ผลพวง การเมือง ประชามติ 7 สิงหาคม ต่อ ประชาธิปัตย์

ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” ประชามติ ถามว่าบุคคลที่จะแบกรับผลพวงนี้หนักหนาสาหัสที่สุดเป็นใคร

หากทายว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ก็อาจจะถูก แต่น่าจะถูกเพียงครึ่งเดียว

นั่นก็คือ หากร่างรัฐธรรมนูญ “ผ่าน” ก็น่าจะ “แฮปปี้” หน้าบานเป็นจานเชิง เพราะเท่ากับได้รับอาณัติจากประชาชน

Advertisement

มากยิ่งกว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยซ้ำ

กระนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญ “ไม่ผ่าน” ที่เคยคิดว่า “ผมก็จะยังอยู่” และ “จัดทำรัฐธรรมนูญ” ต่อไป น้ำเสียงก็อาจจะไม่เหมือนเดิม

ไม่เหมือนเดิมเพราะจะมี “แรงกด” มาจากรอบด้าน

เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีด้านที่เป็นผลดีหากร่างรัฐธรรมนูญ “ผ่าน” แต่อาจไม่เป็นผลดีหากร่างรัฐธรรมนูญ “ไม่ผ่าน”

ขณะที่มี “บาง” บุคคลที่ต้องรับเละทั้ง “ผ่าน” และทั้ง “ไม่ผ่าน”

นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งจะต้องแบกรับในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรค

 

หากร่างรัฐธรรมนูญ “ผ่าน” ประชามติ แรงกดดันต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมาจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในสาย “กปปส.”

เท่ากับ “บทสรุป” ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผิดพลาด

ขณะเดียวกัน หากร่างรัฐธรรมนูญ “ไม่ผ่าน” คล้ายกับว่าแรงกดดันจะไปอยู่ที่บรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในสาย “กปปส.” มากกว่า

แต่ที่จะ “สาหัส” อย่างเลี่ยงไม่พ้นก็คือ “พรรคประชาธิปัตย์”

ปฏิกิริยาอันมาจากอดีต ส.ส.จังหวัดชุมพรต่อสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในสาย “กปปส.” รุนแรงแข็งกร้าวและเด่นชัดอย่างยิ่ง

ยกระดับขึ้นสู่ “ความขัดแย้ง” ในเชิง “อุดมการณ์”

หากเป็นความเห็น “ต่าง” อย่างปกติธรรมดาก็ยังสามารถประนีประนอมกันได้ แต่เมื่อใดที่พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งในเชิง “อุดมการณ์” เสียแล้วก็ยากยิ่งที่จะประนีประนอมกันได้อย่างง่ายดาย

ภาระอันหนักหนาสาหัสนี้ย่อมตกอยู่กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ผลสะท้อนอย่างเด่นชัดย่อมตกกระทบไปยังฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ กทม.อันเคยเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ความคิดที่จะรื้อฟื้นและเยียวยาอาจมีอยู่แต่ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะทำได้ภายในเร็ววัน

หนทางข้างหน้าคือพรรคแตก หนทางข้างหน้าคือการแยกตัว

ถามว่าเหตุปัจจัยอันใดทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องมาแบกรับสภาพการณ์เช่นนี้ และทำไมเรื่องหนักหนาสาหัสนี้จึงตกอยู่บนบ่าของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คำตอบ 1 คือ กรรมเก่า

เป็นกรรมเก่าที่พรรคประชาธิปัตย์

เลือกเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อสถานการณ์ทางการเมืองในห้วง 1 ทศวรรษอันเป็นความขัดแย้ง

คำตอบ 1 คือ รัฐประหาร

ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พรรคประชาธิปัตย์ล้วนเข้าไป “แตะ”

ในเดือนกันยายน 2549 อาจไม่แจ้งชัด

กระนั้น ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คนของพรรคประชาธิปัตย์ล้วนเข้าไปมีส่วนร่วม มิใช่ในลักษณะแตะ

หากแต่เข้าไปเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

โดยเฉพาะกระบวนการอย่างที่เรียกว่า “กปปส.”

พลันที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าจะเป็นฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องตัดสินใจ

ตัดสินใจในสถานะและเกียรติภูมิแห่ง “สถาบัน” ทางการเมือง

ตรงนี้เองทำให้ความขัดแย้งซึ่งดำรงอยู่ “ภายใน” ถึงเวลาแตกและแยกตัวดัง “โพละ” ต่อหน้าสมาชิกและต่อหน้าประชาชน

 

รัฐประหารจึงเป็น “มูลเชื้อ” อันแหลมคมยิ่งในการทะลวงเข้าไปตรวจสอบสถานะแห่งพรรคประชาธิปัตย์

กระบวนการ “ประชามติ” โดยมี “ร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นโจทย์ จึงเรียกร้องจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งหมดนี้ตกอยู่บนบ่าของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image