ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ จากสายตา ‘ผาสุก-คริส’ ในวันที่ ‘เราต้องอ่านอย่างวิพากษ์’

“สถานการณ์แบบนี้ ทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น เกิดขึ้นประเทศไหนก็ได้ หรือในประเทศไทย ที่ทำให้หลายคนไม่สบายใจ เพราะรู้สึกไม่มั่นคงสำหรับตัวเอง เขากลับไปอ่านประวัติศาสตร์ เพื่อที่จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในมุมมองที่ไม่แคบ ถ้าอ่านหนังสือของเรา เนื้อเรื่องเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงน่าสนใจสำหรับคนที่อยากหันกลับมาอ่านประวัติศาสตร์ไทยอีกแบบ”

เป็นคำกล่าวตอนหนึ่งของศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ในงานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่เมื่อไม่นานมานี้ เคียงคู่ คริส เบเคอร์ ในช่วงเวลาแห่งความอลหม่านของการเมืองไทยในพุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบสาม

ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ คือชื่อหนังสือเล่มดังกล่าว ที่อาจารย์คริสเผยเบื้องหลังและที่มาที่ไปของแรงบันดาลใจว่า

ฝรั่งไม่ค่อยมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อยุธยา และไทยก็ไม่ค่อยมีหนังสือเล่มใหม่ๆ ล่าสุดเขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว จึงเขียนขึ้นมาใหม่

Advertisement

ตอนแรกยาวมาก จากยุคสมัย สุโขทัย อยุธยา กรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน แต่ยาวไป จึงตัดให้สั้นลง เพราะเราอยากได้หนังสือเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับเมืองไทยที่กระชับ และเน้นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกรุงเทพมหานคร คือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ที่เรียกว่า ก่อนก่อกำเนิดกรุงเทพมหานคร จากนั้นมุ่งมั่นกว่า 10 ปี ทำวิจัยในเรื่องอยุธยาต่อ ขุดเอกสาร คำให้การ กฎหมายตราสามดวง ไปจนถึงวรรณคดีอยุธยา ก่อนจะเกิดไอเดียรวมส่วนใหม่ กับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คลอดออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้

อยุธยาที่ ‘แตกต่าง’
เมื่อตัวอักษรสะท้อนภาพ ‘สังคม-มนุษยนิยม’

แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่หนังสือประวัติศาสตร์อยุธยาเล่มแรก แต่นี่คือหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยาที่ “แตกต่าง” จากเล่มอื่น ทั้งภาพสังคมในช่วงเวลาที่ยาวนาน มุมมองของประวัติศาสตร์ ที่ไม่ใช่ “ชาตินิยม” และอื่นๆ ที่อาจารย์คริส อธิบายเป็นข้อๆ อย่างละเอียดลออว่า

“สิ่งที่ทำให้หนังสือเราแตกต่างจากหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยาเรื่องอื่นๆ อย่างแรกคือเรื่อง

Advertisement

5 ศตวรรษ ซึ่งมีคนเขียนเกี่ยวกับอยุธยาแค่ยุคสมัยยุคหนึ่ง มุมหนึ่ง ไม่ค่อยมีหนังสือที่ไปตลอดถึง 500 ปี ตั้งแต่อยุธยาเสียกรุงจนปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวมาก มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยามากเท่าไหร่ คนเขียนส่วนมากจะให้ภาพว่าสังคมเหมือนกันตลอด แต่ไม่เหมือนกันตลอดทุกช่วง มีสังคมอีกแบบ มีความเปลี่ยนแปลงไปมากในสมัยนั้น โดยแบ่งออกเป็น 4-5 ยุคสมัย ว่ามีการเปลี่ยนแปลงขนาดไหน

เรื่องที่ 2.พยายามเขียนประวัติศาสตร์สังคม ที่ไม่ได้เกี่ยวกับผู้ปกครองเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ง่าย เพราะอยุธยาตอนต้นไม่ค่อยมีหลักฐานเกี่ยวกับสังคมอยุธยาโดยตรง ซึ่งมีวิธีสร้างภาพของสังคมในแต่ละยุคสมัย

