จากคนพิการสู่สังคมพิการ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

คนพิการคือคนที่ขาดศักยภาพและสมรรถนะบางอย่างที่คนปกติมี เช่น ตาบอดก็ทำให้มองไม่เห็น, ขาด้วนก็ทำให้วิ่งได้ไม่เร็วเท่า, หูหนวกก็ทำให้ไม่ได้ยินเสียงที่ผู้อื่นสื่อสารด้วย, เป็นใบ้ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นด้วยภาษาเสียงได้ ฯลฯ

เพียงแค่นี้คงไม่ผิดอะไร

ผมเข้าใจว่าสำนวนภาษาที่ใช้ความพิการ เป็นสัญลักษณ์แทนความสูญเสียศักยภาพและสมรรถนะบางอย่าง ที่คนปกติควรจะมี ก็ไม่ใช่เพื่อเหยียดความเป็นมนุษย์ของคนพิการ เช่น “ความรักทำให้ตาบอด” ก็มีความหมายเพียงว่าคนที่ถูกความรักครอบงำ มักสูญเสียสมรรถนะในการมองเห็นข้อมูลอย่างรอบด้าน จึงสูญเสียสมรรถนะในการใช้วิจารณญาณของตนอย่างรอบคอบไปด้วย

แต่สำนวนนี้ไม่ได้มีเจตนาจะบอกว่าคนตาบอดย่อมสูญเสียสมรรถนะในการใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ

Advertisement

“ตาบอดคลำช้าง” ก็เป็นเพียงความเปรียบว่า การทำความเข้าใจกับอะไรที่เป็น “ภาพกว้าง” ต้องไม่เอาเพียงส่วนเดียวที่มองเห็นหรือคลำได้ เป็นตัวแทนของทั้งหมด

“เตี้ยอุ้มค่อม” เอาความพิการมาเปรียบกับผู้ที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ, สังคม หรือการเมือง (เตี้ยคือเอื้อมไม่ถึง) แต่กลับไปช่วยเหลือคนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรยิ่งกว่า (ค่อมคือแม้แต่เอื้อมยังทำไม่ได้) ผลก็คือไม่มีใครเอาตัวรอดได้เลย ผมไม่คิดว่าผู้ใช้สำนวนนี้ต้องการเหยียดความเป็นมนุษย์ของคนเตี้ย หรือคนค่อม

แม้ปราศจากเจตนาดังกล่าว ผมก็ไม่ปฏิเสธว่าสำนวนที่ใช้ความพิการเป็นความเปรียบจะไม่มีผลกระทบต่อชะตากรรมของคนพิการเลย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดจากตัวสำนวน หากเกิดจากทัศนคติต่อคนพิการและความพิการของคนในสังคมนั้นเอง

Advertisement

ในวัฒนธรรมต่างๆ ของอดีต ผู้คนมักไม่เข้าใจว่าศักยภาพและสมรรถนะที่คนพิการสูญเสียไปนั้น อาจกู้คืนได้มากทีเดียว หากสังคมพร้อมใจกันในการวางเงื่อนไขที่คนพิการสามารถฟื้นฟูศักยภาพและสมรรถนะนั้นได้

คนตาบอดไม่มีวันอ่านหนังสือได้เหมือนคนปกติ และด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่มีใครพยายามให้เขาได้อ่านหนังสือ คนตาบอดได้รับข้อมูลข่าวสารจากโลกข้างนอกผ่านสายตาไม่ได้อยู่แล้ว เมื่ออ่านหนังสือไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้ข้อมูลข่าวสารของคนตาบอดจำกัดลงอย่างมาก ทำให้เขายิ่ง “บอด” มากขึ้นไปอีก จึงยิ่งสูญเสียศักยภาพและสมรรถนะจนแทบจะสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปด้วย

ในสังคมอย่างนี้แหละที่สำนวนที่ใช้ความพิการเป็นความเปรียบ อาจทำให้ชะตากรรมในชีวิตของคนพิการเลวร้ายลง เพราะไปตอกย้ำความไร้ศักยภาพและสมรรถนะของคนพิการ ทั้งๆ ที่สำนวนเหล่านั้นไม่ได้ถูกคิดขึ้นเพื่อทำร้ายคนพิการแต่อย่างใด

