ช่วยกันหาทางออกจากวิกฤต

เมื่อมีคนมาถามผมเรื่องทางออกจากวิกฤตการเมืองปัจจุบัน ผมมักตอบว่าไม่ทราบ และขอถามกลับว่า “คุณมีข้อแนะนำอะไรไหม” นอกจากนี้ ผมยังพยายามอ่านจากหนังสือพิมพ์ว่าใครคิดหาทางออกอะไรไว้บ้าง สรุปได้ว่าคำตอบมีหลากหลาย แล้วแต่ทรรศนะ ตำแหน่งหน้าที่ และพลวัตของเหตุการณ์ ผมเลยพลอยเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่า ทุกคนต้องช่วยกัน อย่างไรก็ดี ผมมีข้อคิดบางประการ ซึ่งไม่แน่ว่าจะช่วยได้หรือไม่ แต่ก็ขออนุญาตแบ่งปันดังนี้

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา มีอยู่ทุกแห่งหน โจทย์จึงไม่อยู่ที่การระงับความขัดแย้ง หากอยู่ที่การหาทางให้ความขัดแย้งคลี่คลายไป แปลงเปลี่ยนไป (เช่น จากเวทีท้องถนนเป็นเวทีรัฐสภา) โดยไม่ใช้ความรุนแรง หรือให้มีความรุนแรงน้อยที่สุด จึงขอฝากหลักการนามธรรมไว้สองข้อคือ หลักเสรีภาพ และหลักการุณยธรรม ผมถือคติมนุษยนิยม (มากกว่าชาตินิยม หรืออุดมการณ์/ลัทธินิยมอื่นๆ) จึงถือว่ามนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลต้องหาเป้าหมายของตนเอง และเลือกการกระทำเพื่อให้เป้าหมายนั้นเป็นจริงไม่มากก็น้อย พร้อมทั้งกระทำเพื่อให้มวลมนุษย์มีความก้าวหน้าผ่านการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่แต่ละคนถือว่าดี เราจึงควรอยากให้มนุษย์ทุกคนรวมทั้งเราเองมีเสรีภาพ ปลอดจากการตกเป็นเครื่องมือหรือเป็นเพียงปัจจัยรับใช้ของผู้ใดก็ตาม อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้หลักเสรีภาพถูกนำไปอ้างว่าเมื่อมีเสรีก็ทำทุกอย่างตามอำเภอใจนะซิ จึงขอเสนอหลักการุณยธรรมกำกับไว้ คือเสรีภาพพึงใช้ไปเพื่อให้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ถ้าคิดว่าพอไปได้ ขอให้ระลึกถึงหลักสองข้อนี้ไว้เป็นเสมือนกรอบคิด ประกอบการตัดสินใจของทุกคนในการกระทำเพื่อออกจากวิกฤต

ผมขอเสนอหลักการเชิงรูปธรรมเพื่อเป็นกรอบคิดที่สองอีกสองข้อเช่นกัน ข้อแรกคือการแสวงจุดร่วม ขอเสนอตัวอย่างของจุดร่วมคือ “การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นความมุ่งหมายของคณะราษฎร 2475 ส่วนคณะราษฎร 2563 น่าจะรับกรอบคิดนี้ได้กระมัง เมื่อพอมีจุดร่วมแล้ว ก็มาพิจารณากรอบคิดข้อที่สองคือ ตั้งใจรับรู้ความรู้สึก-รับฟังความคิดและเหตุผลของคู่ขัดแย้งหลัก ได้แก่ฝ่ายพลังอำนาจรัฐและฝ่ายผู้ชุมนุม นั่นคือ นำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและจุดยืนของผู้มีอำนาจมาถกแถลง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม (ผ่านเวทีกลางเช่นเวทีรัฐสภา) ผมอยากเสนอให้กลับไปที่ข้อเรียกร้องตั้งต้น 3 ข้อของผู้ชุมนุม (ต่อมามีการเพิ่มเติมเรื่องความฝัน) ขอยกประเด็นที่เห็นแย้งกันพอสังเขปดังนี้

1) ผู้ชุมนุมบอกว่าถูกคุกคาม ผู้มีอำนาจบอกว่า ทำตามกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อย

Advertisement

2) ผู้ชุมนุมบอกว่าขอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะฉบับปัจจุบันเป็นการย้อนยุค เทียบได้กับฉบับ 2511 หรือ 2521 ผู้มีอำนาจบอกว่า รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยแล้ว อีกทั้งยังนำสมัยมากในการป้องกันการโกง

3) ผู้ชุมนุมบอกว่า ไม่ต้องการการสืบทอดอำนาจ คสช. ที่อวตารมาเป็นรัฐบาลปัจจุบัน ผู้มีอำนาจบอกว่า รัฐบาลมาตามรัฐธรรมนูญ