ยกตัวอย่าง ยุคสมัยที่ 2 เราเรียกว่า ยุคสงคราม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ถึง สมเด็จพระนเรศวร 150 กว่าปี จากพงศาวดาร จากกฎหมายตรา 3 ดวง สมัยนี้ระบอบไพร่เข้มงวดขึ้น ทำให้คนส่วนมากสูญเสียอิสรภาพ มีการยกทัพใหญ่ไปตีเมืองอื่น ทำให้มีภาวะขาดแคลนอาหาร ทั้งยังมีโรคระบาด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องนักรบมืออาชีพฝรั่งเข้ามา ทำให้การตายในสนามรบทวีขึ้นมากด้วย สำหรับบุคคลธรรมดาเป็นสมัยที่แย่มาก ประชากรลดลง และส่วนใหญ่ไม่ค่อยสบายในสมัยนี้

นอกจากนี้ เมื่อไปอ่านวรรณกรรมสมัยนี้โดยเฉพาะ ยวนพ่าย มันให้กลิ่นวัฒนธรรม ความคิด ความใฝ่ฝันของคนในราชสำนัก

อีกเรื่อง คือ มนุษยนิยม มีความพยายามเขียนประวัติศาสตร์ในมุมมองของประวัติศาสตร์ ที่ไม่ใช่ชาตินิยม” อาจารย์คริสเล่า ก่อนเจาะลึกสู่ประเด็นที่ว่า ประวัติศาสตร์ไทยสร้าง “วีรบุรุษ” ซึ่งหากย้อนไปอ่านเอกสารโบราณ พงศาวดาร กระทั่งวรรณกรรม ก็ไม่มี ความเป็นวีรบุรุษเพิ่งเกิด “สมัยกรุงเทพฯ” ในช่วงที่ไทยเริ่มมีแนวคิดชาตินิยม

2148 หัวเลี้ยวประวัติศาสตร์

150 ปีที่ ‘ไร้สงคราม’ นำอยุธยาสู่ ‘ยุคทอง’

อาจารย์คริส ยังหยิบยกช่วงเวลาสำคัญ นั่นคือ เมื่อ พ.ศ.2148 ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถซึ่งปฏิเสธที่จะทำสงครามหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรสิ้นพระชนม์ แม้ว่าจะได้ทรงทำสัญญากับพระเชษฐา ว่าจะบุกฆ่าหงสาวดีต่อ สมเด็จพระเอกาทศรถ นำกองทัพกลับไปอยุธยาทันที และไม่ได้ทำศึกสงครามอีก ในรัชกาลของพระองค์

นี่คือจุดเริ่มต้นของสมัยที่แทบจะปลอดสงครามต่อเนื่องถึง 150 ปี และเป็นช่วงเวลาที่ทรัพยากรต่างๆ ทั้ง มนุษย์และธรรมชาติ ซึ่งใช้ทำสงครามในยุคก่อนหน้านี้ถูกใช้เพื่อทำการค้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้อยุธยาเข้าสู่ยุคทอง มีความสงบ และมั่งคั่ง ร่ำรวย ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของมวลชนดีขึ้น ดีขึ้นมากๆ สำหรับเรา นี่คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์ มนุษยนิยม

“จุดหักเลี้ยวของประวัติศาสตร์อยุธยาที่เราส่วนใหญ่มักเข้าใจ คือ หลังจากการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร เสร็จสิ้น ก็จะเป็นจุดหักเลี้ยวสำคัญของอยุธยา ว่าเราจะร้างสงครามไปอีกหลายร้อยปี ด้วยการที่สมเด็จพระเอกาทศรถไม่ทำสงคราม เราเข้าใจว่าพม่าเบื่อ ไม่อยากทำสงครามเพราะแพ้เรา ทว่า ปัจจัยอะไร ที่ทำให้ทั้งเราและเขา ไม่ทำสงคราม พักช่วงเป็นร้อยปีเขาไปทำอะไรกันระหว่างนั้น ถึงกลับมารบและเสียกรุง

