การแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองครั้งใหม่

มีเรื่องหลายเรื่องที่อยากจะเขียนถึงภายหลังจากการชุมนุมทางการเมืองและการสลายการชุมนุมทางการเมืองในช่วงวันที่ 14-17 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมิติในเรื่องของพื้นที่ทางการเมืองและการขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่

1.ความขัดแย้งทางการเมือง และการช่วงชิงทางการเมืองในปัจจุบันออกนอกวงพื้นที่ในโลกออนไลน์ไปแล้ว การลงถนนกลายเป็นเรื่องปกติของคนจำนวนมาก แต่กลายเป็นเรื่องที่แสนจะไม่ปกติของรัฐบาลและคนที่เห็นด้วยกับรัฐบาล ในระดับที่จำต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง

2.ในอีกด้านหนึ่งการลงถนนในรอบนี้ไม่ได้ตัดขาดจากการต่อสู้ในโลกออนไลน์ที่เข้มข้นและต่อเนื่อง และรัฐบาลเองไม่สามารถได้รับชัยชนะในการครองความนิยมและความน่าเชื่อถือในโลกออนไลน์ได้

และสิ่งที่สำคัญในการพิจารณาในเรื่องของความนิยมและความน่าเชื่อถือในโลกออนไลน์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องของการปิดกั้น ดำเนินคดี หรือเรื่องของการจัดทีมไอโอเข้าไปสร้างความนิยม จะพบว่าจากรายงานการสำรวจอินเตอร์เน็ตระดับโลก ประเทศของเราขึ้นชื่อเรื่องของขบวนการไอโอในอินเตอร์เน็ต สรุปก็คือ ยิ่งทำก็ยิ่งไม่ได้รับความนิยม ยิ่งทำก็ยิ่งมีปัญหาน่าอับอายในสายตาชาวโลก

Advertisement

อีกประการหนึ่ง การปิดกั้นโลกออนไลน์ไม่ได้ทำได้ง่าย เพราะการต่อสู้ทางความคิดและภาษาในโลกออนไลน์สมัยนี้เต็มไปด้วยศัพท์แสงใหม่ๆ ที่ยากที่จะเอาผิดได้ในกรอบของกฎหมายที่ล้าหลังและตามไม่ทัน

ความพ่ายแพ้และเพลี่ยงพล้ำของรัฐบาลในโลกออนไลน์นั้นไม่ได้จะแก้ในโลกออนไลน์เท่านั้น การปิดกั้นย่อมส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในเรื่องระดับความน่าเชื่อถือและการสร้างอุปสรรคทางการดำเนินธุรกิจ แน่นอนว่าอาจจะมีการอธิบายว่าประเทศที่มีการปิดกั้นทางอินเตอร์เน็ตอาจจะมีความเข้มข้นของอำนาจทางการเมืองมากกว่าเรา แต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศเหล่านั้นมีความสามารถทางเศรษฐกิจที่ไม่ขี้เหร่เท่าไหร่ นั่นคือการประนีประนอมและยื่นหมูยื่นแมวกับประชาชนได้

แต่โชคร้ายของประเทศนี้ที่เศรษฐกิจของเราตกต่ำ และเศรษฐกิจของเราตกต่ำเพราะถูกซ้ำเติมจากการบริหารจัดการโรคระบาดที่เข้มงวดเสียจนทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก นอกจากนี้ปัญหาในการแพร่ระบาดของโรคระบาดดังกล่าวในบ้านเรามักเกี่ยวโยงกับความหย่อนยาน ไร้ประสิทธิภาพ และการไม่ยอมรับผิดของหน่วยงานราชการบางหน่วยที่มีสิทธิเหนืองานด้านสาธารณสุขมากกว่าเกิดจากความไม่รับผิดชอบของประชาชน