ในสังคมสมัยใหม่ เมื่อมีผู้คิดอักษรที่คนตาบอดสามารถอ่านได้ เผยแพร่ให้คนตาบอดมีความสามารถอ่าน จึงเท่ากับปฏิวัติศักยภาพและสมรรถนะของคนตาบอดทั้งโลก

ยิ่งเด็กตาบอดถูกเลี้ยงดูมาให้ใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ให้เต็มที่ คนตาบอดกับคนปกติก็แทบไม่ต่างกันในการแสวงหาและมีความรู้ อย่าลืมว่าส่วนใหญ่ของ “ความรู้” ที่มนุษย์มีนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ได้มาผ่านการเห็นด้วยตา แต่ล้วนผ่านการเห็นด้วยใจและสมองทั้งสิ้น ศักยภาพและสมรรถนะที่จะเห็นด้วยใจและสมองของคนปกติและคนตาบอดมีเท่ากัน

การค้นพบว่าแท้จริงแล้วคนพิการมีศักยภาพและสมรรถนะที่ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่วิถีทางจะพัฒนาขึ้นมาต้องใช้วิธีที่ต่างกันเท่านั้น เป็นการค้นพบของสังคมสมัยใหม่ และด้วยเหตุดังนั้น ในหลายสังคมบนพื้นโลกเรานี้ จึงอาจไม่ได้พัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือทางสังคม ที่จะทำให้คนพิการสามารถบรรลุศักยภาพและสมรรถนะที่สมบูรณ์ได้

ไม่เฉพาะแต่โรงเรียนคนตาบอด, โรงเรียนคนหูหนวก, โรงเรียนเด็กออติสติก, ฯลฯ เท่านั้น แต่ต้องรวมถึงเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ที่จะช่วยให้คนพิการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะของเขาขึ้นมาได้เต็มที่ เช่น

กฎหมายจราจรที่ให้ความปลอดภัยแก่คนตาบอด หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางของคนพิการด้านการเดิน เราควรเปิดโอกาสให้คนพิการทุกชนิดสามารถสร้างเครือข่ายทางสังคมของตนเองได้ เครือข่ายทางสังคมทำให้เกิดโอกาสอื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่น โอกาสทางเศรษฐกิจ, ทางวัฒนธรรม และการเรียนรู้ รวมทั้งโอกาสทางการเมืองด้วย

การที่คนพิการได้มีโอกาสทางการเมืองจึงเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะจะทำให้การผลักดันเรื่องเหล่านี้เป็นไปได้มากขึ้น แต่ต้องเป็นการเมืองเปิด ที่คนพิการอื่นและคนปกติสามารถเข้าไปร่วมออกความคิดเห็นได้ เนื่องจากสิ่งที่ควรทำนั้นล้วนต้องทำขึ้นจากทรัพยากรกลางที่ทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน

แม้แต่การสะกัดกั้นการใช้สำนวนภาษาที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนพิการ ก็น่าจะเป็นประเด็นสาธารณะ ที่คนพิการอื่นและคนทั่วไป ควรมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นด้วย (ก็เราเป็นเจ้าของภาษาไทยร่วมกันไม่ใช่หรือ) แต่ในการเมืองปิด การเคลื่อนไหวของคนพิการที่เข้าไปร่วมกับฝ่ายอำนาจ อาจเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มราคาของตนเองกับอำนาจ อันไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่คนพิการหรือสังคมก็ได้

ความห่วงใยต่อคนพิการซึ่งถูกลดทอนศักยภาพและสมรรถนะตลอดมาในประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่ายกย่อง ไม่ว่าจะทำโดยคนพิการหรือคนปกติ แต่ในขณะเดียวกัน เราไม่ควรลืมด้วยว่านอกจากความพิการตามธรรมชาติแล้ว ยังมีความพิการทางสังคม หรือความพิการที่สังคมกระทำแก่บุคคล เพื่อลิดรอนศักยภาพและสมรรถนะของเขาลง

