หนาวแล้ว ไปไหน? ‘ภูคกงิ้ว-บ้านนาป่าหนาด’ อ้อมกอดเชียงคานบนโมเดลแห่งความยั่งยืน

เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา โดยระบุว่าในช่วงเริ่มต้นของฤดูหนาวในปีนี้ ลักษณะอากาศบริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงแปรปรวน โดยจะมีฝนตกในบางช่วง แต่ปริมาณไม่มากนัก ส่วนบริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป

แต่ไม่ว่าอย่างไร อากาศเย็นสบายช่วงท้ายปี ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่คนไทยรอคอย

จะหนาวมาก หรือน้อย การเก็บเสื้อผ้าออกเดินทางไปสูดอากาศบริสุทธิ์ สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ เก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจในชีวิตก็ยังอยู่ในลิสต์ที่ต้องมี แม้ในยุคที่มากมายด้วยสถานการณ์ ‘โรค’ อันส่งผลมหาศาลกับสถานการณ์ ‘โลก’ และแม้ในยุคที่เข้มข้นด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ยังรอวันคลี่คลาย ทว่า ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป การ (พัก) ผ่อนคลายก็ยังต้องอยู่ในปฏิทินรายปี

Advertisement

หันมาดูโครงการของรัฐบาลที่กระตุ้นการท่องเที่ยวนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแจกเงินเที่ยว เที่ยวปันสุข ช้อปดีมีคืน แถมยังปล่อยวันหยุดยาวเพิ่มออกมาแบบรัวๆ หวังฟื้นเศรษฐกิจ เกิดทุนหมุนเวียนสร้างรายได้ให้ชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เอื้อมมือมาปิดประตูล็อกกลอน ล็อกดาวน์การไปมาหาสู่เป็นการชั่วคราว

ว่าแต่ หนาวนี้ จะไปเช็กอินโลเกชั่นไหนดี ?

หากถามใครเป็นรายบุคคล คงได้คำตอบแตกต่างตามเงื่อนไขส่วนตัว แต่ถ้าถามไปยัง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ในหนาวนี้ คำตอบย่อมเป็น ‘เชียงคาน’ จังหวัดเลย ซึ่งแม้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและฮิตหนักมากอย่างยาวนานมาหลายปี จนเป็นไฮไลต์ทั้งสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งยังเข้ารอบ 1 ใน 100 แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพยั่งยืนระดับโลก หรือ Sustainable Destinations TOP 100 ที่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พำนักอาศัยในประเทศ (เอ็กซ์แพท)

Advertisement

ทว่า อำเภอเล็กๆ ที่อัตลักษณ์สูงอย่างเชียงคาน ก็ยังมีแง่มุมที่ชวนให้ทำความรู้จักอีกมากมายไม่รู้จบ ทั้งในด้านธรรมชาติ ศิลปกรรม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ‘ไทดำ’

จังหวัดเลย จึงร่วมกับ อพท.ในการวางแผนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพ ดึงความโดดเด่นมาเป็นจุดขาย ซึ่งนอกเหนือไปจาก ‘ถนนคนเดิน’ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ใครๆ รู้จักอย่างดีแล้ว ล่าสุด ยังมีการส่งเสริมให้พื้นที่อันหลอมรวมทั้งความงดงามของธรรมชาติ และความตระการตาในพุทธศิลป์อันอ่อนช้อยอย่าง ‘ภูคกงิ้ว’ บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง ประกอบด้วยจุดชมพระอาทิตย์ตกที่มองเห็น ‘แม่นํ้าเหือง’ ไหลมาบรรจบ ‘แม่นํ้าโขง’ เกิดเป็นแม่นํ้า 2 สีได้อย่างชัดเจน โดยสามารถชมทัศนียภาพแบบ 360 องศาจาก ‘สกายวอล์ก’ สะพานกระจกใสที่ทอดยาวกว่า 100 เมตร กว้าง 2 เมตร สูงจากลำน้ำโขง 80 เมตร เทียบเท่าตึก 30 ชั้น ด้วยงบประมาณการก่อสร้างกว่า 30 ล้านบาท เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับประติมากรรมอันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธคือ ‘พระพุทธนวมินทรมงคลลีลาทวินคราภิรักษ์’ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘พระใหญ่ภูคกงิ้ว’ ประดิษฐานบนเนินเขา หันพระพักตร์สู่ปากลำน้ำเหือง ซึ่งจรดกับแม่น้ำโขง