Advertisement

3.ความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้จึงผสานและคู่ขนานกันทั้งในสองพื้นที่ การชุมนุมที่ไม่ยืดเยื้อบนถนนแต่ยืดเยื้อและค่อนข้างกุมชัยชนะในโลกออนไลน์ทำให้เราต้องคิดใหม่ว่าการต่อสู้ในรอบนี้มีวิธีเข้าใจพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับการเมืองอย่างไร โดยเฉพาะคำอธิบายประเภทที่ชอบอ้างว่าม็อบนี้ใหม่แสนใหม่ เพราะเป็นม็อบของ digital native คือเป็นคนกลุ่มที่เกิดและเติบโตมาในโลกใหม่นี้ มีวัฒนธรรมและการสื่อสารใหม่ มีภาษาใหม่ เพราะถ้าเขาเป็นคนในโลกใหม่ที่มีชีวิตในโลกอินเตอร์เน็ต อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาต้องลงมาในโลกแห่งความเป็นจริง

ในอีกด้านหนึ่งเราละเลยโลกดิจิทัลสำหรับคนส่วนมากเช่นกันที่ไม่ใช่พวก digital native ซึ่งเดิมเรามักจะมองว่าพวกนี้เป็นพวกล้าหลังหรือปรับตัวเข้ากับดิจิทัลทีหลัง เดิมเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า digital migrant คือคนรุ่นก่อน เราอาจจะมองว่าพวกเขาเชย พวกเขาไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันกับเทคโนโลยีใหม่ แต่สิ่งที่เราลืมไปก็คือจำนวนและโลกของ digital migrant นั้นมีขนาดที่ใหญ่มาก พวกเขากระจาย
อยู่ทุกหย่อมหญ้า พวกเขาคือคนสามในสี่ของยุคดิจิทัล และในสังคมไทยพวกเขาใช้เวลาในโลกดิจิทัลไม่ใช่น้อย ปัจจุบันโลกเคลื่อนตัวไปเร็ว พวกเขาใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น เพลงหลายเพลงที่ได้ร้อยล้านเป็นเพลงที่หลายคนในกรุงเทพฯไม่รู้จัก คนที่อยู่ในชนชั้นที่เสียเปรียบเชื่อมโยงกับโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้น

จากเดิมที่เคยเชื่อในยุคแรกๆ ว่าเมื่อโลกอินเตอร์เน็ตนั้นขยายตัวไป ผู้คนจะเข้าถึงโลกออนไลน์นี้มากขึ้น และจะมีความสมานฉันท์มากขึ้น จะเต็มไปด้วยประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมากขึ้น สิ่งที่พบก็คือความขัดแย้งนั้นร้าวลึกขึ้น ความจริงถูกเปิดเผยมากขึ้น ข้อมูลเท็จมีมากขึ้น และการปฏิเสธความจริงก็มีมากขึ้น

เรื่องการปฏิเสธความจริงของคนที่มีสถานะเหนือกว่านี้กลับไม่เป็นเรื่องที่สนใจกันนัก กลับสนใจกันแต่จะทำวิจัยเรื่องเฟคนิวส์หรือข่าวปลอม ทั้งที่อีกด้านหนึ่งก็คือทำไมคนจำนวนหนึ่งที่มีสถานะทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจยังไม่ยอมรับความจริง เรื่องนี้สำคัญมากและคำอธิบายแค่เรื่องของ echo chamber หรือการหมุนวนสะท้อนไปมาของข่าวสารในกลุ่มคนนั้นไม่เพียงพอ
หรือถ้าจะแปลใหม่สิ่งที่น่าจะสนใจกันมากขึ้นคือ ความงมงายในข้อมูลของแต่ละกลุ่มนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ทำไมรายการทีวีต่างๆ ที่ชอบอวดอ้างว่าตนนั้นนำเสนอเรื่องของข้อมูลไม่จริง ข่าวปลอมนั้นไม่เคยแตะต้องกับประเด็นของความงมงายในข้อมูลระดับอุดมการณ์ (ideology) วาทกรรม (discursive practices) และการครองความคิด (hegemony) เอาเสียเลย ราวกับว่าคนที่งมงายและตกเป็นเหยื่อทางความคิด