เด็กคือคนพิการทางสังคมชนิดหนึ่ง ทั่วทั้งโลก พวกเขาถูกรอนสิทธิทางการเมือง ทั้งในบ้านและในรัฐ ในเมืองไทย แม้แต่สิทธิที่จะแสดงความเห็นก็ถูกปราม เพราะเด็กทำได้อย่างเดียวคือเรียนหนังสือ และเชื่อฟังพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เป็นเกณฑ์หนึ่งที่ขาดไม่ได้ในค่านิยมสิบสองประการของคณะรัฐประหารด้วยซ้ำ หาก “เด็ก” เคลื่อนไหวทางการเมือง เขาต้องถูก “ซื้อ” โดยนักการเมืองคดโกง เพราะเขาไม่มีศักยภาพและสมรรถนะเหมือนคนปกติที่จะทำอย่างนั้นด้วยตนเองได้

ผู้หญิงก็เหมือนกัน เธอเป็นแค่ดอกไม้อันสวยงามประจำชาติของนักชาตินิยม เป็นสัญลักษณ์ของตัณหาราคะของนักการศาสนา เป็นช้างเท้าหลังในครอบครัว เป็นสมบัติของบิดามารดาและสามี ศักยภาพและสมรรถนะของเธอจึงมีจำกัด เธอวางนโยบายสาธารณะไม่เป็น นอกจากต้องอยู่ภายใต้การกำกับของผู้ชาย

ในเมืองไทย ยังมีความพิการที่เกิดแก่คนส่วนใหญ่ เพราะเขาเป็นคนบ้านนอก (โดยเฉพาะเป็นคนอีสาน) ไม่มีการศึกษาจึงโง่และพร้อมจะขายเสียง

จนถึงท้ายที่สุดหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. แม้แต่เป็นคนไทย ก็พิการแล้ว เพราะเขาไร้ศักยภาพและสมรรถนะที่จะปกครองตนเอง เขาขาดคุณธรรมอย่างที่คนมีการศึกษาและ “ผู้ดี” ในกรุงเทพฯ มี เขาดักดานทางการเมืองเสียจนต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของวุฒิสภาที่มาจากการเลือกกันเองของ “คนดี” ตลอดไป

มีใครห่วงใย “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของคนพิการทางสังคมบ้าง นอกจากคนเหล่านี้ถูกทำให้พิการแล้ว พวกเขายังถูกลิดรอนศักยภาพและสมรรถนะที่มีตามธรรมชาติลงอย่างสิ้นเชิง และอย่างน่าจะ “เห็นๆ” ได้ด้วย

การเข้าไปร่วมกับสถาบันทางการเมืองที่ฉกฉวยอำนาจจากทรรศนะที่ลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการทำให้พวกเขาทั้งหมดกลายเป็นคนพิการ คือการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการกระนั้นหรือ

ระหว่างการใช้ความพิการเป็นความเปรียบในสำนวนภาษาซึ่งใช้กันมาแต่โบราณ กับการสนับสนุนให้กดขี่บังคับคนพิการ (ทางสังคม) อย่างไหนจะเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการกว่ากัน

เราต่อสู้เพื่อคนพิการ ไม่ใช่เพียงเพราะเขาพิการ แต่เพราะเรารู้ว่าเขามีศักยภาพและสมรรถนะไม่ต่างจากคนปกติ หากเขาได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะเหมือนคนปกติ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อคนอีสานเพราะเขาเป็นคนอีสาน แต่เพราะเขาถูกสังคมทำให้พิการ เขาจึงไม่มีโอกาสพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะของเขาได้เต็มที่ เราต่อสู้เพื่อให้คนอีสานได้โอกาสอย่างเดียวกับคน “ปกติ” ซึ่งเป็นเหล่า “ผู้ดี” กรุงเทพฯ ต่างหาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image