คนไทยมีความสุขแค่ไหน (2)

จากสถานการณ์ที่มีผู้คนชุมนุมประท้วงรัฐบาลอยู่บนท้องถนนเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน เราคง ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทย ณ ขณะนี้ไม่ใคร่จะมีความสุขเท่าไหร่นัก ในบทความคราวที่แล้ว ได้เสนอผลงานวิจัยที่ระบุว่า คนไทยกลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจในชีวิตค่อนข้างสูง แม้จะมีเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้มีความกังวลเพิ่มขึ้น คนกรุงเทพฯ นั้นมีความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตน้อยกว่าคนภาคอื่นๆ และยังมีความวิตกกังวลในชีวิตมากกว่าคนภาคอื่นๆ ด้วย ในวันนี้เราจะมาดูกันว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่มีความพึงพอใจในชีวิต ผลงานวิจัยเบื้องต้นของ รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 อาจจะพอไขข้อข้องใจเกี่ยวกับปัญหาบางส่วนของผู้ชุมนุมหรือของม็อบได้

การทบทวนการศึกษาในต่างประเทศพบว่า นอกจากความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ในครอบครัวและเพื่อนฝูงแล้วความเชื่อในบาปบุญคุณโทษ บรรทัดฐานทางสังคม พฤติกรรม ทัศนคติ และความไว้วางใจของคนในสังคม ความไว้วางใจต่อภาครัฐ ล้วนแต่มีผลต่อความพึงพอใจในชีวิต ในสังคมที่ถูกกดขี่ ขาดความยุติธรรม หรือมีรัฐบาลที่ประชาชนคิดว่าล้มเหลว ประชาชนก็จะมีความพึงพอใจในชีวิตต่ำกว่าสังคมที่มีความสุขสงบและมั่นคง การศึกษาในต่างประเทศยังพบอีกว่า การคอร์รัปชั่นของภาครัฐนอกจากจะมีผลทำให้รายได้ประชาชาติลดลงแล้วยังมีผลส่งให้ความพอใจชีวิตของประชาชนลดลงด้วย การศึกษาการเลือกตั้งในสหภาพยุโรปย้อนหลัง 40 ปีพบว่า ความพึงพอใจในชีวิตเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้รัฐบาลนั้นๆ ได้รับการเลือกตั้งได้อีก

การศึกษาของ ดร.วรวรรณ และคณะ ครอบคลุมประชาชนไทยสามรุ่นด้วยกันคือ รุ่นเบบี้บูม ซึ่งมีอายุระหว่าง 56-74 ปี รุ่นเจน Xซึ่งมีอายุระหว่าง 40-55 ปี และรุ่นเจน Y มีอายุระหว่าง 24-39 ปี ทั้งผู้ที่อยู่ในเมืองและอยู่ในชนบททั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ภาคละ 600 ตัวอย่างรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,400 ตัวอย่าง การสัมภาษณ์ดำเนินการในช่วงต้นปีที่เกิดปัญหาโควิด-19 แล้ว กลุ่มตัวอย่างมาจากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และการสัมภาษณ์ต่อหน้า กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงมากกว่าชาย เกินกว่าครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ และผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ใช้เวลาทำมาหากิน 35-48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

สำหรับคำถามที่เกี่ยวกับความมั่นคงในชีวิตพบว่า คนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความคิดว่า ตนเองมีความมั่นคงทางการเงินค่อนข้างต่ำ ไม่คิดว่ามีรายได้ที่เพียงพอต่อการยังชีพในปัจจุบัน ไม่เห็นว่าตนเองจะมีรายรับที่เพียงพอเมื่อเกษียณอายุ และไม่คิดว่าตนเองจะมีเงินออมไว้ใช้จ่ายเพียงพอเมื่อตกงาน คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนอกจากจะทำงานหลายอย่าง
และใช้เวลาทำงานมากกว่าคนในภาคอื่น ยังตกงานมากกว่าคนในภาคอื่น ส่วนความเชื่อที่ว่าคนที่มีฐานะดีเป็นเพราะชาติที่แล้วทำบุญไว้มากที่เคยเป็นความเชื่อที่ช่วยให้คนไทยอดทนกับความเหลื่อมล้ำ ขณะนี้เป็นความเชื่อที่ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยแล้ว