อีกหนึ่งจุดเช็กอินต้องขีดเส้นใต้ คือ ‘บ้านนาป่าหนาด’ ชุมชนชาวไทดำซึ่งตั้งอยู่ในตำบล เขาแก้ว อำเภอเชียงคาน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วย 300 ครัวเรือนซ่อนตัวท่ามกลางขุนเขา ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานเพียง 20 กิโลเมตร ผู้คนที่นี่ยังคงสืบสานวิถีชาติพันธุ์ ทั้งเครื่องแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นต่างๆ ที่สื่อถึงความเชื่อที่กำหนดการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่จากบรรพชน โดยมี ‘ศูนย์วัฒนธรรมไทยดำ’ เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้เดินทางมาเยี่ยมเยือน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำที่กระจายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย เช่น อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี อำเภอบางแพ จ.ราชบุรี และบ้านนาป่าหนาดแห่งนี้ที่ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เปิดตัว ‘ถนนโคมไฟไทดำ’ เป็นเส้นทางวัฒนธรรมอันสว่างไสวจากโคมไฟที่ดัดแปลงมาจาก ‘ตุ้มหนู’ และตุ้มนก เครื่องรางรูปกรงเพื่อความโชคดี ในอดีตชาวไทดำมักแขวนไว้หน้าบ้าน

โคมไฟเหล่านี้ถูกนำมาแขวนระย้าอยู่บนถนนสายหลักของหมู่บ้าน เป็นเส้นทางทอดยาว 300 เมตรที่เรียงรายด้วยเมนูอาหารพื้นบ้านไทดำ และสินค้าทางวัฒนธรรม ของฝาก ของที่ระลึกในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่บ่ายถึงค่ำคืน

ถาวร ไพศูนย์ ประธานศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ผู้มุ่งมั่นให้ชุมชนชาวไทดำเป็นที่รู้จัก มองว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวในครั้งนี้ จะมีผลถึงการรับรู้และส่งต่อเรื่องราวของชาวไทดำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับคนรุ่นต่อๆ ไป

“นับเป็นจุดเริ่มต้นของทางการที่เข้ามาสนับสนุน และพัฒนาความรู้ด้านการให้บริการกับชุมชน ที่นำเอาจุดเด่นของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ทั้งด้านอาหารถิ่น และการแต่งกายมาเป็นสัญลักษณ์ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงต้นกำเนิดชาติพันธุ์ที่ยังสืบทอดมาตั้งถิ่นฐานในไทย จากการหนีสงครามในอดีต ที่เคยอาศัยในประเทศเวียดนาม และปัจจุบันชุมชนไทดำ มีการกระจายตัวอยู่ทั่วโลก แต่ชุมชนไทดำบ้านนาป่าหนาดแห่งนี้ มีการตั้งรกราก เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่ไม่เคยย้ายถิ่นฐานไปที่ใด การท่องเที่ยวจึงเป็นแกนหลักสำคัญที่สามารถดึงคนรุ่นใหม่ ให้ยังคงอยู่ในถิ่นฐานและสืบสานวัฒนธรรมให้ดำรงต่อไป เพราะการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อการสร้างรายได้ให้กับชุมชน” ประธานศูนย์วัฒนธรรมไทดำกล่าว

เช่นเดียวกับ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มองเห็นถึงโอกาสการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายหลังการแพร่ระบาดโควิด-19

“การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเชียงคาน ถือเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จ เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพยั่งยืน TOP 100 ของโลก ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ใช้เป็นโมเดลในการพัฒนา กิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงสร้างแลนด์มาร์ก ที่เป็นนวัตกรรมยุคใหม่ เพื่อสร้างจุดขาย แต่ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยต้นทุนทางธรรมชาติที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นความได้เปรียบของประเทศไทย เป็นกลไกในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในแบบการท่องเที่ยวยั่งยืน”

ประเด็นสำคัญคือในช่วงการกระตุ้นการท่องเที่ยวปลายปีนี้มีกลุ่มเป้าหมายหลัก นอกเหนือจากไทยเที่ยวไทย ยังส่งเสริมให้ชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสานตอนเหนือได้เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันระหว่างจังหวัดมากขึ้น โดยเปิดให้มีการทดลองเส้นทางการท่องเที่ยวเชียงคานให้กับกลุ่มเอ็กซ์แพท เพื่อจะได้สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยว วิถีชุมชน ที่สามารถส่งต่อเรื่องราวการท่องเที่ยวไปยังนักท่องเที่ยวในต่างประเทศ ที่จะใช้โอกาสจากการที่ไทยเตรียมเปิดตลาดท่องเที่ยว ภายหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเร็วๆ นี้ ภายใต้เงื่อนไขการรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa) ที่ต้องผ่านขั้นตอนมาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุข

นับเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับมอบของขวัญปลายปีที่มีมากกว่าคำว่า ‘ว้าว’ หากแต่ชวนอัศจรรรย์ใจด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมลึกซึ้ง ละลานตาด้วยธรรมชาติที่สรรค์สร้างความงามอย่างลงตัวยิ่งกว่าศิลปินระดับโลก

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image