ตอนที่สมเด็จพระเอกาทศรถไม่ยอมทำสงครามต่อ เพราะมีการต่อต้านภายในสังคม ที่คนไม่อยากถูกเกณฑ์เป็นทหาร เขาจึงหนีไปอยู่ในป่า บวชพระ ใช้เงินไปทำคอร์รัปชั่น นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่าตอนที่ทัพอยุธยาไปที่เชียงใหม่ แต่คนในเชียงใหม่ไล่ เพราะ ทหารนำมาซึ่งโรคระบาด มีการต่อต้านการทำสงครามอย่างรุนแรง ที่พม่าก็มีการก่อกบฏ จึงมีปัญหาอย่างมาก ทั้งยังเป็นสมัยที่นักการค้าจากยุโรป จากโปรตุเกส ฝรั่งเศส กำลังจะเข้ามาในเอเชีย (ยุคเปิดตลาด) เมื่อสงครามยุติ มีชาวต่างชาติเข้ามาอยุธยาเพราะอยากเปิดการค้า ซึ่งหากดูมุมกว้าง จะพบว่า การค้าภายในทวีขึ้น เพราะมีอาณาจักรใหญ่ ร่ำรวย ทั้งตะวันตกและตะวันออก เช่น เปอร์เซีย อาณาจักรออตโตมัน และอินเดียนที่กำลังจะขึ้นมา

ตะวันออก จีน และญี่ปุ่น มีการผลิตผ้า พรมเปอร์เซีย ถ้วยชามจากจีน อยากมีการแลกเปลี่ยน นักการค้าเอเชียไม่อยากยุ่งกับคนฝรั่งที่เข้ามาเอเชีย ซึ่งสมัยนั้นมาทางมะละกา จึงหาทางเปลี่ยน ซึ่งตะวันออกที่ไม่ยุ่งกับฝรั่ง คือ อยุธยาจึงเป็นตลาดตรงกลาง ทำให้อยุธยาร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว” อาจารย์คริสอธิบาย

จากซ้าย ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุกเสริมว่า เหตุที่ทำให้อยุธยาเป็นเมืองที่ขยายอย่างรวดเร็ว เป็นเมืองใหญ่ มีคนหลากหลายเชื้อชาติที่เข้ามา เพราะเป็นพ่อค้า แม่ขาย กลายเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างตะวันตกและออก เป็นที่ที่ปลอดภัย เพราะไม่มีโจรสลัด ซึ่งสมัยนั้นสำคัญ กับการขายสินค้าราคาสูง คือชัยภูมิสำหรับการค้าทางทะเล ไม่ใช่เราขายเพียงผู้เดียว แต่เป็นย่านที่สินค้าจะมา พ่อค้ามาซื้อขาย จึงกลายเป็นแหล่ง 40 ภาษา ศูนย์กลางการค้านานาชาติ

เจาะปม ‘เสียกรุงศรี’ ทุ่มสร้างเมืองอลังการ คอร์รัปชั่นหนัก

พม่ามอง ‘คุ้มค่า’ กับการต่อตี

มาถึงประเด็นสำคัญ ที่คนไทยสนใจมากอย่างการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 อาจารย์คริสวิเคราะห์ว่า

“ที่เสียกรุง เพราะแม้รวยขึ้นมาก แต่ไม่ได้ลงทุนในวิธีป้องกันตัวเองมากพอ ทำให้พม่าเห็นว่าเป็นโอกาสดี และคุ้มค่าที่จะไปตีอยุธยายังพึ่งวิธีการเกณฑ์ทหารแบบเดิม เอาคนธรรมดาหรือไพร่ ฉะนั้น คนธรรมดาในสมัยนั้นจึงไม่อยากไปเกณฑ์ทหาร พยายามใช้วิธีเกณฑ์ 2,000-3,000 มีทหารมืออาชีพน้อยมาก แต่ไม่ได้เรียนวิธีการพัฒนา เช่น การทูต คือเราต้องเป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน แต่สมัยนั้นไม่ใช่

มีความวุ่นวายในสังคม มีการพบกบฏหลายครั้ง การลักขโมย หนักสุดคือมีปัญหาคอร์รัปชั่น ใกล้เคียงเมืองไทย 20-30 ปีที่แล้ว คือคนกลุ่มใหม่ เริ่มมีเงินในกระเป๋า อยากเปลี่ยนระดับสังคม ใช้เงินของเขาซื้อตำแหน่ง เกิดขึ้นในอยุธยาตอนปลายด้วย มีกฎหมายตราสามดวงชัดเจน