Advertisement

ต่อคำถามที่เกี่ยวกับความวางใจและความคาดหวังในรัฐที่ว่า เห็นด้วยหรือไม่ว่าถ้าท่านโชคร้าย ลำบากยากจน รัฐจะเข้ามาช่วยเหลือให้ท่านยังชีพอยู่ได้นั้น ผู้ตอบส่วนใหญ่จะให้คะแนนรัฐต่ำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่การให้คะแนนไม่แตกต่างกันมากระหว่างคนในรุ่นที่ต่างกัน กลุ่มตัวอย่าง 3 ใน 4 เห็นว่า การอาศัยอยู่ในประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง และทัศนคตินี้ไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มอายุต่างๆ ในเรื่องเสรีภาพที่ถามว่า ทุกวันนี้ท่านสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรีในทุกช่องทางการสื่อสารนั้น ปรากฏว่ากลุ่มเจน Y มีสัดส่วนของผู้ไม่เห็นด้วยประมาณ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับประมาณ 1 ใน 4 ของกลุ่มเจน X และประมาณร้อยละ 23 สำหรับรุ่นเบบี้บูม

ในด้านการใช้ภาษีอากร คนทุกภาคเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่กับการนำรายได้จากภาษีไปใช้ในการประกันสุขภาพและสร้างอาชีพ ผู้ตอบแบบสอบถามในกรุงเทพฯ และภาคใต้ค่อนข้างที่เห็นด้วยในการนำรายได้ไปสร้างสาธารณูปโภค ในขณะที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรู้สึกเฉยๆ และกลุ่มตัวอย่างในภาคเหนือไม่เห็นด้วยกับการนำเงินไปใช้ป้องกันประเทศ เมื่อแยกตามรุ่น ร้อยละ 40 ของเจน Y ไม่เห็นด้วยกับการนำภาษีไปป้องกันประเทศ

แม้ว่าการศึกษานี้จะมีจำนวนตัวอย่างน้อยเกินกว่าที่จะกล่าวอ้างได้ว่าเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ แต่ก็ได้แสดงเค้าลางบางอย่างให้เห็นถึงความรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของประชาชนบางกลุ่ม การขาดความไว้วางใจในรัฐ และความไม่พึงพอใจต่อวิธีการใช้จ่ายเงินภาษีอากรเพื่อการป้องกันประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของความไม่พอใจของผู้มาชุมนุมเพื่อแสดงความต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ถ้าคนเราไม่เดือดร้อน ใครจะไปยืนตากฝนเป็นชั่วโมงๆ และเสี่ยงกับการถูกฉีดน้ำสารเคมี สมควรที่รัฐจะต้องนำไปขบคิดพิจารณาเพื่อนำมาปรับปรุงนโยบายสาธารณะของรัฐ นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของเยอรมนีคือ Angela Merkel เคยกล่าวไว้ว่า What matters to people must be the guideline for our policies.

Advertisement

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า อาการของสังคมที่เกิดขึ้นแสดงว่า Something has gone wrong กับระบบการปกครองของเราแล้ว ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เปราะบางที่สุดของสังคมไทยทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและสุขภาพ ความพยายามที่จะเปิดใจยอมรับปัญหาและความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างกันและกันเพื่อหาทางแก้ไขเป็นเรื่องสำคัญ ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ลำดับต่อไปน่าจะเป็นการปล่อยแกนนำเพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจะได้หาทางออกร่วมกัน ทุกฝ่ายต้องเลิกใช้ Hate speech และการโจมตีรายบุคคล รัฐบาลควรเปิดพื้นที่ปลอดภัยเช่นพื้นที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อให้เยาวชนมีการชุมนุมที่สงบ หากลไก คนกลาง และลู่ทางในหลายระดับจัดกระบวนการนั่งโต๊ะเจรจากับหลากหลายกลุ่มในประเด็นที่สามารถหารือและตกลงกันได้ก่อน

ผู้เขียนเห็นว่า ข้อเสนอให้ลงประชามติไม่มีประโยชน์อันใด การอาศัยเสียงข้างมากโดยไม่สนใจที่จะแก้รากเหง้าของปัญหาเป็นแค่การซื้อเวลา ความจริงที่ว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมคราวนี้จำนวนมากก็แสดงว่าเรามีปัญหาต้องแก้ไข และส่วนใหญ่เป็นเยาวชนจึงสมควรที่ผู้บริหารประเทศจะมองผู้ร่วมชุมนุมเหล่านี้ว่าเป็นลูกหลานเรามิใช่ฝ่ายตรงกันข้ามและพวกเขาเหล่านี้ยังเป็นอนาคตของประเทศอีกด้วย อย่าลืมว่าเยาวชนเหล่านี้ยังมีญาติพี่น้องพ่อแม่ที่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเยาวชนก็ตาม ต่างลุ้นระทึกอยู่ทุกวันด้วยเกรงว่าลูกหลานจะเป็นอันตราย

ไม่มีประชาชนที่ไหนยกโทษให้รัฐบาลที่ทำร้ายลูกหลานของเขาหรอกค่ะ

ดาวน์โหลดเอกสารวิจัยฟรีได้ที่ www.khonthai4-0.net/?wpfb_dl=135

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image