บางทีเราอาจจะต้องคิดกันใหม่ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ที่สลับซับซ้อนขึ้น บางคนอาจจะเรียกสิ่งนี้ว่า tinderization of politics เหมือนโปรแกรมนัดเดตแบบไม่ผูกพัน แต่ใครจะรู้ว่าในโลกสมัยใหม่นี้ความไม่ผูกพันก็อาจจะผูกพันในแบบอื่นๆ หรืออาจจะเท่าเทียมกันในรูปแบบใหม่ หรืออาจจะมีอะไรที่เราไม่รู้จักเข้าใจในความหมายของการปรากฏตัวและไม่ปรากฏตัวทางการเมือง
เช่นเดียวกันกับการทำ flash mob ที่หาสูตรสำเร็จได้ยาก และความเข้าใจแฟลชม็อบที่แยกขาดจาก แฮชแท็กในทวิตเตอร์

และการสร้างเทรนด์ทวิตเตอร์ก็อาจทำให้เราเข้าใจเรื่องบางเรื่องมากขึ้น หรือว่าบางเรื่องอาจไม่ต้องเข้าใจมาก แค่ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นและอาจนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่เรายังคาดเดาไม่ได้อีกตั้งมากมาย

4.ผมรู้สึกว่าคำว่า “ม็อบนี้ไม่มีแกนนำ” เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มันเป็นเรื่องที่จริงและเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก เพราะการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมที่เกิดในแบบใหม่ที่คำว่า แกนนำ และมวลชนนั้นไม่ใช่แบบเดิม

เรื่องที่ตลกนิดๆ ก็คือ เกิดการตั้งคำถามว่า ม็อบที่ไม่มีแกนนำนั้น (บางที) ก็ทำให้ยากที่จะเจรจา อ้าว ตกลงเชื่อมั่นในการเจรจาด้วยหรือ

อีกด้านหนึ่ง ม็อบที่ไม่มีแกนนำแถมมากันบ่อยๆ เนี่ยมันไม่ใช่เกิดจากการที่คุณไปจับคนที่คุณเชื่อว่าเป็นแกนนำไปแล้วม็อบจะจบ จะกลัวไม่ใช่หรือ? คำอธิบายใหม่น่าจะอธิบายว่าม็อบนั้นมีความสัมพันธ์กับแกนนำอย่างไร แกนนำในวันนี้ยังสามารถจะถูกเรียกว่าเป็นแกนนำได้อีกเหรอ

ส่วนหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจก็คือ ม็อบในวันนี้ (ถ้ายังเรียกว่าม็อบได้) อาจจะไม่ได้สัมพันธ์กับแกนนำเหมือนเดิม เดิมนั้นเราไปชุมนุมเพื่อจะรอฟังแกนนำปราศรัยในบางเรื่อง แต่ในวันนี้ผมคิดว่าม็อบรู้ตั้งแต่แรกแล้วนอกเหนือว่าจะเรียกร้องอะไร ก็คือ เขารู้ว่าแกนนำจะพูดอะไร เพราะผมไม่คิดว่าแกนนำพูดอะไรต่างจากเดิมในแต่ละวัน

บางเรื่องม็อบนั้นมาดูว่าเรื่องนั้นที่เขารู้ๆ กันอยู่จะมีใครพูด หรือกล้าพูดอีกไหมในวันนี้ มากกว่ามาตกใจว่าพูดเรื่องนี้ด้วยเหรอ

นอกจากนั้นการเปิดให้พูดกันคนละไม่นานนัก อาจจะไม่ต่างจากการเปิดแพลตฟอร์มเทดทอล์ก กับทวิตเตอร์บนเวที คือไม่ต้องพูดนาน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แตกต่างจากการเมืองแบบเดิมๆ ที่การปราศรัยต้องพูดนานๆ เหมือนในสภาที่แสนจะน่าเบื่อ หรือการปราศรัยหาเสียง