นอกจากนี้ ที่เห็นในยุคนั้นและยุคนี้ มีการเขียนและวาด วรรณกรรม เต้นรำ ทุกอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกของคน คุณค่าของคนกำลังจะเปลี่ยน ไม่สนใจสงคราม เขาอยากมีชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งชนชั้นนำไม่ได้ปรับตัว” อาจารย์คริสกล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก มองว่า แนวคิดของผู้นำขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ สังคม เพราะมีป่า มีโรคภัยไข้เจ็บ การที่ประชากรน้อยจึงทำให้ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจาย การมีทหารอาชีพประจำการเพื่อป้องเมืองนั้น จึงยังไม่คิด เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง การใช้แรงงานมีความต้องการมาก แต่ประชากรน้อย นอกจากนี้ การมี “ทหารอาชีพ” อย่างแท้จริงในยุคนั้นยังไม่มี ความคิดเรื่องนี้มาช้ามาก

“สมัยรัชกาลที่ 5 จึงจะมีทหารอาชีพ แต่ของต่างประเทศจะมีการตั้งตั้งแต่ต้นๆ เช่น แถบเมดิเตอร์เรเนียน อาณาจักรที่เป็นใหญ่แถบนั้น จะมีกองทหารที่ฝึกฝนมาอย่างดี เครื่องมือพรั่งพร้อม

ผู้ปกครองยุคนั้นหมกมุ่นกับเรื่องการสร้างเมืองใหญ่ ให้อลังการ แข่งขัน โดยที่เมืองพระนครเป็นแบบอย่างในอดีต ซึ่งทุกแห่งอยากจะเอาอย่าง การใช้เงิน ทรัพยากร จึงเกี่ยวกับเรื่องนั้นมากกว่า แย่งชิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของสวยงาม มาเพื่อความยิ่งใหญ่มากกว่า ซึ่งประเทศอื่นมองเห็นว่า คือจุดอ่อน เตรียมลงทุนมาจะได้คุ้ม ใช้เวลานานในการเตรียมตัว และคุ้มจริงๆ” ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุกกล่าว

ประวัติศาสตร์‘ต้องวิพากษ์’ อย่าผูกติดแนวคิดเดียว

ปิดท้ายด้วยคำถามจากครูอาจารย์ที่ว่า ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ สามารถใช้เป็นหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ได้หรือไม่?

แฟ้มภาพ

“ในแง่การเรียนการสอน เราไม่ควรผูกติดอยู่กับแนวความคิดเดียว เพราะประวัติศาสตร์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง มีหลากหลาย และเพราะมีหลายสำนัก มีความคิดของตัวเองแตกต่างกันไปตามแนวสำนัก ต่างก็อยากเอาความเห็นของตัวเองใส่ไปในเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ นักประวัติศาสตร์ที่ดี จึงต้องอ่านหนังสือเยอะ การให้ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สำคัญมาก เพราะประวัติศาสตร์ต้องมาจากหลักฐาน

ครู อาจารย์อาจจะมีการสอนประวัติศาสตร์ จากเรื่องเล่าในอดีต และนี่คือหนังสือเล่มใหม่ ที่เอาหลักฐานใหม่ๆ รอบตัวเรามาใช้ เช่น ภาพวาดบนฝาผนัง วรรณกรรม เมื่อเอามาประกอบกับหลักฐานที่ประเทศไทยได้จดไว้ และคนที่มาเยี่ยมเยียน เช่น โปรตุเกส กระจายความรู้จากหลักฐานที่มีอยู่ และเชื่อถือได้ จึงควรจะทำ

เราต้องอ่านประวัติศาสตร์ อย่างวิพากษ์วิจารณ์ เพราะสะท้อนความคิดที่หลากหลาย หากอ่านหลายผู้เขียนจะได้หลายมุมมอง จะได้หลักฐานที่มีความหลากหลายของแหล่งข้อมูล

เรื่องอดีตจะรู้อย่างรวดเร็วได้อย่างไร อ่านเทียบกันจะแตกฉานมากขึ้น นี่คืออีกสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นได้อ่านประวัติศาสตร์มากขึ้น อาจจะได้อ่าน หรือเห็นจากประเทศอื่นที่ต่างจากไทย จึงนำมาตั้งคำถาม” เป็นคำตอบที่กระจ่างชัดจากศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก

เป็นอีกเล่มที่ต้อง “อ่าน” เพื่อรู้จักอดีต เข้าใจปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคตบนพื้นฐานกงล้อประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายศตวรรษที่ผ่านพ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image