4) และมีความชอบธรรม

Advertisement

5) ผู้ชุมนุมขอให้ศึกษาการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้มีอำนาจบอกว่า อย่าแตะ หรือก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูง

ในกรณีที่เห็นต่างกันขนาดนี้ แต่ละฝ่ายคงพยายามขับเคลื่อนเต็มที่ เพื่อจะได้เป็นฝ่ายชนะ ตามนัยที่ว่าเหตุการณ์อนาคตจะยืนยันจุดยืนของฝ่ายตน ผู้ชุมนุมต้องการให้ผู้มีอำนาจทำตามข้อเรียกร้อง 4 ข้อข้างต้น ผู้มีอำนาจต้องการ “สลายการชุมนุม” จะด้วยวิธีปราบ วิธีขู่ วิธีทำสงครามข่าวสาร หรือวิธีปลอบประโลม ฯลฯ กรณีมีความเป็นไปได้ที่จะยันกันไว้ และเกิดความยืดเยื้อ คือกรณีสุ่มเสี่ยงที่จะแพ้ทั้งสองฝ่าย ในกรณีนี้ ผมขอเสนอการลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุรุนแรงดังนี้

ฝ่ายผู้ชุมนุมควรพิจารณาให้มีกติกาการชุมนุม ตัวอย่างกติกามี เช่น (ก) ห้ามพกพาอาวุธมาในที่ชุมนุม (ข) ห้ามใช้วาจาหรือข้อความหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ยุยงให้ใช้ความรุนแรง หรือด่าทออย่างหยาบคาย (ค) ห้ามใช้กำลังประทุษร้ายผู้ใด หรือทำลายทรัพย์สินของผู้ใด โดยเฉพาะเมื่อผู้นั้นไม่เกี่ยวกับการชุมนุม ผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามข้างต้นไม่ถือว่าเป็นผู้ชุมนุม และจะต้องเชิญออกจากที่ชุมนุมโดยละม่อม ผู้ที่เชิญออกอาจเป็นการ์ดอาสา หรือเป็นผู้ชุมนุมที่มีความระแวดระวัง กติกาเช่นนี้ควรประกาศให้ทราบทั่วกัน เป็นระยะๆ

ฝ่ายผู้มีอำนาจควรพิจารณาการปฏิบัติในหลายด้าน เช่น (ก) พยายามป้องกันมิให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างมวลชนต่างความเห็น (ข) มาตรการใดใช้แล้วไม่ได้ผลตามที่ตั้งใจไว้ แทนที่จะยกระดับการบังคับใช้มาตราการนั้น ควรยกเลิกมาตรการนั้นเสีย (ค) ในฐานะ “ผู้ใหญ่” ควรพูดจาอย่างชัดเจน มีตรรกะ และมีสัจจะ

หากเห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสำคัญ ผู้มีอำนาจหน้าที่ควรเป็นผู้ริเริ่มเองอย่างชัดเจนแทนที่จะประวิงเวลาและปล่อยให้มีความคลุมเครือ อนึ่ง ผู้มีอำนาจควรพิจารณาว่ามีวิกฤตศรัทธาและวิกฤตความน่าเชื่อถือหรือไม่ ถ้ามีจะฟื้นฟูศรัทธาต่อผู้นำ หรือที่สำคัญกว่านั้นคือ ฟื้นฟูศรัทธาต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

ในขณะนี้ ทั้งรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างเห็นด้วยที่จะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตการเมือง ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีแต่ก็เป็นโอกาสท้ายๆ แล้วที่จะฟื้นฟูศรัทธาต่อรัฐบาลและรัฐสภา ความหวังจึงฝากอยู่กับคณะรัฐมนตรีและ ส.ส.ที่จะหาคำตอบให้แก่สังคม อย่างไรก็ดี ผมหวังที่จะได้คำตอบว่า จะมี ส.ว.อย่างน้อย 84 คนไหม ที่พร้อมแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการแก้มาตรา 256 และการจัดให้มี ส.ส.ร. หรือว่าท่านรอให้รัฐบาลส่งสัญญาณที่ชัดเจนกว่านี้ เช่น ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และให้มี ส.ส.ร. ทั้งนี้ มาตรา 256 เองบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีเสนอญัตติดังกล่าวได้ อีกทั้งเป็นนโยบายของรัฐบาล (มิใช่แต่ของพรรครัฐบาล) อยู่แล้ว