ในส่วนของคำว่ามวลชน ผมก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขานิยามตัวเองว่าอะไร ต่างจากอัตลักษณ์ทางการเมืองแบบเสื้อเหลือง เสื้อแดง แน่นอนพวกเขาอาจถูกมองว่าเป็นเยาวชน หรือมักใส่เสื้อดำ หรือใส่สีส้ม (หรือนี่แหละมั้งที่ต่างจากพวกเสื้อเหลือง และหลากสีเคยอ้างว่าชายชุดดำคือเงื่อนไขของทุกเรื่องในอดีต) เขาไม่ต้องสนใจว่าจะต้องแสดงอัตลักษณ์ผ่านสีเสื้อ

เขาประณามและเย้ยหยันเสื้อเหลือง เสื้อหลากสีอย่างเปิดเผย เรียนรู้และเริ่มเจ็บแค้น/รำลึกต่อเสื้อแดงอย่างโจ่งแจ้ง เรียกร้อง/รื้อฟื้นความจริงและความทรงจำต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเหตุการณ์เดือนตุลา

พวกเขาเชื่อมั่นในการอ่านมากกว่าการฟัง ในกลุ่มของคนที่ชุมนุม (อาจรวมทั้งไลน์กลุ่มย่อย) เขาจะไม่ใช้คำอธิบายว่าพวกเขาเคยได้ยืนได้ฟัง หรือเชื่อเพราะคนคนนั้นมีสถานะทางสังคมอย่างไร เขาเชื่อในสิ่งที่เขาอ่าน ส่วนคนที่ไม่เชื่อในพวกเขาก็ไม่เคยพิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเขาอ่านผิดตรงไหนอย่างเป็นระบบ

5.เรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับมิติของการเมืองในการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง ขณะที่ฝ่ายผู้เรียกร้องนั้นมักจะเชื่อมั่นว่าพวกเขาเป็นพลังบริสุทธิ์ และ พลังแห่งการตื่นรู้ อีกด้านหนึ่งก็คือมุมมองและปฏิบัติการทางอำนาจของฝ่ายต่อต้านพลังบริสุทธิ์และการตื่นรู้เหล่านี้ ซึ่งมักจะอยู่ในแนวต้านที่ว่า พลังบริสุทธิ์เหล่านี้อาจจะไม่ได้ถูกจ้างมา (ส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานจริง ไม่ใช่คนนอก) แต่ก็เป็นห่วงว่ายิ่งบริสุทธิ์ยิ่งไม่เท่าทันคน เพราะมันมีพวกที่หากินกับความใสซื่อเหล่านี้ พวกนั้นเป็นคนเลว เป็นคนนอก หรือไม่ก็จะมีแนวต้านที่แนวคิดว่า พวกพลังบริสุทธิ์นี้ควรจะมีความอดทนรอไปก่อน เพราะว่ายังไม่ถึงเวลา ตอนนี้ควรทำหน้าที่อื่น

ในอีกด้านหนึ่งพลังบริสุทธิ์เหล่านี้ยังไม่มีความเข้าใจมารยาทในสังคม ต้องถูกขัดเกลาก่อน การเมืองจึงเป็นเรื่องของมารยาทที่มีวิถีเดียวเท่านั้นคือวิถีคุณธรรมทั้งกายใจ

6.อย่าลืมว่าการชุมนุมต่างๆ ที่เกิดขึ้นแม้จะมีนักการเมืองบางส่วนเข้ามาสังเกตการณ์ หรือออกแถลงการณ์ประณามรัฐ แต่เราไม่เคยมีหลักประกันว่านักการเมืองจะนำเอาประเด็นทุกประเด็นจากเวทีและท้องถนนไปพูดในสภา พวกเขาจะกลั่นกรองมิติต่างๆ ก่อนเข้าสู่สภา นั่นคือสิ่งที่ทำให้การชุมนุมและการเคลื่อนไหวในอินเตอร์เน็ตยังคงดำรงอยู่

นี่คือบางประเด็นที่ดำเนินมาจนถึงช่วงเวลาที่ผมส่งต้นฉบับ ส่วนในวันที่บทความนี้ตีพิมพ์และเหตุการณ์หลังจากนั้นยังคงเป็นเรื่องที่เรียกว่า uncharted territory หรือพรมแดนที่เรายังไม่เคยไปถึงครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image