “เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ” เสียเอง

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image