ที่ว่าขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันเสนอทางออกนั้น ในระยะสั้นย่อมเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองก็สัมพันธ์กันเป็นองค์รวม การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมย่อมใช้เวลานานกว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กระนั้น บางเรื่องอาจกระทำได้โดยหวังผลเร่งด่วนมากบ้างน้อยบ้าง แต่อาจจำเป็นต้องเริ่มแต่เนิ่นๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ปัญหาเร่งด่วนทางเศรษฐกิจคือการรับมือกับการถดถอยอันเนื่องมาแต่วิกฤตโควิด-19 ผมขอชื่นชมรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสและการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในหลายระดับ การไม่เปิดพรมแดนย่อมช่วยป้องกันการระบาดได้อย่างดี แต่ในระยะกลาง จะต้องมีความพร้อมในเรื่องวัคซีน การเข้าเมือง การต้อนรับนักท่องเที่ยว และการมีวิถีชีวิตที่ปลอดโรคภัย แต่ปัญหาที่อยู่กับเรามาอย่างยืดเยื้อยาวนานคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมั่งมีกับคนยากจน ในระยะต้นของวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลเคยขอให้คนมั่งมีประมาณ 20 คน ช่วยทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือคนยากจนที่ได้รับผลกระทบ แต่ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เห็นทีจะต้องเปิดเวทีให้คนมั่งมีและคนยากจนได้พูดคุยกันอย่างลงถึงขั้นที่เป็นการปฏิบัติการุณยธรรมอย่างลึกซึ้งและจริงจัง จะมีคนรุ่นใหม่ นักวิชาการและนักการเมืองร่วมพูดคุยด้วยก็ดี โดยถือเป็นอานิสงส์ของการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่และการตื่นขึ้นของคนรุ่นเก่าที่พร้อมจะรับฟังก็ว่าได้

ในด้านสังคม มีหลายเรื่องมากที่ควรจะพูดคุยกัน ที่เร่งด่วนคือการรับมือกับการหักเหด้วยเหตุดิจิทัล (Digital Turn) ที่ได้มาเปลี่ยนการเรียนรู้ การศึกษาและการสื่อสารอย่างถึงรากโคน โจทย์ที่เป็นปัจจุบันจริงๆ คือ จำเป็นจะต้องป้องกันการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อประโยชน์ในการปลุกเร้าความรุนแรงและความเกลียดชังหรือไม่ ถ้าจำเป็นจะทำได้ไหม และทำอย่างไร โจทย์อีกโจทย์หนึ่งคือ การสร้างภูมิคุ้มกันมิให้มีการเสพสื่อสังคมออนไลน์จน “เข้ากระดูก” และเกิดอารมณ์แรงถึงขั้นตัดญาติขาดมิตรกัน มิตรภาพและสายใยครอบครัวจะทนต่อการถล่มของข่าวสารในยามวิกฤตได้หรือไม่

สำหรับโจทย์ระยะยาว โจทย์แรกคือ การปฏิรูปการศึกษา เรื่องนี้พูดกันมาก แต่ทำกันบ้างเล็กๆ น้อยๆ จนคนรุ่นใหม่ใจไม่ร่มชักขัดใจจวนจะ “ถอนหงอก” ผู้ใหญ่ประเภททองไม่รู้ร้อนกันแล้ว ในเรื่องนี้ ผมอยากเห็นการมีเวทีการพูดคุยกันในวงกว้างของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระหว่างนักเรียน นักศึกษา กับครู และผู้บริหารการศึกษาที่พร้อมรับฟังและพร้อมปฏิบัติ ทั้งนี้ ถ้าจะออกนอกกรอบกระทรวงศึกษาไปบ้างในตอนต้นๆ ก็น่าจะยอม (อยู่แต่ในกรอบเกรงจะแก้ไม่ทัน)

ผมอยากเห็นเวทีพูดคุยระหว่างคนหนุ่มสาวกับคนแก่ คนสองกลุ่มนี้ไม่น่าจะมีผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้า มีแต่ความปรารถนาให้การเมืองดีขึ้นในอนาคต การพูดคุยไม่น่าจะจำกัดวงในเรื่องการเมือง หากควรพูดถึงผู้ที่กำลังจะเติบโตเป็นเยาวชนในภายหน้าด้วย ผมหมายถึงเด็กวัย 0 ถึง 3 ขวบ ที่ยังอยู่นอกระบบโรงเรียน เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ การพัฒนาทางกาย สติปัญญา ทางใจ และทางสังคมของเด็กเล็ก ที่อาจไม่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ที่วุ่นอยู่กับงานภายนอก และมอบให้ลูกเล็กเล่นอยู่กับโลกเสมือนผ่านโทรศัพท์มือถือมากเกินไป หรือว่าผมที่แก่แล้วจะคิดมากไปเอง

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image