คนสองวัยกับความจริงครึ่งเดียว

หากติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่รวมตัวชุมนุมกันขณะนี้ ระหว่างกลุ่มเยาวชนและประชาชนปลดแอก กับกลุ่มปกป้องสถาบัน จะพบข้อเท็จจริงว่านอกจากข้อเรียกร้องจะแตกต่างกันชัดเจนโดยเฉพาะประเด็นปฏิรูปสถาบันแล้ว

ความแตกต่างที่เห็นชัดอีกประการหนึ่งคือช่วงวัยของคนสองกลุ่ม กลุ่มแรก ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่ม คนสาว ในวัยเรียนและวัยทำงาน ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ คนสูงวัย

พฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ ของคนแต่ละช่วงวัยย่อมเป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมที่หล่อหลอมชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ ตั้งแต่เกิดจนตาย

คนสูงวัยมีชีวิตอยู่ในบริบททางสังคม ประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นจริงทางการเมืองเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ย่อมมีความผูกพันบนฐานความคิด ความเชื่อ ลักษณะหนึ่ง

Advertisement

ขณะที่คนรุ่นใหม่เกิดและเติบโตมาในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยเฉพาะความรวดเร็วของเทคโนโลยี พฤติกรรมการเสพรับ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารแตกต่างจากคนรุ่นก่อน ความรู้สึกนึกคิด ความผูกพันกับสิ่งรอบตัวย่อมแตกต่างไป

ความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อดังกล่าวจึงทำให้จุดยืนทางการเมืองและการแสดงออกต่างกัน

โดยเฉพาะพฤติกรรมของวัยรุ่น เป็นวัยของการตั้งคำถามที่พวกเขาสงสัยและอยากรู้ อยากได้ความจริงที่แท้และคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล

นอกจากพฤติกรรมของช่วงวัย สภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแล้ว ความคิดและคำถามของคนรุ่นใหม่เกิดจากความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพชีวิต หลักประกันในอนาคตของพวกเขา จะมีชีวิตที่ดี มั่นคง ปลอดภัย เสมอภาค มีความสุข สงบสันติอย่างไรภายใต้สภาพสังคมที่เป็นอยู่ขณะนี้

ความไม่มั่นใจต่ออนาคตจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทำให้พวกเขาออกมารวมตัว เคลื่อนไหว นอกจากต้องการคำตอบจากคนรุ่นก่อนที่มีบทบาทกำหนดชะตากรรมของประเทศแล้ว ต้องการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมและอนาคตด้วยตัวเอง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อรับฟังความเห็นถึงทางออกของประเทศจากการรวมตัวชุมนุมของกลุ่มคนสองวัยตอนหนึ่งว่า ผมมั่นใจว่าคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีมุมมองด้านการเมืองแบบใด แต่ทุกคนรักชาติ รักวัฒนธรรม รักรากเหง้าและคุณค่าความเป็นไทย และรู้ว่าทุกคนต้องการอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานและเยาวชนไทย ซึ่ง 2 เรื่องนี้ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ต้องหาทางพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น อย่างมีหลักการเหตุผล มีความถูกต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ไม่ทำลายอดีตที่มีคุณค่าของประเทศเรา ที่มีรากเหง้าที่หยั่งรากลึกเข้าไปในหัวใจของคนไทยทุกคน มีความเจริญก้าวหน้า อย่างยั่งยืนต่อไปŽ

โดยไม่กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม เยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่ขอให้ปล่อยผู้ถูกจับกุมคุมขังอีกหลายสิบคนซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้การชุมนุมยืดเยื้อต่อไป

ข ณะที่กล่าวถึงข้อเรียกร้องอีกประการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคมาหารือว่าควรจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรในสภา ในเดือนพฤศจิกายนนี้น่าจะเสร็จในวาระ 1-3 ในเดือนธันวาคมโดยประมาณ แต่ยังคงประกาศใช้ไม่ได้ เพราะต้องรอ รัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ.การทำประชามติเข้าสภาเสร็จเมื่อใดต้องไปทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เป็นคำชี้แจง แสดงท่าทีตอบคำถามเฉพาะเงื่อนเวลาเท่านั้น บอกความจริงครึ่งเดียวโดยหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงเนื้อหาการแก้ไขที่ควรจะเป็น หรือที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรแก้ไขเรื่องอะไร ประเด็นใด ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น

การไม่แสดงจุดยืน ความคิดที่ชัดเจนโดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อความเป็นกลาง ไม่ชี้นำ ไม่แทรกแซงการปฏิบัติงานของรัฐสภา แน่นอนเป็นสิทธิ เสรีภาพที่จะอ้างได้ แต่ท่าทีดังกล่าวส่งผลต่อสถานการณ์อย่างไร เป็นผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน สถานการณ์ที่ยังร้อนแรงอยู่ขณะนี้เป็นคำตอบดีที่สุด

การแสดงความคิด จุดยืนต่อเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน แสดงถึงความจริงใจและความต้องการนำพาประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่า สอดคล้องกับยุคสมัยยิ่งกว่า

ส่วนที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติอย่างไร เห็นคล้อยด้วยกับรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม เป็นสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบของรัฐสภาที่แสดงถึงความเป็นอิสระต่อกันอย่างแท้จริง สังคมย่อมตัดสินได้ว่า ควรสนับสนุนแนวทางของใคร ฝ่ายใด ระหว่างฝ่ายที่ต้องการส่งเสริมกับฝ่ายเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของประชาธิปไตย

ฉะนั้น การไม่กล่าวถึงเนื้อหาที่ควรจะเป็น ไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อที่ประชุมรัฐสภาทั้งๆ ที่เป็นโอกาสอันงดงามและเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง จึงเป็นการเสียโอกาสในการหาทางออกจากความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่ง เพราะท่าทีลอยตัวไม่ต่างจากที่ผ่านมา

ขณะที่เกิดข้อเสนอใหม่ คือให้มีการทำประชามติเพื่อหาทางออกจากสถานการณ์ร้อนแรง

ประเด็นมีว่า ถ้าประชามติเกิดขึ้นได้ ผลประชามติจะมีสภาพบังคับจริงหรือไม่ ไม่ว่าสภาพบังคับทางกฎหมายและสภาพบังคับทางการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ยังใช้บังคับอยู่ไม่ได้มีข้อบัญญัติว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีด้วยผลการลงประชามติไว้แต่อย่างใด กฎหมายว่าด้วยการลงประชามติซึ่งเป็นลูกจะใหญ่กว่าแม่ได้อย่างไร

หากผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงไม่ยอมทำตาม แต่ยังลอยตัวต่อไป ใครจะทำอะไรได้ ม็อบสองฝ่าย สามฝ่าย จะเกิดต่อไปไม่สิ้นสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image